บทเรียนในชุมชนจากค่าย กศน. กระนวน (2)


บทเรียนในชุมชนจากค่าย กศน. กระนวน (2)

ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2557 ศูนยืการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.กระนวน) ขอให้ไปช่วยทำกิจกรรมในค่ายส่งเสริมคุณธรรม เสริมสร้างค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ผมเขียนเล่าเรื่อง บทเรียนในชุมชนจากค่าย กศน. กระนวน ตอนที่ 1 ไว้นิดหน่อย https://www.gotoknow.org/posts/582067 ก็เลยอยากจะเขียนในตอนที่ 2 ที่คิดว่าเป็นตอนท้ายเรื่อง เพื่ออย่างน้อยๆก้เอาไว้ในความทรงจำและถือว่าเป็นการถอดบทเรียนเล็กๆที่พอจะมี แม้ไม่มีท่านใดมาอ่านหรืออาจไม่สามารถนำไปใช้ได้ก็ตาม แต่ที่พอจะดีอยู่บ้างก็หวังว่าจะเป็นการบันทึกเรื่องราวของชีวิตไว้บ้าง ตามสมควร นอกเรื่องเสียนาน กลับมาดูว่าบทเรียนที่ได้จากการไปลงชุมชนครั้งนี้ที่นอกเหนือจากบันทึกเรื่องแรกคืออะไร

ในวันแรกผมไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดคือครูโย ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถนำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี สามารถเลือกเพลงและนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะโดยมากเราชาว มข. จะจัดกิจกรรมนันทนาการแก่เด็ก เยาวชนหรือนักศึกษา การลงชุมชนและทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงวัย จึงเป็นอีกเรื่องที่ดูจะไม่ถนัดหรือด้วยมีโอกาสในการทำกิจกรรมในลักษณะนี้น้อย (ไม่ได้หมายความว่า มข. ลงชุมชนทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนน้อยนะครับ) การแปลงจังหวะเพลงจากเร็วที่เหมาะกับวัยรุ่น ก็แปลงให้ช้าลง เปลี่ยนทำนองไปบ้าง เล่นลูกคอให้เหมาะกับพ่อๆแม่ๆผู้สูงวัย เปลี่ยนจังหวะกลองหรือการโยกย้ายส่ายเอวให้ช้าลง จะช่วยให้ชาวค่ายผู้สูงวัยสามารถดยกย้ายได้ถนัดและไม่ไปกระทบสรีระที่เสื่อมไปตามกาลเวลา แต่ใจท่านทั้งหลายยังกระชุมกระชวย

การทำงานตามนโยบายของส่วนกลางหลายต่อหลายครั้ง ผู้ไปถ่ายทอดนโยบายหรือผู้ปฏิบัติก็ขาดทักษะการเชื่อมโยงระหว่างหลักการกับหลักความเป็นจริงที่จะช่วยให้ทำงานได้จริงในพื้นที่ การทำหลักสูตรเพื่ออบรมเป็นหลักสูตรแกนกลางที่หมายจะบอกกล่าวเล่าแจ้งแก่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ให้ทราบว่าในแต่ละหลักสูตรจะต้องมีอะไร ต้องทำอะไร ต้องได้อะไรบ้างจากการไปส่งเสริมหรือไปอบรมให้ความรู้แก่คนในชุมชน แต่ผู้ปฏิบัติต้องนำเอาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมต่อพื้นที่ภายใต้ข้อจำกัดที่แตกต่าง ทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียน ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชน เลยทำให้อดคิดถึงเพลง พ.ศ. 2504 ไม่ได้ "พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี …. สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา" การถ่ายทอดนโยบายหลายต่อหลายครั้ง การสื่อสารหลายทอดจะเป็นผลให้ "สาร"ที่ต้องการสื่อไปขาดหายไปบางท่อน ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ สาระจึงขาดหายไป หรือหลายต่อหลายครั้งนโยบายที่ต้องการจากส่วนกลางถูกกำหนดให้ทำตามรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ เช่น อยากได้ OTOP ในยุคที่ OTOP เฟื่องฟู ชุมชนมีงาน มีเงิน แต่หลายๆชุมชนหลายๆตำบลในหลายจังหวัดมีผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกันหรือชนิดเดียวกัน พอนำมาจัดแสดงในงานเดียวกัน โอ้โห เหล้าชุมชน ไวน์ชุมชน ผ้าไหมชุมชน มารวมกันแทบทั้งนั้น แทบจะหาความต่างไม่เจอ กลับมาถึงเรื่องค่ายค่านิยมหลัก 12 ประการ ที่ กศน. เป็นเจ้าภาพ มีหลักสูตรที่ถูกออกแบบจากส่วนกลาง ใบงาน หรือรูปแบบขั้นตอนก่อนหลังว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ให้ครบถ้วนตามที่นโยบายต้องการเพื่อตอบสนอง คสช. แต่เมื่อคนอบยย่างผมไปร่วมด้วยช่วยกัน ก็เห็นว่า "วิธี" หลายอย่างในการนำนโยบายไปปฏิบัติ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถประยุกต์หลักสูตรให้เข้ากับท้องถิ่น เสมือนครูในโรงเรียนที่ต้องแปลงหลักวิชาความรู้ให้เข้ากับสภาพของผู้เรียน เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ และสามารถขยับกิจกรรมไปสู้เป้าหมายได้ การจะยึดแต่เพียง "แกนกลาง" ตามแบบที่ส่วนกลางกำหนดจึงดูจะแข็งทื่อและอาจไม่ได้ดั่งใจนักในชุมชน ที่มีความหลากหลาย และทักษะของผู้เรียนคือผู้สูงวัยที่ดูจะแตกต่างวิถีคิดและทักษะในการอ่าน การคิด การเขียน ผมไม่ได้ดูถูกว่าคนในชุมชนคิดไม่ได้ แต่เชื่อว่านักวิชาการที่ลงชุมชนบ่อยๆ หลายต่อหลายครั้งจำเป็นต้องมีทักษะการ "อธิบาย" ให้แจ่มชัด ขยัดช่องว่างของการอ่าน การเขียน มาใช้วิธีการพูดคุยแล้วถอดบทเรียน และนักวิชาการผู้ลงไปซอกแซกหาข้อมูลต้องแปลงวิถีของตนอีกเรื่องคือควรจะเป็นนักจดบันทึก หมายคือ จะบันทึกด้วยการเขียน หรือบันทึกเสียงหรือภาพเคลื่อนไหวโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย จะช่วยให้เราสามรถมาถอดบทเรียนได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คนในชุมชนเป็นชนที่สะอาด บริสุทธิ์ มากกว่าคนเมืองหลายเท่า (คหสต.) ทั้งความคิด การกระทำ หรือแม้แต่การปฏิบัติตน เพราะศานาและวิถีชุมชนยังมีเรื่องฮีดคองอันเป็นหลักยึดเหนี่ยวอยู่ การจะไปยัดเยียดก็ต้องให้พอเหมาะพอดี และต้องคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาให้มาก เพราะบทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้นจนทำให้ระบบเกษตรในบ้านเราเปลี่ยนไปมากก็ด้วยนโยบายจากส่วนกลางที่ลงไปถึงชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้านจึงเปลี่ยนไปมาก

แต่การไปลงชุมชนคราวนี้สัมผัสได้ว่า ชุมชนที่ไปลงครั้งนี้ยังมีฮีตคองที่ยังสวย งดงาม และทรงคุณค่า สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังฝังอยู่ในลมหายใจและจิตวิญญาณของชนชาวบ้านอย่างเข้มข้นกว่าคนเมือง

คิดถึงตอนเรียนหรือทำวิจัยที่ต้องลงชุมชนบ่อยๆ ได้กินข้าวป่า จ้ำแจ่วบองแจ่วปลาร้าเคียงผักลวกผักสด คิดถึงกลิ่นน้ำส่างกลางทุ่ง กลิ่นน้ำค้างยอดหญ้าในยามเช้า กลิ่นนึ่งข้าวเหนียวอุ่นๆจากเตาไฟ กลิ่นปิ้งปลาสดๆให้ดอมดม

ดูจะออกนอกเรื่องไปไกล....แต่มิไกลจากใจจะไปถึง

บนที่ราบสูงมอดินแดง

ธันวาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 582152เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2014 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2014 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท