"ยิ่งใกล้ ยิ่งไกล"



                                           "ยิ่งใกล้ ยิ่งไกล" (More close, more far)

                                                                       

                  ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา เราคุ้นเคยหรือคลุกคลีกับสิ่งต่างๆ มากมาย แต่เนื่องจากว่า สิ่งแวดล้อมที่เราเห็น เราสัมผัสอยู่บ่อยๆ นี้เอง จึงทำให้เราคุ้นชินจนกลายเป็นความเมินเฉย บางทีเราอาจบอกว่าเบื่อซะอีก นั่นคือ การเสียโอกาสที่จะสร้างความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ได้ อย่างนี้แหละที่ฝรั่งใช้สำนวนว่า "Take it for granted"

                 ชีวิตเรา ส่วนใหญ่จะอยู่กับบ้านหรือสถานที่บางแห่งที่เราอยู่ประจำ เช่น ที่ทำงาน สวน ไร่ นา เราจะพบกับสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้ อาจถูกมองด้วยความห่างเหินจนคุ้นเคย จนไม่อาจมองเห็นว่า มันสำคัญต่อการดำรงชีวิต อาจจะมองเห็นแค่เป็นเครื่องประดับ เครื่องเคียงของเราไป

                 ส่วนที่เราคิดว่าสำคัญหรือให้ความสนใจ เราก็มักจะถนอมหรือเก็บไว้อย่างดี เช่น เครื่องเงิน สร้อย แหวน ทอง นาค พระเครื่อง ของชำร่วย ของที่ระลึก ฯ สิ่งเหล่านี้ มิได้แปลว่า มันสำคัญต่อวิถีชีวิตโดยตรง เป็นค่านิยม ที่สังคมย้อมใจมนุษย์ให้เกิดเป็นสิ่งมีค่าน่ารักษา ประดับเรือนกาย เรือนชื่อ

                 ส่วนสิ่งที่สำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ สิ่งที่เรากินได้ สวมใส่ได้ ใช้ประจำคือ อาหาร อากาศ เสื้อผ้า บ้านเรือน ที่อยู่ ที่นอน หมอนเตียง น้ำ สบู่ ยารักษาโรค ฯ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เราจำเป็นต้องใช้ทุกวัน กระนั้น เราใช้สิ่งเหล่านี้อย่างรู้ค่า รู้คุณ อย่างพอเหมาะ พอควร หรือเกินไปหรือไม่

                สิ่งที่เราคุ้นชิน คุ้นเคย จนไม่เห็นว่ามันสนองต่อความต้องการของเราอย่างไร บางทีเราอาจจะใช้มันอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ หรือบางครั้งอาจซื้อมาสะสม จนล้นห้อง ล้นบ้าน มากเกินจำเป็น อย่างนี้ ถือว่า เราใช้เกินความจำเป็นหรือเห็นมันแค่ตัวสนองความอยากของตนเท่านั้น

               เมื่อนำเอาหลักดังกล่าวมาขยายออกไป ให้กว้างกว่ารัศมีพื้นที่บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ ไม้สอย จนถึงสังคม ประเทศชาติ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รอบๆ ตัวเรา ที่เราเกี่ยวข้องทางอ้อม หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ทางกายกับโลก ทางจิตกับธรรมชาติ หรือทั้งหมด ในองคาพยพเดียวกันนี้ เราอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกลกับสิ่งเหล่านี้มากน้อยอย่างไร

               จึงขอนำเอาประเด็นต่างๆ ที่พอเป็นไปได้มาจับเป็นแง่คิดว่า เรามีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ หรือเรามองเห็นประเด็นเหล่านี้ใกล้ตัว หรือไกลตัวอย่างไรบ้างหรือไม่ ในเรื่องต่อไปนี้--

                                                      


๑) "คนไทยกับเพื่อนบ้าน" 

               ในความหมายนี้ มีสองนัยคือ ๑) เพื่อนบ้านที่เราปลูกบ้านติดกัน อาศัยใกล้กัน ในหมู่บ้านเดียวกัน พื้นที่ สิ่งแวดล้อมเดียวกันในประเทศไทย แต่เราคงได้ยินใช่ไหมว่า ยิ่งใกล้กันยิ่งห่างกัน โดยเฉพาะคนในเมืองที่บ้านรั้วติดชิดกัน ไม่รู้จักกัน อยู่คอนโคเดียวกันห้องติดกัน ไม่รู้จักกัน 

                มันสะท้อนอะไรจากสังคมวงกว้างหรือสะท้อนอะไรจากส่วนตัวที่มนุษย์กำลังแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล ตัวตนออกมา อย่างไม่แคร์หรือไม่ใส่ใจว่า ใครจะเป็นอย่างไร มิใช่ญาติ มิใช่เพื่อนกัน ฉันไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยว และอีกเหตุผลคือ คนไทยก็มีพื้นที่ตัวตนสูง ไม่อยากให้ใครยุ่มย่ามกับชีวิตตนด้วย จึงกลายเป็นที่คนใกล้กันแต่ไม่คุ้นกัน มีเพื่อนที่ตกอยู่สถานการร์แบบนี้ มาเล่าให้ฟัง

                 อีกนัยหนึ่งคือ ประเทศไทยเป็นประเทศในเอเชียประเทศหนึ่ง ที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนบ้านทั้งสี่ทิศ เรากำลังตื่นเต้นที่จะเป็นชาติสมาชิกเดียวกันในนามอาเซี่ยน ยูเนี่ยน ในแง่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ทางกายภาพ เราเป็นอยู่แล้วแต่เดิม แต่เราต้องการจะสร้างความเป็นเอกภาพด้านการค้าขาย 

                เพื่อการต่อรองกับทวีปอื่นๆ ที่เขารวมตัวกันมาก่อน ปัญหาคือ เราเคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต เคยรบ เคยสู้ เคยฆ่าฟันกันมาก่อน บาดแผล ร้อยร้าว ความทรงจำ ประวัติศาสตร์เหล่านี้ ยังไม่ได้จางหายไปซะทีเดียว

                ดังนั้น คำว่า ยิ่งใกล้ ก็เหมือนยิ่งไกล ก็น่าจะจริง เนื่องจากส่วนใหญ่ของคนไทย เรามองข้ามกลุ่มอาเซี่ยนไปไกลออกไปถึงอเมริกา ยุโรป หรือจีนโน่น ค่านิยม ชมชอบคนไทยคือ ฝรั่งดั้งโด่ง ที่มาหลงวัฒนธรรมไทยอย่างพื้นๆ แต่ลึกๆ คือ การมาเทคโอเวอร์ค่านิยมหรือจิตวิญญาณคนไทยโดยตรง เราจึงมองเห็นเพื่อนบ้านเราแค่คนคุ้นเคย แต่ไม่เคยคุยกันอย่างมิตรภาพที่แท้จริง

                                                                 

๒) "ธรรมชาติกับมนุษย์"

                ในแง่สิ่งแวดล้อม สัตว์ต้องอาศัยพืช น้ำ ดิน อากาศ เป็นองค์ประกอบในการดำรงชีพด้วย แต่ความนิยมของมนุษย์ยุคใหม่ กำลังสร้างโลกของใจขึ้นมา หมายความว่า กำลังสร้างโลกจำลองที่คลั่งไคล้ แดนเนรมิตรของจินตนาการแล้ว ก็เติมแสงสี เทคโนโลยีใส่เข้าไป จนเป็นโลกเสมือนจริง แล้วก็ติดอยู่ในโลกจำลองแห่งนี้

                ในทางกลับกัน โลกแท้จริงที่ดำเนินไปโดยไม่ได้อิงอาศัยมนุษย์ มันยังคงดำเนินไปตามวิถีทางของมัน เช่น ป่าเขา แม้น้ำ ทะเล อากาศ ธรรมชาติเดิมๆ เหล่านี้ เป็นที่ต้องการสำหรับผู้เข้าถึงธรรม ประหนึ่งมารดาของสรรพชีวิต ที่โอบอุ้มให้ดำรงอยู่อย่างสมดุล นี่แหละทำไมผู้คนบางส่วนที่ร่ำรวยมีฐานะ มีอำนาจ กลับมุ่งหน้าแสวงหาอ้อมกอดของธรรมชาติ ไปซื้อบ้าน รีสอร์ท ตามป่า ตามทะเล ตามเขา นัยว่า จะได้สัมผัสกับธรรมชาติแท้จริงอย่างบริสุทธิ์ จนกลายเป็นรุกรานป่าอย่างผิดกฎธรรมชาติไป

                 ความสับสนกับความเข้าใจเรื่องธรรมชาติที่โอบกอดมนุษย์ไว้นั้น มนุษย์กำลังสร้างแบบจำลองธรรมชาติเข้าหาตนเอง เช่น หาพืชป่า สัตว์ป่า ไม้ป่า สัตว์น้ำ ต้นไม้ เถาวัลย์ ดอกไม้ แปลกๆ ในดงในป่า ฯ มาเพาะปลูกตามบ้าน ตามซอกเรือนของตน แล้วก็ชื่นชม ดื่มด่ำกับมัน นัยว่าปลูกธรรมชาติบำบัดบำรุงตน นัยนี้เข้าลักษณะยิ่งใกล้ ก็ยิ่งไกลหรือไม่ เพราะเข้าใจธรรมแบบองค์รวมผิดๆ

                                                                       

๓) "มนุษย์คือสัตว์สังคม"

                 ในแง่สังคมมนุษย์ อริสโตเติ้ลบอกว่า เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อปกป้องตัวเองให้อยู่รอด เมื่อเรามาอยู่ร่วมกันมากเข้า มันกลายเป็นปัญหาคือ การเบียดเบียนกัน การข่มเหง รังแก เอารัด เอาเปรียบกัน จนที่สุดก็กลายเป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน บ้านใกล้กัน แต่ห่างกัน ไม่คบค้าสมาพันธ์กันอีก อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นสัตว์สังคมหรือสงครามดี

                  เมื่ออยู่กันจนแออัด เช่น เมืองกรุง เมืองใหญ่ การไปมาหาสู่กันก็ลำบาก อันตราย รถติด เส้นทางระยะใกล้ๆ กลับต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง ความใกล้ชิด ความสนิทสนมในบางครั้ง ก็ยังนำมาซึ่งความโหดเหี้ยม โหดร้าย ทำร้าย ฆ่ากันอีก การที่เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมเดียวกัน ใกล้ชิดกัน กลับมีผลร้ายตามมามากมาย เหมือนหลักการที่ว่า ยิ่งอยู่เยอะยิ่งอันตราย มิใช่ปลอดภัยดังว่ามา

                   สิ่งที่เราควรจะนำมาประสานกันเมื่ออยู่ร่วมกันคือ ความเป็นมิตร ความรัก ความสามัคคี เมตตา กรุณา ต่อกัน ช่วยเหลือเจือจุนกัน การรณรงค์แบบนี้ เหมือนเป็นผู้ที่อยู่ในโลกแห่งอุดมคติหรือจินตนาการอย่างเพ้อเจ้อไป เราจึงมองเห็นประโยชน์ตนดีกว่าส่วนรวม เมื่อกระแสสังคมพัดพามนุษย์ให้ดำเนินไปเช่นนี้ อย่ามาด่าสังคมหรือผู้คนในสังคมว่า เลวร้าย หรือ ต่ำลง หรือ จิตหยาบลง เพราะนี่คือ สังคม ยิ่งใกล้กัน ยิ่งห่างเกินเมินจิตใจ ความรู้สึกกันไปทุกที

                                                      

๔) "สื่อโชเชียล มิเดีย"

                  ภาพแห่งปรากฏการณ์ในปัจจุบันของสังคมคนเมือง โดยเฉพาะในที่สาธารณะ บนรถเมล์ รถไฟฟ้า การเดินทาง ขับรถ ฯ แทบทุกที่จะเห็นผู้คนก้มหน้า ก้มตา ใช้มือจิ้ม พิมพ์ข้อความเล่นไลน์ ส่งภาพ ส่งภาษากันจนพร่ำเพื่อ โดยไม่สนว่า สังคม สิ่งแวดล้อม จะเป็นอย่างไร ไม่สนใจว่า จะมีภัย มีอันตรายต่อตนเองหรือไม่

                  ความคลั่งไคล้ ใหลหลงสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้ผู้คนแปลกแยก แตกตัวเป็นอัตลักษณ์ขึ้นมา ในโลกแคบๆ คือ สื่อสมาร์ทโฟน กลายเป็นเครื่องสื่อโลก สื่อสังคมตามสาย ทุกกิจกรรมกำลังถูกบังคับให้ลงในรูปแบบออนไลน์ สายด่วน วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์กำลังถูกกรอบสื่อครอบงำ ไม่ว่าจะพูดคุย สื่อสาร ทำงาน จีบกัน ติดต่อกัน บางทีแต่งเพราะไลน์ หน่ายเพราะสื่อ หรือเป็นชู้เพราะไลน์ ตายเพราะสื่อประเภทนี้ก็มีมากมาย

                  พฤิตกรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้คนกำลังเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ห่างกันและไม่ตระหนักในภาษาอารมณ์ของคนอื่นอย่างลึกซึ้ง แม้แต่เพื่อน ครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง แฟน เพื่อน เราจะตื่นเต้นกับภาพหรือข้อความจากสื่อเหล่านี้ แค่ประเดี่๋ยวประด๋าวเท่านั้น จึงทำให้เราเหมือนยิ่งใกล้ ยิ่งไกล ที่จะเข้าถึงจิตใจ ความรู้สึกแท้ๆ ของคนอื่น เรื่องนี้มีปัญหาจนถึงน้อยใจ ทำร้ายตัวเองก็มาก เช่น คู่รัก พ่อแม่ ลูก

                   แม้แต่อยู่บ้านเดียวกัน ไม่คุยกันแบบสื่อตาอารมณ์กัน แต่จะใช้สื่อไลน์คุยกัน ทำให้เราเข้าถึงความสัมพันธ์เชิงมนุษย์กับมนุษย์ถูกตัดขาดกัน และพลาดที่จะรู้ เห็นบริบท พฤติกรรมจริงๆ ของคู่สนทนาด้วย อย่างนี้เรียกว่า ยิ่งใกล้ ยิ่งไกลหรือไม่

                                                     

๕) "ครอบครัว ลูก"

                  จากกรณีข้อ ๔ ดังกล่าว นำมาซึ่งความห่างเหินกัน ในสายใยครอบครัว แต่มีเหตุผลอยู่บ้างที่มองว่า สื่อมีเดี่ยเหล่านี้ ยังคงรักษาความสัมพันธ์ไว้อย่างเหนียวแน่นอยู่ พูดคุยทักทายกับญาติพี่น้องอยู่ประจำ แต่พ่อแม่ ลูกจะรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกแท้ๆ ของลูกตนได้มากน้อยเท่าใด ภาษาอารมณ์ คำพูดอาจกลายเป็นกลลวง มายา มโน ใส่กันก็ได้ 

                  ภาษา อารมณ์ รูปภาพ กิริยาท่าทาง ที่สื่อ ที่ส่งผ่านไลน์หรือไอจี เอฟบี เหล่านี้ มิใช่บอกคุณภาพหรือคุณลักษณะที่สัมผัสได้ด้วยความรู้ทางจิตใจอย่างแท้จริง ไม่เท่าได้เห็นหน้า อารมณ์ น้ำหนัก ฮักกอด ของพ่อแม่ พี่น้องที่อบอุ่นด้วยไฟของกาย ซึ่งกันและกันอย่างแน่นอน การที่ผู้คนในสังคมอ้างว่า เพราะงาน เพราะเดินทางไกล เพราะไม่มีเวลา เพราะหน้าที่ ฯ เราจะใช้มันมิให้เกินความจำเป็นอย่างไร

                  เป็นเรื่องเหตุผลที่อ้างจากพันธะของสังคมบังคับ นี่คือ อิทธิพลของสื่อยุคใหม่ ที่ขับเคลื่อนหรือขับไล่ให้มนุษย์เป็นไปตามอำนาจทุนนิยมของพ่อค้าหน้าเลือดครับ อย่างไรก็ตาม ยากที่ใครจะปฏิเสธสื่อเหล่านี้ได้ ลองสังเกตตนเองดูก็ได้ว่า หนีให้ไกลสื่อ ไม่มีสื่อใดๆ ติดต่อ ตามตัว อยู่ในทุ่งชนบท ใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยว ตัดขาดจากโลกสังคม ท่านย่อมจะเห็นความอ่อนแอหรือความเข้มแข็งของจิตใจตนเองได้ดี

                                                       

๖) "คู่รัก คู่ร้าง"

                 วัยรุ่น หนุ่มสาวสมัยใหม่ ไวต่อความรัก ความรู้สึกง่ายๆ ต่อเพศตรงข้าม จึงไม่แปลกที่เราเห็นภาพการตบตีกัน การแย่งแฟนกัน การจีบกัน การหย่าร้างห่างกัน บ่อยๆ จนนำไปสู่การทำร้ายกัน การข่มเหงกัน และฆ่ากัน โดยเฉพาะดารา นักร้อง หรือคนทั่วๆ ไป ตามยูทุบ ไอจี เอฟบี

                    สื่อต่างๆ เป็นช่องทางที่ทำให้เราตื่นตัว ตื่นเต้น รู้สึกแปลกใหม่ สนใจ เรื่องราว ต่างๆ ในสังคม ในขณะเดียวกัน ตัวเราก็ชอบเสนอ แสดงความคิด ความเชื่อส่วนตัว หรือความเป็นปัจเจกบุคคล โดดเด่นขึ้นมา จนมีผู้คนอื่น สนใจ หรือติดตามความเคลื่อนไหวของเราอย่างต่อเนื่อง นี่คือ ช่องทางที่จะพาตนเองไปพัวพันกันและกัน แต่เฉพาะกลุ่มเดียวกัน

                 อีกอย่างก็อาจเป็นหนทางให้เราเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ กับคนทั่วไปในสังคม ซึ่งอาจนำพาไปสู่การผูกพัน มั่นหมายง่ายขึ้น ไม่รอบคอบพอ ไม่ลึกซึ้งพอ จนเป็นสาเหตุให้เกิดการหย่าร้าง แยกทางกันง่ายขึ้น ดังนั้น คำว่า ยิ่งใกล้กัน สนิทกัน รักกัน อาจไม่แน่จริงว่า รักแท้ รักจริงแค่ไหน เพราะโลกในโชเชี่ยลมีเดี่ยหาคู่ง่ายกว่า จึงไม่แคร์ จิตใจกันและกัน

                                        

๗) "ไทยพุทธ ห่างธรรม"

                    คนไทยส่วนใหญ่ เป็นพุทธนิยม ซึ่งแต่ก่อนไม่ได้ใช่นับถือพุทธ แต่เชื่อและนับถือ ภูตผี เทพเจ้า จึงนับถือผีอยู่ก่อน เมื่อพราหมณ์เผยแผ่เข้ามา เน้นเรื่องเทพเจ้าต่างๆ ก็สอดคล้องกับคนพื้นเมืองเดิมอย่างแยกไม่ออก ต่อมาเมื่อพุทธเผยแผ่เข้ามา ที่เน้นหลักมนุษยกรรมหรือกิริยกรรม โดยมีพื้นฐานบนเจตนา เป็นหลัก และขับเคลื่อนด้วยปัญญา จึงทำให้ชาวพุทธไทยเกิดความเชื่อเชิงผสานผสมกันมา

                   อย่างไรก็ตาม หากจะสอบถามเรื่องหลักการและวิธีการปฏิบัติไปสู่เป้าหมายของศาสนาที่แท้จริง ชาวพุทธไทยกลับไม่ค่อยสนใจหรือไม่เข้าใจ เนื่องจากว่า ๑) ภาษาพุทธยาก เข้าใจยาก ๒) แนวคิดของพุทธเน้นที่คนมีประสบการณ์โลก  ๓) มีความเชื่อ ความคิดที่หลากหลายไร้เอกภาพ ๔) องค์กรไม่พัฒนาตามโลกสมัยนิยม ๕) เน้นพิธีกรรม จนเกินไป ๖) ผู้คนมองว่า คำสอนมีแนวทางสวนทางกับโลก ๗) เชื่อเรื่องบุญ บาป สวรรค์ นรก กรรม ฯ จนไม่สามารถก้าวพ้นด่านเหล่านี้ได้ ๘) ประยุกต์ใช้ไม่เป็น

                  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวพุทธหมดทางที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป จึงเหมือนทับพีไม่รู้แกง หรือใกล้เกลือกินด่าง ในขณะที่ชาวตะวันตกที่อยู่ไกลโพ้น ต่างศึกษา มุ่งมั่น ค้นหาความจริงแก่นแท้ของพุทธอย่างจริงจัง ชาวต่างชาติจึงเหมือน ยิ่งไกล ยิ่งใกล้ ส่วนคนไทย ยิ่งใกล้ ยิ่งไกล รสพระธรรมคำสอน ทั้งๆ ที่กอดเกาะอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ถึงแก่นธรรม

                                            

๘) "โลกกับการเข้าใจ"

                     โลกคือ ที่อยู่ของสัตว์โลก เป็นที่เกิด เป็นที่ทำมาหากิน จนเติบโต และตายไปในที่สุด ในร่างกายของมนุษย์คือ โลกย่อส่วน ที่มีกลไกการทำงานเหมือนกับแม่แบบโลก และที่สำคัญคือ ในโลกมีองค์ความรู้มากมาย เป็นแหล่งศึกษา เหมือนกับร่างกายที่เป็นแหล่งเรียนรู้มากมายเช่นกัน ตลอดเวลาที่เราอาศัยโลกอยู่ เราคุ้นเคย คลุกคลี อยู่กับโลกจนเพลิดเพลิน เลยลืมไปเลยว่า โลกได้ให้อะไรเราบ้าง นี่คือ สิ่งที่เราอยู่ใกล้ อาศัยดิน น้ำ ลม แสงแดด อากาศ ธาตุต่างๆ มากมาย เราได้อะไรบ้าง

                     ในร่างกายของเราเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยแหล่งความรู้วิทยาการมากมาย ในฐานะมรดกของโลก แต่เรากลับทึกทักปักหมุดว่าเป็นตัวตนแท้ของเรา เราได้อะไรจากการมีกาย มีร่าง ที่โลกเสกสรรปั้นแต่งมา ร่างกายถือว่า เป็นส่วนที่อยู่กับเรายาวนานที่สุด ทั้งนี้ก็เนื่องจากโลกนั่นเอง อุ้มชูดูแลรักษา ดังนั้น เราจึงอยู่ใกล้ชิดกับโลก (ธรรมชาติ) และใกล้ชิดกับร่างกายของเราเสมอ 

                     ในแต่ละวัน เมื่อเราตื่นมาแสดงว่า ชีวิตยังอยู่ โลกยังอุ้มเราให้อยู่รอด เราควรแสวงหาโอกาสจากการมีร่างกายนี้ได้อย่างไร เพื่อให้เรารับรู้อยู่กับโลกและกายได้อย่างรู้ซึ้งถึงคุณค่าของกาย ยิ่งเราหลงโลก หลงกาย เพลิดเพลิน เดินชมโลก จนลืมตัว นั่นเหมือนยิ่งห่างไกลโลก ห่างไกลกายตัวเองออกไป เราจึงมีลักษณะเหมือนยิ่งอยู่ใกล้กาย ใกล้โลก ก็ยิ่งห่างกาย ห่างโลก ไปเท่านั้น

                                                 

๙) "อาหารกับคุณค่า"    

                      ร่างกายของสัตว์ทุกชนิดต้องการอาหาร เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้อยู่รอด การดำรงชีวิตให้อยู่รอด ต้องคำนึงถึงสารอาหาร ที่ถือว่าเป็นแก่นโภชนาหาร ซึ่งได้จาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ แต่ก่อนเราอาศัยในดง ในป่า กินพืช กินเนื้อ กินผลไม้ เผือก มัน ก็อยู่ได้ เมื่อโลกมีพลเมืองเพิ่มขึ้น การผลิตอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่ง 

                      ในสังคมยุคใหม่อาหารมิได้หมายเอาเฉพาะเหมือนแต่ก่อน อาหารมาในรูปแบบต่างๆ เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเม็ด อาหารกระป๋อง อาหารสด อาหารแห้ง ฯ การผลิตอาหารออกมาป้อนประชาคมโลก มีขั้นตอนแบบอุตสาหกรรม เพราะสามารถผลิตได้จำนวนมาก เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตคนเมือง แต่อาหารเหล่านี้ ท่านเชื่อไหมว่า มีคุณค่าต่อร่างกายอย่างบริสุทธิ์จริง 

                     หลายปีก่อนเราอาจได้ยินอาหารที่เรียกว่า "อาหารออร์เเกนิค" (Organic food) ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่ใช้วัตถุเคมีภัณฑ์ใดมาหล่อเลี้ยงหรือฉีดป้องกันแมลง จึงได้ผลิตผลที่จะนำไปผลิตเป็นอาหารที่ปลอดสารพิษ และหลายปีที่ผ่านมาทฤษฎีในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั่น ก็คือ ตัวอย่างที่เพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์กินเองอย่างไร้สารพิษเช่นกัน

                     ในขณะเมืองกรุง เมืองใหญ่ผู้คนพลุกพล่าน หลั่งไหลมาจากทั่วทิศ สิ่งที่เขาต้องกินคือ อาหาร แล้วใครละปรุงให้ คำตอบคือ เจ้าของร้านอาหาร ท่านอาจไม่รู้หรอกว่า วัตถุดิบที่นำมาเป็นอาหารเหล่านั้น ได้มาอย่างไรบ้าง พอทำเป็นอาหารใส่จานเราก็กินอย่างอร่อย ไร้ข้อสงสัยใดๆ เป็นเรื่องที่ควรตระหนักและระวังว่า อาหารคือ สิ่งหล่อเลี้ยงให้กายแข็งแรง ทรงอยู่ได้ แต่มันก็อาจมีสารพิษหลุดเข้าไปในกาย จนสะสม กลายเป็นโรคต่างๆ ตามมาได้ นี่คือ เรายิ่งใกล้ (อาหาร) แต่ก็ยิ่งไกลความรอบคอบในร่างกายของตน  ฉะนั้น "เราจึงเป็นในสิ่งที่เรากิน" (We are what we eat)

                                                                 

๑๐) "กายกับจิต"

                          มีคำพูดที่ว่า "สุขภาพจิตดี อยู่ที่สุขภาพกายดี" (A sound mind in a sound body) กายกับจิตเป็นสิ่งอิงอาศัยกัน ในการดำรงชีวิตให้อยู่ได้ การสร้างความสมดุลคือ บาทฐานสำคัญในการมีชีวิตที่ยืนยาวหรือมีสุขภาพดี เรื่องนี้ นักปฏิบัติพวกฤๅษี ชีไพร พวกโยคี ในสมัยก่อน ในอินเดีย ย่อมตระหนักดี ถึงการสร้างความสมดุล ให้กายและจิตหลอมเข้าด้วยกันได้ ร่างกายเป็นฐานของใจ บางทีใจก็เป็นฐานของกายสลับกันไป 

                         มนุษย์ถูกสร้างมาด้วยระบบที่ซับซ้อน และมีสิ่งที่ซ่อนเร้นความจริง ความรู้เอาไว้มากมาย อย่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ห้า (สสาร อารมณ์ สมอง ความคิด และจิตวิญญาณ) ย่อลงได้สองคือ รูป คือ ร่างกาย และนามคือ จิต ร่างกายนั้น ดำเนินไปตามกฎของสามัญสากล ตามเงื่อนไขของโลก ตามดีเอ็นเอ และสัญชาตญาณของชีวะ โดยมีรูปแบบโครงสร้างสี่ขั้นคือ เกิด แก่ เจ็บป่วย และตาย (จตุรทุกข์) 

                        ในสังคมยุคใหม่เรากำลังตามกายหรือตามใจหรือทั้งสอง ที่น่าคิดว่า เรากำลังถูกสังคมยุคใหม่นำพาไปในทางที่ห่างกันระหว่างกายและจิต เครื่องเคียงหรือเครื่องล่อลวงทางกายมีพลังมาก มีอิทธิพลมาก ในการหลอกกาย ลวงกายให้ใหลหลงไปตามกระแสนิยม เช่น มีอาหารดีๆ มีรถดี มีบ้าน ตึก ที่นั่ง ที่นอน ที่อยู่ ที่เสพสุข เสื้อผ้า รองเท้า ข้าวของต่างๆ ฯลฯ ที่กายต้องยอมจำนน เพราะผู้ผลิตย่อมรู้และเข้าใจผู้เสพดี

                        ในอีกส่วนคือ จิต เป็นผู้ถูกกระตุ้นจากสิ่งภายนอก เป็นผู้ตอบสนองกาย ยินดี ยินร้ายไปกับกายด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ กายก็พาใจเสพ เมื่อจิตเสียหลัก เสียศูนย์การควบคุมตนเองได้ จิตจึงเหมือนถูกหลอกไปด้วย สิ่งที่เราขาดหายไปคือ ความคิดที่จะกระชากจิตและกายให้หวนคืนหรือตระหนก ตกใจ ตื่นตัวที่จะไม่ถูกชักจูงไปทั้งสอง นั่นคือ "ปัญญา" หมายถึง ความรู้รอบ การยั้งคิด การหาเหตุ หาเป้าหมาย หาคุณค่าที่แท้จริงของการครองกายและจิต

                        ดังนั้น ปัญญากับจิตอาจมิใช่ตัวเดียวกัน ในกรณีข้างบน กายกับจิตไปด้วยกันจึงถูกชักจูงได้ ส่วนปัญญาคือ ผู้ฉุดรั้ง ชั่งใจด้วยน้ำหนักแห่งการได้ การเสีย ถ้าจิตถูกปัญญานำและควบคุมจิตได้ จิตก็หลอมตนเองไปกับปัญญาหาเหตุ หาผลได้ อย่างนี้เรียกว่า อยู่ใกล้จิต กิเลส ราคะก็ยิ่งจะถูกกำจัดหรือถูกผลักดันให้ไกลได้ แต่ถ้าตรงกันข้าม ถือว่า ยิ่งใกล้ (กิเลส) ก็ยิ่งไกล (ใจ) ตนเอง


                        นอกจากนี้ ยังมีคำที่น่าจะกล่าวถึงได้อีกชุดคือ "ยิ่งไกล ยิ่งใกล้" อันนี้ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเทียบเคียงดังที่กล่าวไว้นี้ ว่าน่าจะมีหรือน่าจะเป็นอะไรบ้างครับ

------------------(๘/๘/๕๗)-------------------

หมายเลขบันทึก: 574112เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทความที่ชอบมากครับ ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลดีดี ครับ อิอิ... 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท