​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๕๗. การพัฒนาคุณธรรมในศตวรรษที่ ๒๑


          เช้าวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ทีมงานจากบริษัทจินตนาการมาขอสัมภาษณ์ ถ่ายทำวีดิทัศน์ เรื่อง การพัฒนาคุณธรรมในศตวรรษที่ ๒๑ สำหรับเอาไปประกอบพิธีเปิดการประชุมของศูนย์คุณธรรม ผมเตรียม ppt อธิบายการตีความของผม ดังแนบ

          น่าเสียดายที่ผมลืมบันทึกเสียงไว้ เพราะว่าให้พูดใหม่ หรือเขียน ก็จะไม่ได้พลังเหมือนเดิม จึงขอสรุปคร่าวๆ ว่า ผมมองเรื่องการพัฒนาคุณธรรม ว่าต้องพัฒนาทุกคน ทุกอายุ ทุกที่ ทุกเวลา ในทุกเรื่อง มองว่าคุณธรรมเป็น “ยาดำ” แทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต

          ผมมองว่า “แรงถ่วง” การพัฒนาคุณธรรมในสังคมไทย มี ๒ ประการ คือ (๑) ความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ทำให้มีเด็กไทยประมาณหนึ่งในสาม ที่เกิดมามีความอ่อนแอของระบบพัฒนาคุณธรรม ติดตัวมาตั้งแต่เล็ก และ (๒) ระบบการศึกษาที่เป็นมิจฉาทิฐิ มุ่งสอนเพื่อสอบ เป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสียศีลธรรม ในสังคม

          ความอ่อนแอของต้นทุนในการพัฒนาคุณธรรมในเด็กไทย มาจากความอ่อนแอของ HPA Axis อันเป็นผลจากความเครียดเรื้อรังในทารกในครรภ์ และในวัยเด็กเล็ก ทำให้ร่างกายปิดสวิตช์ HPA Axis มีผลให้การเรียนรู้และพัฒนา EF เกิดยาก รวมทั้งทำให้การฝึกฝน Limbic System โดย Neocortex ของสมอง เกิดยากด้วย สมองสัตว์เลื้อยคลานในคนแบบนี้จึงเชื่องยาก ฝึกให้ทำงานด้วยคุณธรรมสูงได้ยากขึ้น

          จะให้สังคมไทยมีพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรมสูง ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบการศึกษา จากมิจฉาทิฐิ สู่สัมมาทิฐิ คือเปลี่ยนจากเน้นสอนแบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป เป็นเน้นสอนแบบกระตุ้น ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ขึ้นภายในตน โดยการลงมือทำและคิดไตร่ตรองทบทวน (reflection/ AAR) โดยครูต้องมีทักษะในห้องเรียนแบบใหม่

          ทักษะในห้องเรียนแบบใหม่ของครู คือทักษะในการตั้งเป้าหมายการเรียนที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ แล้วคิด ถอยหลังมาสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลลัพธ์ (Formative Assessment) และการให้ Constructive Feedback ให้นักเรียนเกิดความมุมานะ หรือความสนุกสนาน ในการเรียน

          การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ และการออกแบบและดำเนินการอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ ต้องเริ่มจากผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับที่ง่ายไปสู่ยาก ที่เรียกว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูง (Higher order learning outcome) ตามลำดับความยกง่ายคือ รู้ เข้าใจ ปฏิบัติได้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน พัฒนาทักษะการเรียนรู้ และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ประเด็นสำคัญคือ ต้องบรรลุเป้าหมายระดับสูงด้วย

          ในหนังสือ ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน ศ. นพ. ประเวศ วะสี เสนอไตรยางค์แห่งการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย รู้ทำ (เรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม) รู้คิด (เรียนรู้ในฐานวิทยาศาสตร์) และ รู้แจ้ง (เรียนรู้ในฐานจิตใจ) ซึ่งผมตีความว่า ตอนเรียน เป็นการเรียนแบบบูรณาการไปด้วยกัน การพัฒนาคุณธรรมจึงบูรณาการอยู่ในการเรียนทั้ง ๓ ฐาน

          จะเกิดการพัฒนาคุณธรรมได้ การเรียนรู้ต้องเปลี่ยนรูปแบบ จากเรียนแบบเน้นแข่งขัน เป็นเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน จากเรียนคนเดียว เป็นเรียนเป็นทีม และอื่นๆ ตามในสไลด์

          ในบันทึกชุด สอนเด็กให้เป็นคนดี (www.gotoknow.org/posts/tags/สอนเด็กให้เป็นคนดี) มีปัจจัยสำคัญ ๘ ประการตามในสไลด์ และมีรายละเอียดอ่านได้จากบันทึกทั้ง ๑๙ ตอน ซึ่งในหนังสือ โรงเรียนคุณธรรม ช่วยกันสร้างคนดีให้บ้านเมือง ท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย ใช้เพียง ๓ ปัจจัย คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และจิตอาสา

          หนังสือดังกล่าว อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ดังในสไลด์ ซึ่งสรุปได้ชัดเจนว่า เด็กต้องเรียนความรู้ หัดทำงาน และฝึกทำความดี ตรงกับแนวความคิดการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่จะพัฒนาคุณธรรมขึ้นได้ในจิตใจ

          สรุปได้ว่า การพัฒนาคุณธรรมในเด็กให้ได้ผล ต่อฝึกทักษะให้แก่ครู และพ่อแม่ ให้เป็น “โค้ชคุณธรรม” และ “โค้ชครบด้าน” ให้เด็กได้ฝึกแทรกอยู่ในทุกกิจกรรม ได้ฝึกคุณธรรมโดยไม่รู้ตัว ครูต้องฝึกทักษะการเป็น โค้ช จาก workshop และจากการนำ Best Prcatice มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 577826เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2014 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2014 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท