“ พร้อมแล้ว...ที่จะเดินทางไปหาพระอัลเลาะห์”


          ผู้ป่วยชายไทย  อายุ  48 ปี   ศาสนาอิสลาม   อาชีพ  รับจ้างประมง (คุณบัง นามสมมติ)   ได้รับการวินิจฉัยว่า  เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายที่มีการแพร่กระจายไปสมองและกระดูก  รักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด  และฉายรังสี

          วันแรกที่คุณบังมาปรึกษาการฉายรังสี   ฉันสังเกตเห็นคุณบังจะซึมเศร้านิ่งเงียบ  ไม่พูดไม่จา  ถามคำตอบคำ  ส่วนคุณนา(นามสมมติภรรยาคุณบัง)  น้ำตาคลอเบ้าตลอด   ดูกระสับกระส่าย

          ฉันเข้าไปสร้างสัมพันธภาพโดยการเข้าไปทักทาย   “สวัสดีค่ะ  คุณบังคุณหมอนัดมาฉายรังสีเมื่อไหร่ค่ะ”

          คุณบังนิ่งเงียบไม่ตอบแต่ยื่นบัตรนัดให้ดู   ส่วนคุณนาก็พูดด้วยเสียงเครือว่า  “ไม่รู้ว่าจะมาได้ไหม”   พูดเสร็จแล้วร้องไห้

          “มีปัญหาอะไรหรือ  พอจะบอกได้ไหมค่ะ”   ฉันเองก็ตกใจ

          “เราไม่มีค่าเดินทางมารักษาที่รพ.มอ.”   คุณนายังคงร้องไห้สะอื้น

          “ค่ะ  เดี๋ยวจะประสานงานกับงานสิทธิประโยชน์ให้  และประสานกับรพ.ชุมชนที่ส่งตัวมา   คิดว่าเรื่องนี้คงได้รับการช่วยเหลือ  ส่วนช่วงที่มารับการฉายรังสีจะให้พักที่อาคารเย็นศิระ(วัดโคกนาว)  ค่าใช้จ่ายค่าที่พักคืนละ 5 บาทต่อคน  ส่วนผู้ป่วยจะได้รับคูปองอาหารวันละ 30 บาท”

          ในที่สุดผู้ป่วยก็ได้รับการช่วยเหลือจากสิทธิประโยชน์ในเรื่องที่พัก   คูปองอาหาร  และค่าครองชีพ  ประมาณ 300 บาท ต่อสัปดาห์  ส่วนรพ.ชุมชนใกล้บ้านช่วยค่ารถจากสตูลมารพ.มอ. จนกระทั่งฉายรังสีครบแต่ต้องมารับเคมีบำบัดเดือนละครั้ง  ประมาณ  6ครั้ง   ทุกครั้งที่มารับเคมีบำบัด  คุณนาและคุณบังจะมาหาทุกครั้ง  ช่วงหลังฉันสังเกตเห็นคุณบังเปลี่ยนไปคือ การแต่งตัวจะเปลี่ยนจากใส่เสื้อผ้าแบบชายไทยทั่วๆไปเป็นแบบชายมุสลิมที่มีหมวกสีขาวครอบศรีษะ  ฉันถามคุณบังด้วยความสงสัยว่า  “มีอะไรเหรอค่ะ  ที่ทำให้คุณบังแต่งตัวเปลี่ยนไปเป็นแบบชายมุสลิมที่เคร่งครัดต่อศาสนา”

          “เป็นเพราะชีวิตผมมีคนดีๆ เข้ามาช่วยเหลือ  อัลเลาะห์คงให้พร  และผมต้องปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มขึ้น  ทำความดีเพิ่มขึ้น   คุณบัง  ตอบด้วยความภาคภูมิใจ

           วันหนึ่งคุณนาบอกว่า  “อาการของคุณบังไม่ดีขึ้นเลย  บ่นว่านอนตายตาไม่หลับเป็นห่วงเรื่องลูกและหนี้สิน

           “ไหนลองเล่าให้ฟังซิค่ะ  ว่าสภาพครอบครัวตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง   ลูกคุณนาอายุเท่าไหร่   เรียนอยู่ชั้นไหนค่ะ”  ฉันถาม

            “ตั้งแต่คุณบังป่วยก็ไม่สามารถไปทำอาชีพประมงได้   ส่วนฉันเองก็ไม่เคยไปทำงานนอกบ้าน  ลูกสาวอายุ 13 ปี อยู่ม. 2 ตอนนี้ไม่มีเงินส่งให้เรียนหนังสือต่อ  ช่วงเจ็บป่วยก็มีหนี้สิน”  พูดเสร็จคุณนาร้องไห้โฮ

            “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แต่จะลองประสานกับคุณนิด (พยาบาลรพ.ชุมชนที่ส่งตัวมา)   ดูว่ามีช่องทางไหนจะช่วยได้บ้าง”   ฉันตอบหลังจากให้คุณนาหยุดร้องไห้

             คุณนิตย์เป็นพยาบาลที่มีจิตใจเมตตา กรุณา คุณนิตย์ประสานกับนายอำเภอ  อบต. อสม.  และชาวบ้าน  ในที่สุดปัญหาต่างๆของคุณบังและคุณนาได้รับการช่วยเหลือ  คือ  ลูกสาวได้รับเข้าเรียนในโรงเรียนประชานุเคราะห์   นายอำเภอและสภากาชาด   อบต. เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวคุณบัง  ส่วนอสม.  และชาวบ้านร่วมใจจัดเลี้ยงน้ำชาเพื่อปลดหนี้สหกรณ์หมู่บ้าน  และคุณนาก็ได้งานโดยรับเย็บผ้าของรพ.อยู่ที่บ้าน   อนาคตถ้าคุณบังเสียชีวิตก็จะไปทำงานแม่บ้านนายอำเภอ

            1 เดือนก่อนเสียชีวิต  คุณบังและคุณนามาลาฉัน  เพราะแพทย์บอกว่ายาเคมีที่ให้ไม่ได้ผล  คุณบังบอกฉันว่า  “ขอบคุณครับสำหรับการช่วยเหลือทุกอย่าง  ผมพร้อมแล้ว...ที่จะเดินทางไปหาพระอัลเลาะห์ผมไม่ห่วงอะไรอีกแล้ว” 

            บางครั้งการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวเกิดสุขจากทุกข์ได้จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลประสานกับเครือข่ายในชุมชน/สังคมเพราะบางเรื่องราวมีประเด็นที่ยุ่งยากและซับซ้อน

หมายเลขบันทึก: 573365เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2014 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2014 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท