บทวิเคราะห์ เอไอเอ อาวุโส เทคแคร์ (AIA Senior Take Care)


             ประกันชีวิตในบ้านเราปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาค่อนข้างมาก บริษัทประกันชีวิตแต่ละแห่งพยายามสร้างนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ใหม่ๆ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง (Product Differentiation) จากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมๆ ในตลาด รวมทั้งเพื่อให้แตกต่างจากคู่แข่งด้วย ดังนั้นเราจึงเห็นบริษัทต่างๆ พยายามเป็นเจ้าแรกในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้ามาเปิดตัวในตลาด ทั้งนี้เพื่อสร้างความดึงดูดให้แก่ลูกค้า และเพื่อความได้เปรียบในการเป็นผู้นำตลาด (Market Leader)
วิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่ๆโดยทั่วไปของบริษัทประกันชีวิตมีตั้งแต่ การนำเอาผลิตภัณฑ์เดิมมาปรับเปลี่ยน ด้วยการเพิ่มเติมผลประโยชน์บางอย่างเข้าไป ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจมากกว่าเดิม หรืออาจนำเอาลักษณะของผลิตภัณฑ์สองชนิดหรือมากกว่ามารวมไว้ในผลิตภัณฑ์เดียว นอกจากนี้ยังอาจใช้ผลิตภัณฑ์เดิมไปปรับเบี้ยให้แพงขึ้นหรือถูกลงเพื่อนำไปขายในช่องทางใหม่ๆ หรือเพื่อนำไปขายให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบดังกล่าวถือว่าเป็นการพัฒนาจากเดิมได้ยังไม่มาก เพราะยังไม่สามารถฉีกไปจากผลิตภัณฑ์เดิมๆได้มากเท่าไรนัก เป็นการสร้างนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์แบบเล็กน้อยหรือต่อยอด (Incremental Product Innovation) ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มักถูกเลียนแบบได้ง่าย คู่แข่งสามารถทำผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันหรือคล้ายๆออกกันมาแข่งได้ภายในระยะเวลาไม่นาน สิ่งหนึ่งที่บริษัททั้งหลายรวมทั้งบริษัทประกันชีวิตเองต้องการพัฒนาให้ได้มากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิมมากๆ โดยที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างสิ้นเชิง (Totally Different) เลียนแบบได้ยาก (Hard to Copy) และต้องมีความสามารถในการทำตลาดได้ด้วย ซึ่งต้องเป็นการสร้างนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์แบบก้าวกระโดด (Radical Product Innovation) เพราะจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และสามารถสร้างความสั่นสะเทือนในตลาดได้ อีกทั้งกว่าคู่แข็งจะสามารถพัฒนาหรือเลียนแบบผลิตภัณฑ์มาแข่งก็ต้องใช้เวลานาน
อย่างไรก็ตามในวงการประกันชีวิตบ้านเรา ไม่ค่อยมีนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์แบบก้าวกระโดดออกมาให้เห็นมากนัก เพราะค่อนข้างยากและจำกัดด้วยข้อกำหนดหลายๆอย่าง ส่วนมากมักเป็นนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์แบบเล็กน้อยหรือต่อยอดมากกว่า อย่างล่าสุดที่ผู้นำตลาดอย่างเอไอเอได้นำมาขายและกำลังโฆษณาอยู่ในขณะนี้ คือ อาวุโส เทคแคร์ ซึ่งก็เป็นการต่อยอดมาจาก อาวุโส โอเค อีกทีนึงนั่นเอง

              ทั้งนี้ทั้งอาวุโส โอเคและอาวุโส เทคแคร์ นั้นเป็นชื่อทางการตลาด โดยชื่อแบบประกันภัยจริงๆของอาวุโส โอเคนั้นคือ แบบประกันเอไอเอ สูงวัยตลอดชีพพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ (ไม่มีเงินปันผล) ส่วนอาวุโส เทคแคร์นั้นมีชื่อแบบประกันภัยจริงๆว่า แบบประกันเอไอเอ สูงวัยตลอดชีพ เพิ่มทุนพิเศษ (ไม่มีเงินปันผล)

               เอไอเอเริ่มนำเสนอ อาวุโส เทคแคร์ ตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา (น่าจะราวๆประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา) โดยช่วงประมาณเดือนมีนาคมก็ได้เห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่มีคุณป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจเป็นพรีเซ็นเตอร์
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดูเหมือนจะคล้ายกับอาวุโส โอเคแทบทุกอย่าง คือ รับประกันโดยผู้เอาประกันไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ อีกอย่างคือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านตลาดทางตรง (Direct Marketing) โดยการซื้อขายประกันทางโทรศัพท์ ผู้สนใจต้องโทรเข้าไปซื้อเท่านั้น

               แต่สิ่งที่ทำให้อาวุโส เทคแคร์ สร้างความสะดุดใจให้คนที่ได้ดูโฆษณาหันมาให้ความสนใจ นั่นก็คือผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน ซึ่งแตกต่างไปจากอาวุโส โอเคที่ไม่มีผลประโยชน์ในเรื่องนี้ให้

               อาวุโส เทคแคร์ถูกสร้างให้มีความแตกต่างจาก อาวุโส โอเค และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุแบบอื่นๆ ที่ผู้เอาประกันไม่ต้องตรวจสุขภาพและตอบคำถามสุขภาพ ด้วยการให้ค่าชดเชยรายวันมารวมไว้ด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุแบบอื่นๆไม่มี เพราะโดยปกติผู้สูงอายุมักจะมีสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงตามวัย และมักมีโรคประจำตัว อีกทั้งยังเกิดเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยกว่าคนที่หนุ่มกว่า ยิ่งประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุไม่มีการถามคำถามสุขภาพและตรวจสุขภาพ ยิ่งทำให้บริษัทประกันไม่มีโอกาสในการพิจารณาภาวะสุขภาพของผู้เอาประกัน ยิ่งทำให้ไม่สามารถคัดกรองผู้เอาประกันได้ ก็จะมีโอกาสได้กลุ่มลูกค้าที่สุขภาพไม่ดีมากยิ่งขึ้น และแน่นอนโอกาสที่ลูกค้าที่สุขภาพไม่ดีแบบนี้จะเจ็บป่วยจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นแบบประกันสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีค่ารักษาพยาบาลให้ หรือไม่อนุญาตให้ซื้อประกันสุขภาพพ่วงได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุทั้งหลายรวมถึงลูกหลานผู้เอาประกันเองก็อยากได้ประกันที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพและค่าชดเชยรายวันเมื่อเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล
               นี่จึงเป็นโอกาสให้ผู้นำตลาดประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุอย่างเอไอเอ ได้นำเอา อาวุโส เทคแคร์ ที่มีการชดเชยรายได้หากผู้เอาประกันเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือค่าชดเชยรายวัน โดยให้ความสูงสุดถึงวันละ 1,000 บาท ทำเอาลูกค้าตาวาวเลยทีเดียว หลายคนอาจเอะใจว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่แบบประกันสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและตอบคำถามสุขภาพจะให้ค่าชดเชยรายวันเมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วยด้วย หลายคนสงสัยว่ามีเงื่อไขอะไรที่แอบแฝงอยู่หรือเปล่า เพราะเกรงว่าหากทำกระกันไปแล้วจะเคลมไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขซ่อนเร้นอยู่ อีกทั้งบริษัทประกันเองก็มักมีเครื่องหมายดอกจัน “ * ” ไว้เป็นตัวเล็กๆที่ลุกค้าอาจไม่ได้สังเกตหรือเงื่อนไขที่อ่านแล้วเข้าใจได้ยาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเอาแบบประกัน อาวุโส เทคแคร์ มาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ที่สนใจไว้ประกอบการตัดสินใจ ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีแต่ประการใด

สำหรับเงื่อนไขการรับประกันของอาวุโส เทคแคร์ ก็อย่างที่เห็นในโฆษณาคือ

1.รับประกันสำหรับคนที่มีอายุ ตั้งแต่ 50-70 ปี

2.ไม่มีการถามคำถามสุขภาพและตรวจสุขภาพ

สำหรับทุนประกันที่ลูกค้าสามารถซื้อได้มี 3 แบบคือ 100,000 บาท 150,000 บาทและ200,000 บาท

โดยลูกค้าต้องชำระเบี้ยไปจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจนถึงอายุ 90 ปีแล้วแต่เงื่อนไขใดจะเกิดขึ้นก่อน

ทั้งนี้ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองไปจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจนถึงอายุ 90 ปีแล้วแต่เงื่อนไขใดจะเกิดขึ้นก่อนเช่นกัน

แบบประกันอาวุโส เทคแคร์มีความคุ้มครองให้ 2 อย่าง คือ ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต และค่าชดเชยรายวัน

ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต

ขอให้ผู้อ่านขีดเส้นใต้ไว้ด้วยว่า ใน 2 ปีแรกของแบบประกันอาวุโส เทคแคร์ (และอาวุโส โอเค) จะมีเงื่อนการจ่ายแยกเป็น 2 กรณี คือ

1.กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 

บริษัทจะจ่ายเงินเป็นจำนวน 102% ของเบี้ยที่ชำระมาแล้ว บวกกับ 110%ของทุนประกัน

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 100,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 15,000 บาท ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในปีแรก บริษัทจะจ่าย 102% ของ 15,000 บาท (เบี้ยที่ชำระมาแล้ว) ซึ่งเท่ากับ 15,300 บาท บวกกับ 110% ของ 100,000 บาท (ทุนประกัน) ซึ่งเท่ากับ 110,000 บาท รวมทั้งสิ้น 15,300+110,000 = 125,300 บาท

2.กรณีเสียชีวิตที่ไม่ใช่จากอุบัติเหตุ เช่น เสียชีวิตด้วยวัยชราหรือเจ็บป่วย 

บริษัทจะจ่ายเงินเป็นจำนวน 102% ของเบี้ยที่ชำระมาแล้วเท่านั้น

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 100,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 15,000 บาทถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยวัยชราหรือเจ็บป่วยในปีแรกบริษัทจะจ่าย 102% ของ 15,000 บาท (เบี้ยที่ชำระมาแล้ว) ซึ่งเท่ากับ 15,300 เท่านั้น


ความคุ้มครองที่เป็นค่าชดเชยรายวันเมื่อเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล(หรือจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นการจ่ายชดเชยรายวันเมื่อผู้เอาประกันเข้ารักษาในฐานะที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลนั่นเอง)

ขอให้ผู้อ่านขีดเส้นใต้ไว้ด้วยเช่นกันว่า ใน 2 ปีแรกของแบบประกันอาวุโส เทคแคร์ (และอาวุโส โอเค) จะมีเงื่อนการจ่ายแยกเป็น 2 กรณีเช่นกันคือ คือ

1.กรณีเข้าพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ 

บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยรายวันวันละ 1,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 10%ของทุนประกัน

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 100,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 15,000 บาท ถ้าผู้เอาประกันได้รับอุบัติเหตุจนต้องเข้ารักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลเป็นเวลา 17 วัน ผู้เอาประกันจะได้รับค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 บาท อันที่จริงหากคิดจากจำนวนวันที่พักรักษาตัว 17 วัน ผู้เอาประกันจะต้องได้รับค่าชดเชยรายวันรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 17,000 บาท แต่เนื่องจากเงื่อนไขของการจ่ายชดเชยรายวันกำหนดไว้ว่ารวมแล้วไม่เกิน 10%ของทุนประกัน ดังนั้นบริษัทประกันจะจ่ายชดเชยรายวันให้ผู้เอาประกันรวมกันไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น (ไม่เกิน 10%ของทุนประกัน 100,000 บาท)

2.กรณีเข้าพักรักษาตัวที่ไม่ใช่จากอุบัติเหตุ เช่น เจ็บป่วย  บริษัทไม่จ่าย

               เน้นตัวโตๆและขีดเส้นใต้ให้ชัดเจนนะครับว่าเงื่อนไขดังกล่าวเฉพาะ 2 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นตั้งแต่ปีที่สามเป็นต้นไปไม่ว่าจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตด้วยวัยชราหรือเจ็บป่วยทุกกรณีก็จะจ่ายเหมือนกัน

               ถ้าผู้อ่านจำได้ว่าชื่อแบบประกันจริงๆ ของอาวุโส เทคแคร์ นั้นคือ แบบประกันเอไอเอ สูงวัยตลอดชีพ เพิ่มทุนพิเศษ (ไม่มีเงินปันผล) ขอให้ผู้อ่านขีดเส้นใต้คำว่า เพิ่มทุนพิเศษ ไว้เพื่อจะได้เข้าใจในสิ่งที่จะอธิบายต่อไปนี้ อย่างที่เรียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทุนประกันของอาวุโส เทคแคร์นั้นมี 3 แบบด้วยกันคือ 100,000 บาท 150,000 บาทและ200,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าผู้เอาประกันต้องการซื้อทุนที่เท่าไร ทั้งนี้ผู้เอาประกันจะได้รับทุนเพิ่มพิเศษจากทุนประกันเริ่มต้นที่ซื้อไว้ โดยหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในปีที่สามเป็นต้นไปจะได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้

ปีกรมธรรม์ จำนวนผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต
ปีที่ 3 110 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 4 120 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 5 130 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 6 140 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 7 เป็นต้นไป 150 % ของจำนวนเงินเอาประกัน

หากผู้เอาประกันมีชีวิตจนถึงอายุ 90 ปี บริษัทประกันจะจ่าย150 % ของจำนวนเงินเอาประกัน

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 100,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 15,000 บาท

  • ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดก็ตามในปีที่ 3 บริษัทประกันจะจ่าย 110,000 บาท (110 % ของจำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท)
  • ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดก็ตามในปีที่ 6 บริษัทประกันจะจ่าย 140,000 บาท (140 % ของจำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท)
  • ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดก็ตามในปีที่ 10 บริษัทประกันจะจ่าย 150,000 บาท (150 % ของจำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท) เป็นต้น

และหากผู้เอาประกันมีชีวิตจนถึงอายุ 90 ปี บริษัทประกันจะจ่าย 150,000 บาท ซึ่งทุนพิเศษที่เพิ่มขึ้นมีเฉพาะอาวุโส เทคแคร์ เท่านั้น แต่สำหรับอาวุโส โอเค จะไม่มีทุนเพิ่มพิเศษนี้ให้

             สำหรับผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันก็จะมีทุนเพิ่มพิเศษเช่นเดียวกันกับกรณีเสียชีวิต โดยหากผู้เอาประกันต้องเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลตั้งแต่ปีที่สามเป็นต้นไปจะได้รับความคุ้มครองตามผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันดังต่อไปนี้

ปีกรมธรรม์ จำนวนผลประโยชน์กรณีเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาล
ปีที่ 3 วันละ 1,000บาท แต่ไม่เกิน 10 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 4 วันละ 1,000บาท แต่ไม่เกิน 20 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 5 วันละ 1,000บาท แต่ไม่เกิน 30 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 6 วันละ 1,000บาท แต่ไม่เกิน 40 % ของจำนวนเงินเอาประกัน
ปีที่ 7 เป็นต้นไป วันละ 1,000บาท แต่ไม่เกิน 50 % ของจำนวนเงินเอาประกัน

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 200,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 30,000 บาท

  • ถ้าผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุใดก็ตามในปีที่ 3 บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันตามจำนวนวันที่เข้ารักษาแต่รวมแล้วไม่เกิน 20,000 บาท (10 % ของจำนวนเงินเอาประกัน 200,000 บาท)
  • ถ้าผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุใดก็ตามในปีที่ 6 บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันตามจำนวนวันที่เข้ารักษาแต่รวมแล้วไม่เกิน 80,000 บาท (40 % ของจำนวนเงินเอาประกัน 200,000 บาท)
  • ถ้าผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุใดก็ตามในปีที่ 10 บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันตามจำนวนวันที่เข้ารักษาแต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท (50 % ของจำนวนเงินเอาประกัน 200,000 บาท) เป็นต้น

ที่นี้มีเงื่อนไขบางอย่างที่ผู้สนใจควรทราบและควรขีดเส้นใต้ไว้ด้วย นั่นคือ

1.ผลรวมของผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไป คิดจากผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันที่จ่ายสะสมตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปรวมกัน

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 200,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 30,000 บาท หากคำนวณตามข้อกำหนดการจ่ายตามตารางค่าชดเชยรายวันข้างต้น วงเงินผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันที่ผู้เอาประกันได้รับความคุ้มครองสูงสุดตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นดังนี้

ปีกรมธรรม์ จำนวนผลประโยชน์กรณีเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาล
ปีที่ 3 วันละ 1,000บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
ปีที่ 4 วันละ 1,000บาท เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วต้องไม่เกิน 40,000 บาท
ปีที่ 5 วันละ 1,000บาท เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
ปีที่ 6 วันละ 1,000บาท เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วต้องไม่เกิน 80,000 บาท
ปีที่ 7 เป็นต้นไป วันละ 1,000บาท เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • ในปีที่ 3 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 15 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 15,000 บาท
  • ในปีที่ 4 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 12 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 12,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000 =27,000 บาท)
  • ในปีที่ 5 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 10 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 10,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000+10,000 = 37,000 บาท)
  • ในปีที่ 6 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 15 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 15,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000+10,000+15,000 = 52,000 บาท)
  • ในปีที่ 7 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 17 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 17,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000+10,000+15,000+17,000 = 69,000 บาท)
  • ในปีที่ 8 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 14 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 14,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000+10,000+15,000+17,000+14,000 = 83,000 บาท)
  • ในปีที่ 9 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 13 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 13,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000+10,000+15,000+17,000+14,000+13,000 = 96,000 บาท)
  • ในปีที่ 10 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 13 วันอันที่จริงถ้าบริษัทประกันต้องจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 หากไป 13 วันตามจำนวนวันที่เข้ารักษาตัวเป็นเงิน 13,000 เมื่อรวมกับที่จ่ายไปก่อนหน้านี้จะเป็น 109,000 บาทซึ่งจะเกินผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันสูงสุดที่กำหนดไว้ว่าตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไปต้องไม่เกิน 50% ของทุนประกัน นั่นคือต้องไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นจากเงื่อนไขดังกล่าวบริษัทจะจ่ายได้อีกเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น เป็นเงิน 4,000 บาท เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น  15,000+12,000+10,000+15,000+17,000+14,000+13,000+4,000 = 100,000 บาท

2.ตั้งแต่ปีที่สามเป็นต้นไปผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตที่บริษัทจะจ่ายให้ผู้เอาประกันจะต้องหักด้วยผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ด้วย

ตัวอย่าง ผู้เอาประกันซื้อประกันอาวุโส เทคแคร์ ด้วยทุนประกัน 200,000 บาท ชำระเบี้ยประกัน ปีละ 30,000 บาท

  • ในปีที่ 3 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 15 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 15,000 บาท
  • ในปีที่ 4 ผู้เอาประกันเข้าพักรักษาในฐานะผู้ป่วยในในโรงพยาบาลไป 12 วันบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันวันละ 1,000 ไปทั้งหมด 12,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าชดเชยรายวันที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วเป็น 15,000+12,000 =27,000 บาท)

ในปีที่ 5 ผู้เอาประกันเกิดเสียชีวิต ผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตในปีที่ 5 บริษัทจะจ่าย 130 % ของจำนวนเงินเอาประกัน นั่นคือ 130% ของทุน 200,000 = 260,000 บาท แต่ก่อนหน้านี้บริษัทเคยจ่ายค่าชดเชยรายวันไปให้ผู้เอาประกันแล้วเป็นเงิน 27,000 บาทดังนั้นเงินที่บริษัทจะจ่ายหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในปีที่ 5 จะเหลือเพียง 260,000-27,000 = 230,000 บาท

ที่อธิบายมาข้างต้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ความคุ้มครองซะส่วนใหญ่ ทีนี้ลองมาดูเรื่องการชำระเบี้ยประกันบ้าง

เนื่องจากเงื่อนไขการรับประกันกำหนดไว้ว่าผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยไปจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจนถึงอายุ 90 ปีแล้วแต่เงื่อนไขใดจะเกิดขึ้นก่อน หากผู้เอาประกันหยุดชำระเบี้ยก่อนเสียชีวิต ในช่วงเวลาที่เหลือหลังจากนั้นก็อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง

ลองมาดูตัวอย่างของการชำระเบี้ยประกันกันครับ

ตัวอย่างที่ 1

ผู้เอาประกันเพศชาย อายุตอนเริ่มทำประกัน 55 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องชำระปีละ 17,980 บาท ชำระเบี้ยจนถึงอายุ 90 ปี ต้องชำระเบี้ยเป็นระยะเวลา 35 ปี เบี้ยสะสมตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 35 เทียบกับผลประโยชน์จากความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตแสดงดังกราฟข้างล่าง

เมื่อนำเอาเบี้ยสะสมตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 35 เทียบกับผลประโยชน์จากความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะพบว่า ในกรณีที่ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงปีที่ 1 ถึงปีที่ 16 ผลผลประโยชน์จากความคุ้มครองจะสูงกว่าเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไป หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือลูกค้ายังพอได้กำไร แต่พอตั้งแต่ปีที่ 17 เป็นต้นไปผลผลประโยชน์จากความคุ้มครองจะน้อยกว่าเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไป ถ้าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในปีที่ 17 เป็นต้นไปเท่ากับลูกค้าเริ่มขาดทุน และยิ่งนานไปหลังจากนั้นเบี้ยที่จ่ายสะสมจะเริ่มสูงกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับไปเรื่อยๆ และถ้าผู้เอาประกันมีอายุครบ 90 จะพบว่าเบี้ยที่จ่ายไปสะสมสูงถึง 629,000 บาท แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับเท่ากับ 150 % ของทุนประกันซึ่งหากทุนประกัน 200,00 บาทก็จะได้รับผลประโยชน์เมื่ออยู่จนครบสัญญาเมื่ออายุ 90 ปี เพียงแค่ 300,000 บาทเท่านั้น เท่ากับมีส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายไปมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับถึง 329,000 บาท ลองดูผลการเปรียบเทียบผลต่างระหว่างเบี้ยประกันสะสมกับผลประโยชน์ที่จะได้รับกรณีเสียชีวิต ณ ปีกรมธรรม์ต่างๆ ตามกราฟด้านล่าง

กราฟที่เป็นบวกหมายถึงจำนวนเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไปน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ ส่วนกราฟที่เป็นลบหมายถึงจำนวนเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไปน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ

ตัวอย่างที่ 2

ผู้เอาประกันเพศหญิง อายุตอนเริ่มทำประกัน 55 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องชำระปีละ 16,020 บาท ชำระเบี้ยจนถึงอายุ 90 ปี ต้องชำระเบี้ยเป็นระยะเวลา 35 ปี เบี้ยสะสมตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 35 เทียบกับผลประโยชน์จากความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตแสดงดังกราฟข้างล่าง

เมื่อนำเอาเบี้ยสะสมตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 35 เทียบกับผลประโยชน์จากความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะพบว่า ในกรณีที่ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงปีที่ 1 ถึงปีที่ 18 ผลผลประโยชน์จากความคุ้มครองจะสูงกว่าเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไป หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือลูกค้ายังพอได้กำไร แต่พอตั้งแต่ปีที่ 19 เป็นต้นไปผลผลประโยชน์จากความคุ้มครองจะน้อยกว่าเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไป ถ้าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในปีที่ 19 เป็นต้นไปเท่ากับลูกค้าเริ่มขาดทุน และยิ่งนานไปหลังจากนั้นเบี้ยที่จ่ายสะสมจะเริ่มสูงกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับไปเรื่อยๆ และถ้าผู้เอาประกันมีอายุครบ 90 จะพบว่าเบี้ยที่จ่ายไปสะสมสูงถึง 567,000 บาท แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับเท่ากับ 150 % ของทุนประกันซึ่งหากทุนประกัน 200,00 บาทก็จะได้รับผลประโยชน์เมื่ออยู่จนครบสัญญาเมื่ออายุ 90 ปี เพียงแค่ 300,000 บาทเท่านั้น เท่ากับมีส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายไปมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับถึง 267,000 บาท ลองดูผลการเปรียบเทียบผลต่างระหว่างเบี้ยประกันสะสมกับผลประโยชน์ที่จะได้รับกรณีเสียชีวิต ณ ปีกรมธรรม์ต่างๆ ตามกราฟด้านล่าง

กราฟที่เป็นบวกหมายถึงจำนวนเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไปน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ ส่วนกราฟที่เป็นลบหมายถึงจำนวนเบี้ยประกันสะสมที่จ่ายไปน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ

              สำหรับแบบประกัน อาวุโส เทคแคร์ เบี้ยประกันของเพศหญิงจะต่ำกว่าเพศชายในอายุที่เท่ากัน ดังนั้น ณ ปี กรมธรรม์ เดียวกันเบี้ยประกันสะสมของเพศหญิงจะน้อยกว่าเพศชาย อย่างเช่นตัวอย่างข้างต้น เพศหญิง อายุ 55 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องชำระปีละ 16,020 บาทเท่านั้น ส่วนเพศชาย อายุ 55 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องชำระปีละ 17,980 บาท

              อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ควรทำประกันชีวิตแบบที่มีการกำหนดให้ตอบคำถามสุขภาพและตรวจสุขภาพ จะดีกว่า เพราะเบี้ยประกะนจะถูกกว่ามาก เนื่องจากบริษัทประกันสามารถคัดกรองลูกค้าได้ตามความเสี่ยง เบี้ยประกันจึงถูกกว่า เช่น เพศหญิง อายุ 55 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท หากซื้อแบบประกัน เอไอเอ ตลอดชีพ ซึ่งเป็นแบบประกันที่มีการกำหนดให้ตอบคำถามสุขภาพและตรวจสุขภาพ เบี้ยประกันที่ต้องชำระเพียงแค่ปีละ 8,230 บาทเท่านั้น ถ้าเป็นเพศชาย อายุ 55 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท หากซื้อแบบประกัน เอไอเอ ตลอดชีพ เบี้ยประกันที่ต้องชำระเพียงแค่ปีละ 9,360 บาทเท่านั้น และแบบประกันเอไอเอ ตลอดชีพ กำหนดการชำระเบี้ยเพียงแค่ 20 ปี แต่คุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปี

              จากรายละเอียดที่นำเสนอมาทั้งหมด คงจะพอเป็นข้อมูลให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้ อย่างไรก็ตามการทำประกันชีวิตนั้นเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นผู้ที่ใจทำประกันไม่ควรพิจารณาเฉพาะเรื่องเรื่องเบี้ยประกันเพียงอย่างเดียว ควรนำเอาปัจจัยต่างๆมาใช้ในการพิจารณาให้รอบด้านด้วย

หมายเลขบันทึก: 573652เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2014 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2014 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท