วิถีแห่งชา 《ตอน ๑》- 茶道 《第一話》


LiMCU ปริทัศน์...

วิถีแห่งชา 《ตอน ๑》
茶道 《第一話》


★ ประเทศญี่ปุ่น เป็นชาติที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนับตั้งแต่ยุคหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมความเป็นแดนอาทิตย์อุทัยที่สำคัญประการหนึ่งคือ "พุทธศาสนา"(仏教-ぶっきょう)

★ เมื่อกล่าวถึงศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น เราคงนึกภาพถึงความหลายหลายสำนัก ลัทธิและนิกาย ซึ่งหนึ่งในนิกายหลักที่เป็นเบ้าหลอม "จิตวิญญาณ" ชาวญี่ปุ่น คือ "เซน" (禅宗-ぜんしゅう)หรือลัทธิฌานในนิกายมหายาน และในนิกายเซนเองก็แบ่งเป็น ๒ สำนักใหญ่ ๒๕ สายย่อยอีกด้วย (รายละเอียดจะยกไปเล่าในโอกาสต่อไป) 

 ซะเซน(坐禅-ざぜん)

★ วัตรปฏิบัติสำคัญของพระสงฆ์นิกายเซน คือ การทำสมาธิภาวนา ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "ซะเซน"(坐禅-ざぜん)โดยธรรมชาติแล้วเมื่อเรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดนานๆ ย่อมเกิด "นิวรณ์"(เครื่องปิดกั้นกุศลความดีที่จะไปสู่จิตใจ)ประการหนึ่ง คือ "ถีนมิทธะ"(ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม)เพราะร่างกายอ่อนล้าอยากพักผ่อนจนจิตใจย่อท้อต่อการบำเพ็ญเพียร ต่อมาพระสงฆ์นิกายเซนในประเทศจีนจึงคิดกุศโลบายจากวิถีชีวิตใกล้ตัวจากธรรมชาติ โดยการ "ดื่มชา" มาเป็นวิธีดับนิวรณ์ข้อนี้ ตามบันทึกประวัติศษสตร์ "นิฮงโคคิ"(日本後紀-にほんこうき)ภายหลังราวคริสต์ศตวรรษที่ ๙ พระภิกษุเอชุ(永忠-えいちゅう)เดินทางกลับมาจากประเทศจีนพร้อมพันธุ์ชาประเภทชงด้วยใบ(煎茶-せんちゃ)แล้วถวายแด่พระจักรพรรดิสะกะ(嵯峨天皇-さがてんのう)จนเป็นที่พอพระทัยกับรสชาติเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นที่มาตำนานพระจักรพรรดิองค์แรกที่บุกเบิกการดิ่มชาเขียวให้แพร่หลายในญี่ปุ่นจนกระทั้งได้มีพระราชโองการให้ปลูกไร่ชา แต่ยุคแรกของการดิ่มนั้นจำกัดอยู่ในสังคมชนชั้นสูงและขุนนางเท่านั้น

ถ้วยชาระกุยะกิ(楽焼-らくやき)

★ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ สมัยคะมะกุระ(鎌倉時代-かまくらじだい)พระภิกษุเอไซ(明菴栄西-みょうあんえいさい)จาริกกลับจากประเทศจีนพร้อมกับเมล็ดพันธุ์ชาอีกสายพันธุ์ซึ่งเป็นสำหรับชงในพิธี(点茶-てんちゃ)ประเภทผงมัตชะ(抹茶-まっちゃ)ช่วงเวลานั้นในชนชั้นนักรบหรือซามูไร(侍-さむらい)ปรากฏการเล่นชนิดหนึ่งขึ้น คือ "การประลองชา" ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "โตฉะ"(闘茶-とうちゃ)ซึ่งมีลักษณะคล้ายการละเล่นทายกลิ่นเครื่องหอม หรือ "โคโด"(香道-こうどう)โดยการลิ้มรส ดมกลิ่นแล้วทายชนิดของชา 

การเก็บใบชาต้นฤดูใบไม้ผลิ ไร่ชาเมืองอุจิ เกียวโต

★ ต่อมา สมัยมุโระมะจิ(室町時代-むろまちじだい)กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยคลาสิคซึ่งอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิต สังคมและศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มวัฒนธรรมย่อย เช่น วัฒนธรรมคิตะยะมะ(北山文化-きたやまぶんか)และวัฒนธรรมฮิงะชิยะมะ(東山文化-ひがしやまぶんか)ในพระนครหลวงเกียวโต และบุคคลสำคัญที่ก่อกำเนิด "พิธีชงชา"(茶の湯-ちゃのゆ)ในยุคแรกคือ มุระตะ จุโค(村田珠光-むらたじゅこう)ชาวเมืองนะระที่เดินทางมาศึกษาศิลปวิทยากับโนอะมิ(能阿弥-のうあみ)ศิลปินและกวีในรัฐบาลบาลโชกุนอะชิกะงะและศึกษาธรรมะกับพระภิกษุอิกคิว โซจุน หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม เณรน้อยเจ้าปัญญา "อิกคิวซัง"(一休宗純-いっきゅうそうじゅん) ด้วยแนวคิดปรัชญาพื้นฐาน "วะบิสะบิ"(侘寂)คือ สุนทรียศาสตร์ในความสงบงามของจิตใจภายและภายนอก แนวคิดนี้สะท้อนอิทธิพลเรื่อง "ไตรลักษณ์"(三法印-さんぼういん)ได้แก่ อนิจจัง; สรรพสิ่งไร้ความเที่ยงแท้(無常-むじょう)ทุกขัง; สรรพสิ่งมีความผันแปรตามกฎธรรมชาติ(苦-く)อนัตตา; สรรพสิ่งไร้ตัวตน(空-くう)ด้วยเหตุนี้ ศิลปะที่ศิลปินสะท้อนผ่านผลงาน อาทิ ถ้วยชาในพิธีชงชา จึงเรียบง่าย มีลักษณะบูดเบี้ยวไร้ความสมดุล สีสันต์เรียบพื้นไม่วิตรบรรจง แต่แฝงความงามที่เรียบง่าย หรือ การจัดแต่งสวนหิน เป็นต้น

เซน โนะ ริกคิว(千利休-せんのりっきゅう)

★ จนกระทั้งในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ พระภิกษุเซน โนะ ริกคิว(千利休-せんのりっきゅう)ผู้สืบทอดวิถีแห่งชาจากอาจารย์ทะเกะโนะ โจโอ(武野紹鴎-たけのじょうおう)ลูกศิษย์ของมุระตะ จุโค ได้บันทึกในงานประพันธ์ "บันทึกแห่งทักษิณทิศ"(南方録-なんぽうろく)ถึงพิธีการ รูปแบบ ขั้นตอน สถาปัตยกรรมและการจัดแต่งสวนตามปรัชญาเซนอย่างเป็นมาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้น พระภิกษุเซน โนะ ริกคิวยังนิยามหัวใจสำคัญของสุนทรียรสไว้ ๔ ประการ คือ "วะเคเซจะคุ"「和敬清寂」;

 ●「和」วะ = ความปรองดอง
 ○「敬」เค = ความเคารพ
 ●「清」เซ = ความบริสุทธิ์
 ○「寂」จะคุ = ความสงบ

★ ดังนั้น พิธีชงชาจึงมีพัฒนาการจากกุศโลบายเพิ่อดับนิวรณ์อันเป็นสิ่งปิดกั้นทางแห่งกุศลจิตของการฝึกสมาธิของพระภิกษุนิกายเซน สู่สุนทรียรสแห่งการดื่มด่ำคุณค่าโอชะจากใบชาในหมู่ชนชั้นสูง จนกระทั่งวัฒนธรรมเหล่านี้ผ่านการผสมผสานกับสุนทรียศาสตร์ ความเรียบง่ายและจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น...อันประณีตบรรจงสู่ชาถ้วยหนึ่ง.

หมายเลขบันทึก: 576413เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2014 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2014 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เคยไปอยู่เกียวโต 1 สัปดาห์ ได้ไปชมสวนแห่งหนึ่ง(ต้องไปค้นชื่อก่อน) เขามีพิธีชงชาให้เราเข้าร่วมด้วย ก็ทำตามเขา รู้สึกว่าเขามีสุนทรียะเหลือเกิน คงมีปรัชญาอะไรแฝงอยู่ คราวหน้าถ้าได้มีโอกาสอีกคงจะซาบซึ้งยิ่งขึ้น ขอบคุณบทความดี ๆนี้ค่ะ

ขอบคุณครับ..อาจารย์ GD ^^

ผมคาดว่าไร่ชาที่อาจารย์ไปน่าจะเป็น "ไร่ชาเมืองอุจิ" แน่เลยครับ
ไร่นี้อยู่ตอนใต้ของเมืองเกียวโตลงไปเกือบไปสู่เมืองนารา
เมืองอุจิ เป็นเเหล่งชาเขียวมัตชะ (ชาผง) ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นและเป็นแหล่งดั่งเดิมครับ
ผมจะค้นและคว้ามุมมองที่หลากหลายมาแบ่งปันนะครับ
ตอนนี้อผมเรียนพิธีชงชาอยู่สำนักอุระเซนเกะ เรียนทุกวัน..แต่ก็จำไม่ได้สักทีครับ T^T
ในความเรียบง่าย..มีความละเอียดอ่อนจริงๆ ครับ (ยืนยัน!)

ชอบใจการชงชาครับ

เป้นเรื่องที่ดี

ไม่เคยไปญี่ปุ่นเลยครับ

คงมีโอกาสได้ไปครับ

ผมเขียนบันทึกและลงภาพเพิ่มแล้วนะครับ

ขอบคุณมากๆครับ

"ขอบคุณ..สำหรับ..ข้อเขียนและรายละเอียด"....ถามว่า.."ทำไมถึงจำไม่ได้"..คะก็เขียนๆๆให้อ่านได้..ตั้งยาวๆ..อิอิ...(สงสัย..น่ะค่ะ)...

ยายธี ซัง, ขอบคุณครับที่ให้คำแนะนำ ^^
ผมเพิ่งเริ่มเรียนรู้การการบล็อกครับ
ยังเขียนและใช้ภาษาไม่เก่ง..ต้องเรียนรู้ ขอคำแนะนำ
ขัดเกลารูปแบบการเขียนจากคุณ ยายธี ด้วยนะครับ
หากมีข้อมูล ภาษาที่ไม่ถูกต้องชี้เเนะด้วยนะครับ

มารออ่านอีกครับ

กรุณาอย่าหายไปนานครับ

5555555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท