ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๔๖. ไม่มีศาสนา หรือไม่มีพระเจ้า


          นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ (ใส่วันที่ล่วงหน้า ๒ สัปดาห์) ลงบทความในหัวข้อหลัก The Culture  หัวข้อรอง Religion  และหัวข้อเรื่อง Nonbelief System. Atheist “churches” take hold, even the Bible Belt     น่าเสียดายที่ผมค้นบทความนี้ไม่พบ    พบแต่บทความคล้ายๆ กัน บทความนี้

          อ่านแล้วเห็นความเคลื่อนไหวแสวงหาด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ในโลกยุคใหม่ที่แตกต่างจากสังคม สมัย 2-3 พันปีก่อน อย่างมากมาย    ศาสนาที่นับถือกันมากในปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงนั้น    มนุษย์ต้องการ สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แบบใหม่จริงหรือ     ศาสนาในแนวทางเดิม รูปแบบเดิม หมดสมัย หรือหมดพลัง เสียแล้วหรือ

          คนยุคใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมในช่วงปลายศตวรรษที่ ๒๐ ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ที่แตกต่างจาก มนุษย์ยุคก่อนๆ จริงหรือ

          บทความนี้เอ่ยถึง atheist ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่นับถือพระเจ้า     อ่านแล้วผมบอกตัวเองว่า ผมก็ไม่เชื่อ ในพระเจ้าแบบมีตัวตนอยู่บนสวรรค์ ไม่เชื่อมาแต่เด็ก เพราะถูกปู่และพ่อสอนมาตั้งแต่เด็ก    และเมื่อโตขึ้น จนแก่อย่างนี้ ยิ่งไม่เชื่อแน่นแฟ้นขึ้น

          ท่านที่อ่านบันทึกของผมมาอย่างสม่ำเสมอ อาจรู้สึกแปลกใจ     เพราะผมเอ่ยถึงเทวดาดลใจบ่อยมาก     เทวดาในบันทึกของผมหมายถึง intuition หรือปัญญาญาณที่มีอยู่ในตัวคน ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอื่น และในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อม     หากเราปฏิบัติหรือฝึกฝนจนเกิดการเรียนรู้เรื่องต่างๆ แบบที่เรียกว่า mastery learning  คือรู้ในระดับอัตโนมัติ     เทวดาดลใจ หรือปัญญาญาณ ก็จะออกมาปฏิบัติการเอง  โดยตัวเราไม่อยู่ในฐานะที่จะบังคับได้     “หนูเปล่านา...เขามาเอง”

          เนื่องจากศาสนาคริสต์นับถือพระเจ้า    บทความนี้จึงโมเมเหมาว่าไม่มีพระเจ้าหมายถึงไม่มีศาสนาและโยงศาสนากับวัดหรือโบสถ์     และเสนอข่าวเรื่องราวของ “โบสถ์นอกศาสนา”     ที่ผมตีความว่า มันสนองธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการรวมกลุ่มกันเป็นสังคม  เพราะมนุษย์ต้องการเพื่อน ต้องการสันติ หรือความมั่นคงในจิตใจ

          ผมเข้าใจว่า ความต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจเรียกว่า spirituality หรือจิตวิญญาณ ซึ่งเป็น คุณสมบัติที่ฝึกได้    และการศึกษาต้องจัดการฝึกฝนสิ่งนี้ให้แก่เยาวชนทุกคน    รวมทั้งคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง  ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

          การเรียนรู้บูรณาการ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนามิติทางจิตวิญญาณรวมอยู่ด้วย

          จะเชื่อหรือไม่เชื่อในพระเจ้าไม่สำคัญ     ที่สำคัญคือ ต้องพัฒนาตนเองด้านจิตวิญญาณตั้งแต่เด็กและทำไปตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 576321เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2014 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2014 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท