บทนำ - พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จัดตั้งคณะทำงานปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษา


ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖

ขณะนั้นกระผมดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดประชุมสามัญสภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลครั้งที่ ๒ ประจำปีวาระ ๒๕๕๗ ซึ่งก่อนการประชุมกระผมได้มีโอกาสนำเสนอแนวทางความคิดในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ในการแก้ไขข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษากับท่านประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลประจำปีวาระ ๒๕๕๖ โดยรายละเอียดที่ได้นำเสนอกับท่านประธานสภาฯ มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

๑. ด้วยในปีการศึกษา ๒๕๕๗ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเปิดปิดภาคเรียนพร้อมกับนานาชาติ โอกาสนี้เป็นโอกาสอันดีในการจะแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษาใหเกิดความทันสมัย สอดคล้องกับการปฏิบัติขององค์กรนักศึกษาเพื่อให้ข้อบังคับฯ สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

๒. เพื่อให้เกิดความหลากหลายจึงกำหนดให้คณะทำงานฯ มีองค์ประกอบของสภานักศึกษาและสโมสรนักศึกษาทำงานร่วมกัน

๓. เพื่อให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายในการปรับปรุงข้อบังคับฯ จึงเสนอรูปแบบการจัดตั้งคณะทำงานฯ โดยการได้มาของคณะทำงานฯ นั้น ได้เสนอเป็นรูปแบบเดียวกับการได้มาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือให้มีการเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงานฯ ในที่ประชุมสภานักศึกษา แล้วให้สมาชิกสภานักศึกษารับรอง จากนั้นการเลือกตำแหน่งต่างๆ ในคณะทำงานฯ ให้กรรมการประชุมร่วมกันและคัดเลือกกันเอง จากนั้นเสนอรายชื่อคณะทำงานฯ ทุกตำแหน่งผ่านประธานสภานักศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

๔. นอกจากพันธกิจหลักในการปรับปรุงข้อบังคับฯ แล้ว คณะทำงานฯ ยังีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาหรือให้คำปรึกษาในการดำเนินการขององค์กรนักศึกษาเพื่อให้เกิดกระบวนการ การทำงานร่วมกันและมีประสิทธิภาพในภาพรวมมากยิ่งขึ้น และยังมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากสภานักศึกษาด้วย

ซึ่งจากรายละเอียดที่ได้นำเสนอท่านประธานสภานักศึกษานั้น ท่านประธานสภานักศึกษาเองก็ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นโดยมอบหมายอำนาจในการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับฯ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของสภานักศึกษาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้แก่คณะทำงานฯ เพื่อให้การบริหารงานของคณะทำงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงาน

โดยองค์กระกอบของคณะทำงานฯ ในวาระที่ ๑ และวาระที่ ๒ ประกอบไปด้วย

๑. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ

๒. ผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษา เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ

๓. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ

๔. ประธานสภานักศึกษา เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ

๕. นายกสโมสรนักศึกษา เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ

๖. ประธานคณะทำงาน ๑ ตำแหน่ง

๗. คณะทำงาน จำนวน ๖ ตำแหน่ง

๘. คณะทำงานฯและเลขานุการจำนวน ๑ ตำแหน่ง

๙. คณะทำงานฯและผู้ช่วยเลขานุการจำนวน ๑ ตำแหน่ง

ด้วยเหตุนี้ ในที่ประชุมสภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสมัยสามัญครั้งที่ ๒ ประจำปีวาระ ๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ จึงได้มีการสรรหาผู้ที่จะมาเป็นคณะทำงานฯ กันขึ้นมา นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งขององค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่มีการจัดตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาเพื่อสนองต่อพันธกิจพิเศษในการปรับปรุงข้อบังคับฯ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ ปฏิบัติงานแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดลที่ ๒๒๖๔/๒๕๕๖ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะทำงานปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษา ถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการดำเนินงานด้านการปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษาโดยมีโครงสร้าง การได้มาเหมือนกับการแก้ไขปรับปรุงกฏหมายของรัฐสภา ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ในการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาโดยมีความประชาธิปไตยสอดแทรกอยู่ ถึงแม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบแบบที่คาดหวังไว้ แต่ก็เป็นวิถีทางที่พึงกระทำได้ภายใต้ข้อบังคับฯ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๓ เช่นกัน

เมื่อถามมว่าการแก้ไขข้อบังคับครั้งนี้ เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเช่นไร?

จะขอกล่าวว่าจากการทำกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย กิจกรรมนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ พบว่าตัวองค์กรนักศึกษาไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับฯ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อบังคับฯ ฉบับปี ๒๕๕๓ นั้นเป็นข้อบังคับที่มีความเป็นโครงร่างและช่องว่างต่างๆ มากเกินไป เมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งก็เกิดการสะดุดบ้าง อำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจนบ้าง หรือแม้กระทั่งการให้สภานักศึกษา ซึ่งเป็นนักศึกษามีอำนาจในการออกประกาศเพื่อกำกับดูแลสโมสรนักศึกษาระดับส่วนงาน (ซึ่งตามข้อบังคับฉบับปี ๒๕๕๓ ได้ให้อำนาจไว้ประมาณ ๓ บรรทัดและไม่มีความชัดเจนใดๆ ข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งต้องเป็นไปตามรูปแบบเดียวกันกับสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ประกาศของสภานักศึกษาที่ออกมานั้น บังคับใช้ได้จริงแค่ส่วนงานส่วนน้อยในมหาวิทยาลัยเท่านั้น) ตัวผมเองในขณะนั้นเห็นว่าโอกาสในการแก้ไขข้อบังคับครั้งนี้ ที่แรกสุดมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่งของสภานักศึกษา สโมสรนักศึกษาและชมรมเท่านั้น ก็ได้เสนอตัวเข้ามาเพื่อแก้ไขรายละเอียดอื่นๆ ในข้อบังคับฯ เพื่อให้สามารถใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพครับ


ขอจบบันทึกฉบับแรกไว้เท่านี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ

สวัสดีครับ,

ชญานนท์ ทัศนียพันธุ์

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 580325เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท