เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗



๑๔ กันยายน ๒๕๕๗

เรียน. เพื่อนครู ผู้บริหารและผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่๘. กันยายน. ๒๕๕๗. เช้านี้ไม่ได้ไปทำงานเพราะสมัครเข้ารับอบรมหลักสูตร"หลักปฏิบัติราชการทางปกครองสำหรับผู้บริหาร" ของมูลนิธิวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครองที่โรงแรมริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรีเป็นหลักสูตร๕วันเป็นการทบทวนตัวบทกฎหมายปกครองอีกครั้งหลังจากที่ผ่านหลักสูตรใหญ่ไปแล้วเมื่อ๒ปีก่อนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานศาลปกครองที่มาให้บริการก็คุ้นเคยกันดีวันนี้ทั้งวันเป็นการบรรยายของศาสตราจารย์ดร.ชาญชัย. แสวงศักดิ์ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด. ภาคเช้าเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง. บ่ายเป็นหลักปฏิบัติราชการเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง. บ่ายมีผู้ใหญ่โทร.มาถามเรื่องอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี ตอบไปเท่าที่ทราบว่ากำลังแก้ปัญหากันอยู่เหตุที่เกิดไม่มีเรื่องมาถึงผมทั้งที่มาและที่ไปอาจเป็นเพราะไปราชการในช่วงนั้นพอดีเลิกการอบรมตอนเย็นหมูเอาหนังสือมาให้ลงชื่อในแบบรายงานผลการเลือกตั้งอ.ก.ค.ศ.เขต . จากนั้นไปโรงพยาบาลรามาธิบดีหาหมอเพราะอาการปวดไหล่ขวากำเริบมากขึ้นหมอจัดยาแก้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบให้กลับไปกินที่บ้านแนะนำให้ไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลที่สะดวกคงหาที่สะดวกไม่ได้ทั้งสัปดาห์เพราะติดเรียน

วันอังคารที่๙. กันยายน. ๒๕๕๗. ดร.ฤทัย. หงส์สิริอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่บรรยายเรื่องคำสั่งทางปกครองและการใช้ดุลพินิจในภาคเช้าเริ่มจากนิยามคำสั่งทางปกครองหมายความว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อเปลี่ยนแปลงโอนสงวนระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลแต่ไม่หมายรวมถึงกฎ. คำสั่งทางปกครองเป็นการสั่งการซึ่งได้แก่ข้อความที่บังคับให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือห้ามมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งการอนุญาตให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการหรือการยืนยันสิทธิที่มีผลบังคับเฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะส่วน“กฎ” หมายถึงบทบัญญัติหรือข้อความเป็นข้อๆในเอกสารที่กำหนดบังคับให้บุคคลกระทำการหรือห้ามกระทำการหรืออนุญาตหรือละเว้นการกระทำที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะแค่ทำความเข้าใจกับนิยามก็เป็นเรื่องละเอียดหลายขั้นตอนต่อเนื่องไปจนถึงการใช้ดุลพินิจ. ดร.ฤทัยหงส์สิริได้กล่าวว่าดุลพินิจของฝ่ายปกครองหมายถึงการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือกระทำการไปในทางใดทางหนึ่งในกรณีที่กฎหมายให้ทางเลือกหลายทางซึ่งหากเลือกกระทำการไปในทางใดโดยมีเหตุผลอันสมควรแล้วก็ล้วนเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายถ้ากฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีทางเลือกที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงทางเดียวย่อมถือไม่ได้ว่าฝ่ายปกครองมีดุลพินิจแต่เป็นกรณีที่ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนั้นอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าฝ่ายปกครองมีอำนาจใช้ดุลพินิจเมื่อกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองตัดสินใจอย่างอิสระที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจะเห็นได้ว่าดุลพินิจของฝ่ายปกครองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติภาคบ่ายเป็นเรื่องสัญญาทางปกครองทั้งคนสอนและเรื่องที่สอนได้เคยเรียนมาแล้วในหลักสูตรใหญ่จึงเท่ากับเป็นการทบทวนความจำเรียนกฎหมายแม้เนื้อหาซ้ำแต่กรณีตัวอย่างเปลี่ยนไปทำให้ไม่เบื่อในการเรียนสำหรับผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านอบรมกฎหมายปกครองมาก่อนจึงมีคำถามใหม่ๆให้อาจารย์อธิบายตลอดเวลาโดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่น. เลยได้อาศัยเรียนรู้จากเขาไปด้วย

วันพุธที่๑๐กันยายน. ๒๕๕๗. ภาคเช้าอาจารย์อนุชา.ฮุนสวัสดิกุลบรรยายเรื่องหลักปฏิบัติราชการเกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารสรุปเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของราชการหลักการต้องเปิดเผยการปกปิดเป็นข้อยกเว้น บ่ายอาจารย์ฤทัยหงส์สิริสอนเรื่องหลักปฏิบัติราชการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา๔๒๐ปพพ. จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นเสียหายผู้กระทำต้องรับผิดทางละเมิด. แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐถ้าทำละเมิดในการปฏิบัติราชการไม่ต้องรับผิดแต่หน่วยงานเจ้าสังกัดต้องรับชดใข้แทนเว้นแต่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทำละเมิดนั้นไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

วันพฤหัสบดีที่๑๑กันยายน. ๒๕๕๗.วันนี้เรียนเรื่องศาลปกครองกับการพิจารณาคดีปกครองอาจารย์ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ประธานมูลนิธิวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครองเป็นผู้บรรยายในภาคเช้า. ภาคบ่ายเรียนเรื่องคดีปกครองในการบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นคดีที่มากขึ้นเรื่อยๆจนศาลปกครองต้องตั้งแผนกคดีบุคคลเป็นการเฉพาะ

วันศุกร์ที่๑๒. กันยายน. ๒๕๕๗. วันนี้ตลอดวันเรียนเรื่องคดีปกครองเกี่ยวกับการพัสดุ เป็นการเรียนแบบเนติบัณฑิตกล่าวคือศึกษาคดีหรือฏีกาเป็นเรื่องๆไปคดีเกี่ยวกับพัสดุส่วนใหญ่เป็นสัญญาทางแพ่งไปฟ้องร้องกันที่ศาลยุติธรรมแต่ที่มาฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองจะเป็นเรื่องคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวเนื่องกันในคดีเช่นประกาศ. การรับไม่รับคำเสนอเป็นต้น. เรียนเป็นวันที่ห้าทำให้รู้สึกว่าล้าสมองแล้วเหมือนกันแต่ได้ประโยชน์คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป

คดีปกครองที่ศาลปกครองสูสุดวางหลักไว้น่าสนใจ

ศาลปกครองสูงสุดท่านได้วินิจฉัยวางหลักว่า... การลงโทษบุคคลไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นโทษทางอาญาทางปกครองหรือทางวินัยถือได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกลงโทษการลงโทษบุคคลมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับการกระทำความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียวจึงเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายเกินความจำเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นๆมุ่งหมายจะให้ความคุ้มครองอันเป็นการขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปและต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ด้วย

แม้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 จะบัญญัติไว้ในมาตรา 91 ความว่าเมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นตกไปข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติว่ามีมูลความผิดให้ดำเนินการตามมาตรา 92 (2) คือเมื่อมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาใดกระทำผิดวินัยให้ประธานกรรมการส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ป.ป.ช.

มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกโดยให้ถือว่าเอกสารรายงานความเห็นของคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยและให้ผู้มีอำนาจสั่งพิจารณาลงโทษภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องซึ่งคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการถือเป็นการดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายนี้

โดยศาลท่านเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหาได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือยกเว้นผลบังคับของหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียวและมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญฯแต่อย่างใดไม่

ดังนั้นการกระทำที่จะไม่ให้เป็นการขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปและรัฐธรรมนูญดังกล่าวนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องดำเนินการเพิกถอนคำสั่งเดิมที่สั่งลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือนโดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนไปถึงวันออกคำสั่งตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนเมื่อเพิกถอนแล้วก็จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยสำหรับการกระทำผิดในเรื่องนี้มาก่อนแล้วจึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของป.ป.ช.ได้

การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่เพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายทั่วไปและมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯศาลปกครองสูงสุดจึงยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามที่พิพาท (คดีหมายเลขแดงที่อ.7/2557)

กรณีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นฝ่ายชนะคดีแต่ก็หาใช่ว่าจะได้กลับไปรับราชการเช่นเดิมเพราะจากคำวินิจฉัยของศาลแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีเพียงดำเนินการไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่เพิกถอนคำสั่งเดิมเสียก่อนจึงถือเป็นการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกันซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีก็สามารถที่จะเพิกถอนคำสั่งเดิมและดำเนินการลงโทษใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนได้นั่นเองโดยหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้มีการลงโทษซ้ำซ้อนนี้เป็นหลักการที่ใช้กับการลงโทษทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นวินัยปกครองและอาญา

จะเห็นได้ว่า...หลักกฎหมายทั่วไปนั้นนับว่ามีบทบาทสำคัญที่ศาลจะนำมาใช้ในการรักษาและประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยถือเป็นหลักความเป็นธรรมตามธรรมชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอันเป็นที่มาหรือเป็นรากฐานของทุกระบบกฎหมายโดยศาลจะเป็นผู้รับรองและใช้หลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว

สำหรับอุทาหรณ์คดีที่เกิดขึ้นนี้ยังคงยืนยันสุภาษิตอมตะโบราณที่ว่า“ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน” ได้ดีทีเดียวอีกด้วยครับ !!

นายกำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 576290เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2014 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2014 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท