แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น


แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น

แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น

สรณะ เทพเนาว์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗

นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

กรอบแนวคิดในการปฏิรูปประเทศตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดไว้ ๑๑ ด้าน [1] หนึ่งในนั้นก็คือ “ด้านการปกครองท้องถิ่น" อันถือได้ว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาและการปฏิรูป เพราะ “ท้องถิ่น" ในบริบทของ “ประชาสังคม" (Civil Society) ถือเป็นรากหญ้าของการพัฒนาทั้งปวง ตลอดระยะเวลา ๕ – ๖ ปีที่ผ่านมา ศ.นพ.ประเวศ วะสี [2] นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายการคิดถกเถียง ในเรื่อง "ประชาสังคม" อย่างมาก ในความเห็นของ นพ.ประเวศ เห็นว่า ภาคส่วนหลัก (Sectors) ของสังคมไทยที่มีความเข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากสองภาคคือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลทำให้สังคม ขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนา ของฝ่ายประชาชนหรือ ภาคสังคม ซึ่งเป็นภาคที่สาม นพ.ประเวศ เชื่อว่าจะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน (Community Strengthening) ซึ่งประชาสังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีรากฐานที่เกิดจากการมีชุมชนที่หลากหลายและเข้มแข็งด้วย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เสนอว่า "ประชาสังคม" นั้นเป็นส่วนของสังคม ที่ไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่ง ดำเนินงานโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและก็ไม่ใช่ภาคธุรกิจ ซึ่งดำเนินงานโดยมุ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ จนกระทั่งมีการผลักดันให้มีการตรา พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ [3] ขึ้น

ในที่นี้ขอเสนอแนวคิดในการปฏิรูปท้องถิ่นในบริบทของประชาสังคม เพื่อให้การขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความปรองดอง สมานฉันท์ และการปฏิรูป เพื่อเกิดสันติสุขแก่คนไทยทุกหมู่เหล่า ดังนี้

๑ การปฏิรูปโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กึ่งรัฐ-กึ่งชุมชน-กึ่งภาคพลเมือง ซึ่งสนองต่อความต้องการของประชาชน เสนอรูปแบบ โครงสร้าง การปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้มีผลทางปฏิบัติโดย

๑.๑ อปท. ต้องปรับตัวบทบาทหน้าที่ให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพเพื่อชุมชน และเคลื่อนไหวให้ทันต่อสภาวการณ์ของบ้านเมือง

๑.๒ ปรับโครงสร้างท้องถิ่นให้กระจายอาชีพและหน้าที่ให้ประชาชนทำ (จ้างงาน) และ เสริมสร้างอาชีพ

๑.๓ ปรับระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของท้องถิ่นในลักษณะการกระจายอำนาจในระยะเวลา ๒-๓ เดือน

๑.๔ การตั้งทบวงการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ทำให้งานท้องถิ่นมีความรับผิดชอบ หน้าที่ที่ปฏิบัติอย่างเด่นชัดในการบังคับบัญชาอย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า

๒ โอนภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นโดยทำให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ ปี จะต้องกำหนดทิศทางโอนทั้งงาน คน และเงิน ได้แก่

๒.๑ คุณภาพชีวิต

๒.๒ สวัสดิการทุกประเภท

๒.๓ การศึกษาเชื่อมต่อระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและการศึกษาขั้นพื้นฐาน

๒.๔ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนแพทย์แผนโบราณพื้นบ้าน

๓ การพัฒนาท้องถิ่นด้วยตัวเอง โดย

๓.๑ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรโดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่น และพนักงานของ อปท. ให้เป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีเพื่อการบริการรับใช้สังคม

๓.๒ มีศูนย์ข้อมูลนวัตกรรมท้องถิ่นทั่วประเทศ

๔ ระบบการเงินการคลังท้องถิ่น

๔.๑ ปรับกระจายอำนาจให้งบประมาณท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๕ [4]

๔.๒ เพิ่มฐานรายได้ให้กับท้องถิ่น โดยพยายามจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นให้ทั่วถึง

๔.๓ ยกเลิกเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

๔.๔ ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่ซ้ำซ้อน

๔.๕ ปรับอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นและ อปท. ให้มีลักษณะที่ช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน มิใช่การถ่ายโอนอำนาจเด็ดขาดแล้วส่วนกลางจะไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเลย

๕ ปฏิรูปเศรษฐกิจของท้องถิ่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกำลังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากร และความรุนแรงทางการเมืองควรเร่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจแบบบูรณาการเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษาและเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐกิจมหภาคให้เชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลกัน

๖ ปฏิรูปการฉ้อราษฎร์บังหลวง ประชาสังคมยุทธศาสตร์ต่อต้านคอรัปชั่น สร้างอารมณ์ร่วมของคนท้องถิ่นในการต่อต้านคอรัปชั่น เพราะเป็นการบ่อนทำลายชาติ เศรษฐกิจ สังคม ชื่อเสียงของประเทศและบ่อนทำลายรัฐบาล โดยทุกท้องถิ่นต้องวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาทุกองคาพยพต้องมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม

๗ เป็นพลังขับเคลื่อนกระบวนการ ภาคประชาสังคมในท้องถิ่นกับส่วนกลาง เพื่อให้สอดคล้องนโยบายกับประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อให้ภารกิจการปฏิบัติเป็นผลสำเร็จ

๘ วางแผนพัฒนาปฏิรูปในแต่ละส่วนงานเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐบาลและ คสช. ทั้งนโยบายเฉพาะหน้า และนโยบายระยะยาว โดยคำนึงถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลา ๕ – ๑๐ ปี ดำเนินการปฏิบัติตามนโยบายและโครงการที่มีระดับการแก้ไขปัญหาความเร่งด่วนและต่อเนื่อง

๙ สภาปฏิรูป ๒๕๐ คน ไม่ใช่ผูกขาดทางด้านความคิด ต้องรับฟังความคิดเห็นจากเวทีภูมิภาคต่างๆควรมีเวทีเสนอแนะของกลุ่มอาชีพต่างๆ และสมาคมฯ ต่างๆ เพื่อเสนอแนะประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขสู่ สนช. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครม. และ คสช. ซึ่ง สปช. ต้องประสานงานร่วมบรรจบเป็นแม่น้ำ ๕ สาย ทั้งนี้เพื่อทุกคนได้มีส่วนร่วม ปรองดอง และการบริหารราชการแผ่นดิน บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์

๑๐ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ครอบคลุมพื้นที่ในทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านได้ร่วมเป็นพลัง “เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)" บูรณาการทำงานร่วมกับทหารในพื้นที่และรัฐบาลในการนำนโยบายปฏิบัติหรือแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปบ้านเมืองตามแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดไว้ เช่น การเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ สมานฉันท์และวัฒนธรรมเกื้อกูล ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น เชื้อชาติ ศาสนา และ วิถีประชาของชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อสังเกต

จากประเด็นปัญหาของสังคมไทยที่หลากหลายอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศนั้น ถือเป็นความละเอียดอ่อนของสังคมไทย ที่ต้องทำความเข้าใจเห็นอกเห็นใจและประนีประนอมในลักษณะของการสมานฉันท์ต่างตอบแทนกันและกัน “การพัฒนาพลเมือง" ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ควรพิจารณา เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังมี “ความเหลื่อมล้ำ"[5] มีความแตกต่างทางสังคมระหว่างคนรวย คนจนที่ค่อนข้างสูง ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อ ๕ ปีที่แล้วพบว่า ร้อยละ ๔๐ ของคนกรุงเทพฯ และร้อยละ ๓๖ ของคนอีสาน มีความเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นสูงมากถึงขั้นยอมรับไม่ได้ และเกือบร้อยละ ๘๐ ของคนไทยทั้งประเทศยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทย ดังนั้น หลายประเทศก็ได้มีความพยายามใช้มาตรการต่างๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำ มาตรการที่มักใช้กันคือ มาตรการทางการคลังที่รวมทั้งด้านภาษีและด้านการใช้จ่ายของรัฐผ่านระบบสวัสดิการสังคม

ผมมีความเชื่อมั่นคณะกรรมการสรรหา สปช. ทั้ง ๑๑ ด้าน ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ และเคยมีตำแหน่งได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองมามาก ทำหน้าที่คัดสรรและเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ตามภาคและ วิชาชีพที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แต่ละด้านอย่างชัดเจน โดยการวิเคราะห์ประวัติของบุคคลที่ควรได้รับการคัดสรรพิจารณาจากความตั้งใจ ความพยายามผลักดันเพื่อเกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงการออกแบบประเทศไทย ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าสังคม เศรษฐกิจ การเมือง พลังงาน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา การบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองท้องถิ่น และด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างชาติไทยให้ทุกคนอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอยู่ด้วยความสงบสุข ความปรองดอง รักใคร่สามัคคี ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม บนความเข้าใจและความจริงใจต่อกันเพื่อให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปด้วยความ ราบรื่น ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ค่านิยมสังคมไทย ๑๒ ประการไว้ อาทิ ความรักเทิดทูนพระมหากษัตริย์ รู้จักดำรงตนโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซื่อสัตย์ อดทน มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย เคารพผู้ใหญ่ มีศีลธรรม หวังดีต่อผู้อื่น กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู มีสติรู้คิด รู้ทำ ความเข้มแข็งทางจิตใจ ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ ตลอดทั้งรักษาวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย เป็นต้น

ขอชื่นชมในความปรารถนาดีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการคัดสรรสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีความรู้ความสามารถเพื่อปฏิบัติภารกิจอันสำคัญยิ่งของชาติ เพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศและออกแบบประเทศไทย ในครั้งนี้ ผู้ได้รับการคัดสรรเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติพึงตระหนักในภารกิจในสำคัญยิ่งนี้ ผู้ได้รับการคัดสรรฯ ต้องอย่างน้อยควรมีค่านิยม ๑๒ ประการของ ฯพณฯ เป็นแนวทางในการดำเนินการ [6]


[1] "นิด้า" เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ ๑๖ ด้าน, ข่าวไทยพีบีเอส, ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗,

http://news.thaipbs.or.th/content/นิด้า-เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ-16-ด้าน

[2] แนวคิดเรื่องประชาสังคม , http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=39&Itemid=32

[3]http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/031/26.PDFประกาศ รจ. เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๓๑ ก วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

[4] สยามรัฐ, ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗, นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี ๒๕๕๘ จำนวน ๖๔๖,๓๕๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๘๐ ของประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งมากกว่าปี ๒๕๕๗ ที่ได้รับการจัดสรรร้อยละ ๒๗.๓๗

[5] ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ความเหลื่อมล้ำ ภาค 2,

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗, http://thaipublica.org/2014/07/tdri-inequality-2/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=tdri-inequality-2

[6] ดู สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, บทความพิเศษ เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น", หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๒๒๔๒๔ หน้า ๑๐ คอลัมน์<การเมืองท้องถิ่น>

หมายเลขบันทึก: 576419เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2014 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2015 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท