ก่อ .........เกาลัดเมืองไทย ไม้ผลพื้นบ้านภาคใต้


ดอกก่อ

ก่อ...ผลอ่อน

ช่อผลก่อ

ก่อ ที่นำไปคั่ว เนื้อผลจะหวานมัน


ก่อ........ เกาลัดเมืองไทย : Castanopsis 

ไม้วงศ์ก่อ (Fagaceae) เป็นไม้หวงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกา ไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางปกป้องสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เพราะส่วนใหญ่ชอบขึ้นตามป่าดิบเขา ตามที่ลาดชันสูง จึงเป็นกลุ่มพืชที่สำคัญที่ช่วยปกป้องการพังทลายของดิน รักษาอุณหภูมิและดูดซับความชุ่มชื้นเก็บไว้ในดินได้ดีกว่าพวกไม้สน สกุลก่อหนามเป็นก่อสกุลที่มีเนื้อผลรับประทานได้

ไม้สกุลก่อหนามที่พบในประเทศไทยมีหลายชนิด ก่อที่ใช้ผลหรือเมล็ดเป็นอาหาร มี ประมาณ 25 ชนิด เช่น ก่อหรั่ง ก่อหลั่ง ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อเหน่ง ก่อขาว ก่อหมู ก่อหมูดอย เป็นต้น ในปัจจุบันจะพบต้นก่อในป่าไม้ดงดิบเท่านั้น เพราะต้นถูกตัดไปใช้ในงานก่อสร้าง จึงพบเห็นได้น้อยลง แต่ในภาคใต้ยังคงพบตามภูเขาสูง และมีเมล็ดก่อขายตามตลาดพื้นบ้าน มีเนื้อผลที่มันหวาน

ก่อเป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 20-30 เมตร ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปขนาน ขอบใบเรียบ ดอก มีสีเขียวครีม ออกเป็นช่อยาวตั้งขึ้น กลีบรวม 6 กลีบ รูปขอบขนาน ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ ดอกแยกเพศร่วมต้นแยกช่อหรืออยู่บนช่อเดียวกัน ช่อดอกเป็นช่อเชิงลดออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งมีขนสั้นหนานุ่ม ผลมีกาบหุ้มผลเป็นหนาม มีขนแน่น มีเปลือกแข็งสีน้ำตาล ที่อยู่ภายใต้เปลือกสีเขียวมีหนาม ซึ่งคือชั้นของใบประดับที่เจริญและขยายขนาดขึ้นมาห่อหุ้มผลไว้ ส่วนของเปลือกสีเขียวที่เป็นหนามที่ห่อหุ้มผลอยู่ ที่ว่ามาจากชั้นใบประดับนั้นเรียกว่า คูปูล อาจมีรูปร่างเป็นกาบรูปถ้วย หรือห่อหุ้มหมดทั้งผล

ผลก่ออ่อนที่มีสีเขียวดูลักษณะเหมือนเปลือกมีขนเป็นเส้นๆคล้ายผลเงาะอ่อน แต่มีความแตกต่างที่เปลือกก่อสีเขียวที่เห็นไม่ใช่เปลือกที่แท้จริง แต่เป็นชั้นใบประดับหลายๆใบที่รองรับดอกอยู่ เจริญขยายใหญ่ขึ้นมาหุ้มผลไว้ข้างในอีกที ส่วนเปลือกเงาะที่มีขนสีแดงหรือเขียว เป็นชั้นของเปลือกผลที่แท้จริง ก่อขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำโครง สร้างส่วนต่างๆของบ้าน เช่น เสาบ้าน เนื้อในเมล็ดรับประทานได้ เนื้อมีลักษณะ และรสชาติคล้ายเกาลัด 

หมายเลขบันทึก: 575447เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลงคิดว่ามีแต่ที่ภาคเหนือแถวเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนค่ะ

-สวัสดีครับ

-เกาลัด...เคยกินตอนอยู่อีสาน..ครับ

-ชอบใจเกาลัดเมืองไทย

-ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท