"สัตว์ เรียนรู้จากมนุษย์?"


สัตว์โลก เพื่อนเรา

                                             

              โลก คือ แหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต เมื่อกำเนิดมาบนโลกจึงต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับกฎ เงื่อนไขของโลกให้ได้ จึงจะอยู่รอด เมื่ออยู่รอดจึงจะปฏิวัติหรือผ่าเหล่า เหล่ากอ ของสายพันธุ์นั้นๆ ให้เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของท้องถิ่นหรือโซนโลกนั้นๆ เช่น สัตว์อยู่แถบขั้วโลกเหนือ โลกใต้ สัตว์อยู่แถบแห้งแล้ง  ทะเลทราย ป่าชื้น ฝนชุ่มตลอดทั้งปี หรืออยู่ในถ้ำ ในน้ำ ใต้ดิน ใต้หิน ฯ สัตว์และพืชทั้งหมด จึงต้องปรับตัวเอง ให้สอดคล้องกับถิ่นที่อยู่ของตนให้ได้ 

                 พืชและสัตว์ที่ปรากฏต่อสายตาเราในปัจจุับน ล้วนวิวัฒนาการและสืบสายพันธุ์มานานหลายล้านปีแล้ว แสดงว่า พวกเขาอยู่รอดมาได้อย่างยั่งยืนบนโลกนี้ นับว่าน่าทึ่งและน่าศึกษาอย่างยิ่ง หากถอดบทเรียนจากพวกเขาได้ คงช่วยปรับปรุงการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้ดำรงอยู่ได้เหมือนพืชและสัตว์บ้าง 

                    อย่างไรก็ตาม พืชและสัตว์ที่พบเห็นในทุกวันนี้ มีทั้งเกิดมาใหม่ (สายพันธุ์ใหม่) และสายพันธุ์เก่าในรูปร่างเล็กลง เช่น เต่า นก จระเข้ แมงมอ ผีเสื้อ ฯ สงสัยอยู่เหมือนกันว่า สัตว์ในอดีต สามารถสืบทอดพันธุกรรมผ่านลูกหลาน ผ่านดีเอ็นเอให้ยาวนานได้อย่างไร มีเหตุผลกลใดอยู่หลังในการสืบวงศ์พงศ์เผ่าของตนได้ เพราะกาลเวลา หรือเพราะเจตจำนงการเอาตัวรอด หรือเพราะการยึดมั่นฐานโลกที่สมบูรณ์ต่อการมีชีวิตไว้กันแน่

                    ส่วนมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดใหม่ ไม่ใช่สัตว์เก่าดึกดำบรรพเหมือนสัตว์ที่เกิดก่อนเรา แต่เรากลับมีสายพันธุ์ที่ขยายได้เร็วและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมนุษย์มีสมอง ที่พัฒนาได้รอบด้านมากกว่าสัตว์ เราสามารถพัฒนาศักยภาพอวัยวะต่างๆ ของเราให้ตอบสนองการเอาตัวรอดและการปรับตัวให้อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆได้ดี แต่หลอมเลี้ยงตนเองเข้ากับธรรมชาติได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะชอบกัดกินสิ่งแวดล้อมรอบตนเอง ให้เกิดผลร้ายต่อสายพันธุ์ตนอย่างต่อเนื่อง

                   

                    ศักยภาพที่ถือว่าเป็นพลังสร้างสมและสร้างสรรค์ในตัวมนุษย์ เป็นไปเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อการตอบสนองตนเอง ในสมองของมนุษย์แรกๆ มีพลังทำลายสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่เสมอ  มนุษย์ป่า ถ้ำ มนุษย์ยุคหิน ยุคโลหะ ยุคประวัติศาสตร์ ยุคสมัยใหม่ เราพบว่า เรามีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานเช่นกัน คือ จากยุคไพรเมต ยุควานร และยุคปัจจุบัน (โฮโมอีเรคตัส) 

                     จากพฤติกรรมของมนุษย์ยุคต่างๆ เมื่อก่อนอยู่ในป่า ถ้ำ ลานทุ่งกว้าง ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดไม้ หากินพืช แต่ปริมาณมนุษย์ตอนนั้นน้อยกว่าปริมาณของสัตว์และพืช จึงทำให้การทำลายสัตว์และพืช ไม่มีผลใดๆ ต่อมาในระยะยาวขึ้น เมื่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ขยายมากขึ้น การกิน การทำลายจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม พืชและสัตว์เกือบสูญพันธุ์ไป

                     เนื่องจากมนุษย์ได้ล่าสัตว์หลากหลายชนิด จนรู้ว่าสัตว์และพืชชนิดไหนน่ากิน ไม่น่ากิน ชนิดไหนอันตราย มีพิษไม่น่าแตะต้อง ที่ฉลาดเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์คือ การเรียนรู้จากพฤติกรรมของสัตว์ที่ล่า จนสามารถนำเอาสัตว์เหล่านั้น มาฝึกหัด ฝึกฝนให้เป็นนกต่อ เป็นผู้ล่า เป็นผู้ช่วยล่า เป็นผู้ปกป้องและเป็นยามป้องกันตนเองในที่สุด สัตว์เหล่านี้ เมื่อถูกนำมาเลี้ยงไว้ในกลุ่มของตน จนกลายเป็นสมาชิกในเผ่าพันธุ์มนุษย์ในเวลาต่อมา

                     เราได้ทราบว่า ในอดีตเผ่าต่างๆ นับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า เป็นผู้รักษาคุ้มครองพวกเขาไว้ สันนิษฐานน่าจะมาจากคุณสมบัติของสัตว์บางชนิดช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงาน การล่า การปกป้อง การเป็นยามให้ หรือเป็นเพื่อนในคราวเดินทาง เช่น มนุษย์ในแถบขั้วโลกเหนือ ใช้สุนัขลากรถสัมภาระ ชาวนาใช้วัว ควาย ม้า ช้าง  ลากเกวียน ทำงาน ลากซุง สู้รบ ฯ กษัตริย์อียิปต์เคารพบูชานก แมว พวกไอคุปต์บูชาเทพเจ้าสุนับชื่อว่า "อานูบิส" (Anubis) และมีเผ่าอื่นๆ มากมายที่นับถือสัตว์เป็นเทพเจ้าด้วยเหตุผลดังกล่าว

                      มนุษย์อาศัยป่ามาก่อน จึงเรียนรู้ที่จะล่าสัตว์มาเป็นอาหารและล่ามาเป็นเครื่องมือใช้ทำงาน สัตว์ที่ถูกจับก็จะถูกนำมาฝึกหัด ดัดสัญชาตญาณให้เชื่อง เพื่อนำไปใช้งาน ดูเหมือนว่า สัตว์เองก็ปรับตัวได้ พร้อมที่จะเชื่อฟังเจ้านายมนุษย์ เพราะตัวเองก็ปลอดภัย ได้รับการเลี้ยงดู ได้อาหารกิน ได้ที่อยู่ ฯ จนเหมือนสมาชิกของมนุษย์ไปแล้ว ทำให้สัญชาตญาณดิบเดิม ถูกทำลาย ถูกหล่อหลอมจากมนุษย์ ให้กลายเป็นสัตว์มีค่า มีคุณ มีความสามารถเยี่ยงมนุษย์ในที่สุด

                     จากสัตว์ป่า มาสู่บ้าน ทำให้สัตว์ถูกนำมาเลี้ยงดูอย่างจริงจัง เพราะคุณสมบัติในตัวของพวกเขา ที่สามารถสร้างงาน ช่วยงาน สร้างสรรค์ด้านบันเทิง เป็นเพื่อนแท้ ฯ ทำให้สัตว์ต้องกลายพันธุ์ ทิ้งวิญญาณสัตว์ป่า มาเป็นสัตว์บ้านอย่างแท้จริง  ทำให้สัตว์ป่ากลายเป็นสัตว์เชื่องอย่างราบคาบ สัตว์เหล่านี้ จึงทิ้งญาติเผ่าพันธุ์ตน ที่อยู่ในป่าอย่างไม่ใยดีอีกต่อไป และที่ได้ประโยชน์ต่อตนเองคือ ได้เรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์ไปด้วย ทำให้สัตว์ได้รับทักษะในการพัฒนาตัวเอง ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น และรับรู้หรือสัมผัสอารมณ์มนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

                                                                                               

                     ทักษะหรือความสามารถของสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ในบ้าน ในเมืองตั้งแต่อดีต พบว่ามีมากมาย เช่น การร้องเพลง หรือเสียงพูดของนกเอี้ยง นกแก้ว นกในป่าชนิดหนึ่งที่สามารถเลียนเสียงต่างๆได้ ๑๐ กว่าเสียงคือ นก Lyre Bird ในประเทศออสเตรเลีย ปลาโลมา ก็เป็นสัตว์ที่มีความสามารถเฉพาะตัว ที่ถือว่าฉลาดมาก พอๆกับหมึก ที่มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม สัตว์เหล่านี้พัฒนาจากถิ่นอาศัย จนกลายเป็นทักษะในการเอาตัวรอดได้ ดังนั้น สัตว์ทุกชนิด จึงมีความสามารถและทักษะในตัวเองทุกตัว 

                                                 

                    นั่นคือ คุณสมบัติของสัตว์ที่เป็นทั้งโทษและคุณในตัวเอง การแสดงความสามารถของสัตว์ จึงดึงดูดความสนใจของมนุษย์ พวกเขาจึงถูกไล่ล่า ไล่จับมาเป็นสัตว์บ้าน เพื่อให้พวกเขาแสดงความสามารถให้มนุษย์ได้ประโยชน์ และพวกเขาก็ได้สิ่งตอบแทนด้วยเช่นกัน สัตว์ที่ถูกมนุษย์จับมาเลี้ยงไว้ในบ้านเรือน เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ นั้นมีดังนี้

                   ๑) "สุนัข" เป็นสัตว์อันดับต้นๆ ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน จนมันได้รับสิทธิเท่าเทียเหมือนสมาชิกของมนุษย์ไปแล้ว ความสามารถและเสน่ห์ของสุนัขกลายเป็นค่านินมของผู้คน ทั้งในเมืองและชนบท เกือบทุกบ้านจะมีสุนัขอาศัยอยู่ในบ้าน ความน่ารัก ความออดอ้อน การตอบสนองต่อเจ้าของ นี่คือ คุณสมบัติที่มนุษย์ได้หล่อหลอมให้สัตว์เสียสัญชาตญาณดั้งเดิมไป

                    ๒) "แมว" เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่รู้เกือบทุกซอก ทุกมุมของบ้านเรา ความประจบประแจง ออดอ้อน คลอเคลีย ขี้เล่น ฯ คือ เสน่ห์ และคุณค่าของแมว ที่ได้รับการยอมรับ ในฐานะเพื่อนสนิทของมนุษย์ ชาวอิยิปต์ได้นำแมวมาเลี้ยง โดยเชื่อว่าเป็นเทพเจ้า ทำให้แมวทิ้งญาติที่อยู่ในป่าคือ เสือ สิงห์ ไปอย่างสิ้นเชิง

                                                             

                   ๓) "วัว ควาย" คือ สัตว์ใหญ่ที่เคยอยู่ในป่า ซึ่งมีความดุร้าย อันตรายมาก แต่เพราะมนุษย์เห็นพลังมหาศาลของมัน จึงต้อนมาเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อใช้ไถนา ลากเกวียน ลากรถให้ ทำให้วัว ควายเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ในเรือน จนเชื่องได้ ต่อมาสัตว์ประเภทนี้ จึงได้เรียนรู้ อยู่กับมนุษย์ จนสามารถรู้และเข้าภาษา อารมณ์มนุษย์ได้

                   ๔) "ช้าง ม้า" คือ สัตว์อีกชนิดที่ถือว่า เป็นสัตว์ใหญ่ในป่ามาก่อน เป็นสัตว์ที่ดุร้าย หากถูกก่อกวนหรือยั่วยุ พวกมันมีพลังมาก แรงมาก จึงเป็นที่หมายของผู้คน ที่จะจับมันมาใช้งาน ม้ามีความสามารถวิ่งเร็ว จึงถูกนำมาเป็นม้าศึก วิ่งไล่ ส่วนช้างตัวใหญ่ มีกำลังมาก ในสมัยก่อนผู้นำ  จึงนำมาเป็นช้างศึกรบกัน เช่น อินเดีย พม่า ไทย ฯ ความสามารถเช่นนี้ ทำให้สัตว์ถูกจับมาฝึกด้วยวิธีของมนุษย์ สัตว์จึงรู้วิธีการต่างๆ ดีขึ้น เพราะมนุษย์ฝึกให้นี่เอง

                   ๕) "ลิง" เป็นสัตว์ป่า ที่มีความสามารถปีนป่าย คล่องแคล่ว ว่องไว มีความน่ารัก แต่ซนมาก ในขณะเดียวกันก็ดุร้ายเช่นกัน เมื่อมนุษย์เห็นลักษณะเฉพาะของมัน จึงนำมาใช้งาน เช่น ขึ้นมะพร้าว แสดงละคร และยังทำให้เด็กๆ ชอบดูความน่ารักของมัน เมื่ออยู่กับคน จึงถูกสอนวิชาสามารถให้ จนกลายเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายเรา เพราะได้รับบทเรียนจากมนุษย์ กระนั้น ความดุร้ายก็ยังพอเห็นในสัตว์หน้าขนนี้ 

                                                                                 

                    ๖) "ปลา" เป็นสัตว์น้ำที่่อยู่ห่างไกลกับมนุษย์มาก่อน แต่ด้วยสัตว์ชนิดนี้ ถูกมองว่าเป็นอาหารของมนุษย์ จึงทำให้ผู้คนต้องไล่ล่า มาเป็นอาหาร ปลามีหลายชนิด ทั้งน้ำทะเลและน้ำจืด ปลาที่ขึ้นชื่อว่า น่ารัก ฉลาดคือ ปลาโลมา ที่นำฝึกเป็นผู้ช่วยมนุษย์ นำมาฝึกฝนแสดงความสามารถ ในบ้านเราก็มีปลาเลี้ยงปลาตู้ เช่น ปลาเงิน ปลาทอง ปลากัด ปลาทะเลสวยงาม 

                     ๗) "ไก่" เป็นสัตว์ป่ามาก่อน ซึ่งค่อนข้างระวังตัว ตื่นตัวตลอดเวลา กลัวภัยง่าย มีความสวยงาม จับยาก เมื่อมนุษย์ไล่ล่า จับมาเลี้ยงเพื่อกินไข่ สัตว์ชนิดนี้จึงเชื่องลงได้ ทำให้ต้องเพาะพันธุ์ขยายไปหลายชนิด ลักษณะหนึ่งของไก่ตัวผู้คือ ชอบตีกัน ชอบต่อสู้กัน ทำให้เห็นความงามของขนที่คอ และเห็นลีลาท่าทางสวยงาม จึงถูกนำมาสู้กันกลายเป็นไก่ชน ด้วยการเลี้ยงดูมานาน ทำให้ได้กลายพันธุ์เป็นไก่บ้านไป จนคุ้นเคยกับ ภาษา อารมณ์คนในที่สุด

                     ๘) "นก" เป็นสัตว์ปีก ที่บินได้ และบินไม่ได้ บางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษด้าน ขนสวย เสียงเพราะ พูดได้ ขันเพราะ ทำให้เป็นที่สนใจของมนุษย์ จึงจับนกมาเลี้ยงเพื่อชื่นชมความงามของขน เสียง บางชนิดก็สื่อสารได้ (นกพิราบ) ล่าสัตว์อื่นได้ (นกเหยี่ยว) นกเหล่านี้ จึงถูกนำมาเลี้ยง มาขุน จนทิ้งสัญชาตญาณเดิมไป ทำให้คุ้นเคยกับมนุษย์ เป็นเพื่อน และสร้างความบันเทิงให้

                   ๙) "หมู" เป็นสัตว์ป่าเช่นกัน ดุร้ายถ้าเข้าใกล้ เป็นสัตว์ที่หวาดกลัวภัย รูปลักษณ์ไม่มีอะไรน่าหลงใหล บางกลุ่มชนกลับรังเกียจก็มี แต่คนส่วนใหญ่กลับล่าเป็นอาหาร  ไม่รู้แน่ชัดว่า รสชาติของเนื้อมัน กับการออกลูกดก อันไหนเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์นำมาเลี้ยง มาขุนในบ้าน ในเรือน จนกลายเป็นอาหารมนุษย์อย่างน่าสงสาร ในเส้นทางชีวิตของมัน กระนั้น ก็มีการนำหมูมาแสดงโชว์ความสามารถด้วย

                   ๑๐) "เสือ สิงโต" เป็นเจ้าแห่งสัตว์ คือ เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งมวล เนื่องมาจากความสามารถในการไล่ล่าสัตว์เป็นอาหาร เป็นสัตว์กินเนื้อ เป็นสัตว์ป่าอย่างแท้จริง  ความสามารถของพวกมันคือ การไล่ล่า ความเร็ว กรงเล็บและเขึ้ยว นอกจากนี้ พวกมันยังถูกใช้เป็นสื่อหรือสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ความเป็นใหญ่อีกด้วย เช่น เสาหินของพระเจ้าอโศก ธงชาติประเทศต่างๆ และตราประจำราชวงศ์ของอังกฤษ 

                                                     

                 หรือใช้เป็นสื่ออำนาจดำ ไสยศาสตร์ เครื่องลางของขลัง สักยันต์ ฯ สัตว์เหล่านี้ถือว่า เป็นสัตว์แห่งอำนาจที่ผู้คนต้องการอยากมี อยากได้เช่น เสือหรือสิงโต อย่างไรก็ตาม สัตว์ที่เก่งกล้า สามารถเหล่านี้ ก็ต้องสยบ นบนอบให้กับมนุษย์ในที่สุด เราจึงเห็นสัตว์เหล่านี้ถูกจับมาเลี้ยง มาแสดงละคร เลี้ยงเพื่อเลี้ยงอำนาจตน ประดับปารมีให้มีอำนาจดั่งราชสีห์ จนสัตว์เหล่านี้ กลับเป็นสัตว์เชื่อง เชื่อฟัง

                     นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย ที่มนุษย์นำมาเลี้ยง เพื่อประโยชน์ตนเอง และส่วนรวม คุณสมบัติของสัตว์เหล่านั้นเอง ที่กลายเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์แสวงหามาครอบครอง และที่เป็นแรงจูงใจอันดับหนึ่งคือ ราคาแพง เพราะนับวันสัตว์ที่หายาก ก็จะมีราคามากขึ้น พร้อมกับมีการไล่ล่าหามาสนองมนุษย์เมืองมากขึ้นไปด้วย

                       ในทางความเชื่อศาสนาต่างๆ สัตว์ก็ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องเสริมอำนาจ กำลังใจด้วย อีกอย่างสัตว์บางชนิดถูกเชื่อมโยงไปผูกกับศาสดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เช่น งู พระยานาค มังกร เต่า วัว ม้า ปลา ลิง สิงโต ช้าง นก ฯ ทำให้เห็นรูปแกะสลักในที่ต่างๆ ที่สะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อในทางศาสนาไว้ด้วย มันควรจะถูกมองเป็นเรื่องความเคารพ แต่กลับแสวงหามาประดับชีวิตตนไป

            

                       อย่างไรก็ตาม มนุษย์ได้เรียนรู้อะไรจากสัตว์ป่า สัตว์บ้านหรือไม่ เรามักจะถืออำนาจ ถือบทบาทผู้รู้ ผู้ฉลาด ครอบครอง มองพวกเขาเป็นแค่สัตว์เดรัจฉานเท่านั้น พวกเขาไม่ได้ถูกมองเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดในตัว เรามักจะมองเขาว่า มันไม่รู้ (เหมือนเรา) เรามองพวกสัตว์แคบๆ ในฐานะ อาหาร ศัตรู ผู้รุกราน ผู้ก่อความรำคาญ บ้านเรือน และพืชผลของเรา พวกสัตว์ยังมีฐานะเหนือกว่านั้น เช่น เป็นเพื่อน เป็นหมอ เป็นยาม เป็นผู้ดูแล ผู้กำจัดสัตว์อื่น ผู้สร้างทรัพย์สสินให้เราด้วย

                        จนทุกวันนี้ สัตว์ต่างๆ ต่างก็ต้องมาพึ่งพามนุษย์ เพื่อความอยู่รอด การที่พวกเขาอาศัยมนุษย์ ก็พลอยได้อานิสงส์ต่างๆมากมายไปด้วย เช่น เรียนรู้ด้านภาษามนุษย์ สัตว์จึงรู้ภาษา อารมณ์ที่เราฝึกหัด ดัดประสาทให้เรารับรู้ อย่างเช่น สุนัข ที่เราตั้งชื่อ ฝึกหัดแสดงความสามารถให้ มันจึงเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้อย่างดีทีเดียว

                                                                         

                         สัตว์อยู่ในป่า จะมีจ่าฝูง มีผู้นำเป็นตัวดูแล สมาชิก พื้นที่ การปกครอง การล่า ฯ หากขาดผู้นำสัตว์ก็จะหลงทาง ซึ่งจะพบอันตรายต่างๆ เมื่อมนุษย์นำมาเลี้ยง จึงกลายเป็นผู้ตามทันที เรากลายเป็นผู้นำ แต่ก็มีอีกมายที่เราถูกสัตว์นำ เพราะนำพาไม่เป็น นอกจากนั้น สัตว์ก็ได้เรียนรู้ที่จะเป็นเพื่อนกับเราได้อย่างจริงใจ คอยปกป้องเรา จนพบว่า สัตว์ป่ามาอยู่บ้าน ถูกมนุษย์หล่อหลอม ให้เกิดการเรียนรู้ จนสามารถถ่ายทอดความสามารถออกมาได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ

                         อนิจจา! มีอีกมุมที่สัตว์ป่า ถูกนำมาเลี้ยง มาขุนเพื่อป้อนโรงงาน เพื่อทำอาหารเลี้ยงมนุษย์ จนกลายเป็นธุรกิจเลี้ยงสัตว์ขายเนื้อ หนัง กระดูก กลายเป็นเรื่องปกติไปในปัจจุบัน เรากำลังแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียวหรือไม่ หรือเรากำลังทรยศเพื่อนร่วมโลกหรือไม่ สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เอาเปรียบ ใช้ความเป็นใหญ่ฆ่าสัตว์ที่มาอยู่กับตนอย่างไม่หวั่นเกรงกรรมใดๆ

                         มันสะท้อนภาพพจน์มนุษย์ว่า ๑) เราไม่ยำเกรง ไม่เคารพสัตว์เหมือนคนป่าอีกต่อไป แต่เราบูชาสัตว์ในฐานะผู้สร้างเงินตรา มหาศาลให้แก่เรา  โดยไม่คำนึงถึงว่า สัตว์จะสูญพันธุ์หรือเสียสมดุลอย่างไรในอนาคต ๒) เราไม่สนใจ ห่วงใย ดูแลเขาอีกต่อไป มีแต่จะล่า หาตัวมาทำอาหารสัตว์ป่า สนองตัณหา อาหารคนเมือง นัยว่ายาโด๊ป ยาโด่ เราจึงกีดกันสัตว์ให้ห่างจากเราไป ไล่มันให้หนีไป ทั้งที่มันหมดป่าอยู่แล้ว จนส่วนหนึ่ง เรากลับนำมาขังในกรงให้มันแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ ในกรงแคบ ให้คนเมืองดูชม อนิจจา!

                          ๓) เรากำลังล่าสัตว์ป่าเป็นยาวิเศษ จนกลายเป็นการทำลาย ระบบนิเวศไปด้วย นั่นคือ เราทำลายทรัพยากรและธรรมชาติ ตัดรายได้มหาศาลของประเทศในฐานะที่ท่องเที่ยว ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ เพื่อการท่องเที่ยว ๔) เรากำลังเบียดเบียนสัตว์ร่วมโลกด้วยกัน กำลังกัดกินกันเอง แสดงถึงความโหดเหี้ยม เทียมสัตว์ป่าที่กล่าวหาว่า มันโหดร้าย ดุร้ายแต่ไฉนเรากลับร้ายกว่าหลายเท่า

                                        

                        ดังนั้น เราอยู่ได้เพราะสัตว์ป่ามาก่อน พอพวกเขามาอยู่ด้วยเราก็สอนให้พวกมันทำโน่น ทำนี่ แสวงหาประโยชน์ตน แต่เรากลับทรยศพวกมันอย่างไร้ความปราณี ในคุณประโยชน์ของสัตว์ที่มีอยู่ในพวกมัน ที่เราสะท้อนออกมาคือ เราถูกสร้างให้เกิดมีความรัก ความผูกพัน ความเมตตา ดั่งญาติสายโลหิตได้ นั่นแสดงว่า สัตว์เองก็ได้เสี้ยมสอนให้เรามีใจพัฒนาขึ้นเช่นกัน แต่เรากลับมองไม่เห็นคุณตรงนี้ของมัน

                        เมื่อเขาเรียนรู้จากเรา เขาก็พัฒนาขีดความสามารถที่ไร้จำกัด ในขณะเรากลับพัฒนาความสามารถแคบลงๆ จนหันมากินสัตว์ในบ้าน ในเมือง ที่จับมาขังกรง แล้วฆ่าเเป็นอาหารอย่างเอร็ดอร่อย นั่นคือ เรากำลังกินเนื้อเราเอง เรายกย่องตนเองนักหนาว่า "เราคือ สัตว์ประเสริฐ" แต่ไม่เป็นดั่งที่เราว่านี้เลย

------------------(๓๐/๗/๕๗------------------------

หมายเลขบันทึก: 573516เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 07:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท