ขับเคลื่อน PLC มหาสารคาม ปี ๒๕๕๗ (๘) : ไปเรียนรู้กระบวนการ PBL แบบ "เชียงยืนโมเดล" กับทีม "ครูเพ็ญศรี ใจกล้า" (๑)


วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ CADL จัดเวทีขับเคลื่อน "PLC มหาสารคาม" ซึ่งเป็น "แผลน" (หมายถึง "แผน" ที่เกิดจาก "ผล" การ "AAR") ต่อเนื่องเมื่อครั้งเราไปรวมกันที่เวทีประจำปีที่เขื่อนอุบลรัตน์ (อ่านที่นี่) เวทีนี้ "เรา" (ชาวครูเพื่อศิษย์ที่ยังกันแน่น) ได้แก่ ครูเพ็ญ-นาสีนวน ครูอ๋อย-หนองเหล็ก ครูเปี๊ยก-นาข่า ครูเรย์-ท่าขอนยาง ครูตุ๋ม-บ้านหินลาด ครูโรงเรียนเชียงยืนฯ อีก ๔ ท่าน พร้อมทีม CADL เราอีก ๔ คน (ต๋อย ก้อย เสือ และสมาชิกใหม่ชื่อ หมิม) ยกขบวนไปเป็น "กลุ่มเป้าหมาย" ของทีม "กระบวนกร" จากเชียงยืน ที่ยืนให้เห็นเด่นอยู่ด้วยชุดพื้นเมืองในภาพ ได้แก่ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า ครูกุ้ง-จิตตปัญญา และทีมอาสาจาก "ฮักนะเชียงยืน" (แสน เอ็ม แซม ส้ม ก๊อต.......) ทั้งหมดรวมแล้ว กว่า ๒๐ ท่าน ในหัวเรื่อง กระบวนการ PBL แบบ "เชียงยืนโมเดล" ....

ดูภาพทั้งหมดได้ที่นี่

ผม AAR กับตนเองว่า ผมได้เรียนรู้มากโขจริงๆ กับสิ่งที่ได้ร่วมกิจกรรมเป็น "ผู้เรียน" มีกิจกรรมหลายอย่างที่ทีมคุณอาเพ็ญศรีและทีม ทำให้ผมได้ "ต้นแบบกิจกรรม" ที่ CADL จะนำไปทำต่อและต่อยอดออกไป เช่น "ดอกไม้ ๕ กลีบ" "อัพสปีชีย์" "เป็ดหาบ้าน" "PBL ๑๕ นาทีกับวิธีทำให้ลูกโป่งแตก" "แผนที่ชุมชนแบบ thinking desing" "ต้นไม้เจ้าปัญหา" "ปัญญาจากต้นไม้" ฯลฯ (ต้องขออภัยหากแม้แต่คุณอาเพ็ญศรีที่เป็นกระบวนกร อาจยังนึกไม่ออก ผมจำชื่อไม่ได้ทั้งหมดเพราะไม่ได้จด จึงตั้งชื่อเอง...ฮา) หวังว่าทีมเชียงยืนคงไม่หวงลิขสิทธิ์ ในกระบวนคิดในการฝึกอบรมนี้นะครับ และผมขออนุญาตเขียนเล่ากิจกรรมแต่ละอันให้ละเอียดมากขึ้น เผื่อว่ากิจกรรมแบบโมเดลเชียงยืนนี้ จะถูกนำไปใช้ต่อๆ ไป


กิจกรรม "ดอกไม้ ๕ กลีบ"

ทีมงานเริ่มด้วยการแจกกระดาษ ๑๒๐ แกรมขนาดครึ่ง A4 ที่มีหลากหลายสีแตกต่างกันไป ให้กับเราคนละแผ่น แล้ว "แสน" (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ) ก็ออกคำสั่งให้วาดรูปดอกไม้ ๕ กลีบ แล้วนำกิจกรรมตามลำดับดังนี้

  • เดิน ไปหาเพื่อนคนที่ตนเขียนชื่อ อยากไปหาใครก็ได้ คนแรกนี้เรียกให้ตรงกันว่า "ชื่อที่ ๑" แล้วถามเขาว่า "ชอบสีอะไร ทำไมถึงชอบสีนั้น" เขียนคำตอบสั้นๆ ลงในกลีบนั้น อาจเรียกว่า "กลีบที่ ๑"
  • เดินต่อไปหา คนที่เขียนไว้ในกลีบถัดไป คราวนี้ใช้คำถามว่า "งานอดิเรกที่สอบทำ ยามเวลาว่าง คืออะไร ทำไมถึงชอบ..." เขียนคำตอบสั้นๆ ลงในนั้น (กลีบที่ ๒)
  • แล้ว ก็เดินต่อไปยังคนที่มีชื่อในกลีบถัดไป (จะเลือกกลีบไหนที่เหลืออันไหนก่อนก็ได้) แล้วถามโดยกำชับให้เขาตอบด้วยใจว่า "หน้าตาของผม/ฉัน เหมือนดาราคนไหนในทีวี".... ครูเปี๊ยกบอกว่า ผมเหมือน "ณเดช"....ฮา
  • แล้ว ก็เดินต่อไปหาใครที่ชื่อเขียนใน "กลีบที่ ๔" ถามเขาว่า "อะไรคือเป้าหมายในชีวิต" โดยไม่ให้คิดนาน ไม่ให้จริงจัง อาจอุปมาอุปมัยว่าอยากจะเป็นเหมือนใครที่รู้จัก...
  • สุดท้าย "กลีบที่ ๕" ให้ถามว่า "คติประจำใจในการใช้ชีวิต" ... อันนี้แหละครับ ที่ผมตอบว่า ..พยายามจะทำ ๓ อย่างในชีวิตที่เหลืออยู่ คือ ตอบแทนคุณแม่(และครู) ฝึกดำรงอยู่และเดินตามในหลวง และปฏิบัติตนให้รู้ล่วงตามคำสอนพระพุทธเจ้า...


PBL ๑๕ นาทีกับวิธีทำให้ลูกโป่งแตก

กิจกรรม นี้สนุกมาก ท้าทายผมมาก มีหลายขณะของความรู้สึกที่พยายามจะ "ถอยออกมา" เป็นผู้สังเกตและเชียร์เพื่อนร่วมทีม แต่สุดท้ายกลายเป็นทุ่มทั้งตัว ปล่อยใจไปเต็มที่ สนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้แบบ PBL ๑๕ นาทีนี้จริงๆ ครับ .... กระบวนกรนำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • มอบอุปกรณ์ต่อไปนี้ให้ แต่ละกลุ่ม (ผมคิดว่าไม่ควรเกิน ๓ คนต่อกลุ่ม) ได้แก่ ลูกโป่งแบบยังไม่เป่าลม ๒ ลูก หนังยางประมาณ ๒๐ เส้น ไม้ตะเกียบ ๑ คู่ ไม้แขวนเสื้อ ๑ อัน กระดาษกาว ๑ ม้วน ดินน้ำมัน ๒ แท่ง หลอดดูดนำอัดลม ๒ อัน เข็มหมุด ๒ อัน และ กรรไกร ๑ อัน
  • กำหนดปัญหา (Problem: P) เชิงคำสั่งว่า "โจทย์คือให้ทุกกลุ่มช่วยกันทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกโป่งแตกเสียงดังด้วยวิธี การตัด" โดยสามารถทดสอบก่อนได้ ๑ ครั้ง ก่อนจะสาธิตของกลุ่มต้นให้คนอื่นดู

ผมตีความว่า กิจกรรมนี้สนุก และทุกคนมีความสุข "เพราะทำสำเร็จ"ทุกกลุ่ม คนออกแบบคนแรกฉลาดมาก ที่ออกแบบกิจกรรมที่สำเร็จได้ง่าย แต่ต้องใช้ทักษะหลายอย่างทั้ง การคิด การวางแผน การทำงานร่วมกัน ฯลฯ วิธีการสร้างเงื่อนไขและกำหนดเป้าหมายชัดเจน แต่เปิด open ให้ใช้ "วิธีใดก็ได้" จึง "ท้าทาย" และสามารถกระตุ้นสาร "โดพามีน" ได้มาก.... ดูหน้าตาผมซิครับจริงจังและสนุกแค่ไหน..ฮา...


กิจกรรมอัพสปีชีย์

กระบวน กรบอกทำนองว่า สมมติโลกนี้มีสัตว์สามารถวิวัฒนาการได้ ๓ ระยะเป็น ๓ สปีชีย์ ได้แก่ ขุดจี่นูน เป็ด และลิง แล้วก็สอนทุกคน "ทำท่า" เป็นขุดจี่นูน เป็ด และลิง ก่อนจะเริ่มกิจกรรมจริงๆ ตามลำดับต่อไปนี้

  • สมมติบริเวณลานว่าง รวมกันตรงกลาง แล้วให้ทุกคนกลายเป็นสัตว์สปีชีย์ต่ำที่สุดคือ ขุดจี่นูน
  • ให้ เดินไปมาแบบ random เจอสัตว์สปีชี่ย์เดียวกันเมื่อไหร่ ให้ "เป่ายิ้งฉุบ" กัน ใครชนะให้ "อัพสปีชีย์" จากขุดจี่นูนกลายเป็นเป็ด คนแพ้ต้องเดินไปหาขุดจี่นูนด้วยกันเท่านั้นถึงจะสามารถ "เป่ายิ้งฉุบ" กันเพื่ออัพสปีชีย์ต่อไป
  • สุดท้ายจะเหลือ ขุดจี่นูนเพียงแค่ตัวเดียว... ทายซิว่าเป็นใคร... ใช่ครับ ผมเอง...ฮา
นี่เขาเรียกท่าขุดจี่นูน
ส่วนท่านี้เรียกว่า เป็ด แต่เป็นเป็ดแบบครูเปี๊ยก...ฮา ไม่เหมือนเลย....


กิจกรรมเป็ดหาบ้าน

กิจกรรม นี้ "เจ๋งสุด" คนคิดสุดยอดจริงๆ ไม่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรเลย นอกจากกระดาษกาวไว้ทำ "ดาว" หรือเครื่องหมาย "บ้าน" ไว้กับพื้น เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้เขามายืนรวมกันรักษา "บ้าน" โดยในหมู่บ้าน จะมี "บ้านว่าง" อยู่หนึ่งหลัง เรื่องมีอยู่ว่า เป็ดน้อยตัวหนึ่ง (แสดงโดยน้องส้ม) เดินเข้ามาในหมู่บ้าน คงจะมาหาอาหารกิน ชาวบ้าน (หมายถึงทุกคน) ต้องช่วยกันรักษาบ้านไว้ไม่ให้เป็ดน้อยเข้าบ้านได้ กำหนดให้แต่ละคนจะอยู่บ้านได้ทีละหลังเท่านั้น โดยเปลี่ยนกันไปมาได้

กระบวนกรนำกระบวนการ จะคอยจับเวลาจากเริ่มปล่อยเป็ดเดินเข้าหมู่บ้าน จนเป็ดเข้าบ้านได้ แล้วนำเขียนลิสท์ไว้บนกระดาน และกดดันให้ "ชาวบ้าน" ช่วยกันคิด ช่วยกันหาวิธี .... กิจกรรมนี้เล่นเอาผมเครียดมากกว่าสนุก กลายเป็นทุกข์ แต่โดยภาพรวมแล้วคุ้มค่า จะไปหาวิธีปรับใช้ต่อ...ฮา

กิจกรรม ที่ว่ามาข้างต้นนี้ มีผลสำเร็จบรรลุเป้าตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อย่างไร กิจกรรมอื่นๆ ที่เหลือ เป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการ PBL แบบเชียงยืนโมเดล หากสนใจ ตามไปอ่านในบันทึกหน้านะครับ ....

ดูรูปทั้งหมดได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 578090เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2014 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2014 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท