PLC_CADL_042 : ภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ปีงบประมาณ ๒๕๕๘


เวลาเที่ยงกว่าๆ ของวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับการทาบทามให้ "ทำงานต่อ" ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากที่รอคอยมาจนวินาทีสุดท้าย  "อยู่กับจิตใจ" ที่แกว่งไป-มา ขึ้นลงอยู่แบบสุดขั้ว ระหว่าง "หมดหวัง-มีหวัง" ระหว่าง "ทุกข์ใจ" กับ "โล่งใจ"

ที่ว่า "ทุกข์ใจ" เพราะห่วง "งานเชิงรุก บุกเบิก พัฒนา" (ผม AAR ไว้ที่นี่) คือ ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ (CADL) ที่ทำต่อเนื่องมาเป็นปี พวกเราซึ่งเป็นตัวแทน GE "กำลังเข้าที่เข้าทาง" มีความเข้าใจ เป้าหมาย อุดมการณ์ และค่านิยมร่วม (Shared Value) กำลังสนุกและมีความสุขกับการสร้างชุมชนเรียนรู้ (PLC) ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย.... การคงนโยบายนี้ไว้ของ ผอ.ใหม่ ให้พวกเราได้ "ทำต่อ" จึงยังความ "โล่งใจ" อย่างยิ่ง  หากต้อง "ทิ้ง" งานอันมีคุณค่านี้ไป เราแต่ละคนคงต้อง "ผจญ" กับปัญหาใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสานต่ออุดมการณ์กันได้ ...

ที่ว่า "โล่งใจ" เพราะจะได้มีโอกาสกลับไปทำงานวิชาการ ในสายงานของตนเองที่ภาควิชา และน่าจะมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น 

ไม่ใช่เพียงการได้รับโอกาสให้สานงาน CADL ต่อไป ในชื่อ "งานเครือข่ายวิชาการ" แล้ว ข่าวดีอีกอย่างคือ ความเข้าใจและให้โอกาสของผู้อำนวยการใหม่ (รศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง) ให้ทำงาน "พัฒนานิสิต" ... หลายคนตั้งคำถามทันทีว่า "...จะไปพัฒนานิสิตที่ไหน สำนักศึกษาทั่วไป ไม่มีนิสิต... "  ท่านเหล่านั้นเข้าใจผิด ความจริงสำนักศึกษาทั่วไปรับผิดชอบนิสิตทุกคนที่ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป ๓๐ หน่วยกิต นั่นหมายถึงนิสิตกว่า ๔๐,๐๐๐ คน และเป้าหมายของ GE คือ พัฒนาคุณลักษณะของบัณฑิตให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และเป็นคนที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นงาน "พัฒนานิสิต" จึงถือเป็นงานสำคัญอันดับต้นๆ ของสำนักศึกษาทั่วไป

ในระยะเวลาอันสั้น ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานอีกแบบหนึ่งที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากตอนที่ทำงานกับอดีต ผอ.พชรวิทย์ จันทร์ศิริสิร (ที่ผมประทับใจดังที่ได้เขียนไว้หลายที่ ตอนนี้ท่านย้ายไปเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์) ในวันแรกของการ KM ผู้บริหาร ท่านสร้างกลุ่ม LINE ไว้ติดต่อกันระหว่างผู้บริหาร ผมใช้ช่องทางนี้สื่อสารประเด็นสำคัญๆ เกือบจะทุกวันที่ได้พบกันระหว่างผู้บริหารอย่างได้ผล สะดวก รวดเร็ว (...ความจริง ผอ.พชรวิทย์ อยากให้ผมทำแบบนี้นานแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดและความแตกต่างบางอย่างจึงยังไม่ยังสร้างไม่ได้) นอกจากนี้การประชุมรายกลุ่มงาน ให้ทุกคุนทุกฝ่าย ได้นำเสนอรายละเอียดภาระงานของตนเอง ยังทำให้ผมเห็น (ปัญหา) และเข้าใจภาพรวมของการทำงานขึ้นมาก  แล้วนำข้อมูลจากกระบวนการนี้กำหนดเป็นบทบาท หน้าที่ และภาระงานของแต่ละคนแต่ละฝ่ายต่อไป... ผมเองได้รับมอบหมายเป็นคำสั่งอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนี้

ผมเสนอภาพรวมการทำงาน "เชิงรุก บุกเบิก พัฒนา" ต่อผู้อำนวยการและผู้บริหารหลายครั้งอย่างไม่เป็นทางการ (สรุปได้ดังภาพด้านล่าง) ว่า..

...เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ GE คือการสร้างนิสิตที่ "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีได้ในศตวรรษที่ ๒๑ (ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑) มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ สอดคล้องกับปรัชญาและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และเป็นไปตามแนวทางของประเทศ คือ สร้างคนที่สมบูรณ์ เราสามารถเรียกคุณลักษณะรวมกันสั้นๆ ว่า อุปนิสัย "พอเพียง" ดังนั้นพันธกิจของสำนักศึกษาทั่วไปในด้านพัฒนานิสิต จึงสื่อสารกับท่านผู้อ่านได้สั้นๆ คือ "การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" ในมหาวิทยาลัย นั่นเอง ...

การขับเคลื่อนฯ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๓ ด้าน ประสานเสริมกันอย่างบูรณาการ ได้แก่ ๑) มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ส่วนนี้คือ "งานพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ" ๒) มีการส่งเสริมและสนับสนุนอาจารย์ผู้สอนด้านสื่อ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และนวัตกรรมการเรียนการสอน และ ๓) มีระบบการประเมินผล (Assesments) และกระบวนการวิจัยทั้งด้านนวัตกรรมการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome) อย่างเป็นระบบ โดยมีเงื่อนไขของความสำเร็จที่จำเป็นคือ หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และมีระบบสนับสนุนและการบริหารจัดการที่ดี

เพื่อสื่อสารและแบ่งงานกันในทีม CADL ผมนำเอาภาระงานที่ได้รับมอบหมายนี้ มาเขียนเป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายของตนเองดังภาพ... ทีมขับเคลื่อนทุกคน ต้องนำเอาเป้าหมายและแนวทางเหล่านี้ไปคิดต่อ ว่ากิจกรรมอะไรที่ต้องใส่ไว้ในแต่ละช่อง ให้สอดคล้องและบรรลุตามเป้าหมาย


วิธีดูตาราง

  • สามารถแบ่งงานได้เป็น ๓ ส่วนหลักๆ ได้แก่ ๑) งาน KM ๒) งานพัฒนานิสิต และ ๓) งานเครือข่ายวิชาการ
  • ถ้านำ "งาน" ทั้ง ๓ ส่วนมาเขียนเป็นเมตริกท์ จะได้องค์ประกอบของเมตริกท์ ๙ ช่อง ดังรูป การไล่สีเหลื่อมกัน แสดงถึงการประสานบูรณาการ "รู้และร่วมกัน" ทุกคนในทีม 
  • องค์ประกอบของเมตริกท์ที่มี แถวและหลักเดียวกัน (ช่องที่ ๑, ๕, ๙) แสดงเป้าหมายและภาระงานหลักของแต่ละคนในทีมได้แก่
    • องค์ประกอบที่ ๑ เป้าหมายคือ สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้  ภาระงานหลักคือ พัฒนาองค์กรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ผู้รับผิดชอบหลักคือ คุณอาริษา
    • องค์ประกอบที่ ๕ เป้าหมายคือ นิสิตมีคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ ภาระงานหลักคือ พัฒนาคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ของรายวิชา GE ผู้รับผิดชอบหลักคือ คุณดอกอ้อ
    • องค์ประกอบที่ ๙ เป้าหมายคือ อุปนิสัย "พอเพียง" ภาระงานหลักคือ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ผู้รับผิดชอบหลักคือ "ผมเอง" โดยจะมี คุณอรทัยเข้ามาช่วย ... จะมีเพียงงานส่วนนี้เท่านั้น ที่ผมวางใจว่าจะเข้าไปสั่งการ ส่วนอื่นๆ อยากให้ทุกคนในทีมมีอิสระที่จะคิด ทำ และนำเสนอด้วยตนเอง   
    • คุณสายยัณต์ จะทำงานเป็นผู้สนับสนุนหลักทุกด้าน สร้างสื่อ จัดทำหนังสือ และงานประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
  • ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ องค์ประกอบของเมตริกท์ใดใกล้ชื่อใคร คนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบหลัก คนอื่นในแถวนั้นเป็นผู้รับผิดชอบรองตามลำดับ เช่น 
    • คุณดอกอ้อ รับผิดชอบ งานเครือข่ายอาจารย์ผู้สอน และโครงการเด็กดีมีที่เรียน โดยมีคุณอรทัยช่วยอำนวยตามสมควร 
    • คุณอาริษา รับผิดชอบ งาน CADL, LLEN, PLC (ส่วนใหญ่) โดยมีคุณอรทัยช่วยหนุนตามสมควร
    • ฯลฯ
  • อาจแบ่ง "งานออกเป็น" เพียง ๒ ส่วน คือ งานภายในคือการพัฒนานิสิต และงานภายนอกคือการสร้างเครือข่ายวิชาการ โดยใช้การจัดการความรู้ (KM) เป็นเครื่องมือหลัก
  • ฯลฯ (... มีหลายมิติที่ผมต้องการสื่อด้วยเมตริกท์นี้ แต่คงไม่ดีท่าผมจะเขียนเฉลยไว้ทั้งหมด ฝากให้ทุกคนในทีมไปคิดดูว่า เห็นอะไรในเมตริกท์นี้...)
หมายเลขบันทึก: 579469เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2014 05:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท