โฉมหน้าของอาชญาวิทยาในปี 2015


โฉมหน้าของอาชญาวิทยาในปี 2015

นัทธี จิตสว่าง

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ทำให้ปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ความสำคัญของปัญหาอยู่ที่อาชญากรรมพื้นฐานไปสู่อาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่มีความสลับซับซ้อน มีเครือข่ายโยงใยทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย การจัดการกับอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนี้ ทำให้ต้องอาศัยองค์ความรู้ใหม่ทางด้านอาชญาวิทยา ซึ่งจะนำมาใช้อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การควบคุมอาชญากรรมโฉมใหม่ต่อไป อาชญาวิทยาในยุคปัจจุบัน จึงเป็นอาชญาวิทยาที่อยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นทฤษฎีอาชญาวิทยาแนวใหม่ ระเบียบวิธีวิจัยใหม่ๆ จุดสนใจของการศึกษาใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากอาชญาวิทยาดั้งเดิม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับนักอาชญาวิทยาจะต้องเฝ้าคอยติดตามความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ด้านอาชญาวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาอาชญากรรมในยุคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การติดตาม แนวโน้ม และความเคลื่อนไหวในวงการอาชญาวิทยาแบบง่ายๆ อาจทำได้โดยการติดตามจากการประชุมประจำปีของสมาคมนักอาชญาวิทยาระดับโลก ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวาระโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมที่มีนักอาชญาวิทยาจากทั่วโลกเข้าร่วมเป็นจำนวนมากคือ การประชุมประจำปีของสมาคมนักอาชญาวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Society of Criminology หรือ ASC)

ในปีนี้ การประชุม ASC จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2557 ที่เมืองซานฟรานซิสโก โดยในปีนี้ได้เปิดกว้างให้นักอาชญาวิทยาจากทั่วโลกกว่า 4,300 คน ซึ่งมาร่วมประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอแนวคิดและผลงานทางวิชาการ ทั้งในส่วนที่เป็นตำรา หนังสือ งานวิจัยหรือการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สนใจได้อย่างเป็นอิสระ โดยมีเวทีให้นำเสนอผลงานได้อย่างไม่จำกัด ในการประชุมครั้งนี้ จึงมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานและการสัมมนาตลอดระยะเวลา 3 วันครึ่ง จำนวน 1,110 หัวข้อ ทำให้เห็นแนวโน้มของความสนใจและทิศทางของอาชญาวิทยาว่ามีความสนใจในเรื่องอะไรบ้าง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของความสนใจด้านอาชญาวิทยาในปีนี้และปีต่อไปได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อาจพิจารณาได้จากระเบียบวิธีวิจัย ทฤษฎีอาชญาวิทยาและหัวข้อต่างๆของการประชุม

ในเรื่องระเบียบวิธีวิจัยนั้น แนวโน้มที่ได้เห็นจากการประชุมครั้งนี้คือ การให้ความสนใจกับเรื่องการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการประเมินผลโครงการ โดยในการประชุมครั้งนี้จัดให้มีแผนกอาชญาวิทยาเชิงทดลอง (Experimental Criminology) ซึ่งมีหัวข้อที่มานำเสนอนับร้อยกว่าหัวข้อมากกว่าแผนกผู้หญิงและเด็ก และแผนกตำรวจเสียอีก

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการใช้การวิจัยที่อาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence – based Research) เป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายอาญา (Evidence – based Crime Policy) ซึ่งมีถึง 5 หัวข้อ นอกจากนี้ ในงานวิจัยอื่นๆ ทางฝั่งของสหรัฐฯ ที่มานำเสนอ ต่างเน้นการวิจัยเชิงปริมาณเป็นส่วนใหญ่ มีงานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นส่วนน้อย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการวิจัยเชิงประจักษ์ที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในวงการอาชญาวิทยาระหว่างประเทศอยู่ ซึ่งต่างจากในประเทศไทยที่หันมาสู่การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีประเด็นที่น่าสนใจในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม (Postmodern Criminology) ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้แม้แต่หัวข้อเดียว แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้อาจไม่เป็นที่สนใจของนักอาชญาวิทยา และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพไม่ได้รับความนิยมไปด้วย อาชญาวิทยาอเมริกาจึงมุ่งเน้นไปสู่ความเป็นศาสตร์มากขึ้น

สำหรับหัวข้อของการวิจัยนั้น นักวิจัยให้ความสนใจหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยเกี่ยวกับงานในกระบวนการยุติธรรม โดยเป็นโครงวิจัยประเมินผลเกี่ยวกับงานของตำรวจและราชทัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ สำหรับหัวข้อเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมโดยทั่วไปก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยปรากฎคือ การวิจัยเพื่อทดสอบทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีใหม่ การวิจัยส่วนใหญ่เป็นการตอบปัญหาในทางปฏิบัติ

ในส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฎีอาชญาวิทยา ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตำรางานวิจัย การนำเสนอผลงาน ตลอดจนการเสวนาต่างๆ ยังไม่ปรากฏทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้น ทฤษฎีอาชญาวิทยากระแสหลักซึ่งยอมรับผู้มีอำนาจ กับทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Criminology) เป็นทฤษฎีที่วิพากษ์ทฤษฎีกระแสหลักและเสนอมุมมอง การอธิบายปัญหาอาชญากรรมในทัศนะของผู้ด้อยโอกาส เช่น อาชญาวิทยาของผู้ต้องขัง (Convict Criminology) หรืออาชญาวิทยาของพวกฝ่ายซ้ายใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมจะเป็นทฤษฎีอาชญาวิทยากระแสหลัก โดยเฉพาะทฤษฎี Life – course Theory ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มองการประกอบอาชญากรรมว่าเป็นกระบวนการที่ก่อตั้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงชีวิตของอาชญากรคนหนึ่งๆ กล่าวได้ว่าพฤติกรรมอาชญากรแต่ละประเภท มีที่มาและมีพัฒนาการที่สามารถอธิบายได้จากประวัติความเป็นมาในอดีต ขณะที่ทฤษฎีเกี่ยวกับสถานการณ์ (Situation Crime Theory) ก็เป็นอีกทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่มีการกล่าวถึง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบความสนใจระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ หรือหัวข้อในทางปฏิบัติที่นักอาชญาวิทยาสนใจแล้ว ความสนใจในเรื่องทฤษฎีมีน้อยมาก นักอาชญาวิทยาส่วนใหญ่ที่มาในงานนี้ให้ความสนใจในหัวข้อในทางปฏิบัติ ทั้งงานวิจัยเพื่อตอบปัญหาในทางปฏิบัติ หรือการประเมินผลโครงการต่างๆ โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ คือ อาชญากรรมร่วมสมัย (Contemporary Crime) การตำรวจ (Policing) และอาชญาวิทยาที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้หญิง (Women and Crime) และยังมีหัวข้อเกี่ยวกับการราชทัณฑ์ (Corrections) เหยื่ออาชญากรรม (Victimology) และอาชญาวิทยาระหว่างประเทศ (International Criminology)

ปีนี้นับเป็นปีที่มีหัวข้อที่เกี่ยวกับอาชญากรรมร่วมสมัย หรืออาชญากรรมรูปแบบใหม่ได้ถูกนำมาอภิปรายและนำเสนอมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มนำตำรา หนังสือเกี่ยวกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่มาเผยแพร่จำนวนมาก โดยอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่เป็นที่สนใจกันมากคือ อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ อาชญากรรมการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมก่อการร้ายที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปัญหาร่วมสมัยของสังคมอเมริกัน ขณะที่อาชญากรรมไซเบอร์ก็ได้รับความสนใจในระดับต้นๆ เช่นเดียวกัน มีการศึกษาก้าวเลยไปถึงอาชญากรรมจากเครือข่ายสังคมต่างๆ ส่วนในเรื่องการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม จะปรากฏในรูปแบบตำราและบทความในวารสารต่างๆ และได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่วนการนำเสนองานวิจัยนั้นมีอยู่บ้าง แต่คาดว่าในปีต่อไปจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

นอกเหนือจากเรื่องของอาชญากรรมจากการก่อการร้ายแล้ว หัวข้อที่น่าสนใจอีกหัวหน้าหนึ่งคือ เรื่องการรักษาความปลอดภัย (Security System) ซึ่งมีการศึกษากันมากและเป็นที่สนใจโดยทั่วไป เป็นการศึกษาถึงระบบการรักษาความปลอดภัยในอาชญากรรมทุกประเภท ทั้งอาชญากรรมร่วมสมัยและอาชญากรรมพื้นฐาน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีหลากหลาย งานวิจัยที่ออกมาหลายเรื่องและการนำเสนอผลงานการศึกษา ตลอดจนหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เปิดสาขาหรือเปิดสอนในวิชานี้อย่างแพร่หลายในหลักสูตรของคณะอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ซึ่งได้รับความนิยมในสหรัฐฯ เนื่องจากมีการให้บริษัทรักษาความปลอดภัยดำเนินงานกันมาก และการรักษาความปลอดภัยถือเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีใบรับรองลงทะเบียนผ่านการฝึกฝนและศึกษามาอย่างดี

ต่อจากเรื่องของการรักษาความปลอดภัยคือเรื่องงานตำรวจ ซึ่งมีหัวข้อถึง 152 เรื่อง แสดงให้เห็นถึงความสนใจในเรื่องนี้ค่อนข้างสูง โดยมีทั้งนักปฏิบัติ ผู้ที่ทำงานด้านการรักษากฎหมาย และนักวิชาการมาเข้าร่วมนำเสนอผลงานและร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก เรื่องที่น่าสนใจจะอยู่ที่ทัศนคติของประชาชนต่อตำรวจและเรื่องการใช้กำลังของตำรวจ ซึ่งในสังคมอเมริกันกำลังเป็นประเด็นถกเถียงกรณีเด็กผิวดำถูกตำรวจยิงเสียชีวิต ทำให้เรื่องของตำรวจเป็นเรื่องร้อนที่มีการถกเถียงกันพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงประสิทธิภาพของงานตำรวจ ภาวะผู้นำ การพัฒนาบุคลากร และการบริหารงานตำรวจ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน

อาชญาวิทยาที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้หญิง ได้รับความสนใจและมีการนำเสนอผลงานในตำราและหนังสือมากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเน้นในการอธิบายสาเหตุการเกี่ยวพันกับอาชญากรรมของผู้หญิง โดยเฉพาะ การวิเคราะห์จากทัศนะของนักอาชญาวิทยาแนวสตรีนิยม นอกจากนี้เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการเลี่ยงโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดหญิงนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่มีการนำเสนอมาก โดยมีเนื้อหาเน้นที่ความแตกต่างทางเพศภาวะ และบทบาททางสังคม ทำให้ผู้หญิงมีความต้องการและมีความจำเป็นที่จะได้รับการปฏิบัติแตกต่างไปจากผู้ต้องขังชาย แต่ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีการกล่าวถึงข้อกำหนดกรุงเทพเท่าไรนัก ทั้งที่มีเนื้อหาและหลักการสอดคล้องกัน ดูเหมือนว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือสหประชาชาติ เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์ และนักวิชาการในสหรัฐฯและยุโรป เนื่องจากมีมาตรฐานในการปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพอยู่แล้ว

ในส่วนของทัณฑวิทยาและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดปรากฏว่า เรื่องเกี่ยวกับการกลับเข้าสู่สังคมของผู้กระทำผิด (Reentry) ยังเป็นเรื่องที่นักอาชญาวิทยาให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ทั้งนี้เพราะเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลถึงความสำเร็จของการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดความสำเร็จของงานราชทัณฑ์ในยุคปัจจุบัน งานเขียนและตำราที่เกี่ยวกับนักทัณฑวิทยาและการราชทัณฑ์ในระยะหลังๆ จึงมีเรื่องเกี่ยวกับการกลับเข้าสู่สังคมของผู้กระทำผิดเป็นส่วนใหญ่ โดยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเหล่านี้จะเป็นหนังสือขายดีและได้รับการระบุให้เป็นหนังสือสำหรับการอ่านประกอบในชั้นเรียนของหลักสูตรอาชญาวิทยาและงานยุติธรรมต่างๆ ขณะที่งานวิจัยทางด้านทัณฑวิทยาและงานราชทัณฑ์ก็ได้ให้ความสนใจในหัวข้อนี้เช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความสนใจในเรื่องการกลับเข้าสู่สังคมของผู้กระทำผิดนี้ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของนักวิจัยคือ การกระทำผิดซ้ำและผู้ต้องขังหญิงที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย โดยประเด็นดังกล่าวยังคงเน้นถึงเรื่องการเพิ่มจำนวนของผู้ต้องหญิงและผลกระทบของการจองจำต่อผู้ต้องขังหญิงและครอบครัว การปฏิบัติต่อผู้หญิงในเรือนจำ โปรแกรมการแก้ไขผู้ต้องขังหญิง และความสำเร็จของการกลับเข้าสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงโดยไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

การประชุมในปีหน้าของสมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐฯ จะจัดให้มีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในระหว่างวันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน 2558 โดยมีเรื่องเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมและงานยุติธรรมในมิติทางการเมือง (The Politics of Crime Justice) แต่หัวข้อก็เปิดกว้างให้ผู้สนใจที่เป็นนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติ อาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกเข้าเสนอผลงาน ตลอดจนเป็นการเปิดตัวตำราและหนังสือด้านอาชญาวิทยาใหม่ๆ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าปีหน้า แนวโน้มความสนใจด้านอาชญาวิทยาจะเป็นไปในทิศทางใด

***********************************************

หมายเหตุ ภาพประกอบบางส่วนมาจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 583035เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2014 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2014 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท