ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๐๐. ตามเสด็จปราจีนบุรี : ๖. อ่างเก็บน้ำพระปรง



หลังจากทำงาน ๓ วัน (๗ - ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗) คณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และคู่สมรส ได้รับพระราชทานพาเที่ยว ๓ วัน (๑๐ - ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗) ปีนี้ไปภาคตะวันออก ๓ จังหวัด คือ ปราจีนบุรี สระแก้ว และ ฉะเชิงเทรา

จุดสุดท้าย ซึ่งเป็นจุดที่ ๖ ของวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ คือฝายและ อ่างเก็บน้ำพระปรง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่เป็นมรดกโลก เดิมเป็นห้วยพระปรง

โครงการนี้เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มปี ๒๕๒๑ โดยบริเวณที่ราบเชิงเขานี้ มีโครงการสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำถึง ๑๑ โครงการ โดยโครงการฝายและอ่างเก็บน้ำพระปรง ความจุ ๙๗ ล้านลูกบาศก์เมตร ปล่อยน้ำแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร และแก่อุตสาหกรรม รวมทั้งเก็บไว้ใช้ไล่น้ำเค็มที่รุกขึ้นมาที่แม่น้ำบางปะกงในหน้าแล้งด้วย

ท่านอธิบดีกรมชลประทาน มารับเสด็จด้วย และถวายรายงานว่า กฎหมายตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ระบุให้เก็บค่าน้ำจากอุตสาหกรรมเพียงลูกบาศก์เมตรละ ๕๐ สตางค์ ยังไม่ได้แก้สักที

ทรงปล่อยปลาลงอ่าง เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นรางปล่อยปลา และการตัดริบบิ้น (โดยสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ) ให้ประตูอ่างปลาเปิด น้ำไหลลงราง ปลาก็โดนดันลงไปด้วย ลงไปยังอ่างเก็บน้ำ

หลังจากนั้นก็เป็นทีคณะกรรมการ IAC และคณะที่ติดตาม ได้ปล่อยปลากันถ้วนหน้า จดหมดคนปล่อย ปลาในถุงอัดอากาศก็ยังเหลืออีกหลายสิบถุง เจ้าหน้าที่จึงปล่อยกันเอง ช่วงหลังๆ เป็นลูกปลาขนาดเล็กมาก เล็กขนาดครึ่งปลายนิ้วคน เจ้าหน้าที่กรมชลประทานบอกว่า ขอให้รอดสัก ๓๐% ก็พอใจ ปลาที่ปล่อยเป็นปลาพื้นเมือง ได้แก่ปลาตะเพียนหางแดง ปลาตะเพียนหางสีเงิน ปละตะเพียนหางสีทอง ปลาบ้า และอีกสองสามชนิด

รายการสุดท้ายคืออาหารเย็น ผมไปนั่งที่ซุ้มคณะผู้ตามเสด็จท้ายสุดของซุ้มรับประทานอาหาร ติดกับซุ้มปรุงอาหาร คือเฝอ ได้กินทั้งอาหารและฟังบรรยากาศการสั่งอาหาร โดยที่เขาจัดอาหารในปริมาณที่คน ๔ คนกินไม่หมด ให้คน ๒ คนกิน ที่อร่อยที่สุดคือเฝอนั่นเอง




ปลายแถวรับเสด็จ


นกอ้ายงั่ว สัญลักษณ์ของอ่างเก็บน้ำพระปรง


ฝาย


ฝายและอ่างเก็บน้ำ ทางขวาล่างของภาพคือถุงปลาสำหรับปล่อย


ทรงปล่อยปลา


สาวน้อยปล่อยปลา


นกอ้ายงั่วยามค่ำ


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 581613เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 06:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท