การเรียนรู้แบบวัดและการเรียนรู้แบบมหาวิทยาลัย : การเตรียมความพร้อมก่อนเรียน


การเตรียมความพร้อมในการเข้าชั้นเรียนของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบางแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยท้ายๆอันดับ นักศึกษาที่เข้ามาเรียน โดยมากจะเป็น ๑) นักศึกษาที่ไม่สามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ ๒) นักศึกษาที่ประเมินตัวเองแล้วว่า หากไปสอบแข่งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ดูจะเสียเวลาเปล่า ๓) นักศึกษาที่เข้าเรียนเพราะคำแนะนำของคนที่เรียนจบไปแล้ว ๔) นักศึกษาที่เรียนไม่จบจากที่อื่น และ ๕) นักศึกษาที่พิจารณาแล้วว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยดังกล่าวน่าจะไม่เดือดร้อนทางการเงินมากนัก อย่างไรก็ตาม อาจมีเหตุผลอื่นๆอีก

กล่าวถึงนักศึกษาที่ประเมินแล้วว่า หากสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ดูจะเสียเวลาเปล่า และนักศึกษาที่เรียนจากที่อื่นๆไม่ได้ นั้น จะสังเกตได้ว่า การเตรียมความพร้อมในการเข้าชั้นเรียนนั้นจะเป็นแบบ "ลอยไปตามน้ำ" หรือ "ตามกระแสลม" เข้าไม่ได้มีความมุ่งหมายอนาคต ดูเหมือนจะเชื่อมั่นว่าตัวเองไม่เก่ง นักศึกษาเหล่านี้จะไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆในการเข้าชั้นเรียน บางครั้งผมพบว่า ในวันสอบ นักศึกษาบางคนยังต้องยืมปากกาจากเพื่อน (เรื่องนี้เป็นเพียงจุดเล็กๆเท่านั้น แต่ก็ต้องพัฒนา)

การลอยไปตามน้ำ หมายถึง เมื่อถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน รอคอยการทำกิจกรรมในชั้นเรียน รอคอยฟังคำบรรยายจากอาจารย์ที่รับผิดชอบวิชา ถ้าเบื่อก็เดินออกไปธุระนอกชั้นเรียน หรือไม่ก็นั่งคุยผ่านสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้เตรียมความรู้เพื่อวันรุ่งขึ้นของชีวิต ดูเหมือนว่า เนื้อหาในบทเรียนกับความต้องการของผู้เรียนนั้นจะสวนทางกัน ครูอาจารย์จึงพยายามทำเนื้อหาในบทเรียนให้กลายเป็นความต้องของผู้เรียน (ในความจริงคือ ผู้เรียนไม่ได้ต้องการรู้ แต่เนื้อหาถูกบังคับด้วยหลักสูตร) จำนวนมากที่อาจารย์บอกให้เตรียมความพร้อมโดยการอ่านข้อมูล การเตรียมข้อมูลก่อนเข้าชั้นเรียน เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เตรียมความพร้อมแต่อย่างใด นอกจากนั้น ชิ้นงานจำนวนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน ที่นักศึกษาทำแบบขอไปที เช่น การค้นจากอินเตอร์เน็ต แล้วดึงเนื้อหาออกมาก่อนที่จะเขียนชื่อนามสกุลของนักศึกเอง จำนวนมาก ที่นักศึกษาไม่ได้อ่าน หรือตรวจทานเนื้อหามาก่อน

ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอาจไม่มีบรรยากาศแบบนี้ ผมเข้าใจเอาเองว่า นักศึกษามีการเตรียมความพร้อม มีการแข่งขันเรื่องความรู้สูง และในการแข่งขันทั้งหลายมีเรื่องของ "คะแนนสูง" เข้ามาเป็นตัวชี้วัดชีวิตของเขาด้วย

การเรียนรู้แบบวัด จากข้อสังเกตพื้นที่ทั้ง ๒ (จากบันทึกที่แล้ว) จะพบว่า พระภิกษุสามเณรจะเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชั้นเรียน สาเหตุหลักคือ หากไม่เตรียมความรู้มาก่อน เมื่อเข้ามาในชั้นเรียน เขาจะไม่สามารถทวนความรู้ให้ครูบาอาจารย์ได้ฟังได้เลย จึงเป็นการเตรียมพร้อมตลอดเวลา ข้อดีของสำนักเรียนดังกล่าวคือ วิชาที่เรียนไม่มาก ข้อด้อยคือ ความไม่กว้างของความรู้ ดังนั้น นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะได้เปรียบเรื่องความหลากหลายของความรู้มากกว่า การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชั้นเรียนของพระภิกษุสามเณรนั้น ต้องเตรียมความพร้อมไม่ต่ำจาก ๔ ชั่วโมง/คน เพื่อเสนอความรู้จากการอ่าน ค้นคว้า ให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบได้พิจารณา และการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้เรียนในชั้นเรียน เช่น ทางด้านภาษา ถ้าท่านใด เป็นผู้แปลจากภาษาหนึ่งมาเป็นภาษาหนึ่ง เป็นการแปลปากเปล่าโดยไม่มีภาษาที่ถูกแปลมากำกับ ผู้แปลต้องแปลให้ถูก อันเป็นการทบทวนความรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียนด้วย ศัพท์ใดที่แปลไม่ถูก อาจารย์จะยกศัพท์นั้นขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดร่วมกัน เพื่อที่จะให้เห็นว่าทำไมจึงแปลเช่นนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร ที่มาที่ไปดังกล่าวจะเป็นการโยนคำถามเจาะจงไปที่ผู้เรียนคนใดคนหนึ่ง จนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน

การเรียนเพื่อให้ได้ความรู้จากกรณีดังกล่าวไม่ได้จบเพียงนั้น เพราะถ้าเวลาเหลือ จะมีการย้อนบทเรียนเพื่อทบทวนความรู้กันอีกรอบหนึ่ง จึงดูเหมือนทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆคลี่คลาย เพราะไม่ได้ถูกจำกัดด้วยแผนการเรียนที่รัดตัว ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนนี้ ตระหนักถึงว่า การเรียนการสอนแบบวัด จะมุ่งคุณภาพของความรู้มากกว่าปริมาณความรู้ หมายถึง ถ้ายังไม่รู้จะไม่ผ่านบทเรียนนั้นไป

หมายเลขบันทึก: 576873เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2014 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท