​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๖๕. สารภีอำเภอสร้างสุข



ผมไปเยี่ยมชื่นชมโครงการ สารภีอำเภอสร้างสุข เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๗ ร่วมกับคณะของ แผนงานขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ของ สสส. ที่ดำเนินการโดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ที่มี ดร. เดชรัต สุขกำเนิด เป็นผู้อำนวยการ

โครงการสารภีอำเภอสร้างสุข เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อำเภอสารภี เป็นโครงการที่ริเริ่มร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับโรงพยาบาลสารภี

เราไปเห็นแชมเปี้ยน หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ๕ คนที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ ที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์ หลากหลายด้าน โดยด้านที่เราไปดูคือระบบการจัดการข้อมูล ที่เรียกว่า SaraphiHealth Application คือเราอยากนำระบบ App นี้ ไปใช้เก็บและประมวลข้อมูลระดับชุมชน หรือเครือข่าย เพื่อใช้ขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมในหลายด้าน ตามเป้าหมายของ "การขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล" ตามที่ผมเล่าใน บันทึกนี้

รศ. วิลาวัณย์ เสนารัตน์ อดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ปฐมภูมิ หรือระบบสุขภาพชุมชน ผมถามท่านเป็นการส่วนตัวว่า ท่านอยากเห็นผลลัพธ์สุดท้ายเป็นอะไร ท่านบอกว่า อยากเห็นชาวบ้านช่วยตัวเองได้ ซึ่งผมตีความว่า หมายถึงการมีชุมชนที่เข้มแข็ง โครงการที่ท่านเสนอคือ โครงการพัฒนา ระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อำเภอสารภี ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โดยท่านคิดเลาๆ ว่าระบบข้อมูล มีความสำคัญ แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าควรจัดระบบข้อมูลอย่างไร ที่ผมประทับใจมากคือ ตอนบรรยายสรุป ท่านบอกว่า ต้องการให้พื้นที่เป็นเจ้าของระบบสุขภาพชุมชนของตน

ในทีมงานของ รศ. วิลาวัณย์ มี ผศ. ดร. วราภรณ์ บุญเชียง คณะพยาบาลศาสตร์ มช. อยู่ด้วย และสามีของ ผศ. ดร. วราภรณ์ คือ รศ. ดร. เอกรัฐ บุญเชียง นักพัฒนา App แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มช. ซึ่งได้พัฒนา App สำหรับเก็บข้อมูลด้วย สมาร์ท โฟน อยู่แล้ว ผศ. ดร. วราภรณ์ จึงแนะนำระบบข้อมูลโดยใช้ App ที่ใช้ได้ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งเมื่อทดลองใช้ก็ได้ผลดี มีชื่อเสียงขจรขจายโดยเร็ว ทำให้คุณหมอชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ แห่ง สสส. แนะนำให้เรามาเยี่ยมชม

หน้าบ้านของเว็บไซต์ SaraphiHealth ดูได้ ที่นี่ นี่คือหน้าบ้านให้คนทั่วไปเข้าชมได้ แต่ที่หลังบ้านซึ่งเป็นข้อมูลและกลไก ประมวลข้อมูลนั้น อยู่ที่ไหนผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่า รศ. ดร. เอกรัฐ เป็นผู้จัดการ ท่านดูและประมวลผลได้ทั้งหมด และอนุญาตให้เฉพาะเจ้าของข้อมูลเท่านั้นเข้าไปดู แก้ไข และประมวลข้อมูลส่วนของตนได้ เจ้าหน้าที่ของ รพ.สต. สามารถเข้าไปดู และประมวลข้อมูลส่วนของพื้นที่รับผิดชอบของตนได้ รวมทั้งมีระบบป้องกันการล้วงข้อมูลอย่างเข้มงวด

นี่คือระบบข้อมูลสำหรับใช้สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อำเภอสารภี

แชมเปี้ยนคนที่สี่ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่หนึ่งด้วยซ้ำคือ นพ. จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี ซึ่งมีชื่อเสียงมาจากการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอยเต่า จ. เชียงใหม่, รพ. แม่ทา จ. ลำพูน, และ รพ. บ้านธิ จ. ลำพูน และได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ปี ๒๕๓๔ ที่ใจตรงกันกับ รศ. วิลาวัณย์ ที่ต้องการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ของอำเภอสารภีทั้งอำเภอ เมื่อผมกลับไปค้น กูเกิ้ล ก็พบทั้งประวัติการทำงานอันดีเด่น และประวัติความเป็นคนจริงคัดค้าน นักการเมืองจอมโกงบ้านเมือง ต้องการสร้างความแตกแยกแล้วปกครอง ดังตัวอย่างนี้

เราไปเห็นสองทีมทำงานอย่างเกื้อกูลส่งเสริมกัน คือทีมสุขภาพ ของ รศ. วิลาวัณย์ กับคุณหมอจรัส กับทีม IT ของสองสามีภรรยา คือ รศ. ดร. เอกรัฐ และ ผศ. ดร. วราภรณ์ สองท่านนี้เวลานี้ชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก โดนเชิญไปพูด ในต่างประเทศ ไม่หยุดหย่อน รศ. ดร. เอกรัฐ เพิ่งกลับมาจากอเมริกาเมื่อวาน ค่ำนี้ ผศ. ดร. วราภรณ์ จะไปญี่ปุ่น ที่เมืองไทยก็มีคณะต่างๆ มาดูงานโครงการ สุขภาวะสารภีไม่หยุดหย่อน ทั้งที่สนใจเรื่องสุขภาวะ และที่สนใจระบบ ไอที

ผมชวนคุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมคณะไปดูงานด้วย เพราะมูลนิธิฯ ใช้ไอทีขับเคลื่อนเครือข่ายเยาวชน จิตอาสา เพื่อทำงานพัฒนาเยาวชนให้แก่บ้านเมือง ตกเย็นคุณเปาก็ลงนามสัญญาใจกับ รศ. ดร. เอกรัฐ ให้เขียน App ให้มูลนิธิสยามกัมมาจล

อีกท่านหนึ่งที่ผมชวนไป คือ ผศ. ดร. วัลลา ตันตโยทัย คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มวล. ในฐานะที่ท่านเป็นประธาน เครือข่ายจัดการความรู้เบาหวาน และกำลังพัฒนา App ใช้ แท็ปเล็ต เก็บข้อมูลด้านโภชนาการของผู้ป่วยเบาหวานเป็นรายคน

นอกจากนั้นยังมีทีมอำนาจเจริญมาร่วมดูงานด้วย เพราะเขาต้องการเอาระบบนี้ไปใช้ขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง สู่เมืองธรรมเกษตร ซึ่งระบบข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทีมจังหวัดอำนาจเจริญมีคุณชาติวัฒน์ ร่วมสุข ผู้นำชุมชน ผศ. ดร. จตุรนต์ จันทร์สี่ทิศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์มุกดา

เราไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ ศูนย์แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ตำบลขัวมุง อ. สารภี เป็นอาหารพื้นเมือง ที่อร่อยมาก ห่อหมกที่นี่เรียกห่อนึ่ง และเป็นปลาคลุกเครื่อง ที่มีปลาเป็นชิ้นใหญ่ๆ เป็นหลัก ไม่ใช่ห่อหมกแบบที่เรากินกัน โดยทั่วๆ ไป ที่หมกเครื่องแกงเป็นหลัก มีปลาชิ้นเล็กๆ นานๆ หาเจอสักชิ้น ศูนย์แพทย์ทางเลือกฯ ได้รับความนิยม มีคนมารับการรักษาวันละ ๕๐ - ๖๐ คน บริการนวดได้รับความนิยมมากจนบางวันต้องปิดรับจองคิว

หลังจากนั้นเราฟังตัวแทนจากชุมชนเล่าประสบการณ์การเก็บข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ที่ศาลาประชุม ของศูนย์ที่เรารับประทานอาหารนั่นเอง ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวมาก ทั้งๆ ที่ตอนเช้าอุณหภูมิ ๒๒ องศา โดยคุณขวัญฟ้า (ต้อย) ผอ. รพ.สต. ตำบลดอนแก้ว ร่วมกับ อสม. อีก ๔ คน นำการเล่าและซักถามโดยแชมเปี้ยนคนที่ห้า อาจารย์ วิลาวรรณ (กล้วย) อาจารย์ด้านพยาบาลชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มช.

เราได้ทราบว่า ผู้เก็บข้อมูลคือ คู่บั๊ดดี้ อสม. กับละอ่อน (แปลว่าเยาวชน) อสม. ซัก ละอ่อนกดสมาร์ทโฟน แต่ในชีวิต จริงชุมชนจริงมันไม่ราบรื่นอย่างที่คิด บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ บางตำบลไม่มีเครื่องจับพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวง ต้องมีการ แก้ปัญหากันอุตลุด แถมเยาชนก็ไม่ว่าง ต้องเรียนพิเศษในวันหยุด เวลาทำงานได้จริงคือตอนปิดเทอมฤดูร้อน แต่เมื่อทำงาน ร่วมกันกันไประยะหนึ่ง อสม. ก็เรียนรู้วิธีใช้สมาร์ทโฟนกรอกข้อมูล และละอ่อนก็เรียนรู้วิธีซักถามชาวบ้าน รวมทั้งได้เข้าใจ เรื่องราวของชุมชน

จากการซักถาม ผมมีข้อสังเกตว่า ชุมชนยังใช้ข้อมูลไม่ค่อยเป็น ซึ่งเป็นข้ออ่อนของสังคมไทยทั้งสังคม ผมจึงให้ กำลังใจ รศ. วิลาวัณย์ และ นพ. จรัส ว่า กระบวนการชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะและวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล เป็นเรื่องที่ต้อง ดำเนินการ เป็นมาตรการระยะยาว ใจร้อนไม่ได้ แต่ก็ละเลยไม่ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องก็ไม่ได้

ต้นยางอายุ ๑๓๔ ปี ปลูกเป็นทิวสองข้างถนนระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร

ผ่านหน้าโรงพยาบาลสารภี ปลูกเอื้องผึ้งรอบต้น


บรรยากาศในห้องประชุม โรงพยาบาลสารภี


นพ. จรัส สิงห์แก้ว กล่าวแนะนำอำเภอสารภี ซึ่งเดิมชื่ออำเภอยางเนิ้ง


รศ. วิลาวัณย์ เสนารัตน์ เล่าที่มาที่ไปของโครงการสารภีอำเภอสร้างสุข

ผศ. ดร. วราภรณ์ บุญเชียง หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายวิชาการ เพื่อการจัดการข้อมูล


รศ. ดร. เอกรัฐ บุญเชียง หัวหน้าคณะทำงานระบบสารสนเทศ เพื่อการจัดการข้อมูล

อาจารย์วิลาวรรณ (ขวามือ) กับทีม รพ.สต. และ อสม.


บรรยากาศการประชุมที่ศูนย์แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ตำบลขัวมุง








วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 578745เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2014 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2014 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"คอยดูกันไว้"...ต้นยาง.ริมถนน...สารภีเหลืออยู่เท่านี้..และแห่งเดียวเวลานี้...แถวราชบุรีก็หมดไปแล้วกลายเป็นถนน....ภาพนี้คงจะเป็นภาพประวัติ..ในอนาคตของต้นไม้ชนิดนี้...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท