"จตุรบาท..แห่งอภิเสรีภาพ"


                                         

                       ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า วิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน กำลังทำตัวแปลกแยก แตกต่างจากธรรมชาติวิถีไปมากขึ้น เพราะเนื่องจากเรามีทักษะด้านการสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมา แล้วเราก็หลงมัน และใช้มันอย่างไม่รู้คุณค่าหรือใช้จนเรียกว่า "ถูกมันใช้" ทำให้ "สติ ปัญญา มโนธรรม จิตสำนึก" ซึ่งทำลายมนุษย์ให้อ่อนแอลง นั่นหมายความว่า เรากำลังรุกรานวิถีธรรมชาติไปด้วย

                  อดีตเมื่อเราดำรงในป่า เราอาศัยวิถีแบบเดิมคือ เดินทาง หาอาหาร ต่อสู้ และตื่นตัวอยู่ตลอด ทำให้เราคิดหาทางอยู่เสมอ จึงทำให้เราตื่นตัว กลัวภัยอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน เราก็เรียนรู้จากธรรมวิถี เช่น เรียนรู้จากสัตว์ ป่าไม้ สายน้ำ ฤดูกาล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ปรากฏการณ์ต่างๆ ฯ ทำให้ได้ประสบการณ์จากแหล่งอาศัย จนกลายเป็นทักษะในการเอาตัวรอด และสืบเชื้อมาถึงปัจจุบัน


                  แต่ปัจจุบันกลับหันหลังให้วิถีธรรม และหันมาพึ่งเทคโนโลยี เครื่องมือสมัยใหม่ ทำให้เรามีทักษะแคบลง มีสหทักษะไม่เข้มข้น เพราะถูกล่อลวงด้วยบริษัทการค้า การสื่อสาร เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพราะมนุษย์ยุคใหม่เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้คือ เครื่องมือช่วยให้เขาพัฒนาตัวเอง ให้ "ทันโลก" ได้ และสามารถที่จะอยู่ในโลก (สังคม) ได้อย่างไม่ตกยุค อะไรทำให้เราคิดและเชื่อเช่นนั้น?

                  มองในแง่ธรรมชาติ สัตว์อาศัยโลกอยู่ ซึ่งมี ดิน น้ำ อากาศ พืช สัตว์ แสงแดด ลม อาหาร ที่อยู่ อาศัยร่างกาย คือ แขน ขา สมองเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอด โลกมีพร้อมทุกอย่างที่สัตว์ต้องการตามความจำเป็นต่อความอยู่รอด แต่ฉไนเรากลับไม่พอใจสิ่งเหล่านี้ เรากลับดิ้นรนอยากได้เหนือกว่านั้น นั่นคือ เครื่องมือใหม่ๆ ที่มีแรงดึงดูด มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแรงต้องการ จินตนาการของตน

                 เครื่องมือเหล่านี้ มิใช่อาหาร มิใช่สิ่งจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่มนุษย์กลับยัดเยียดให้มันอย่างจงใจ เพราะอาศัยแรงส่งจากจิตที่ชอบ ที่ต้องการของใหม่ ทำให้กลายเป็นการเน้นให้จิตผูกมั่น พันผูกกับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ จนกลายเป็นกระแสทั่วโลก เมื่อเกิดค่านิยมเช่นนั้น ผู้ผลิตสิ่งของนิยมก็ขายได้มากขึ้น  ร่ำรวยมากขึ้น ปริมาณบวกปริมาณ (ปริมาณสินค้า + ปริมาณความต้องการ + ปริมาณราคา) จึงทำให้ผู้ผลิตรวยได้ไม่กี่ปี


                    ผลที่เกิดขึ้นคือ เกิดผลกระทบต่อระบบสังคม วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากธรรมชาติดั้งเดิมมากขึ้น เช่น คนเมืองมีปริมาณเพิ่มขึ้น แออัดขึ้น ปัญหาก็ตามมา มีรถรามากขึ้น ระบบการขนส่งก็ติดขัด เกิดอบุัติเหตุมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น มีเครื่องมือสื่อสาร ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว แต่กลับใช้สื่อไปในทางไม่เหมาะสม มีแชร์ มีแฉ มีโพสต์ มีไลน์ กันไม่หยุดหย่อน จนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นเรื่องเหมือนใหญ่โต เรื่องในที่ลับ ถูกเปิดเผยในที่แจ้ง ที่ลับหู ที่ลับตา จึงไม่มี 

                   ดูเหมือนว่า ทุกคนอยากเสนอตัวเองผ่านสื่อนี้ไปหมด  แล้วใครจะมีเนื้อหาน่าสนใจกว่ากัน จึงไม่พ้นเรื่อง สัญชาตญาณดิบของสัตว์โลก คือ เครื่องเพศ ร่างกาย กิจกรรมที่ทำ ความอยาก ความรัก ความโกรธ ความโลภ ความฝัน ฯ หากใครลงสื่อไอจี ไลน์ เฟส ในเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าสนใจ ก็ไม่ได้รับความนิยม ตรงกันข้าม หากใครอยากดัง อยากมีคนติดตาม ต้องคิดหาเรื่อง หาภาพ หาประเด็นที่ท้าทายสังคม สายตาผู้คนอย่างบ้าบิ่นหรือพิศดารมากขึ้น ซึ่งก็ไม่พ้นเรื่อง ที่ขัดแย้งศีลธรรม กฎหมาย เช่น อนาจาร ความรุนแรง แผลงๆ ผาดโผน ตื่นเต้น หวาดเสียว ฯ

                     ต่อมาเรื่อง การกิน การแสวงหาสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย เรากินอาหารพิศดารมากขึ้น อยากกินของแพง แปลกๆ ใหม่ๆ จนผู้ค้าขายต้องเสนอเอาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มาให้ จนอาจนำไปสู่การละเมิดศีลธรรม กฎหมายบ้านเมือง เช่น ล่าสัตว์สงวน กินสัตว์หายาก ของป่า ของนอก ของท้าทาย หรือแม้แต่รกมนุษย์ สุนัข แมว สัตว์ที่สังคมในเมืองไม่กิน กลับนำมาเสนอให้คนเมืองลองชิม หรือกินของที่ท้าทายจิตสำนึก มโนธรรม เช่น กินสมองลิง อุ้งตีนหมี กินปลาสด ๆ กินดีงูสด ๆ กินสัตว์ แมลงดิบๆ เป็นต้น


                      การแสวงหาเงินทอง ความต้องการ อยากได้เงินทองมากๆ อยากเป็นเศรษฐี อยากมีของใช้ต่างๆ เหมือนคนมีใช้ จนกลายเป็นกระแสร่วมสังคม ที่ต้องการงานทำ เพื่อเงินตรา เมื่อทำงานไม่ไหวหรือไม่มีทักษะด้านงาน ก็ลัก ปล้น จี้ ชิง วิ่งราวเอา จนกลายเป็นพฤติกรรมละเมิดศีลธรรม กฏหมายบ้านเมือง อันเป็นเหตุให้ต้องถูกจับ ถูกวิสามัญ สูญเสียทรัพย์สิน เงินทอง อวัยวะร่างกายไปแทน แทนที่จะได้เงิน กลับต้องมาเสียเงิน เมื่อขาดความสามารถด้านการทำงาน ความรู้ แต่ดันมีทักษะความต้องการมาก จึงไม่ลงรอยกัน

                         ปัญหาที่สังคมโลกปัจจุบันรับรู้และเผชิญอยู่ร่วมกันคือ ๑) ความรุนแรง ๒) เรื่องเพศ ๓) เรื่องวัตถุนิยม ๔) เรื่องการทำลายธรรมชาติ ไม่ว่า ประเทศ สังคม ศาสนา วัฒนธรรมใด ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น ดูเหมือนโลกมนุษย์อยู่ในช่วงที่เจริญมากสุด แต่กลับเป็นช่วงที่เสื่อมถอยมากที่สุดเช่นกัน ความฉลาด ความเจริญ ความยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีนั้น มิได้ช่วยยกระดับสติ ปัญญา จิตสำนึกให้สัตว์โลก พัฒนาขึ้นเลย มีแต่แนวโน้มเสื่อมลง

                         โดยเฉพาะเรื่องที่ปรารถนาของปัจเจกบุคคลคือ เรื่อง "เสรีภาพ อิสรภาพ"  เป็นเรื่องที่ถูกนำมาอ้าง ถูกนำมาท้าทาย ต่อกรต่อหน่วยงานของรัฐ ของประเทศมากที่สุด เช่น ประเทศที่ปกครองตนเองไม่ลงตัว อาจมีรัฐน้อยๆ ใช้สิทธิเรียกร้องเอกราชได้ เพราะหมดยุคการล่าอาณานิคมแล้ว ประเทศที่ใหญ่อาจเผชิญกับสิ่งท้าทายในเบื้องหน้า หรือรัฐต่างๆ ที่แข็งข้อหรือปีกกล้าขาแข็ง อาจขอแยกเป็นอิสระบ้าง


                         มองในแง่บุคคล ดูเหมือนว่า ผู้คนกำลังเน้นกรอบอาณัตตาของตัวเอง ยกเอาตัวเองมาเป็นข้ออ้างมากขึ้น อ้างกฏหมาย อ้างสิทธิ อ้างธรรมนูณในการับรองความเป็นอัตตา ตัวตนมากขึ้น จึงมีแนวโน้มง่ายๆ ที่ผู้คนมักจะยึดตัวเองเป็นใหญ่ ที่มิชอบให้ใครท้าทาย ดูถูก เหยียดหยามมิได้ จึงทำให้ตนเองเรียกร้องอิสระหรือความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ มนุษย์เลยใช้ความเป็นอิสรภาพตรงนี้พร่ำเพรื่อมากไป

                        เด็กๆ มักจะอ้างสิทธิของเด็กที่พ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ รังแก ตบตีไม่ได้ สตรีก็จะอ้างสิทธิสตรีว่า มีสิทธิเท่าเทียมชาย ลูกจ้างก็อ้างกฎหมายแรงงานขอขึ้นค่าแรง ค่าสวัสดิการต่างๆ จากนายจ้าง ราษฎรก็อ้างสิทธิประชาชนว่า มีความต้องการอย่างนั้น ไม่ต้องการอย่างนี้ จึงเรียกร้อง ประท้วงรัฐเอาบ้าง เยาวชนก็อ้างสิทธิของเยวชน จนได้สิทธิเท่าเทียมผู้ใหญ่ เหมือนจะปกครองตนเองได้ มีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ผลตรงนี้คือ เซ็กส์เสรี เที่ยวเสรี กินดื่ม (เหล้า) เสรี จนเราพบว่าเยาวชนล้นตามผับบาร์ ถนนรถซิ่ง เที่ยวกลางคืนเต็มไปหมด นี่คือ "เสรีภาพเลยเถิด หรือเสรีภาพพร่ำเพรื่อ"

                       สิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ ผู้คนท้าทายกฏหมายบ้านเมือง ศีลธรรม มากขึ้น จนนำไปสู่เสรีภาพแห่งความวุ่นวาย ความรุนแรง อุบัติเหตุ มีคดี มีเรื่องราวต่างๆ มากมายในศาล จนตำรวจปวดหมอง ต้องมาฆ่าตัวเองตาย รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ที่ไม่มีแนวโน้มลดลง ทุกวันนี้ สถานที่ต่างๆ ที่เราเดินทางไปไหน ต่อไหน คุณคิดหรือว่า เราจะปลอดภัย !  นี่คือ ปรากฏการณ์ที่โลกกำลังเจอปัญหาระดับโลกแห่งนี้ 


                       นี่ยังไม่รวมภัยทางธรรมชาติ ฤดูกาลต่างๆ สงคราม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การท่องเที่ยว การเดินทาง การอยู่ การกิน ฯ ล้วนนำพาให้เราเดินทางไปสู่ความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทางแก้ไขนั้น ไม่มีสูตรที่ตายตัว และไม่มีเขตแห่งกาลเวลามากำหนดว่า จะแก้ไขในกี่ปี กี่วัน เนื่องจาก ปัญหาสังคมโลก ล้วนเป็นกระแสสายน้ำ ที่มีพลังความต้องการจากหน่วยย่อยของแต่ละคน แล้วไหลมารวมกัน จนเป็นกระแสน้ำเชี่ยว ที่มีพลัง มหาศาล 

                        ดังนั้น การแก้ไขควรจะเริ่มกันที่ปัจเจกบุคคล ซึ่งนั่นคือ ต้องหันไปพึ่งพาระบบที่บรรพบุรุษของเราสร้างมา ผนวกกับระบบใหม่ ที่จะนำพามนุษย์ให้เห็นศักยภาพตัวเองข้างในว่า นี่คือ จุดกำเนิด และจุดตายของโลกมนุษย์ วิธีดังกล่าวคือ การอาศัยศาสนา และหลักความพอเพียงในตัวเอง รู้เท่าทันสังคม ที่กระตุ้นตนเอง ใช้ปัญญาพัฒนาตนข้างในก่อน ที่จะเชื่อคนอื่น 

                        กระนั้น ทางดังกล่าวนี้ จะมีสักกี่คนที่ซึมซาบ ลึกซึ้งถึงคำว่า "ตนเอง" เรามักจะพูดเสมอว่า มันจะได้ผลหรือ เพราะโลกมันนำพาสัตว์โลกไปไกลหลายโยชน์แล้ว แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปอย่างไร แต่แก่นสาร หรือแก่นแท้ของกระบวนทั้งหมด อยู่ที่จุดยืนคือ "ตัวเอง" เราเองอาจเป็นได้ทั้งตัวรุกและตัวรับ เป็นได้ทั้งผู้เสพและผู้เสวย เป็นได้ทั้งผู้กระทำ และถูกกระทำ ในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่า จะรู้ทันตัว รู้ทั่วใจตนเองหรือไม่เท่านั้น


                          เมื่อเราเกิดมาแล้วหลงโลก หลงรูปร่างหน้าตาตนเอง คนอื่น และสิ่งอื่น เราจึงเริ่มเอาจิตออกห่างตัวเองตั้งแต่เกิด เพราะถูกกระตุ้นด้วยข้าวของ เครื่องใช้มาตั้งแต่เด็ก สัญชาตญาณ และสิ่งกระตุ้นมากมายในโลก ตลอดเวลาเราเหมือนถูกกระตุ้นให้รับรู้อยู่เสมอ เมื่อเราไม่รู้ตัวตน ไม่รู้อะไรมากระทบ ไม่รู้ ความคิด จิตใจตนเองว่า ชอบ ว่าหลง ตัวเอง คนอื่น และสิ่งอื่นเมื่อไหร่ เราจึงสนับสนุนตัวเองไปด้วย คือ เห็นคล้อยพลอยไปด้วย จึงยากที่จะแยกตนเองออกจากสิ่งล่อลวงของโลก เหมือนว่า เรากำลังถูกโลกหลอกและหลอกตัวเอง ฉันนั้น

                                                     


                         ดังนั้น บาทฐานสำคัญในการเอาตัวเองให้รอด และรู้เท่าทันโลก สังคม คนอื่น และสิ่งต่างๆ ผู้เขียนจะให้เครดิตในจุดนี้คือ "จตุรบาท" หมายถึง รากฐานพื้นเพของการอยู่บนตัวเองอย่างอิสระ ที่ ๔ ประการคือ -


                        ๑) "รู้" (Knowing Things) คือ การรู้มาจากฐานของตัวเอง เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ซึ่งฐานเหล่านี้ มันอยู่ในตัวเรา มันสร้างเป็นปฐมภูมิในการที่จะรองรับกระแสความรู้ต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความรู้สึก นึกคิด จนสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ทางโครงสร้างของโลกออกว่า มันคืออะไร มันเรียกว่า อะไร และมีอะไรอยู่เบื้องหลัง

                        ความรู้ระดับพื้นฐานตรงนี้ มนุษย์มีอยู่แล้วทุกคน แต่ที่ไม่มีสมบูรณ์คือ ไม่มีฐานเครื่องมือกลไกชุดที่สอง (สติ) ที่จะสร้างสรรค์ให้ระบบประสาทเหล่านี้ พัฒนาไปด้านใด หรือจดจ่อไปกับทิศทางใด จึงเป็นไปได้ที่ทุกคนจะตกไปสู่หลุมดำของสัญชาตญาณของตน เช่น ตกในหลุมรัก รสเพศ ตกในรูปร่างหน้าตา เครื่องแต่งตัว ตกอยู่ในการอยู่ การกิน การเที่ยว เงินทอง ข้าวของ และสิ่งต่างๆ จนเพลิดเพลินไปตามแรงกระตุ้นนั้นๆ

                      อันที่จริง ฐานนี่เองเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย กล่าวคือ ถ้าตาเห็นของที่ชอบถูกใจอาจกระตุ้นให้ต่อมกิเลสกระเพื่อมได้ ถ้าจิตเห็นคล้อยพลอยตามกิเลสนั้น แน่นอน แรงอยากก็จะไปกระตุ้นให้กายแสวงหาสิ่งนั้น จนสำเร็จผล ตรงกันข้าม ถ้าตาเห็นแล้วปล่อยวางไว้แค่นั้น ชั่งน้ำหนักคุณ และโทษ จนเห็นผลได้ ผลเสีย ทั้งปัจจุบัน และอนาคตได้ จิตผู้ครองกายนั้น จึงใช้ฐานที่สี่ได้เข้มข้นขึ้น นั่นหมายความว่า เราอาจไม่หลงหรือคล้อยตามสิ่งที่เห็นนั้น และสิ่งนั้นก็แค่สิ่งนั้น มิได้สำคัญไปกว่า "สติ ปัญญา" ของตน นั่นคือ อิสระจากโลกแล้ว


                       ๒) "สติ" (Awareness) คือ การรู้ตัว การเรียกตัวได้ การควบแน่นในสภาวะที่ปรากฏได้ทันที ทันใด และอยู่ในสภาวะขณะนั้นๆ ได้ อย่างมั่นคงและรู้ตัวทั่วกาย และจิต (รู้ว่ารู้) ย่อมสามารถเดินหน้าหรือถอยหลังได้อย่างรู้ตัว ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้สำทับในตัวเองในคราประสบพบเจอสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเราอยู่ ว่ามันคือ อะไร มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเราอย่างไร เรามีปฏิกิริยาอย่างไร ให้เราตั้งความรู้ตัวทั่วพร้อมสรรพก่อน ที่จะเดินหน้าหรือถอยหลังในสิ่งนั้น หรือกิจนั้นๆ

                         คำว่า "สติ" มาจากธาตุ "สร" แปลว่า เป็นไปในความระลึกรู้ "ติ" ปัจจัย จึงกลายเป็นคำว่า "สติ" แปลว่า ระลึกได้ รู้ตัว กำหนดได้ หรือหากแยกศัพท์ จะได้ว่า "สํ" แปลว่า ร่วมกัน "ติ" แปลว่า สาม หมายถึง การร่วมรู้กันด้วยองค์สามคือ กาย จิต และอารมณ์ 

                          การรู้ตัวได้ดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยฐานแรก คือ ทวารทั้งหก เป็นเครื่องมือช่วย ถ้าทวารทั้งหกไม่ทำงาน สติส่วนนี้ก็ไม่เกิดขึ้น กระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่ใช่การู้ที่สมบูรณ์ได้เลยหากขาดฐานที่ ๓ (สมาธิ) และที่ ๔ (ปัญญา) ทั้งหมดจึงอิงกัน เป็นเครื่องสนับสนุนกัน

                        ดังนั้น สติ จึงเป็นคุณสมบัติของจิตอย่างหนึ่ง ของปัญญาอย่างหนึ่ง ที่จะคอยสอดส่องมองเห็นตัวทั้งกายกรรม วาทกรรม และมโนกรรม ว่าตนเองกำลังเจอกับสิ่งใด เจออะไร และไม่ปล่อยให้จิตหลุดไหลไปตามกระแสนั้นๆ หรือมิให้จิตไหลหลงลืมไปตามสัญชาตญาณที่คุ้นเคยมา อันจะนำไปสู่ความเพลิดเพลิน หลงใหล ผิดพลาด บกพร่อง เผลอไผลได้ แต่ให้กำหนดเอาว่า ทำอะไรอยู่ มีเจตจำนงอะไร จะมีผลอย่างไรในข้างหน้า 

                       ๓) "สมาธิ" (Concentration) คือ การกำหนดให้จิต ความคิด การรู้ตัวเอง ให้ตั้งมั่น มั่นคง บนฐานตัวเองคือ อารมณ์ที่เรายกขึ้นมาเป็นเครื่องมือสื่อใจให้แน่วนิ่ง มั่นคง ให้อยู่ในภาวะที่จำกัด มิให้ฟุ้งซ่าน มิให้เตลิดเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ เวทนา ที่น่ายินดี น่าปรารถนา หรือารมณ์ที่คั่งค้างมา สะสมตลอดยาวนาน จนขาดการยับยั้งตัวจิต ตัวรู้ จนนำไปสู่การออกนอกลู่ นอกทางฐานเดิมคือ ฐานารมณ์แห่งสมาธิ เช่น ลมหายใจ หรือกสิณใดๆ ได้

                        คำว่า "สมาธิ" มาจากคำว่า "สม" แปลว่า สม่ำเสมอ เท่ากัน "อธิ" แปลว่า ปกติ ยิ่งกว่า สมาธิ จึงหมายถึง การทำให้ (จิต) มีความเป็นปกติ อยู่อย่างสม่ำเสมอมิให้ไหว ไหลไปตามกิเลส สิ่งยั่งยุ เมื่อคุมจิตให้เป็นปกติได้อย่างต่อเนื่อง นั่นแหละเรียกว่า จิต มีสมาธิ แปลว่า จิตมั่นคง เป็นปกติในฐานตัวเอง เพราะไม่ไหวหวั่นไปตามกระแส หรือไม่วอกแวกไปตามอารมณ์ต่างๆ จนสามารถทำให้จิตมีศักย์ได้เป็น "ภาวนีโย" คือ นำจิตไปใช้ประโยชน์ในกิจที่เหมาะสมกับงานของมันได

                       ในวิถีชีวิตของชาวโลกที่ล้อมไปด้วยสิ่งยั่วยุตลอดเวลา เป็นเรื่องยากที่จะฝึกฝนให้จิตอยู่ในสภาวะปกติได้ กระนั้น ก็ไม่ยากเกินที่ความสามารถของเราได้ โดยให้ฝึกฝนทีละน้อย ค่อยๆ ให้ความสำคัญฐานจิตตนให้ละเอียด เพื่อความหลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง ให้จิตมีอิสรภาพของมัน ให้มันได้สัมผัสรับรสความสุขจากคำว่า "อิสรภาพ" หรือความสุขที่เรียกว่า "อามิสสุข" (สุขที่หาได้จากตนเอง) บ้าง อย่าเป็นทาสตน (ความอยาก) และวัตถุข้าวของจนไม่รู้จักคุณค่าแท้ของจิตเลย

                       ๔) "ปัญญา" (Wisdom) คือ ความสามารถในการสอบสวน ทบทวนกระบวนความแห่งเหตุและผล การคิดอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ในความรู้ และอารมณ์ต่างๆ ของพฤติกรรมทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เห็นว่า มีคุณ มีโทษ มีผลต่อตนเอง คนอื่นและธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างไร และเป็นความสามารถในการรู้เท่าทันตนเอง สังคม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีอะไรเป็นผล กล่าวโดยสรุปคือ รู้อยู่ในกรอบเบื้องต้น ในท่ามกลางและที่สุดของสรรพสิ่งได้

                       คำว่า "ปัญญา" มาจากคำว่า "ปร" แปลว่า ประเสริฐ พิเศษ "ชยฺา" แปลว่า รู้ ปัญญา จึงแปลว่า ความรู้ที่ยิ่งยวดหรือความรู้ที่เหนือกว่า ในที่นี่ ความรู้ หมายเอาความรู้ในทางศาสนาหรือทางจิต ที่มุ่งเน้นการรู้เหนือรู้ ที่เรียกในทางปรัชญาว่า Metaphysics ในทางศาสนาพุทธหมายเอา ความรู้ในอาณาเขตสองฐานคือ "รู้กาย และรู้จิต"

                      ความรู้ที่เกิดจากกาย เป็นการรู้ขั้นกายภาพก่อนว่า กายมีองค์ประกอบอะไร จากนั้นก็สืบสาวเอาว่า กายมีกฎเกณฑ์ มีวิถีทางไปอย่างไร จึงมองเห็นกฎในกายได้กล่าวคือ กำเนิดขึ้น ดำเนินไป แปรเปลี่ยน และเสื่อมสลายไป รู้เห็นแม้ว่า กายนี้จะไปเกิดในทิศทางข้างหน้า ถ้าจิตไม่หลุดพ้น

                    ส่วนความรู้จากจิตนั้น เป็นแก่นความรู้ทางพุทธศาสนา ที่เน้นความรู้ที่เกิดจากรัศมีของจิตทั้งหมด กล่าวคือ กระบวนการเกิดของจิต จิตมีกรรมอย่างไร มีอาการอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร การรู้เรื่องจิตเป็นเรื่องละเอียดประณีตมาก เช่น การรู้เวทนา ที่จิตถูกกระทบด้วยอารมณ์ต่างๆ จากกายกรรม ไม่ว่าเจ็บปวด เป็นทุกข์ ไม่สบายกาย ใจ หรือจิตถูกย้อมด้วยความอยาก ความไม่รู้ ความโกรธ ฯ 

                   ตัวจิตเองนั้นมีปกติไม่รู้ตนเอง ต้องอาศัยเครื่องช่วยคือ สติ สมาธิ ส่วนตัวปัญญาจะเป็นผู้แยกแยะ วิเคราะห์ สืบสาว หาเหตุ หาผล จึงเป็นเหมือนผู้ชั่งเอาคุณต่างๆ แล้วหนุนจิตให้อิสระหรือปล่อยวางแบบ "รู้เหนือรู้" นี่คือ ตัวปัญญา


                     ดังนั้น คำว่า "จตุรบาท" หมายถึง ฐานในการเอาตัวเองให้รอดพ้นจากโลกและตนเอง โดยอาศัยหลักการพื้นฐาน ๔ ฐานคือ "รู้" จากระบบประสาททั้งหมด "สติ" คือ ระลึกถึงกรรมของตนที่เกิดระบบประสาทนั้นให้เท่าทันว่า รู้ เห็น อะไรอยู่ "สมาธิ" คือ การตีกรอบให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดในอารมณ์นั้น ในรัศมีของกายตนเท่านั้น เพื่อให้อยู่เป็นปกติ "ปัญญา" คือ คุณสมบัติของจิตที่เกิดจากการควบแน่นของสติ สมาธิ จนมองเห็นกระบวนการอยู่เบื้องหน้า เบื้องหลังอย่างลึกซึ้ง ทั้งหมดมีเป้าหมายคือ สร้างอิสรภาพแห่งชีวิตหนึ่งได้อย่างมีรากฐานที่มั่นคง ไม่เป็นชีวิตที่ว่างเปล่า ไร้ฐาน (โมฆบุรุษ) นั่นเอง

                                                       ---------------------(๗/๑๐/๕๗)---------------------

คำสำคัญ (Tags): #จิตแห่งอิสรภาพ
หมายเลขบันทึก: 578419เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชัดเจนครับ ขอบคุณครับ

สาธุๆๆ... มี"โทนาโดขยะ..มาฝาก..เจ้าค่ะ"

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท