หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

เติมกำลังใจจากไอดอล


ชะลอน้ำให้น้ำไหลช้าที่สุดด้วยการขุดร่องที่มีระดับเท่ากันไว้รับน้ำ ถ้าเป็นที่ลาดชันก็ขุดร่องแบบขั้นบันได ให้กันดินไหลมาถมร่องให้ตื้นด้วยวัสดุอินทรีย์ที่อุ้มน้ำและย่อยสลายช้า​รองในร่อง ร่องน้ำแบบนี้ชื่อว่า "Swale" ชื่อไทยๆเรียกว่า "ร่องชะลอน้ำ" ......ไล่น้ำออกเพื่อป้องกันน้ำใต้ดินเอ่อกลับขึ้นมาไหลบ่าตามหน้าดินและช่วยกันน้ำแทรกเม็ดดินมากไปด้วยท่อมีรูฝังดิน เรียกว่า "French Drain"....ชะลอน้ำด้วยฝายแม้ว ใช้หญ้าแฝกยึดดิน....หลักจัดการดินและน้ำง่ายๆพวกนี้ ทำให้ไปต่อได้

เพียงแค่ตามรู้จักความเป็นที่เป็นทางของต้นไม้ ๓ กลุ่ม หญ้า(หญ้าแพรก หญ้าคา) พืชตระกูลถั่ว (หญ้าเกล็ดหอย ไมยราบ ถั่วลิสงนา) สาบเสือ เพื่อที่จะ "ปลูกต้นไม้ให้รอด" ก็รู้สึกทึ่งกับสิ่งที่ได้พบได้เห็นได้รู้ ยิ่งรู้สึกถึงความเป็นสิ่งมีชีวิตที่งดงามของต้นไม้

ธรรมชาติสื่อสารผ่านหย่อมดินของดงหญ้าคา ดงหญ้าเจ้าชู้ หน้าดินเปลือย ดินสไลด์ ดงสาบเสือ ให้รู้จักพื้นที่มากขึ้นบ้างแล้ว ดินสไลด์ที่สื่อความอ่อนแอของความเป็นดินปนหิน กรวดกับความแห้งแล้งในบางเวลา ทำให้สะดุ้งใจว่าฟุ้งเกินจริงไปหรือเปล่ากับเรื่องป่านิเวศ

สำรวจดินไปเรื่อยๆ เมื่อยก็นั่งมั่งยืนมั่ง แปลกใจที่ไม่เคยนึกเบื่อกับการเดินไปดูโน่นนี่นั่น มีมั่งที่หลายครั้งไม่รู้จะทำอะไรต่อเมื่อนั่งมองไปรอบๆแล้วใคร่ครวญเป้าหมายข้างหน้า

ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ดินเป็นหิน กรวดและแห้งแล้งยังฟื้นกลายเป็นป่าได้ ภาพป่าที่นั่นเป็นไอดอลที่เติมกำลังใจให้

นึกได้ว่าที่นั่นแก้ดินด้วย ๒ เรื่องหลักๆ หนึ่ง ยึดดินป้องกันการชะล้าง การพังทลายของหน้าดิน เครื่องมือที่ใช้ คือ หญ้าแฝก หนึ่ง ชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ดิน เครื่องมือที่ใช้ คือ ฝายแม้ว จะน้อมนำมาใช้ช่วงไหน จุดใด อย่างไรเหมาะกับผืนดินผืนนี้ นั่นแหละโจทย์แกะรอยธรรมชาติ ทำความรู้จักพื้นที่ต่อไป

มีวิธีเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินด้วยการชะลอน้ำในวิถีเกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ เขาทำให้น้ำไหลช้าที่สุดด้วยการขุดร่องที่มีระดับเท่ากันไว้รับน้ำ กันดินไหลมาถมร่องให้ตื้นด้วยวัสดุอินทรีย์ที่อุ้มน้ำและย่อยสลายช้ารองในร่อง ถ้าเป็นที่ลาดชันก็ขุดร่องแบบขั้นบันได ร่องน้ำแบบนี้ชื่อว่า "Swale" ชื่อไทยๆเรียกว่า "ร่องชะลอน้ำ"

ระดับดินที่เท่ากันในร่อง เพิ่มเวลาซึมลงใต้ดินให้น้ำ เวลาฝนตกน้ำมาก ล้นร่อง น้ำยังไหลไปสู่ร่องชะลอน้ำถัดไปได้ และเพื่อป้องกันคันดินของร่องเตี้ยลงหรือพังเร็วจากน้ำเซาะ เขาผนวกการทำร่องเล็กๆด้านข้างร่อง ณ จุดที่ต่ำกว่าจุดสูงสุดของคันดิน เพิ่มทางออกให้น้ำที่เอ่อล้นไหลออกทางด้านข้างไว้ด้วย ตรงเนินดินขอบร่องก็ปลูกพืชลงไปช่วยให้ดินแข็งแรง

มีวิธีจัดการไล่น้ำออกเพื่อป้องกันน้ำใต้ดินเอ่อกลับขึ้นมาไหลบ่าตามหน้าดิน และช่วยกันน้ำแทรกเม็ดดินมากไปด้วย เขาไล่ดูระดับสูงต่ำของดิน แล้ววางแนวเซาะดินให้เป็นคูไว้รับน้ำ วางท่อเจาะรูด้านข้างและด้านล่างไว้ตลอดแนวคูจนถึงปลายทางนำน้ำออก ให้ทำหน้าที่รับมือกับมวลน้ำที่ไหลซึมลงแทรกช่องว่างในเม็ดดิน เก็บน้ำที่ซึมลงดินด้วยรูท่อแล้วพาไหลตามท่อออกไปยังส่วนปลายท่อ ถมท่อด้วยกรวด ถมคูด้วยดิน แล้วปลูกพืชคลุมดินไว้ เขาเรียกวิธีนี้ว่า "French Drain"

ธรรมชาติสร้างร่องชะลอน้ำและปลูกพืชช่วยให้ดินขอบร่องแข็งแรงไว้แล้วในดินผืนนี้ ก็แอ่งน้ำตื้นๆเล็กๆที่วางตัวขวางทางน้ำอยู่ในดงคาและดงสาบเสือนั่นไง งั้นทำต่อ หาแอ่งดินที่มีร่องรอยเนินดินเตี้ยหรือเริ่มพังให้เจอ

หมายเลขบันทึก: 581946เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2014 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท