การศึกษารูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1


การศึกษารูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

บทนำ

1. ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 นั้น มีโรงเรียนทั้งหมด 128 โรงเรียนและเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 78 โรงเรียน การจัดการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษาประสบปัญหาทางด้านคุณภาพการศึกษา มีผลประเมินประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กไม่อาจส่งเสริมให้มีการนิเทศภายในโรงเรียนได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านบุคลากร มีอัตรากำลังครูต่อจำนวนนักเรียนไม่เท่าเทียมกันตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ได้ตระหนักถึงความจำเป็น การส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนมีประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารและจัดการศึกษาด้านการบริหารวิชาการ การบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารทั่วไป จึงได้กำหนดรูปแบบการบริหารโรงเรียนให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาโดยรวม จึงได้ออกระเบียบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่าด้วยกลุ่มโรงเรียน พ.ศ.2548 เพื่อให้การบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 เกิดสัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 โดยความเห็นชอบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 จึงออกระเบียบว่าด้วยกลุ่มโรงเรียนขึ้น การพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษา ทีมีประสิทธิภาพกลุ่มโรงเรียนเป็นปัจจัยในการบริหารที่สำคัญ กำลังคนซึ่งเป็นคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนและบุคลากรที่เป็นเครือข่ายของโรงเรียนภายในกลุ่มโรงเรียนซึ่งในบางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนบุคลากรที่เพียงพอและมีศักยภาพ ประกอบกับกลุ่มโรงเรียนยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนภายในกลุ่มโรงเรียนตามหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียน ซึ่งกลุ่มโรงเรียนสามารถนำปัจจัยดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการศึกษาของกลุ่มโรงเรียน

นอกจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 มีแนวทางดำเนินการที่จะส่งเสริม ให้กลุ่มโรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อให้คณะกรรมการบริหารกลุ่มโรงเรียนและครูในกลุ่มโรงเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการประสานความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันจะเป็นผลให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนที่ดีขึ้น ดังกล่าวได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการวิจัยเพื่อศึกษาลักษณะการจัดการนิเทศการศึกษาภายในกลุ่มโรงเรียน แต่ละกลุ่มเสียก่อนว่าได้มีการจัดการนิเทศการศึกษากันอยู่แล้วในลักษณะใด เพื่อจะได้พัฒนารูปแบบการจัดการนิเทศการศึกษาภายในกลุ่มโรงเรียนได้อย่างสอดคล้องกับสภาพของแต่ละกลุ่มโรงเรียน

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1 เพื่อศึกษาสภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

2.2 เพื่อนำเสนอรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

3. คำถามของการวิจัย3.1 ลักษณะสภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี

เขต 1 เป็นอย่างไร

3.2 รูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 มีองค์ประกอบอย่างไร

4. ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

4.1 แนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วม

4.2 แนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

4.3 แนวคิดกลุ่มโรงเรียน

4.4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

5. ขอบเขตของการวิจัย

5.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากร ประกอบด้วย ผู้บริหารการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ครู และข้าราชการบนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

5.2 เนื้อหา

เนื้อหาในการดำเนินการวิจัย เกี่ยวข้องกับ กลุ่มโรงเรียน การบริหารกลุ่มโรงเรียน และรูปแบบ

5.3 ระยะเวลา

ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย ปีงบประมาณ 2556

5.4 ตัวแปรที่ศึกษา ประกอบด้วย

5.4.1 สภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน

5.4.2 รูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน

6. นิยามศัพท์เฉพาะ

กลุ่มโรงเรียน หมายถึง กลุ่มโรงเรียน ตามระเบียบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่าด้วยกลุ่มโรงเรียน พ.ศ. 2548

คณะกรรมการกลุ่ม หมายถึง  ผู้บริหารโรงเรียนภายในกลุ่มโรงเรียนที่ได้รับแต่งตั้งตั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

ประธานกลุ่มโรงเรียน หมายถึง ผู้บริหารโรงเรียนที่ได้รับเลือกตั้งจากคณะกรรมการบริหารกลุ่มโรงเรียนให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่มโรงเรียน

กรรมการกลุ่มโรงเรียน หมายถึง ที่ได้รับเลือกตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีการศึกษาและเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว อาจได้รับเลือกหรือเลือกตั้งอีกได้

สภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน หมายถึง การปฏิบัติงานที่ผ่านมาของกลุ่มโรงเรียนที่คณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนและคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ตามระเบียบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่าด้วยกลุ่มโรงเรียน พ.ศ.2548

รูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน หมายถึง องค์ประกอบของกลุ่มโรงเรียน ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 กำหนดขึ้นในการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียน ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบ

มีความสัมพันธ์และสอดคล้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

7. ขั้นตอนการดำเนินการการวิจัยครั้งนี้เน้นการวิจัยเชิงสำรวจดังนี้

ระยะแรกเป็นการพัฒนารูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน ขั้นตอนวิธีดำเนินการ 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 ศึกษาสภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน การดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและความต้องการในการบริหารกลุ่มโรงเรียน โดยใช้ แบบสอบถาม ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด ประกอบด้วย ประธานกรรมการกลุ่มโรงเรียน รองประธานกลุ่มโรงเรียน และกรรมการและเลขานุการกลุ่มโรงเรียน จำนวน 39 คน วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ขั้นที่ 2 สังเคราะห์ข้อมูลสร้างเป็นร่างรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1

ขั้นที่ 3 ตรวจสอบความเป็นไปได้ของร่างรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1 โดยใช้การสนทนากลุ่ม ผู้สนทนากลุ่ม ประกอบด้วย ข้าราชการบนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 13 คน ผู้บริหารโรงเรียน 13 คน และครู จำนวน 13 คน รวม 39 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและตีความสรุป

8. สรุปผลการวิจัย

8.1 ผลการศึกษาสภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 พบว่า

8.1.1 สถานภาพผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ด้านดำรงตำแหน่งในกลุ่มโรงเรียนประกอบด้วย ประธานกลุ่มโรงเรียน รองประธานกลุ่มโรงเรียนและกรรมการและเลขานุการกลุ่มโรงเรียน มีจำนวนเท่ากัน (ร้อยละ 33.33) สำหรับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว เป็นทุกสมัย/ทุกครั้งมากที่สุด (ร้อยละ 74.36) และรองลงมา เป็นครั้งแรก/สมัยแรกของกลุ่มโรงเรียน (ร้อยละ 74.36)

8.1.2 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านการจัดโครงสร้างการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านการจัดโครงสร้างการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.78 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า กระบวนการสรรหา/เลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนเป็นไปตามระเบียบมีระดับการปฏิบัติสูงสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.56) รองลงมาคือความเหมาะสมของวาระการอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีการศึกษาของคณะกรรมการกลุ่ม (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.55) และมีบุคคล/คณะกรรมการบริหารฝ่ายบริหารงานทั่วไปต่ำสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.11)

8.1.3 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.70 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า กำหนดแนวทางการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันของโรงเรียนภายในกลุ่มแต่งตั้งคณะทำงานและมีคณะอนุกรรมการหรือบุคคลให้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในหน้าที่ของกลุ่มโรงเรียนตามความจำเป็น มีระดับการปฏิบัติสูงสุดเท่ากัน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.12) รองลงมา คือพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและโครงการของกลุ่มโรงเรียน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.87) และให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานกลุ่มและการพัฒนางานของโรงเรียนภายในกลุ่มต่ำสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.12)

8.1.4 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านวัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านวัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.29 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่าเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ความร่วมมือ ด้านการพัฒนางานกิจการนักเรียนของโรงเรียนภายในกลุ่มมีระดับปฏิบัติมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.58) รองลงมา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ความร่วมมือ ด้านการพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนภายในกลุ่ม (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.77) และเพื่อประสานงานการปฏิบัติงานระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากับโรงเรียนภายในกลุ่มต่ำสุด(ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.10)

8.1.5 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านการจัดตั้งสำนักงานกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านการจัดตั้งสำนักงานกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.50 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า ความเหมาะสมการกำหนดสถานที่ตั้งสำนักงานกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.23) รองลงมาความเหมาะสมในการจัดตั้งสำนักงานกลุ่มโรงเรียน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.23) และกำหนดให้มีเจ้าหน้าชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่สำนักงานกลุ่มโรงเรียนต่ำสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.02)

8.1.6 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านกระบวนการบริหารจัดการของกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านกระบวนการบริหารจัดการของกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.64 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกลุ่มอย่าง

น้อยภาคเรียนละสองครั้งมีระดับการปฏิบัติสูงสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.44) รองลงมาความเป็นอิสระและสร้างสรรค์การบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.16) และจัดทำแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มโรงเรียนกับจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีกลุ่มโรงเรียนต่ำสุดเท่ากัน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.10)

8.1.7 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.43 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า ครอบคลุมด้านคุณภาพของนักเรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.89) รองลงมา ครอบคลุมด้านแหล่งเรียนรู้และเครือข่าย (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.68) และครอบคลุมด้านการนิเทศการศึกษาต่ำสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.02)

8.1.8 ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อสภาพการบริหารจัดการกลุ่มโรงเรียนด้านการจัดกิจกรรมของกลุ่มโรงเรียน พบว่า ในภาพรวมด้านการจัดกิจกรรมของกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.22 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า กิจกรรมการสอดคล้องกับการบริหารงานด้านกิจการนักเรียน มีระดับปฏิบัติสูงสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.89) รองลงมามีกิจกรรมการปฏิบัติงานร่วมกันของผู้บริหารโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียน (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.84) และกิจกรรมการสอดคล้องกับการบริหารงานด้านการเงินและงบประมาณของโรงเรียนต่ำสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.23)

8.1.9 ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ด้านโครงสร้างการบริหารกลุ่มโรงเรียน ต้องการเห็นโครงสร้างบริหารและคณะกรรมการบริหารกลุ่มโรงเรียนที่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจนเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการบริหารควรมีตำแหน่งสายครูผู้สอน ด้านบทบาท อำนาจหน้าที่ กลุ่มโรงเรียน

ประธานกลุ่มโรงเรียนสามารถแต่งตั้งหรือออกคำสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปปฏิบัติกิจกรรมตามกลุ่มโรงเรียนกำหนดได้

8.2 รูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 พบว่า ผลการสนทนากลุ่มของข้าราชการทั้ง 3 กลุ่มประกอบด้วย ครู ผู้บริหารโรงเรียนและข้าราชการบนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่าลุ่มโรงเรียนเป็นองค์กรหนึ่งที่เหมือนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือโรงเรียน องค์ประกอบของรูปแบบ มีหลักการ วัตถุประสงค์ โครงสร้างคณะกรรมการกลุ่ม การได้มาของคณะกรรมการกลุ่ม บทบาทหน้าที่/อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่ม วาระการอยู่ในตำแหน่ง สำนักงานกลุ่ม การสนับสนุนงบประมาณ การจัดกิจกรรมกลุ่ม การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการบริหารงานกลุ่ม จัดให้มีสำนักงานกลุ่ม ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากรูปแบบการบริหารงานกลุ่ม และปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จของการนำรูปแบบการบริหารงานกลุ่ม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

8.2.1 หลักการของรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันคือ เน้นความร่วมมือ ประสานการทำงาน สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดมทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในกลุ่มซึ่งกันและกันที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ

8.2.2 วัตถุประสงค์ของรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันคือ ต้องเน้นการพัฒนางานวิชาการ ประสานความร่วมมือในด้านทรัพยากร พัฒนาบุคลากร เพื่อแบ่งเบาภารงานของเขตพื้นที่การศึกษา

8.2.3 การกำหนดโครงสร้างของกลุ่มโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันคือ มีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการและเลขานุการ สำหรับกรรมการมาจากผู้บริหารโรงเรียนทุกโรงเรียนโดยตำแหน่ง ผู้แทนครู ผู้ทรงคุณวุฒิหรือที่ปรึกษากลุ่มโรงเรียนละประมาณ 1-3 คน และจัดให้มีคณะกรรมการประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ และควรจัดให้มีครูวิชาการกลุ่มโรงเรียนเนื่องจากเน้นวิชาการและจะต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน มีการบริหารที่เน้นหลักประชาธิปไตย การได้มาของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ ผู้บริหารโรงเรียนเป็นกรรมการกลุ่มโดยตำแหน่ง สำหรับครูควรคัดสรรคนที่เก่งด้านวิชาการมาเป็นคณะกรรมการส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ควรเกินโรงเรียนละ 1 คน สำหรับที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการกลุ่มพิจารณาสรรหา

8.2.4 บทบาทหน้าที่/อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ อำนาจหน้าที่เห็นด้วยกับระเบียบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดิมที่ประกาศใช้อยู่มีความเหมาะสมดีและเน้นด้านวิชาการ ไม่ควรเน้นด้านการบริหารงานบุคคล

8.2.5 การกำหนดวาระการอยู่ในตำแหน่ง ของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ เห็นด้วยกับระเบียบเดิม คืออยู่ในวาระคราวละ 2 ปี สำหรับประธานและผู้ทรงคุณวุฒิหรือที่ปรึกษา ไม่ควรเกิน 2 วาระติดต่อกัน

8.2.6 การสนับสนุนงบประมาณของกลุ่มโรงเรียน ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ ควรจัดสรรให้กับโรงเรียนที่ตั้งสำนักงานกลุ่มโรงเรียน ควรมีงบพื้นฐานสนับสนุนนอกจากงบประมาณเกี่ยวกับพัฒนาวิชาการ และควรมีการะดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นเครือข่ายในการสนับสนุนงบประมาณ

8.2.7 การจัดกิจกรรมกลุ่มโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ กิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมที่ตอบสนองนโยบายจุดเน้นและกิจกรรมที่กลุ่มโรงเรียนคิดสร้างสรรค์ขึ้นเอง โดยมีแผนงาน โครงการรองรับ โดยกิจกรรมให้มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมและงานของโรงเรียน มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการประกวด แข่งขันในระดับกลุ่มโรงเรียน เน้นกิจกรรมที่สำคัญให้มีการพัฒนาบุคลากร อบรมรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยผ่านการสำรวจความต้องการจำเป็นก่อน มีการศึกษาดูงาน ส่งเสริมคุณภาพของนักเรียน

8.2.8 การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการติดตามการบริหารของกลุ่มโรงเรียน และคณะกรรมการกลุ่มอาจจะตั้งหรือการมอบหมายให้มีการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานและรายงานให้หน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ

8.2.9 จัดให้มีสำนักงานกลุ่มโรงเรียนคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ที่มีความถาวรคงที่ เพื่อสะดวกในการบริหารงานทั้งเชิงธุรการและวิชาการมีความต่อเนื่อง มีธุรการประจำกลุ่มโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ประสานการทำงาน สำหรับที่ตั้งสำนักงานกลุ่มให้คณะกรรมการกลุ่มตกลงกัน โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ

8.2.10 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นสำคัญนั่นคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เกิดกับครู โรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน

8.2.11 ปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จของการนำรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนไปใช้ ข้อสรุปที่ประชุมที่สอดคล้องกันคือ ต้องมีระเบียบรองรับ มีคนคือคณะกรรมการที่มีคุณธรรมจริยธรรมและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

9. ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย

9.1 จากผลการศึกษาสภาพการบริหารกลุ่มโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 พบว่า การดำเนินการของกลุ่มโรงเรียนที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยไม่ถึง 4.00 จากคะแนนเต็ม 5 และมีหลายด้าน ประกอบด้วย ด้านกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.43 ด้านการจัดตั้งสำนักงานกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.50 ด้านกระบวนการบริหารจัดการของกลุ่มโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.64 ด้านบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.70 และด้านการจัดโครงสร้างการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.78 ตามลำดับ นั่นก็หมายความว่าการปฏิบัติงานไม่บรรลุผลเท่าที่ควร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีรูปแบบหรือวิธีการส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มโรงเรียนได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยกลุ่มโรงเรียนที่กำหนดหรือควรมีระบบกำกับ ติดตามให้การบริหารกลุ่มโรงเรียนได้ทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

9.2 ผลการนำรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 พบว่า องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารงานกลุ่มโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ต้องประกอบด้วย มีหลักการ วัตถุประสงค์ โครงสร้างคณะกรรมการกลุ่ม การได้มาของคณะกรรมการกลุ่ม บทบาทหน้าที่/อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการกลุ่ม วาระการอยู่ในตำแหน่ง สำนักงานกลุ่ม การสนับสนุนงบประมาณ การจัดกิจกรรมกลุ่ม การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการบริหารงานกลุ่ม จัดให้มีสำนักงานกลุ่ม ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากรูปแบบการบริหารงานกลุ่ม และปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จของการนำรูปแบบการบริหารงานกลุ่ม ดังนั้น เขตพื้นที่การศึกษาควรมีการปรับรูปแบบการบริหารกลุ่มโรงเรียนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเน้นงานวิชาการที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการกำหนดโครงสร้างการบริหาร คณะกรรมการจะต้องมีผู้แทนสายครู ผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษา นอกจากนี้ เงื่อนไขความสำเร็จในการบริหารงานด้วยกลุ่มโรงเรียน จำเป็นที่จะต้องมีการระดมทุน ประสานเครือข่ายการทำงาน เครือข่ายความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จัดให้มีระเบียบหรือข้อปฏิบัติ และกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน

คณะวิจัย

ที่ปรึกษา

นายสุเมธี จันทร์หอมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

นายยืนยงราชวงษ์ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา

เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม

นายยืนยงราชวงษ์ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา

นางทัตยา ยาชมภูศึกษานิเทศก์

นางสาวแหวนไพลินเย็นสุขศึกษานิเทศก์

นายเรวัฒน์แจ่มจบศึกษานิเทศก์

นายสมบัติเนตรสว่างศึกษานิเทศก์

นายสมนึกพรเจริญศึกษานิเทศก์

นายพิศิษฐ์พันธุ์ดีศึกษานิเทศก์

นางปราณี คำแท้ศึกษานิเทศก์

นางศิริลักษณ์โพธิภิรมย์ศึกษานิเทศก์

นางสุวารีสอนจรูญศึกษานิเทศก์

นางฉวีวรรณรื่นเริงศึกษานิเทศก์

นางกมลทิพย์เจือจันทร์ศึกษานิเทศก์

นายไพโรจน์วังบรรณ์ศึกษานิเทศก์

นางปฐมาภรณ์ แก้วทอนศึกษานิเทศก์

เก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม

นายยืนยงราชวงษ์

นางสาวแหวนไพลินเย็นสุข

นายสมบัติเนตรสว่าง

นางปราณี คำแท้

นางสุขใจ ธนพงศ์ล้ำเลิศ

วิเคราะห์ข้อมูลและเขียนรายงาน

นายยืนยงราชวงษ์

พิมพ์

นางสุขใจ ธนพงศ์ล้ำเลิศ

นางฉวีวรรณ นามประจักษ์

 

หมายเลขบันทึก: 573523เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท