จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ


จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ

จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ

สรณะเทพเนาว์ [1], ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗.

ในปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยต้องก้าวเข้าสู่สังคมประชาคมอาเซียนเหมือนดังเช่น ๑๐ ชาติในย่านนี้ ปัญหาประการหนึ่งที่วิตกก็คือ ประเทศไทยมีความพร้อมเพียงใดในการก้าวเข้าสู่อาเซียนดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่อง "แรงงาน" ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งของ "การผลิต" (Production) ในระบบเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะมองในมิติใดก็ตาม แรงงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความ "เหลื่อมล้ำ" ของสังคมในย่านนี้ โดยเฉพาะอัตราค่าจ้างของแรงงานสามสัญชาติ ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา รวมถึงการเกิดปัญหาที่เรื้อรังมานานที่ต้องได้รับการแก้ไข อาทิ การควบคุมอาชญากรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยว การไขปัญหาการค้ามนุษย์ เรื่องสัญชาติของบุตรแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ฯลฯ

เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีมติรับรองรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเข้าเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา รวม ๑๘ คณะ โดยพล.ท.เดชา ปุญญบาล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งประธาน คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน ซึ่งถือว่า กรรมาธิการฯด้านนี้ต้องทำการบ้านและต้องมีบทบาทอย่างสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูปประเทศในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ลองมาทบทวนดูนโยบายสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการแรงงาน และการประมวลปัญหาและข้อสังเกตต่างๆ

เริ่มจากนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ ได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการของแต่ละหน่วยงานที่จะทำต่อไปไว้รวม ๑๑ ข้อ(ด้าน)ที่สำคัญคือ นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ ในระยะเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ในการจัดการปัญหาอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ เช่น ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล การปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

ประเด็นปัญหาเบื้องต้น

(๑) ปัญหาพื้นฐานเดิม ที่เป็นปัญหาหลักที่ได้พยายามแก้ไขมานานแล้ว [2]

(๑.๑) ปัญหาการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ ในการเข้ามาของแรงงานเหล่านี้ โดยเฉพาะแรงงานที่ผิดกฎหมายมีปัญหาสืบเนื่องตามมามากมาย สิ่งที่ต้องดำเนินการตามมาด้วยคือการควบคุมดูแล ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิที่ทำได้ยาก ที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ เรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติและนายจ้าง ให้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อการวางแผนควบคุมดูแลในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ทำให้ทราบว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่จำเป็นต้องรู้ ทั้งในเรื่องของการติดตามการเข้าถึงกระบวนการต่าง ๆ ของแรงงานข้ามชาติทราบถึงจำนวนแรงงานในพื้นที่นั้นๆ ว่าทำงานที่ไหนบ้าง อยู่พื้นที่ใด เพื่อนำไปวางแผนควบคุมดูแล สำหรับภาคเอกชน ย่อมทำให้ผู้ประกอบการสามารถหาแรงงานได้ตรงตามความต้องการเช่นกัน แต่การดำเนินการยังไม่ครอบคลุมเรียบร้อย

(๑.๒) ปัญหาการเรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกับแรงงานไทยในด้านการประกันสังคมและสวัสดิการแรงงานของกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เพราะในขณะที่แรงงานไทยบางสาขางานอุตสาหกรรม แรงงานไทยปฏิเสธที่จะเข้าทำงาน อาทิ แรงงานอุตสาหกรรมการประมงน้ำลึก แรงงานก่อสร้างไร้ฝีมือ ไปจนถึงแรงงานก่อสร้างฝีมือและกึ่งฝีมือ เป็นต้น ฉะนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เพื่อการแก้ไขปัญหาในระดับระหว่างประเทศ

(๑.๓) ปัญหาอุปสรรคที่ตามมาในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีมากมาย อาทิ การที่แรงงานข้ามชาติหลายรายเลือกที่จะละเลย ไม่ขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายนั้น เพราะค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และสถานที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนมีน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการ ยังคงนำเข้าแรงงานข้ามชาติมาทดแทนแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เนื่องจากแรงงานหลายราย ยังไม่รู้ว่าจะไปขึ้นทะเบียนได้อย่างไร และได้ที่ใด

(๑.๔) การบังคับใช้กฎหมายยังบกพร่อง อาทิ อาทิ กรณีนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายแต่ไม่นำไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะมีความผิดตามมาตรา ๙๖ แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ไม่มาขึ้นทะเบียนและลักลอบจ้างแรงงานโดยผิดกฎหมายนั้น หากตรวจพบนายจ้างรายใดลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อการจ้างแรงงาน ๑ คน (มาตรา ๕๔) ส่วนแรงงานต่างด้าวจะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับตั้งแต่๒,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๕๑)

(๒) ปัญหาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่สืบเนื่องไปถึงระหว่างประเทศโดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) ในปี ๒๕๕๘ นี้

(๒.๑) การค้ามนุษย์ ในวิกฤติแรงงานข้ามชาติ วิบากกรรมค้ามนุษย์อาเซียน แนะเรียนรู้กฎหมาย พร้อมศึกษาสิทธิประโยชน์ ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ [3] แรงงานข้ามชาติในปัจจุบันแสดงให้เห็นปัญหาต่างๆ ของแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือเรียกอีกอย่างว่า "แรงงานใต้ดิน" โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์อยู่ในอันดับที่เลวร้ายในสายตาของชาวต่างชาติ มีกระบวนการของนายหน้า ปัญหาใหญ่ที่สำคัญของแรงงานข้ามชาติคือระบบส่วย และการรับเงินใต้โต๊ะ

(๒.๒) เมื่อประเทศไทยเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) หากทุกประเทศในอาเซียนยังไม่สามารถร่วมมือกันจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติได้อย่างเป็นระบบโดยเร็วภายใน ๕ ปี โดยการเข้มงวดเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานข้ามชาติ อาจก่อให้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มทวีมากขึ้น ฉะนั้น ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำที่มี "ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์" การทะเบียนราษฎรที่มีประสิทธิภาพยิ่งในภูมิภาคนี้ โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินการ ก็คือ สำนักทะเบียนกรมการปกครอง (สำนักทะเบียนจังหวัดและสำนักทะเบียนอำเภอ รวม กรุงเทพมหานครด้วย) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีสำนักทะเบียนท้องถิ่น (คือเทศบาล) เพื่อการจัดการด้าน "การทะเบียนราษฎร" ของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้

(๒.๓) ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในกฎหมายระหว่างประเทศ การเคารพต่อหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ แรงงานต่างด้าว อาจเป็นปัญหาเรื่องการควบคุมอาชญากรรมระหว่างประเทศ ปัญหาสุขภาวะอนามัยข้ามชาติ ปัญหาเรื่องสัญชาติของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยโดยมีบิดามารดาเป็นแรงงานต่างด้าว เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลที่นานาชาติได้รับรองเป็นสิทธิความเป็นมนุษย์ไว้ เรียกว่า "สิทธิพลเมือง" อันเป็นมาตรฐานระดับสากลร่วมกันที่ว่า เอกชนทุกคนและองค์การของสังคมทุกองค์การ จะส่งเสริมเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ตามข้อมติที่ 2200 (XX1) [4] และ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights–ICCPR) [5] ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ มีผลใช้บังคับ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐

ประเด็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล

(๑) ปัญหาแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่ คสช. ให้ความสำคัญ นับจากหลังการรัฐประหารมาจนถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ คสช.ออกประกาศคำสั่งเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติไปแล้วทั้งสิ้น ๗ ฉบับ คือ (๑.๑) คำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๕๙/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว, (๑.๒) คำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๖๐/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว, (๑.๓) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๖๗/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว, (๑.๔) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๖๘/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ระยะที่ ๑ เป็นการชั่วคราว, (๑.๕) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์, (๑.๖) คำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์, และ (๑.๗) คำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์

ต่อมาได้ออกประกาศเพิ่มเติมอีก ๕ ฉบับ คือ (๑) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๗๗/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม และมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานเรือประมงในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล, (๒) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๙๐/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม, (๓) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๙๔/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service), (๔) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๑๑๗/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม, และ (๕) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๑๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การกำหนดมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์

(๒) การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตาม (๒.๑) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗, (๒.๒) คำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์, (๒.๓) คำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์, (๒.๔) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๖๗/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗, (๒.๕) ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๖๘/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ระยะที่ ๑ เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗

(๓) ตามนโยบายการเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านแบบเบ็ดเสร็จที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ของต่างด้าว ๓ สัญชาติ พม่า(เมียนมาร์) ลาว และกัมพูชา เป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสัญชาติ และอนุญาตให้ทำงานอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และอนุญาตทำงานตามกฎหมายต่อไป มีการดำเนินการสรุป ดังนี้

(๓.๑) จัดตั้งศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน ในจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดสุรินทร์ เพื่อดำเนินการพิจารณาออกใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ที่ประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ดังกล่าวเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ [6]

(๓.๒) จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) โดยให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในจังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรกและเริ่มทำการตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ส่วนการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใดและเริ่มทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกำหนด [7]

(๓.๓) จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จจังหวัดอื่น ๆ

ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๖ แห่ง (๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ - ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๗) ณ สถานที่ตั้ง ดังนี้ [8] (๑) ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน (๒) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง (๓) ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง เขตมีนบุรี (๔) ศูนย์เยาวชนลุมพินี เขตปทุมวัน (๕) ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา (๖) ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา (บางบอน) เขตบางบอน

ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจังหวัดติดชายแดนทะเล ๑๕ จังหวัดเพิ่มเติม [9] (๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ - ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗) ประกอบด้วยจังหวัด กระบี่ จันทบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง สตูล และสมุทรสงคราม

ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมใน ๗ จังหวัด [10] ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรปราการ และสุราษฎร์ธานี เริ่มทำการตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และ ให้นายจ้างของคนต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมง เพื่อจับสัตว์น้ำทางทะเล จัดทำบัญชีรายชื่อ สัญชาติ และจำนวนของคนต่างด้าวดังกล่าว และแจ้งต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดตามภูมิลำเนา ที่จดทะเบียนเรือใน ๒๒ จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตราด ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง ระยอง สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจังหวัดเพิ่มเติมใน ๕๓ จังหวัด (๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘) ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี และให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๗๗/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๙๐/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๙๔/๒๕๕๗ เปิดดำเนินการถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ เว้นแต่คณะกรรมการนโยบายจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น [11]

สำหรับ กทม.ยุบจุดบริการจาก ๖ แห่งเหลือเพียง ๓ แห่ง คือ ๑.ศูนย์กีฬารามอินทราเขตบางเขน ๒.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น)เขตดินแดง ๓.ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนาเขตทวีวัฒนา

ศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน ซึ่งจัดตั้งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เฉพาะในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดสระแก้ว ขยายระยะเวลาเปิดดำเนินการถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ [12]


[1] หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๒๒๔๘๐ หน้า ๑๐ คอลัมน์ < การเมืองท้องถิ่น> บทความพิเศษ : จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ โดย สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น, เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน, นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

[2] ดู พรพจน์ อักษร, "ปัญหาแรงงานข้ามชาติก่อนการเปิดอาเซียน", ใน "เสวนาเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติก่อนการเปิดอาเซียนปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จ.อุบลราชธานี" โดยมูลนิธิรักษ์ไทย, ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖. http://www.naewna.com/local/53091

[3] "หารือแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ", สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดบรรยาย "วิกฤติแรงงานข้ามชาติ วิบากกรรมค้ามนุษย์อาเซียน", ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗. http://www.dailynews.co.th/Content/regional/253299/หารือแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

[4] ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลกลุ่มบุคคลและองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล,http://www.ohchr.org/Documents/Issues/Defenders/Declaration/Thai_Declaration.pdf

[5] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง,http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf

[6] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ๑

[7] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๐/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ๔

[8] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๙๐/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗http://www.doe.go.th/index.php/th/news/news-public/50-20140715-1821

[9] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๙๔/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติมลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗

[10] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๗๗/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม และมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานเรือประมงในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗

[11] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๗/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗

[12] ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การกำหนดมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 580392เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2014 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท