เรียนรู้ Saraphi Health Application (1)


คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาชวนว่าอยากเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพชุมชน เลิกทิ้งน้ำหนักไปที่ รพ.สต. ให้ไปที่ชุมชน จึงเกิดโครงการกับ สสส.ขึ้น

ตอนที่จัดงาน NCD Forum 2014 ดิฉันได้เรียน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ว่ากำลังทำ App สำหรับการเก็บข้อมูลในโครงการ Thai DPP อาจารย์วิจารณ์จึงบอกว่ากำลังจะไปดูงานเรื่องนี้ที่สารภีในวันที่ 7-8 กันยายน 2557 และชวนให้ไปด้วยกัน พร้อมกันนั้นก็แนะนำให้รู้จักอาจารย์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ซึ่งรับผิดชอบ “แผนงานขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล” อาจารย์วิจารณ์และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ส่งกำหนดการมาให้ จึงรู้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะมีทั้งการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่และการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯ

ดิฉันขอเล่าประสบการณ์การไปที่สารภีครั้งนี้ ด้วยข้อมูลที่ตนเองได้ยินได้เห็นเท่าที่จะจดบันทึกได้ ซึ่งเนื้อหาคงไม่สมบูรณ์ครบถ้วน

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2557

คณะของเราออกเดินทางจากดอนเมืองไปเชียงใหม่ตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 น. ด้วยสายการบินนกแอร์และไทยสมายส์ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ดิฉันเจออาจารย์เดชรัตและทีมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่ไปนกแอร์เที่ยวเดียวกัน ได้คุยกับอาจารย์เดชรัตจึงรู้ว่าท่านจบปริญญาตรีพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร และไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ ขณะนี้ทำงานประจำอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ทิวทัศน์ขณะที่เครื่องบินกำลังลดระดับลงสู่สนามบินเชียงใหม่


เมื่อถึงเชียงใหม่เรานั่งรถตู้สองคันเดินทางไปยัง รพ.สารภี เช้าวันอาทิตย์ถนนไม่จอแจมาก เราประทับใจถนนเส้นที่มีต้นยางนาขนาดใหญ่สองข้างทางที่ผ่านหน้าโรงพยาบาล เมื่อลงจากรถจึงพากันไปถ่ายภาพถนนเส้นนี้


ถนนหน้าโรงพยาบาลสารภี มีต้นยางนาขนาดใหญ่อยู่ทั้งสองฝั่ง


ในที่จอดรถของโรงพยาบาลเจอรถขายกาแฟ มีน้องพยาบาลกำลังใช้บริการอยู่ คุยกันจึงรู้ว่ามีการสั่งรถคันนี้มาบริการทีมของเราเป็นพิเศษ


รถขายกาแฟสด ส่งกลิ่นหอมมาก


เราได้พบกับทีมทำงานโครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนอำเภอสารภี (www.saraphihealth.com) ซึ่งมี รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ อดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้จัดการโครงการฯ (ปัจจุบันเกษียณมาเต็มตัวแล้ว)

นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการ รพ.สารภี อดีตแพทย์ชนบทดีเด่น กล่าวต้อนรับพวกเราและเล่าเรื่องของอำเภอสารภี คุณหมอจรัสบอกว่าได้ฟังอาจารย์วิจารณ์บรรยายที่งาน NCD Forum 2014 แล้ว ได้รู้เรื่อง epigenetic เกิดความคิดที่จะขับเคลื่อนงานอีกมิติหนึ่งคือหญิงมีครรภ์และเด็กก่อนวัยเรียน


นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผอ.รพ.สารภี อดีตแพทย์ชนบทดีเด่น


คุณหมอจรัสเล่าว่าสารภีเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอยู่นานแล้ว เวียงกุมกามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของสารภี มีถนนที่มีต้นไม้สวยที่สุด เป็นต้นยางนาที่ปลูกเป็นระยะทาง 10 กม. ปลูกมานาน 133 ปีแล้ว สมัยพ่อเจ้าอินทวิชัยชานนท์ ต่อมาในปี 2540 มีการเอาเอื้องผึ้งมาปลูกติดที่ต้นยางนา เวลาออกดอกยิ่งทำให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ยังมีวัดพระนอน

อำเภอสารภีเดิมชื่ออำเภอยางเนิ้ง ยาง = ต้นยาง เนิ้ง = โน้มเอียง จัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อ ร.ศ. 109 (พ.ศ.2434) พ.ศ.2470 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสารภี สารภีเป็นชื่อไม้ยืนต้นซึ่งมีอายุยืนนานมาก ขึ้นอยู่ที่วัดสารภี ตำบลสารภี

ที่นี่เป็นแหล่งลำใย กำลังมีการขับเคลื่อนให้เป็นลำใยอินทรีย์ มีการ ลปรร. เรื่องนี้กันเยอะมาก ได้ความรู้ว่าจริงๆ รดน้ำแค่ปีละสองหนก็พอ ใส่ปัสสาวะไส้เดือน ทำให้ลำใยมีลูกโต

สารภีอยู่ใกล้เมืองประมาณ 14 กม. ถ้ามองความเจริญด้านวัตถุนิยมสี่ทิศ สารภีเจริญช้าที่สุด ต้นยางนาเป็นตัวกำบังอย่างดี (ความแคบของถนน ต้นไม้ กฎ/กรอบ) เป็นอำเภอเดียวที่ไม่มีดอย ไม่มีชนเผ่า มีความพยายามปกป้องถนนเส้นนี้ไว้ ต้นยางนาทุกต้นมี code (ไม่ต้องขูดก็พบตัวเลข)

ปี 2509 มีโครงการสารภี โครงการบ้านไผ่ พลิกเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ในยุคสมัชชา ที่นี่กำเนิดสมัชชาสุขภาพเป็นแห่งแรก...ตั้งโรงพยาบาลเมื่อปี 2519 (อ่านประวัติได้ที่นี่) ปัจจุบันใช้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แผนไทยขับเคลื่อนคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้รับการบริจาคที่ดินให้ดำเนินการเรื่องนี้

ปี 2540 อาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ทำการวิจัยพบว่าที่สารภีมีปัญหามะเร็งปอดเยอะ สาเหตุพบว่ามีเรดอนแก็สผุดจากใต้ดิน ชาวบ้านปิดบ้านสูบบุหรี่ก็สูดแก็สนี้เข้าไปด้วย ปี 2550 มีการวิจัยพบว่าทำให้เกิด DNA damage ปี 2551 เอาข้อมูลมาเปิดเผยให้เกิดการรับรู้และขับเคลื่อน รวมตัวกับชุมชนเกิดสมัชชาสุขภาพขึ้น

เรื่องอื่นๆ ที่ทำ เช่น ไข้เลือดออก นำไปสู่การจัดการขยะ ลดเผา ปัญหาหมอกควัน สารเคมีเกษตร (ปัจจุบันสารภีปลูกผักปลอดสารพิษเลี้ยงคนเชียงใหม่) สุราและการพนันในงานศพ ฯลฯ

จากข้อมูลวิจัยเมื่อเข้าสู่ชุมชน เกิดความสำนึกความตระหนัก ร่วมกันคิด นำไปสู่ความร่วมมือกัน

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาชวนว่าอยากเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพชุมชน เลิกทิ้งน้ำหนักไปที่ รพ.สต. ให้ไปที่ชุมชน จึงเกิดโครงการกับ สสส.ขึ้น


รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ผู้จัดการโครงการฯ


รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ บอกว่ารู้ว่าเราจะมาดูเรื่องข้อมูล แต่ App อย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดโครงการนี้ได้ คนสำคัญที่สุด และได้เล่าว่า รพ.สารภีมอบหมายให้พยาบาลวิชาชีพ 3 คน ทำงานชุมชนเต็มเวลา ในโครงการมีอาจารย์จากคณะพยาบาลฯ 19 คน และเจ้าหน้าที่ประจำโครงการอีก 3 คน ตนเองเกษียณมาเต็มตัวจึงมาทำสิ่งที่อยากทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของนักศึกษา เป็นพื้นที่วิจัยของอาจารย์ ทำแล้วอยากให้มาเรียนรู้ร่วมกัน

แนวคิดการทำงาน ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม พื้นที่เป็นฐาน แล้วเรียนรู้ร่วมกัน การเลือกพื้นที่ ถามความสนใจของพื้นที่ ทำ pilot ในหมู่บ้าน ทั้ง 12 ตำบลสนใจเข้าร่วม แต่ละตำบลคัดเลือกคนมาร่วมทำงานกับอาจารย์พยาบาล พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน นักกายภาพบำบัด

เอาปัจจัยกำหนดสุขภาพมาเป็นตัวตั้ง อบรมคนเก็บข้อมูล 153 คน อายุน้อยสุดคือ 9 ขวบ คืนข้อมูลระดับอำเภอ ได้ประเด็น คืนข้อมูลระดับอำเภอ เมื่อรู้ข้อมูลก็กำหนดภาพอนาคตของแต่ละตำบล แล้วทำแผน

จากข้อมูล คิดว่าจะต้องมีพื้นที่ชวนคิดชวนคุย ข่วงกำกิ๊ด มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพ (หลักสูตรพัฒนา) เช่น วิทยากรกระบวนการ Coaching, Community empowerment เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ นักวิจัยท้องถิ่น เครือข่ายเยาวชน โรงเรียนผู้สูงอายุ Home health care เครือข่ายพลังสังคมเอาชนะยาเสพติด (นายอำเภอเป็นแกนนำ) งานศพปลอดเหล้า การสื่อสารสาธารณะ เยาวชนจิตอาสา การจัดการขยะ (ทำทั้งอำเภอสารภี) การกำจัดลูกน้ำยุงลาย (มี App) ทำมาปีครึ่ง มีการจัดมหกรรมสุขภาพอำเภอสารภี

ต่อไปจะทำอะไร (กันยายน 2557 - สิงหาคม 2558)

  • ข่วงกำกิ๊ดอำเภอ (ท้องถิ่นเปลี่ยนทุก 4 ปี บางทีไม่เอามาทำต่อ)
  • กองทุนวันละบาท
  • ขยายสู่เชียงใหม่โมเดล (รูปแบบการเก็บข้อมูล) สสส. ให้ขยายอีก 24 อำเภอในเชียงใหม่ และที่อื่นอีก 51 อำเภอ

เล่าที่มา การดำเนินงานต่างๆ ทำไมจึงทำนั่นทำนี่ ก้าวต่อไปแล้ว สรุปให้เห็นภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่ทำอะไรเพื่อตอบภาพฝันของเขา (เน้นต่างกัน)


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2557

หมายเลขบันทึก: 576165เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2014 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2014 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท