เงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราว (Temporary Insurance Agreement หรือ TIA) ในใบรับเงินชั่วคราว (Temporary Receipt) ในกรณีการซื้อประกันชีวิต


การสมัครเอาประกันชีวิต

โดยทั่วไปในการทำประกันชีวิตนั้น เริ่มต้นจากผู้สมัครเอาประกัน (Applicant) กรอกรายละเอียดส่วนตัวและตอบคำถามสุขภาพในใบสมัครหรือใบคำขอเอาประกัน (Applicationหรือที่คนในวงการประกันมักเรียกย่อๆว่า App) พร้อมทั้งจ่ายเงินค่าเบี้ยประกัน (Premium) ให้แก่ตัวแทน (Agent) หรือนายหน้า (Broker) โดยตัวแทนหรือนายหน้าแล้วแต่ว่าซื้อประกันกับใครจะต้องออกใบรับเงินชั่วคราว (Temporary Receipt) เพื่อให้ผู้สมัครเอาประกันเก็บไว้เป็นหลักฐานในการสมัครเอาประกันในบางกรณีผู้สมัครเอาประกันอาจมีการไปตรวจสุขภาพ (Medical Examination) ไว้ล่วงหน้าเพื่อส่งผลตรวจสุขภาพให้กับตัวแทนหรือนายหน้าไปพร้อมกับใบสมัครและเบี้ยประกันก็ได้

หลังจากนั้นตัวแทนหรือนายหน้าจะส่งใบสมัครเอาประกันพร้อมเบี้ยประกันของลูกค้าให้แก่บริษัทผู้รับประกัน กระบวนการที่ผู้สมัครเอาประกันส่งใบสมัครขอเอาประกันพร้อมเบี้ยประกันไปยังผู้รับประกันนี้ เรียกว่า การเสนอขอเอาประกัน (Offer) นั่นเอง ซึ่งคำเสนอขอเอาประกันนี้ จะต้องได้รับการสนองตอบ (Accept) ตกลงรับประกันภัยจากผู้รับประกันก่อน จึงจะถือว่าสัญญาประกันชีวิตนั้นเกิดขึ้น

ขั้นตอนการพิจารณารับประกัน

เมื่อบริษัทผู้รับประกัน(Insurer) ได้รับใบสมัครและเบี้ยประกันเรียบร้อยแล้ว จะมีขั้นตอนและกระบวนการในการพิจารณาว่าสามารถรับประกันชีวิตของผู้สมัครเอาประกันแต่ละรายได้หรือไม่ ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า การพิจารณารับประกัน (Underwriting) หรือบางครั้งเรียกว่า การคัดเลือกภัย (Risk Selection) ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณารับประกัน (Underwriter) จะพิจารณาผู้สมัครเอาประกันแต่ละรายด้วยการพิจารณาตามระดับความเสี่ยง(Risk Classification) โดยดูจากข้อมูลที่ผู้สมัครกรอกในใบสมัคร ซึ่งคำถามโดยทั่วไปในใบสมัครนั้นประกอบไปด้วย

- ข้อมูลทั่วไปของผู้สมัครเอาประกัน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เพศ วันเดือนปีเกิด อายุ ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่บริษัท อาชีพ รายได้ งานอดิเรก

- แบบประกันที่ซื้อ วงเงินเอาประกัน จำนวนเบี้ยที่จ่าย วิธีในการจ่ายเบี้ย ผู้รับประโยชน์ ประวัติการทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุ

- วิถีชีวิต (Life Style) และสุขภาพ (Health Status) ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติด ประวัติสุขภาพคนในครอบครัว ประวัติสุขภาพของผู้สมัครเอาประกัน และข้อมูลอื่นๆที่จำเป็นต่อการพิจารณารับประกัน

นอกจากนี้หากผู้สมัครเอาประกันส่งผลตรวจสุขภาพมาด้วย ผู้พิจารณารับประกันก็จะพิจารณาผลตรวจสุขภาพประกอบการพิจารณารับประกันด้วย ผู้พิจารณารับประกันมีหน้าที่ในการพิจารณารับประกันผู้ขอสมัครเอาประกันอย่างเท่าเทียม(Equitable) และคัดเลือกภัยของผู้ของเอาประกันให้ถูกต้อง (Accurate) มากที่สุด นอกจากนี้ผู้พิจารณารับประกันต้องพิจารณารับประกันอย่างรวดเร็ว (Quick) ไม่ละเลยใบคำขอเอาประกันไว้ไว้เนิ่นนาน จนกระทั่งทำให้ผู้ขอเอาประกันได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ช้าหากต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการพิจารณารับประกัน เช่น การขอให้ผู้สมัครเอาประกันตรวจสุขภาพเพิ่มเติม การขอประวัติการรักษา (Attending Physician Statement หรือ APS) การตรวจสอบภาคสนาม (Field Investigation) เป็นต้น ผู้พิจารณารับประกันเองควรคำนึงค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเสียไปในการขอข้อมูลเพิ่มเติมด้วยคุ้มค่าหรือไม่โดยทั่วไปกระบวนการพิจารณารับประกันอาจใช้เวลา 1-3 วันสำหรับการพิจารณาผู้สมัครที่ไม่มีข้อมูลซับซ้อน เช่น ผู้สมัครเอาประกันที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคมาก่อน เป็นต้น แต่ถ้าผู้สมัครรายใดที่มีข้อมูลซับซ้อนหรือจำเป็นต้องขอข้อมูลจากผู้สมัครเพิ่มเติมมาใช้ในการพิจารณารับประกัน เช่น ผู้สมัครเอาประกันมีประวัติโรคประจำตัวที่รักษาอยู่ หรือเคยผ่าตัดมะเร็ง ผู้พิจารณารับประกันก็อาจแจ้งไปยังผู้สมัครเพื่อขอประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลที่ผู้สมัครระบุว่าเคยไปรักษามาดูว่าผลการรักษาเป็นอย่างไร และแนวโน้มของการดำเนินโรค (Prognosis) จะเป็นอย่างไร และอาจขอให้ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมหรือตอบแบบสอบถามสุขภาพเพิ่มเติม  (Health Questionnaire) ในบางกรณีที่ผู้สมัครเอาประกันอาจซื้อประกันมาด้วยวงเงินเอาประกัน (Sum Assure) ที่สูง (Big Case หรือ Jumbo Case) ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องมีการให้ผู้สมัครเอาประกันส่งหลักฐานฐานะทางการเงิน (Financial Statement) มาให้พิจารณา รวมทั้งอาจต้องไปตรวจสุขภาพเพิ่มเติมด้วยเมื่อได้ข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณาซึ่งทั้งหมด ผู้พิจารณารับประกันอาจจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณาหลักฐานและข้อมูลทั้งหมด เพื่อที่จะตัดสินใจว่าผู้สมัครเอาประกันดังกล่าวจะสามารถรับประกันได้หรือไม่ อย่างไร บางกรณีอาจมีการทำประกันภัยต่อ (Reinsurance) จะต้องส่งข้อมูลไปให้ผู้รับประกันภัยต่อ (Reinsurer) เพื่อพิจารณาด้วย ซึ่งทำให้อาจใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเป็นเดือนหรืออาจนานกว่านั้น 

จะเห็นได้ว่าการพิจารณารับประกัน บางครั้งอาจใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน กว่าที่ผู้พิจารณารับประกันจะแจ้งผลการพิจารณารับประกันให้ผู้สมัครเอาประกันได้ทราบก็ใช้เวลานานตามไปด้วย นอกจากนี้หลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณารับประกันแล้ว บริษัทผู้รับประกันจะต้องออกกรมธรรม์ (Policy) ให้แก่ลูกค้าที่บริษัทรับประกันเพื่อใช้เป็นหลักฐานด้วยในบางครั้งบริษัทประกันบางรายอาจไม่มีการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้สมัครเอาประกันทราบ โดยผู้สมัครเอาประกันจะทราบว่าบริษัทตกลงรับประกันก็ต่อเมื่อสอบถามมายังบริษัทประกัน หรือได้รับกรมธรรม์ที่บริษัทประกันออกให้เป็นหลักฐานหรือจะรู้ว่าบริษัทปฏิเสธการรับประกันก็ต่อเมื่อสอบถามมายังบริษัทหรือได้รับจดหมายแจ้งปฏิเสธการรับประกันจากบริษัท เป็นต้น

ผลการพิจารณารับประกันของการสมัครทำประกันชีวิตสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี ได้แก

1. ตกลงรับประกันตามที่ผู้สมัครเอาประกันเสนอขอเอาประกันมา (Accept to Initial Offer)

เมื่อการพิจารณารับประกันเสร็จสิ้นหลังจากบริษัทประกันได้รับข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณารับประกันแล้ว โดยทั่วไปหากผู้สมัครเอาประกันมีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (Standard Risk) บริษัทประกันมักตอบตกลงรับประกันตามที่ผู้สมัครเสนอขอเอาประกันมาในตอนแรก (Initial Offer)การตอบตกลงรับประกันของบริษัทผู้รับประกันนั้นถือเป็น การสนอง (Accept) ต่อคำเสนอเอาประกัน (Offer) ของผู้สมัครเอาประกันซึ่งตามหลักแล้วการทำสัญญาประกันชีวิตจะเกิดขึ้นสมบูรณ์เมื่อคำเสนอได้รับการตอบสนองแล้วและวันที่ผู้รับประกันตกลงรับประกันผู้สมัครเอาประกันก็ถือเป็นวันที่สัญญามีผลผูกพันทั้งสองฝ่าย (Binding)

โดยทั่วไป วันที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองจะเป็นวันที่ผู้ขอเอาประกันชำระเบี้ยประกัน หรือ วันที่ผู้ขอเอาประกันลงชื่อในใบคำขอเอาประกัน หรือผู้ขอเอาประกันตรวจสุขภาพเพื่อทำประกันแล้วแต่ว่าวันใดจะเกิดขึ้นหลังสุด ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขของบริษัทประกันแต่ละบริษัท

2. ตกลงรับประกันอย่างมีเงื่อนไขตามข้อเสนอใหม่ (Accept with Condition According to Counter Offer)

ผู้พิจารณารับประกันอาจปฏิเสธคำเสนอขอเอาประกันของผู้สมัครเอาประกันที่ขอเข้ามาในตอนแรก หากพบว่า ผู้สมัครเอาประกันมีความเสี่ยงที่สูงกว่ามาตรฐาน (Substandard Risk) เช่น มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือประกอบอาชีพหรือมีกิจกรรมอดิเรกที่เสี่ยงภัยสูงโดยหากความเสี่ยงนั้นยังพอรับประกันได้ ผู้พิจารณารับประกันอาจรับประกันอย่างมีเงื่อนไขโดยการออกข้อเสนอใหม่ (Counter Offer) ไปยังผู้สมัครเอาประกัน เช่น แจ้งข้อเสนอใหม่โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทจะขอเพิ่มเบี้ยประกัน (Extra Premium Rate Up) เนื่องความเสี่ยงของผู้สมัครเอาประกันสูงกว่ามาตรฐาน หรือบริษัทจะยกเว้นความคุ้มครอง (Exclusion) ในภัยบางอย่างหรือการลดวงเงินเอาประกัน หรือการไม่อนุมัติความคุ้มครองสัญญาเพื่มเติมบางประเภทให้ทั้งนี้ผู้สมัครเอาประกันสามารถตอบรับ (Accept) หรือปฏิเสธ (Reject) ข้อเสนอใหม่นี้ได้ ตามหลักแล้วการทำสัญญาประกันชีวิตจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้สมัครเอาประกันตอบรับข้อเสนอใหม่ โดยวันที่ผู้สมัครเอาประกันลงชื่อตอบรับในข้อเสนอใหม่หรือวันที่ผู้สมัครเอาประกันชำระเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่ม (ถ้ามี) จะถือเป็นวันที่สัญญามีผลผูกพันทั้งสองฝ่าย (Binding) แต่ถ้าผู้สมัครเอาประกันปฏิเสธหรือไม่ตอบรับข้อเสนอใหม่ตามหลักแล้วถือว่าสัญญาประกันชีวิตไม่เกิดขึ้น

3. ปฏิเสธรับประกัน (Reject)

ผู้พิจารณารับประกันอาจปฏิเสธคำเสนอขอเอาประกันของผู้สมัครเอาประกันหากพบว่าผู้สมัครเอาประกันมีความเสี่ยงที่สูงกว่ามาตรฐานจนไม่สามารถรับประกันได้ (Declined Risk) โดยบริษัทรับประกันต้องแจ้งปฏิเสธการรับประกันให้ผู้สมัครเอาประกันทราบ พร้อมทั้งคืนเบี้ยประกันที่ผู้สมัครเอาประกันชำระมาทั้งหมดให้แก่ผู้สมัครเอาประกันด้วย ทั้งนี้ตามหลักแล้วหากบริษัทประกันได้แจ้งปฏิเสธการรับประกันแล้วถือว่าสัญญาประกันชีวิตไม่เกิดขึ้น

ความคุ้มครองของผู้ขอเอาประกันในช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการพิจารณารับประกัน

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการพิจารณารับประกันนั้นอาจใช้ระยะเวลาสั้นหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความยากและความซับซ้อนของข้อมูลที่ต้องพิจารณา แต่ในขณะเดียวกันช่วงระยะเวลาตั้งแต่ที่ตัวแทนหรือนายหน้าส่งเอกสารคำขอเอาประกันไปยังบริษัทประกันจนถึงก่อนที่ผู้พิจารณารับประกันจะตอบตกลงหรือปฏิเสธการรับประกันนั้น ถึงแม้ว่าตามหลักแล้วถือว่าสัญญาประกันชีวิตยังไม่เกิดขึ้นแต่ในขณะเดียวกันผู้สมัครเอาประกันมีโอกาสที่จะประสบภัยจนเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ ดังนั้นช่วงระยะเวลาที่รอผลการพิจารณารับประกันนั้น หากมีระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ผู้สมัครเอาประกันย่อมเสียเปรียบบริษัทรับประกัน เพราะได้ชำระเบี้ยประกันให้แก่บริษัทประกันเรียบร้อยแล้ว หากผู้สมัครเอาประกันเสียชีวิตก่อนที่บริษัทประกันตอบตกลงรับประกัน เมื่อผู้รับประโยชน์ส่งเอกสารเพื่อเรียกร้องสินไหมมรณกรรม บริษัทประกันจะปฏิเสธการจ่ายสินไหม โดยให้เหตุผลว่าผู้สมัครเอาประกันเสียชีวิตก่อนที่บริษัทประกันตอบตกลงรับประกันซึ่งสัญญาประกันชีวิตยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่าย กรณีดังกล่าวเคยมีเรื่องราวร้องเรียนกันหลายครั้งมาก นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องกัน โดยท้ายที่สุดศาลฎีกามีผลตัดสินมาในบางคดีว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนที่ผู้รับประกันภัยสนองรับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ (คำพิพากษาฎีกาที่ 532/2500)นอกจากนี้ในรายละเอียดของคำตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2554 ซึ่งระบุว่าผู้รับประกันคัดค้านว่าผู้เอาประกันได้เสียชีวิตไปก่อนที่ผู้รับประกันจะตกลงรับประกัน ซึ่งผู้รับประกันตกลงรับประกันโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆะ (พูดง่ายๆคือผู้รับประกันอ้างว่าตอนที่ตกลงรับประกันนั้น ผู้รับประกันเข้าใจว่าผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่จึงตกลงรับประกัน ซึ่งถ้าผู้รับประกันรู้ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นว่าตอนที่กำลังตกลงรับประกันนั้นผู้เอาประกันได้เสียชีวิตก่อนหน้านี้แล้ว ผู้รับประกันก็คงไม่ตกลงรับประกันแน่)

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปคือ หากผู้ขอเอาประกันเสียชีวิตก่อนที่ผู้รับประกันตกลงรับประกัน สัญญาประกันชีวิตยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ขอเอาประกันจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์

ความสำคัญของใบรับเงินชั่วคราว (Temporary Receipt)

ตามกระบวนการในการขายประกันชีวิตโดยตัวแทนหรือนายหน้า เมื่อผู้ขอเอาประกันชำระเบี้ยประกันให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าแล้ว ตัวแทนหรือนายหน้าจะต้องออก “ใบรับเงินชั่วคราว (Temporary Receipt)” ให้แก่ผู้สมัครเอาประกันไว้เป็นหลักฐานใบรับเงินชั่วคราวดังกล่าวมีความสำคัญมาก ผู้ซื้อประกันทุกรายจำเป็นต้องให้ตัวแทนหรือนายหน้าออกเป็นหลักฐานให้ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าไป เพราะจะสามารถใช้เป็นหลักฐานการชำระเบี้ยที่ผูกมัดตัวแทนและบริษัทประกันได้ โดยเฉพาะหากเกิดกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้ารับเงินค่าเบี้ยประกันไปแล้วแต่อาจทำการทุจริตด้วยการไม่ส่งเบี้ยประกันให้แก่บริษัทประกัน ซึ่งใบรับเงินชั่วคราวจะเป็นหลักฐานที่ใช้แสดงเพื่อให้ตัวแทนและบริษัทประกันรับผิดชอบได้ นอกจากนี้ด้านหลังใบรับเงินชั่วคราวของบริษัทประกันชีวิตบางรายจะมีการระบุถึงเงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราว (Temporary Insurance Agreemen หรือ TIA) ไว้ด้วย ซึ่งเงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้สมัครเอาประกันและผู้รับประโยชน์ เพราะในเงื่อนไขจะอธิบายถึงเงื่อนไขที่ผู้สมัครเอาประกันจะได้รับในช่วงก่อนที่บริษัทประกันจะตกลงรับประกัน

ความคุ้มครองชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขใบรับเงินชั่วคราว (Temporary Insurance Agreement in Temporary Receipt)

เงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราว (Temporary Insurance Agreement) ในใบรับเงินชั่วคราวของบริษัทประกันชีวิตได้ระบุถึงการให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้สมัครเอาประกันไว้ซึ่งเรียกใบรับเงินชั่วคราวชนิดนี้ว่า “ใบรับเงินชั่วคราวผูกพัน (Binding Receipt)” ซึ่งเป็นใบรับเงินชั่วคราวชนิดที่ผูกมัด(Binding) ผู้รับประกันภัยกับผู้ขอเอาประกันภัยในเรื่องของการให้ความคุ้มครองผู้ขอเอาประกันตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งตัวแทนหรือนายหน้าควรจะต้องอธิบายให้ผู้ขอเอาประกันได้เข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่ระบุไว้ยังคงมีความคลุมเครือและสามารถตีความได้หลากหลาย เป็นที่น่าคิดและควรนำมาอภิปรายกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า เจตนาของความคุ้มครองครองตามเงื่อนไขในใบเสร็จรับเงินชั่วคราวนั้นเป็นอย่างไร และผู้สมัครเอาประกันจะมีสิทธิ์ในการได้รับความคุ้มครองอย่างไรภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวอย่างไร เนื่องจากข้อความที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงินชั่วคราวของแต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกันไป เมื่อเกิดเหตุการณ์กรณีที่ผู้สมัครเอาประกันเสียชีวิตในขณะที่ส่งใบคำขอเอาประกันพร้อมเบี้ยประกันไปให้บริษัทประกันแล้ว แต่อยู่ในระหว่างที่บริษัทกำลังพิจารณา พบว่ามีบางกรณีที่บริษัทประกันไม่จ่ายสินไหม โดยบริษัทประกันยกข้ออ้างว่าบริษัทยังไม่ได้ตกลงรับประกัน ซึ่งถือว่าสัญญายังไม่เกิดขึ้น ตัวของผู้รับประโยชน์หรือทายาทก็ไม่ทราบข้อกฎหมายรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่าแม้แต่ทนายหรือผู้รู้กฎหมายหลายท่านก็ยังไม่รู้ว่าในใบรับเงินชั่วคราว (Temporary Receipt) นั้นมีข้อความที่ระบุเงื่อนไขที่อาจนำไปเป็นหลักฐานในการเรียกร้องให้บริษัทประกันรับผิดชอบตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ระบุไว้ ซึ่งเรียกว่า “เงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวของใบรับเงินชั่วคราว(Temporary Insurance Agreement)”

ประเภทของใบรับเงินชั่วคราว

โดยทั่วไปใบรับเงินชั่วคราวในธุรกิจประกันชีวิตมี 2 แบบ ได้แก่

1. ใบรับเงินชั่วคราวชนิดผูกพันอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Binding Receipt, CBR) เป็นใบเสร็จรับเงินที่ระบุเงื่อนไขบางอย่างไว้ในการที่จะมีผลผูกพันผู้รับประกัน ซึ่งอาจกำหนดให้ผู้ขอเอาประกันจะต้องมีคุณสมบัติที่ผ่านเงื่อนไขดังกล่าว หรือเงื่อนไขการเริ่มความคุ้มครองเป็นไปตามที่กำหนดตามความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขใบรับเงินชั่วคราว

ใบรับเงินชั่วคราวชนิดผูกพันอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Binding Receipt, CBR) มี 2 ชนิด คือ

- Insurability Conditional Receipt

ใบรับเงินชั่วคราวชนิดนี้มีเงื่อนไขว่าผู้สมัครเอาประกันต้องอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถเอาประกันได้ (Insurability) จึงจะได้รับความคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างที่บริษัทประกันกำลังพิจารณารับประกันโดยความคุ้มครองชั่วคราวระเริ่มต้นตามวันที่ในใบเสร็จรับเงินชั่วคราว วันที่ผู้สมัครชื่อในใบคำขอเอาประกัน หรือวันที่ผู้สมัครตรวจสุขภาพทำประกัน แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นหลังสุด โดยความคุ้มครองชั่วคราวจะมีผลบังคับไปจนถึงวันที่บริษัทประกันตกลงรับประกัน (Accept) หรืออนุมัติกรมธรรม์ (Approve)เงื่อนไขที่เอาประกันได้ที่บริษัทประกันมักกำหนดไว้ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวของใบรับเงินชั่วคราวดังกล่าวคือ

✓ ผู้สมัครเอาประกันต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ โดยบริษัทสามารถรับประกันภัยผู้สมัครเอาประกันได้ในอัตราเบี้ยประกันภัยมาตรฐาน(Standard Risk)

✓ ผู้สมัครเอาประกันภัยต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเต็มที่ต้องชำระต่องวดและบริษัทประกันได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวแล้ว

✓ ผู้เอาประกันลงชื่อในใบคำขอเอาประกัน

✓ ผู้เอาประกันได้ตรวจสุขภาพแล้ว (ในกรณีที่ต้องตรวจสุขภาพตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน)

ใบรับเงินชั่วคราวที่บริษัทประกันนิยมใช้ในปัจจุบันจะเป็นชนิดใบรับเงินชั่วคราวชนิดผูกพันอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Binding Receipt)

- Approval Receipt

ใบรับเงินชนิดนี้มีเงื่อนไขอื่นๆเหมือนกับ Insurability Binding Receipt แต่ว่าความคุ้มครองชั่วคราวจะเริ่มต้นเมื่อผู้รับประกันตกลงรับประกัน(Accept) หรืออนุมัติกรมธรรม์ (Approve) แล้วโดยวันที่ความคุ้มครองชั่วคราวมีผลบังคับคือวันที่รับประกันหรือวันอนุมัติกรมธรรม์ไปจนกว่าผู้เอาประกันจะได้รับกรมธรรม์

ตามเงื่อนไขของใบรับเงินชั่วคราวชนิดผูกพันแบบมีเงื่อนไข หากบริษัทมีการแจ้งข้อขัดข้องในการพิจารณารับประกันให้ผู้สมัครเอาประกันทราบ เช่น แจ้งขอเอกสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมหรือที่เรียกว่าการแจ้ง memorandum หรือเรียกสั้นๆว่า memo บริษัทประกันมักจะแจ้งยกเลิกเงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวของใบรับเงินชั่วคราวไปด้วย ดังนั้นเมื่อบริษัทประกันได้แจ้งให้ผู้สมัครเอาประกันได้ทราบแล้ว ก็จะถือว่าความคุ้มครองชั่วคราวตามเงื่อนไขของใบรับเงินชั่วคราวสิ้นสุดทันที

2. ใบรับเงินผูกพันแบบไม่มีเงื่อน (Unconditional Binding Receipt) เป็นใบเสร็จรับเงินชนิดที่ผูกพันผู้รับประกันภัยว่าจะให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้สมัครเอาประกันโดยความคุ้มครองจะเริ่มต้นเริ่มตามวันที่ในใบเสร็จรับเงินชั่วคราววันที่ผู้สมัครชื่อในใบคำขอเอาประกัน หรือวันที่ผู้สมัครตรวจสุขภาพทำประกัน โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความสามารถเอาประกันได้ (Insurability) ของผู้สมัครเอาประกันไว้ ดังนั้นในกรณีดังกล่าวถึงแม้ผู้สมัครเอาประกันจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่ามาตรฐาน (Substandard Risk) ก็ยังได้รับความคุ้มครองชั่วคราวตามเงื่อนไขของใบรับเงินชั่วคราว

ถึงแม้ใบรับเงินชั่วคราวทั้งแบบมีเงื่อนไขและแบบไม่มีเงื่อนไขจะระบุถึงการให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้สมัครเอาประกันไว้แต่ในเงื่อนไขความคุ้มครองตามใบรับเงินชั่วคราวดังกล่าวอาจจำกัดความคุ้มครองไว้ ซึ่งโดยมากจะเป็นการจำกัดวงเงินคุ้มครองสูงสุดของความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขใบรับเงินชั่วคราว ซึ่งหากผู้สมัครเอาประกันได้สมัครเอาประกันไว้เป็นวงเงินที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขใบรับเงินชั่วคราว บริษัทประกันก็จะจ่ายค่าสินไหมให้ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขใบรับเงินชั่วคราวเท่านั้น เช่น หากผู้สมัครทำประกันได้สมัครวงเงินเอาประกันเข้ามาด้วยทุนประกัน 5 ล้านบาท แต่หากเงื่อนไขในใบรับเงินชั่วคราวระบุว่าความคุ้มครองชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขในใบรับเงินชั่วคราวจะให้ความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ดังนั้นหากผู้สมัครเอาประกันประสบภัยตามเงื่อนไขที่รับประกันในช่วงระยะเวลาที่บริษัทประกันกำลังพิจารณารับประกันอยู่หรือยังไม่ได้ตอบตกลงรับประกัน บริษัทประกันก็จะจ่ายค่าสินไหมตามภัยที่คุ้มครองในวงเงินแค่ 3 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ได้จ่ายที่ 5 ล้านบาทตามทุนประกัน

การสิ้นผลบังคับของเงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวของใบรับเงินชั่วคราว

เงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวของใบรับเงินชั่วคราวจะสิ้นผลบังคับจากกรณีดังต่อไปนี้

1. บริษัทประกันได้แจ้งให้ผู้สมัครเอาประกันทราบเกี่ยวการยกเลิกความคุ้มครองชั่วคราวตามเงื่อนไขในใบรับเงินชั่วคราว เช่น บริษัทยกเลิกความคุ้มครองชั่วคราวตามเงื่อนไขในใบรับเงินชั่วคราวเนื่องจากออก memo ขอข้อมูลเพิ่มเติม

2. บริษัทประกันได้ตกลงรับประกันและออกกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกันไว้เป็นหลักฐานแล้ว เมื่อบริษัทประกันได้ตกลงรับประกันและออกกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกันแล้ว เงื่อนไขความคุ้มครองจะเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยทันที

3. บริษัทประกันได้แจ้งปฏิเสธการรับประกันให้ผู้สมัครเอาประกันทราบ

4. เมื่อเกินระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณารับประกันที่ระบุและบริษัทไม่ได้แจ้งผลให้ผู้สมัครเอาประกันทราบ เช่น ในเงื่อนไขในใบรับเงินชั่วคราวระบุว่าหากเกิน 30 วันนับจากวันที่บริษัทได้รับใบคำขอเอาประกันพร้อมเบี้ยประกันภัยตามใบรับเงินชั่วคราว หากบริษัทไม่ได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือไม่ได้แจ้งข้อขัดข้องในการรับประกันให้ผู้สมัครเอาประกันทราบ ก็ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับประกันหลังพ้น 30 วันทันที ดังนั้นเมื่อถือว่าบริษัทตกลงรับประกันแล้ว เงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวของใบรับเงินชั่วคราวจึงจบไป และความคุ้มครองของผู้เอาประกันจะเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยทันที

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขความคุ้มครองชั่วคราวในใบรับเงินชั่วคราวที่ตัวแทนหรือนายหน้าได้ออกเป็นหลักฐานไว้ให้ผู้สมัครเอาประกันนั้น มีเงื่อนไขที่เขียนไว้แตกต่างกันไปในบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัท ดังนั้นจึงมีเกิดปัญหาในการตีความเงื่อนไขของใบรับเงินเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและจำเป็นต้องมีการฟ้องร้องจะต้องตีความตามข้อความที่เป็นเงื่อนไขในใบรับเงินชั่วคราวอย่างเคร่งครัด ผู้สมัครเอาประกันจึงควรต้องเก็บใบรับเงินชั่วคราวไว้เป็นหลักฐานจนกว่าจะได้รับกรมธรรม์จากบริษัทประกัน และควรแจ้งการสมัครเอาประกันให้ผู้รับประโยชน์ทราบไว้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์หากเกิดกรณีที่ผู้สมัครเอาประกันประสบภัยก่อนที่บริษัทประกันจะตกลงรับประกันหรือยังไม่ได้ออกกรมธรรม์ให้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นหลักฐานการเพื่อป้องกันการบอกปัดความรับผิดชอบกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้ารับเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่ไม่ได้นำส่งให้บริษัทประกันได้อีกด้วย ดังนั้นจึงขอย้ำอีกทีแก่ผู้สมัครทำประกันทุกท่านว่าเมื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว อย่าลืมขอใบรับเงินชั่วคราวจากตัวแทนหรือนายหน้าทุกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 578760เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2014 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท