อภิชญา วรพันธ์ : ได้ยินเสียง “หัวใจ” ของผมบ้างหรือไม่ครับ


ณ ก.ย. 2550 เมื่อผลการตรวจเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “ธรรศ” ลูกชายฝาแฝดคนพี่วัย 3 ปี 10 เดือน เป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่แม่ต้องทำคือ การยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามมองถึงจุดรุนแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะโดยนิสัยของตนเองแล้วจะมองในด้านลบที่สุดด้วยเสมอ เพื่อการ “รับมือ” กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเป็นการถ่วงดุลระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริงด้วย

ธรรศได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อตัดไตด้านซ้ายออกไป ฉายรังสี 11 ครั้ง ( Maximum เท่าที่อวัยวะจะรับได้) และให้เคมีบำบัด 25 ครั้ง ตั้งแต่แรกที่ทราบว่าธรรศป่วย ตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษา แม่จะบอกให้ธรรศทราบทุกเรื่องว่าคุณหมอจะทำอะไรบ้าง แต่การบอกเด็กอายุยังไม่ถึง 4 ปี นั้น ก็จะแตกต่างจากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ทั่วไป เพราะจะเป็นภาษาเฉพาะแต่ละครอบครัวที่แม่ทราบว่า ลูกตนเองเข้าใจ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาษาทั่วๆ ไปแบบที่คนอื่นเข้าใจ เช่น “ธรรศมีเจ้าป่องในท้อง คุณหมอจะช่วยจัดการเอาเจ้าป่องออกไป เพื่อจะได้ไม่แย่งกินอาหาร แล้วธรรศก็ต้องไปรับพลังจากคุณหมอด้วย จะได้แข็งแรงกว่าเจ้าป่อง”

คำศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ ... เจ้าป่อง = มะเร็ง / จัดการ = ผ่าตัด / รับพลัง = รับเคมีบำบัด / นั่งยานอวกาศ = ฉายรังสี และอีกหลายคำนั้น คือการสื่อสารที่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างแม่กับธรรศ ถึงแม้ธรรศจะอายุยังไม่ถึง 4 ปี แต่แม่ก็เลี้ยงธรรศมาแบบต้องคุยกันด้วยเหตุและผล มีอะไรก็ต้องบอกให้ทราบ ในบางเรื่องก็ให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจ หรือร่วมกันตัดสินใจ แม่จะไม่คิดแทนให้แบบเบ็ดเสร็จไปทุกเรื่อง และแม่จะไม่ใช้เหตุผลว่า เพราะแม่พูด ลูกจึงต้องเชื่อหรือทำตาม

สำหรับคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารกันระหว่างแม่กับลูกนั้น คนอื่นจะเข้าใจหรือไม่ มิใช่เรื่องสำคัญสำหรับคนอื่น แต่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับธรรศ เพราะเป็นเรื่องของตัวธรรศเอง ธรรศจึงควรต้องเข้าใจ เมื่อธรรศมีความเข้าใจแล้วก็จะเกิดการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่กลัวเมื่อไปในสถานที่แปลกๆ ในโรงพยาบาล สิ่งที่ตามมาจาการเข้าใจและยอมรับของธรรศก็คือ การให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง .... ธรรมชาติของธรรศเป็นเช่นนั้น

เมื่อลูกเป็น “มะเร็ง” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่า “ตาย” ดูเหมือนจะเข้ามาใกล้ครอบครัวของเรามากขึ้นอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ตาย ... ลูกอายุแค่ 3 ปี 10 เดือน

ตาย ... คือเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่เจอกันอีก

ตาย ... คือแม่จะไม่ได้ยินเสียงแสนไพเราะและสุภาพเสมอของลูก คุณแม่ครับๆ พี่ธรรศจะ ...

ตาย ... คือแม่จะไม่ได้ยินลูกชายตัวน้อยที่มักมาบอกว่า พี่ธรรศรักคุณแม่ แล้วก็มาหอมแก้มซ้ายขวา

แต่โดยธรรมชาติของตัวเองแล้ว จะไม่คิดแบบคร่ำครวญ หรือคิดซ้ำไปซ้ำมาทั้งที่หาคำตอบไม่ได้อยู่นานๆ มักจะมองให้ถึงที่สุดว่า เรื่องจะไปสุดทางอยู่ที่ไหนหรือในลักษณะใด เพราะถ้าใช้ความ “รู้สึก” นำความคิด ความมี “เหตุผล” มักจะถูกทอนลงไป

สำหรับเรื่องของธรรศนั้น แม่ก็ได้รับคำตอบกับตัวเองว่า ถึงที่สุดของลูก หรือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ ... ตาย เป็นคำที่สั้นๆ ตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม ให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ยากจะบรรยายเป็นคำพูด แต่เมื่อคิดไปถึงเรื่องลูกตายได้ ยอมรับได้ว่าลูกตายได้ และยอมรับได้ว่าลูกตายก่อนพ่อแม่ได้ มันก็น่าแปลกว่า แม่กลับไม่มีความกลัวที่ลูกจะตาย เมื่อไม่มีความกลัว ก็รู้สึกว่าเรามีอิสระจากข้อห้าม หรือกรอบต่างๆ มากขึ้น

เมื่อแม่ยอมรับเรื่อง “ความตาย” ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกได้ คนสำคัญที่สุดที่แม่คิดว่าควรจะต้องปูพื้นฐานของใจให้เข้มแข็งบนพื้นฐานของการยอมรับความจริงก็คือ ตัวธรรศเอง เพราะเรื่องของตัวลูก ลูกควรรู้ และมีสิทธิ์เลือกชีวิตของตนเองด้วยเท่าที่พอจะทำได้ ณ ตอนนั้นแม่ต้องการเพียงว่า แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจเรื่องการตายอย่างลึกซึ้ง แต่อย่างน้อยแค่รู้สึกว่า “ตาย” เป็นคำพูดธรรมดา เป็นคำพูดที่พูดกันได้ ไม่ใช่คำพูดที่แปลกประหลาด ไม่ใช่คำพูดที่น่ากลัว ถ้าลูกรู้สึกกับคำว่า “ตาย” ได้แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับลูกในวัยเพียง 4 ปี

โดยปกติหากมีงานศพของญาติๆ หรือคนที่สนิทกัน แม่ก็จะพาธรรศและธรณ์ไปงานศพด้วยเสมอตั้งแต่เล็ก เพราะที่บ้านจะให้ความสำคัญกับงานศพ เพราะเป็นงานสุดท้ายของคนๆ นั้น ในช่วงที่ธรรศรับเคมีบำบัดแม่ก็ยังพาธรรศไปงานศพด้วยเช่นเดิม

ธรรศจะชอบการออกจากบ้านมาก ไปไหนก็ได้ขอให้ได้ออกนอกบ้าน เวลาไปวัดถ้าไม่ใช่ช่วงพระสวด ธรรศก็จะเดินไปนั่นนี่ หรือเล่นสนุกกับเด็กด้วยกัน ซึ่งก็มักจะถูกหลายคนทักด้วยความตกใจว่า “ลูกป่วย พามางานศพทำไม”

ซึ่งแม่ก็มักจะย้อนถามว่า “เด็กคนไหนป่วยคะ ถ้าหมายถึงธรรศ เด็กที่วิ่งเล่นอยู่นั่นละก็ ไม่น่าจะเรียกว่าป่วยนะคะ เพราะถ้าเด็กป่วยก็มักจะนอน จะไม่วิ่งเล่นสนุกสนานแบบนี้หรอกค่ะ ถ้าเรามองว่าการเป็นมะเร็งแล้วเป็นคนป่วย มีข้อจำกัดในการทำสิ่งต่างๆ ธรรศก็ต้องเป็นคนป่วยตลอดไป เพราะอย่างไรก็ได้ชื่อว่าเป็นมะเร็ง จริงๆ แล้วถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับโรคมากเกินไป เด็กก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ทำอะไรได้ตามปกติ ความสุขง่ายของเด็กหรือจิตวิญญาณของเด็กก็คือ ได้กิน ได้เที่ยว ได้เล่น”

ถ้าเราให้ความสำคัญกับ "โรค" เราก็จะเห็นแต่ "โรค"

ถ้าเราให้ความสำคัญกับ "การใช้ชีวิต" เราก็จะได้ "ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า"

สำหรับการพาลูกไปงานศพนั้น แม่ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้คุยกันเรื่องความตาย แม่มั่นใจว่าลูกก็จะถามด้วยความสงสัยว่า “ทำไมถึงต้องตาย” ถึงแม้ลูกจะเคยถาม และแม่ได้ตอบไปแล้ว เด็กก็มักถามซ้ำได้อีกเสมอ ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดไว้ แม่คุยให้ลูกฟังว่า

“ ส่วนใหญ่โลกเราจะมีสิ่งที่คู่กัน เช่น ดีใจ-เสียใจ , หิว-อิ่ม , ตื่น-หลับ , คนเกิด-คนตาย เหตุที่คนเราต้องตายก็มี 3 อย่าง คือ

- แก่มากๆ ก็ตายเพราะร่างกายทำงานไม่ได้แล้ว

- บาดเจ็บมากๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ถูกรถชนแรงๆ ก็ตายได้

- ป่วยมากๆ เป็นโรคที่คุณหมอรักษาไม่ได้ ก็ตายได้

ทุกคนต้องตายทั้งนั้น พ่อแม่ก็ต้องตายเหมือนกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา ”

ซึ่งธรรศก็ถามแม่ว่า

ธรรศ- เป็นมะเร็งต้องตายมั้ยครับ

แม่ - แล้วธรรศคิดว่ายังไงล่ะลูก

ธรรศ - คุณแม่บอกว่าทุกคนต้องตาย ธรรศเป็นมะเร็งก็ต้องตายเหมือนกัน

แม่ - ใช่ครับ ธรรศเก่งมากที่จำได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติค่ะ

ส่วนธรณ์ก็สงสัยว่า

ธรณ์ - คุณแม่ครับ คนที่ตายก็จะนอนในกล่องแคบๆ แบบนี้ทุกคนหรือครับ

แม่ - เขาไม่เรียกว่ากล่อง เรียกว่า โลงศพ ครับ คนที่ตายทุกคนก็นอนแบบนี้ทั้งนั้น

ธรณ์ - คงเพราะคนตายจะนอนเฉยๆ ไปไหนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้แล้ว

แม่ - ใช่ค่ะ ตอนที่เรายังไม่ตาย อยากทำอะไรก็ต้องรีบทำ เพราะถ้าตายแล้วก็ทำอะไรไม่ได้

ถ้าเรามองว่า “ ความตาย ” เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของชีวิต เราก็คุยกับเด็กเรื่องความตายให้เป็นเรื่องธรรมดา ให้เป็นเรื่องง่ายๆ ได้เช่นกัน ในการคุยเรื่องความตายนี้ ความยากคงจะอยู่ที่ความรู้สึกและความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ที่มีทั้งความรัก ความผูกพัน ฯ

การตอบคำถามเด็กนั้น จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้คิดซับซ้อนอะไรมาก แค่อธิบายแบบง่ายๆ หรือเปรียบเทียบกับสิ่งที่เด็กคุ้นเคย เด็กก็จะเห็นภาพ พอจะเข้าใจในระดับหนึ่ง และเมื่อได้ตอบคำถามแล้ว ส่วนใหญ่เด็กก็มักจะพอใจที่ได้รับคำตอบ ส่วนการที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยอธิบายเด็กเรื่องความตายนั้น อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่มองว่าเด็กไม่จำเป็นต้องรู้ หรือผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย แต่ประเด็นสำคัญอาจจะเพราะว่า ผู้ใหญ่ยังไม่ยอมรับเรื่องการสูญเสีย ความตายยังเป็นเรื่องไกลตัว หรือมองว่าการพูดเรื่องตายเป็นเรื่องที่ไม่ดี …. แต่ใครบ้างที่ไม่ตาย

แม้ธรรศจะมีอายุเพียง 4 ปี แต่ธรรศก็มีสิทธิ์ที่จะรู้เรื่องของตนเอง มีสิทธิ์ที่จะเลือกการดำเนินชีวิตของตนเองตามวัยเท่าที่ลูกจะทำได้ ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล

... ธรรศจะขอคุณหมอลงมาตักบาตรทุกเช้า ซึ่งคุณหมอก็อนุญาต พี่พยาบาลจะมา off น้ำเกลือให้ทุกเช้า

… ธรรศจะได้วิ่งเล่นในสนามหลังจากตักบาตรเสร็จแล้ว

... ธรรศจะขอเลือกจุดที่จะเปิดเส้น หรือต่อรองว่าจะเอาแขนข้างไหน ตรงบริเวณไหน

…ธรรศจะขอดูทุกครั้งที่ต้องฉีดยา เจาะเลือด ไม่ให้พี่พยาบาลมาบัง และธรรศก็ให้ความร่วมมืออย่างดี

... ธรรศจะถามสิ่งที่สงสัยกับคุณหมอ หรือพี่พยาบาลเสมอ

... ธรรศจะขอใส่ชุด Super Hero ในวันที่มาโรงพยาบาล และวันที่จะกลับบ้าน โดยจะเลือดชุดเอง

… ธรรศจะ Discharge แทบทุกวันหยุด เพื่อไปเที่ยว และกลับมาอยู่โรงพยาบาลในตอนเย็น หรือวันอาทิตย์

การที่แม่พยายามให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ กับลูก พยายามที่จะสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ กับลูก ก็เพื่อให้ลูกได้ทราบเรื่องของตนเอง เพื่อให้ลูกได้ค้นหาความต้องการของตนเอง และเพื่อให้ลูกได้เลือกใช้ชีวิตในแบบที่ลูกต้องการเท่าที่พ่อแม่จะทำให้ลูกได้

การที่ธรรศได้รับรู้ ได้เลือก ได้ต่อรองสิ่งต่างๆ บ้างนั้น ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ยุ่งยากขึ้นเลย แต่กลายเป็นว่า ธรรศให้ความร่วมมืออย่างดีในทุกเรื่อง แม้ว่าบางครั้งธรรศอาจจะต้องเจ็บตัว แต่ก็ไม่เคยโวยวาย หรืองอแงเลยแม้แต่ครั้งเดียว การที่ผู้ใหญ่ให้ข้อมูลต่างๆ ให้ความสำคัญกับความคิด ความรู้สึก ความต้องการของเด็กในกรอบที่เหมาะสม ก็อาจทำให้เด็กมีการแสดงออกที่เหมาะสมเช่นกัน เพราะเด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของ “ตัวตน” ของเด็กก็เป็นได้

พ่อแม่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด เป็นผู้คอยช่วยเหลือและประคับประคอง แต่พ่อแม่มิใช่เจ้าของชีวิตของลูกที่จะทำแทน คิดแทน หรือตัดสินใจแทนลูกในทุกเรื่อง

ผู้เป็นเจ้าของชีวิตของลูก เจ้าของจิตวิญญาณของลูก ก็คือ ... ตัวลูกเองโดยแท้

ผู้ใหญ่ทั้งหลาย เคยฟังเสียง “หัวใจ” ของเด็กๆ กันบ้างหรือไม่คะ 

หมายเลขบันทึก: 577163เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2014 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2014 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อตั้งคำถามว่า  "คุณแม่ 'ฟัง' เสียง 'หัวใจ' ของน้องธรรศ ยังไครับ ใช้วิธีอย่างไร สังเกต หรือพูดคุยกับน้องอย่างไร"  ซึ่งเป็นการประเมินทางจิตวิญญาณของเด็ก

ได้คำตอบว่า

สำหรับการที่จะฝึกฟังเสียง "หัวใจ" ของลูกนั้น จริงๆ แล้วเราฟังกันมาตั้งแต่เล็กค่ะคุณหมอ

>>> ตั้งแต่เริ่มคุยได้ ทุกวันจะต้องคุยกัน เล่าให้ทรายว่าวันนี้ทำอะไร พี่เลี้ยงพาไปไหน กินอะไร เล่นอะไร เพราะการที่หัดให้ลูกเล่าเรื่องราวต่างๆ นอกจากลูกจะพยายามพูด พยายามเล่า รู้จักการพูดแล้ว ยังเป็นการฝึกเก็บรายละเอียดต่างๆ มาเพื่อจะเล่าให้พ่อแม่ฟัง ที่สำคัญคือเป็นการ "สร้างความเคยชิน" ที่จะบอกเล่าเรื่อง ความรู้สึก ความต้องการให้ทราบ เพราะถ้าไม่คุยกัน มาถามมาซักตอนโต ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่คอยจุกจิกนะคะ แต่ถ้าบอกเล่าก็จนเป็น "ปกติ" มันก็เป็นปกติเสมอค่ะ

>>> แม่จะ "ฟังทุกอย่างที่ลูกพูด" เป็นอย่างแรก จะผิดจะถูกต้องฟังก่อน ฟังให้จบ โดยยังไม่สอน ไม่วิจารณ์ ถ้าสงสัยก็ถามค่ะ อย่าคิดเอง เพราะในหลายๆ ครั้ง สิ่งที่ผู้ใหญ่คิดต่างกับสิ่งที่เด็กคิดโดยสิ้นเชิง ในหลายเรื่องมุมมองของเด็กง่าย แต่ผู้ใหญ่คิดไปไกล และอาจคิดคนละเรื่องด้วยซ้ำ เช่น

ตอน ธรรศยังให้เคมีบำบัด วันหนึ่งขณะที่กำลังจะนอน ธรณ์ลุกขึ้นมานั่งและบอกแม่ว่า "ธรณ์ไม่อยากให้ธรรศหาย" แม่ก็งงนะคะ แต่ก็ถามด้วยเสียงปกติว่า ทำไมล่ะลูก ธรณ์ก็ยังพูดประโยคเดิมค่ะ พอแม่ถามว่าทำไมถึงไม่อยากให้หายล่ะคะ ธรณ์ตอบว่า "น้องไม่อยากให้ธรรศหายไป"

พอ ธรณ์พูดเสร็จ แม่นึกดีใจอย่างมากที่ไม่ดุธรณ์ตั้งแต่แรก ดีใจที่ไม่ได้ไปสั่งสอนว่าพี่น้องต้องรักกัน มิฉะนั้นธรณ์คงงงว่าแม่ดุ หรือตำหนิทำไม เพราะธรณ์คิดคำง่ายๆ แบบเด็ก คงเพราะได้ยินเวลาคนมาเยี่ยมบอกว่า "ขอให้ธรรศหายๆ"

ธรณ์คิดว่า ขอให้หาย = หายไป

ผู้ใหญ่คิดว่า ขอให้หาย = หายป่วย

เห็น มั้ยคะว่าความหมาย ความเข้าใจต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นถ้าลูกพูด “จะต้องฟังจนจบ ฟังอย่างเดียว เก็บกิริยาทุกอย่าง” เพราะถ้าแม่แสดงปฏิกิริยาที่เป็นลบ ลูกอาจจะไม่บอกเล่าสิ่งที่ตัวเองอยากสื่อสารค่ะ และจะเริ่มระวังที่จะบอกเล่า เริ่มไม่วางใจ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท