PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _ : ครูฉันทนา แสนยะบุตร "การสอนเน้นการคิด"


ครูฉันทนา แสนยะบุตร | การสอนเน้นการคิด

(ถอดบทเรียน เขียนเล่าเรื่องโดย ฤทธิไกรไชยงาม)

(ครูฉันทนา แสนยะบุตร ใส่เสื้อสีชมพู)

การสอนของครูฉันทนา ครบถ้วนและสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดสมัยใหม่อย่างมาก อาจเรียกสั้นๆ ว่า การสอนเน้นการคิดด้วยกระบวนการ ๖ ขั้นตอนดังภาพด้านล่าง ซึ่งได้จากการฟังและสังเคราะห์จากการเล่าเรื่องแบบ “ไวเป็นไฟแล็บ” ของท่าน แต่ละตอนตีความเข้ากับปัจจัยของการเรียนรู้ที่ผลงานวิจัยสมัยใหม่ยืนยัน ได้แก่

ขั้นที่ ๑ สำรวจความรู้เดิม ท่านให้นักเรียนดูรูป ซึ่งเป็นสื่อที่ท่านเตรียมเองทำเอง ต้องทำงานหนักเพราะ ท่านต้องวิเคราะห์ก่อนว่า นักเรียนควรจะได้ศัพท์อะไรแล้ว และต้องการจะเติมศัพท์ใหม่อะไรให้กับเด็กบ้าง แล้วจึงหารูปที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ผ่านรูปนั้นๆ ที่ผมตั้งชื่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ของท่านว่า “เน้นการคิด” เพราะขั้นตอน ท่านจะใช้คำถามเป็นเครื่องมือหลักในการสอน ในขั้นสำรวจความรู้เดิมนี้ ท่านจะถามว่า “นักเรียนเห็นอะไรบ้าง” “รู้จักอะไรในรูปบ้าง” นักเรียนก็จะช่วยกันตอบและเขียนคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับภาพที่ตนรู้จัก

ขั้นที่ ๒ เติมความรู้ใหม่ ท่านใช้วิธีการสอน บอกให้ความรู้คำศัพท์ใหม่โดยใช้สิ่งต่างๆ ในรูปที่นักเรียนบอกไม่ได้ หรือไม่เห็น โดยจะให้ตอบเป็นเป็นภาษาไทยก่อน แล้วเชื่อมโยงย้อนกลับไปสู่ความหมาย และการนำไปใช้ในชีวิต ก่อนจะนำศัพท์ภาษาอังกฤษของคำๆ นั้นมาบอก แล้วให้นักเรียนเขียน เพื่อให้จำได้ สะกดและออกเสียงเพื่อให้อ่านได้

ขั้นที่ ๓ ฝึกฟัง-คิด-พูด โดยการให้นักเรียนคนที่ ๑ คิด-พูดโดยการตั้งและถามคำถาม คนที่ ๒ ฟัง-คิด-ตอบคำถาม คนที่ ๒ ถาม คนที่ ๓ ตอบ คนที่ ๓ ถาม คนที่ ๔ ตอบ .... ไปเรื่อยๆ ... โดยให้นักเรียนเลือกเองว่าต้องการถามใคร ผมตีความว่า กิจกรรมนี้ ทำใหนักเรียนทุกคนต้องมีสมาธิอยู่กับการเรียน เพราะต้องฟังว่าเขาจะถามใคร คิดตามว่าเขาถามอะไร เมื่อตอบแล้ว ต้องคิดต่อว่าจะต้องตั้งคำถามอะไร สรุปคือ “คิดตลอด” จึงได้ “ฝึกคิด”

ขั้นที่ ๔ ฝึกอ่าน เป็นการให้นักเรียนแต่ละแถวอ่านภาษาอังกฤษจากเนื้อเรื่องที่ท่านเตรียมมา ซึ่งจะสอดคล้องกับภาพที่หามาตั้งแต่ต้น โดยให้อ่านแถวละ ๒ หรือ ๓ บรรทัด สลับกันไปจนจบ ผมตีความว่า การออกแบบการอ่านร่วมกันแบบนี้ ทำให้นักเรียนทุกคนต้องมีสมาธิอยู่กับกิจกรรมการเรียน เพราะต้องคอยฟังว่า แต่ละแถวอ่านถึงไหน และทุกคนได้ฝึกออกเสียง ฝึกอ่านและตีความความหมายของแต่ละบรรทัดไปด้วย

ขั้นที่ ๕ ฝึกเขียน ครูจะใช้วิธีถามความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง ถามว่า อะไร ประกอบด้วยอะไร ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร คือถามเกี่ยวกับเรื่องราวหรือความเชื่อมโยงต่างๆ ของสิ่งต่างๆ ในภาพหรือในเรื่อง เป็นการฝึกอ่านจับใจความ เพราะเมื่อครูตั้งคำถาม นักเรียนต้องอ่านเพื่อหาคำตอบ สุดท้ายในขั้นนี้ ครูจะให้นักเรียนเขียนแผนผังความคิด หรือ Mind Mapping เพื่อสรุปความเข้าใจของตนเอง

ขั้นที่ ๖ ครูสะท้อนและป้อนกลับผลการเรียนรู้ ไปยังนักเรียน โดยเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ เช่น ขั้นตอนไหนที่นักเรียนยังทำได้ไม่ดี เพราะอะไร จะทำให้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 575994เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2014 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2014 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท