เก็บมาฝาก "เลี้ยงลูกอย่างไร สร้างวินัยเชิงบวก" ภาคจบ


วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2557

วิทยากร : อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง
นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
ตำแหน่งพิเศษ - นักเจรจาต่อรองกรณีจับตัวประกัน ของกรมสุขภาพจิต

ขอสรุป แบบจับประเด็นเป็นข้อ ๆ เลยนะคะ สำหรับ “วิธีการ” ที่แม่ดาวรับฟังและจับประเด็นมาได้

1.จัดการตัวเองก่อน ฮ่าๆๆ อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น จัดการควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้เหมาะสม เมื่อเราดี ลูกก็จะดี ข้อนี้ไปที่ไหน ๆ อ่านจากที่ไหน ๆ ก็บอก ก็เจอกันตลอด แต่....ก็ยังไม่ค่อยจะยอมเปลี่ยนตัวเองกันว่าไหม มุ่งไปจัดการพฤติกรรมลูกกันซะเยอะ จากประสบการณ์ตัวเองนะคะ จัดการตัวเองง่ายกว่าไปจัดการลูกเยอะ...

2.ให้ตามใจลูก แบบมีข้อตกลงชัดเจน อาจารย์บอกว่า การที่เราขัดใจเด็ก จะก่อให้เกิดความก้าวร้าวได้ ดังนั้นจึงให้ตามใจ แต่ต้องมีเงื่อนไขข้อตกลงกันให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ลูกอยากทานไอศกรีม ตอนที่ลูกป่วย เมื่อลูกมาขอให้ตามใจ และแสดงความเข้าใจ

แม่ ลูกอยากทานไอศกรีมรสอะไรดีค่ะ

ลูก ช็อคโกแลตค่ะ

แม่ อ้อ..ลูกอยากทานไอศรีมรสช็อคโกแลตนะ แล้วมันราคาเท่าไหร่ค่ะ

ลูก ไม่รู้ค่ะ

แม่ ถ้าไม่รู้ควรทำอย่างไรดีนะ (สอนให้ลูกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง)

ลูก ไปถามราคาจากคนขายค่ะ

แม่ งั้นลูกลองไปถามราคามาก่อนนะคะ ว่าไอศรีมที่ลูกอยากทานนั้นราคาเท่าไหร่

ลูก (ถามและได้คำตอบ) 45 บาทค่ะ

แม่ โอ้โหราคาตั้ง 45 บาท แล้วลูกมีเงินมากี่บาทค่ะ

ลูก มีอยู่ 10 บาทค่ะ

แม่ อ้อ...ลูกมีเงินอยู่ 10 บาท ยังขาดอีกกี่บาทค่ะเนี้ย ถึงจะได้ทานไอติมแท่งนี้

ลูก (คิดเลข) 35 บาทค่ะ

แม่ ลูกมีอยู่ 10 บาท ไอติมราคา 45 บาท ลูกยังขาดเงินอีก 35 บาท จะทำอย่างไรดีนะ

ลูก ขอคุณแม่ค่ะ

แม่ อืม...งั้นถ้าลูกอยากได้เงิน ก็ต้องทำงานแลกนะคะ ลูกเลือกซิคะ ว่าลูกอยากจะทำอะไร เป็นนักร้อง กรรมกร หรือยาม (นักร้อง คือให้ร้องเพลงให้แม่ฟัง 1 เพลง กรรมกรคือ ใช้แรงงานและควรเป็นงานบ้านที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบประจำของลูก ยามคือให้ยืนนิ่ง ๆ รอเวลา กำหนดไว้ว่าจนถึงเลขไหน อย่างไร กี่นาที ถึงจะได้เงินซื้อ)

จากนั้นพอลูกเลือกให้เขาทำสิ่งที่เขาเลือกนั้นให้เสร็จ แล้วค่อยจ่ายเงินในส่วนต่างให้ลูก พอลูกได้ไอกรีมแล้ว

แม่ ขอคุณแม่ทานสักคำนะคะ (จากนั้นให้คุณแม่จัดการทานให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทานได้ เพื่อเหลือไว้ให้ลูกทานเล็กน้อย)

นี่เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่ยกขึ้นมาในห้องอบรมนะคะ ประมาณนี้ ซึ่งฟังแล้ว แม่ดาวเองรู้สึก ขัดใจตัวเองมาก 55555 แต่คงไม่ได้ขัดใจ แล้วทำให้ตัวเองก้าวร้าวเนาะ คือ ด้วยแนวคิดแม่ดาวคิดว่า เราควรฝึกให้ลูกยับยั้งชั่งใน วิธีนี้ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการปฏิบัติจริง เพียงแต่หากลูกป่วยเป็นหวัด เจ็บคอ ก็อาจใช้วิธีการอื่น ๆ แทน ไม่สามารถตามใจลูกได้ทุกกรณีอย่างที่อาจารย์แนะนำ (เป็นนักเรียนที่ดื้อเงียบ..นะเนี้ยฮ่าๆๆ) ชอบ แต่คงต้องเลือกใช้บางกรณี

3. Small Talk ใครเคยเจออาการลูกหูทวนลม ลูกเหมือนได้ยิน แต่ไม่ได้ฟัง แนะนำวิธีนี้ค่า ในกรณีที่เราอยากจะให้ลูกทำอะไรให้ หรืออยากให้ลูกทำอะไรให้ เดินเข้าไปพูดใกล้ ๆ อาจแตะตัวสัมผัสเบา ๆ เพื่อให้ลูกรู้ตัวว่า แม่กำลังตั้งใจอยากจะสื่อสารกับลูกอยู่ พูดด้วยแววตาเป็นมิตร พูดด้วยเสียงปกติ ในกรณีหากลูกกำลังทำกิจกรรมอื่น ๆ ของเขาอยู่ ให้เราเข้าไปพูดคุยถึงกิจกรรมที่เขาทำแสดงความสนใจ เพื่อเข้าไปในใจลูก จากนั้นค่อยสื่อสารความต้องการของเรา เช่น มีข้อตกลงเรื่องการเล่นเกมส์ และตั้งเวลาไว้ ลูกทำเฉย ไม่สนใจ เดินเข้าไปใกล้ ๆ ไม่ตะโกนสั่งจากฝั่งฟ้า พูดด้วยเสียงเบา ๆ มองตาเขา “หมดเวลาเล่นเกมส์แล้วครับ”

4. สร้างความเป็นพวกเดียวกับลูก (ข้อนี้ที่จริงก็อยู่ในข้อ Small Talkแต่อยากจับแยกออกมา) ยกตัวอย่างเช่น ลูกกำลังเล่นของเล่นของเขาอยู่เพลิน ๆ แม่อยากให้ลูกช่วยจัดโต๊ะทานข้าวให้เตรียมทานอาหารเย็นกัน

แม่ (เดินเข้าไปส่งรอยยิ้มและแสดงความสนใจกับสิ่งที่ลูกทำ) ลูกกำลังเล่นอะไรอยู่ครับ ดูท่าทางน่าสนุกเชียว

ลูก กำลังเล่นสร้างเมืองให้มังกรอยู่ครับ

แม่ อ้อ...เล่นสร้างเมืองให้มังกร กำลังสนุกมากเลยเนาะ

ลูก ครับ...แม่ดูมังกรตัวนี่นะครับ มันพ่นไฟได้ ส่วนตัวนี้มันพ่นเป็นความเย็น พ่นใส่อะไรแล้วจะกลายเป็นน้ำแข็ง

แม่ อ้อ ... เจ๋งมากเลยเนาะ ตัวหนึ่งพ่นไฟ อีกตัวพ่นเป็นความเย็นยะเยือก ตอนนี้แม่กำลังจะทำอาหารเย็นเพื่อให้คนสร้างเมืองมังกรทาน แม่อยากขอความช่วยเหลือจากผุ้สร้างเมืองให้ช่วยไปสร้างพื้นที่ จัดโต๊ะสำหรับทานอาหารเย็นร่วมกันได้ไหมครับ

ลูก ได้ครับ

แม่ ขอบคุณลูกมากเลยครับ

5. เรื่องการฝึกลูกให้นอนคนเดียว หากลูกอายุ 6 ขวบแล้วควรฝึกให้ลูกนอนเองคนเดียว โดยไม่ได้บังคับ แต่ให้ใช้การจูงใจ พูดคุย เตรียมความพร้อมลูกก่อนจะแยกห้องนอน อาจารย์เสนอว่า ให้ลูกตกแต่งห้องนอนของตัวเอง เลือกข้าวของเครื่องใช้ด้วยตัวเขาเองทั้งหมด ค่อย ๆพูดจูงใจไปเรื่อยๆ ที่แนะนำเช่นนี้ เพราะอาจารย์ให้เหตุผลเรื่อง เด็ก ๆ จะได้ก้าวไปอีกขึ้น ลดความรู้สึกพึ่งพึงพ่อแม่ลง เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และตัดปัญหาเรื่องการมี sex ของพ่อแม่ ซึ่งเด็กโตแล้วลูกอาจตื่นขึ้นมาเห็นได้

ข้อนี้เป็นอีกข้อที่ฟังแล้วหนักใจ ด้วยข้อจำกัดของตัวเองหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใจตัวเองและลูก ทุกวันนี้ยังนอนกอดกันทุกคืน บางทีแค่แยกที่นอน ตื่นมาก็มานอนกอดแม่ทุกเช้า อีกทั้งเรื่องความจำกัดของพื้นที่ในบ้าน ฯลฯ อีกทั้งมองว่า เด็กแต่ละคนมีจังหวะชีวิตต่างกันเนาะ ไม่รู้เข้าข้างตัวเองไปไหม ทุกวันนี้หลังจากฟัง ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ แต่คิดๆๆๆ เอาไว้ในใจก่อน

6.การเพิกเฉย ไม่สนใจกับอารมณ์ใด ๆ ของลูกที่เป็นลบ ข้อนี้คิดว่าหลายบ้านต้องเคยอ่าน เคยผ่านตา เคยฟังมาเยอะแล้วเหลือเพียงทำได้หรือยังเนาะ

7.สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง แต่ต้องไม่ตำหนิ คือการสอนให้รู้จักของชื่ออารมณ์ต่าง ๆ เช่น โกรธ ดีใจ เสียใจ ฯลฯ ข้อนี้ก็เจอกันบ่อยอีกล่ะ

8.ต่อรองก่อนตกลง และเมื่อตกลงแล้ว ให้มีกติกากำกับ เช่น พูดคุยกันเรื่องกำหนดวัน และชม.ในการเล่นเกมส์ ให้ชัดเจน โดยให้ลูกเสนอด้วยนะคะ เช่น ลูกอาจขอว่า เล่นวันละ 2 ช.ม. เราอาจต่อรองว่า แม่ขอว่าเป็น วันละ 1 .30 น.ได้ไหม หากลูกตกลง ก็ตามนี้และคุยกันต่อว่า แล้วหากลูกผิดข้อตกลงควรรับผิดชอบอย่างไร ปกติแม่ดาวจะให้ลูกเสนอบทลงโทษของตัวเอง

9.การให้ลูกวางแผนและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เป้าหมายต้องมาก่อนการวางแผนเสมอ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ควรปฏิเสธความฝันลูก หากลูกตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินจริง เพราะลูกจะเรียนรู้ที่จะปรับเป้าหมายใหม่ให้ตรงตามความเหมาะสมด้วยตัวเอง

10.เสนอทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจกว่า แทนที่วิธีเดิม เช่น เห็นลูกกำลังจะเทน้ำเล่นลงพื้นบ้าน บอกลูกว่า “พอดีเลยค่า ลูกช่วยแม่รดน้ำต้นไม้ให้หน่อยนะคะ ต้นไม้กำลังหิวน้ำพอดี” จับมือชวนลูกมารดน้ำต้นไม้

11.ให้ลูกเล่นกีฬา เป็นการฝึกการมีวินัยที่ดีมากอีกวิธีหนึ่ง

12.ให้ลูกเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นการปลูกฝังเรื่องศีลธรรม และความรับผิดชอบชีวิตผู้อื่น

13.พาลูกไปทำกิจกรรมจิตอาสาอื่น ๆ

14.สอนให้ลูกรู้จักการใช้เงินและการออม เช่น หากลูกสามารถบวกลบเลขได้แล้วควรให้เงินลูกเป็นรายอาทิตย์ ทั้งนี้เพื่อให้เขาฝึกบริหารจัดการเงินของตัวเขาเอง โดยอาจารย์แนะนำว่าที่ให้ควรเป็นเงินที่ให้เขาใช้ทั้งหมด ทั้งในวันหยุด และวันไปเรียน มีการทำสมุดเบิก-ถอนคล้ายธนาคาร อาจทำเป็นกล่องไว้ใส่กุญแจไว้ ให้ลูกเขียนเบิกทุกเย็น ไม่ต้องลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะลูกจะเบื่อ ให้ลงแค่ รับเท่าไหร่ ใช้เท่าไหร่ ออมเท่าไหร่ สั้น ๆ อีกทั้งเป็นการฝึกให้ลบ บวกเลยไปด้วยเนาะ

ต่อไปเป็นข้อความเร้าสตินะคะ

-ไม่มีเด็กขี้เกียจบนโลกนี้ มีแต่เด็กที่มีความจูงใจต่ำเท่านั้น ข้อนี้ฟังแล้วยิ้มได้เลยค่ะ ลองคิดดูนะคะ ถ้าเราไปบอกลูกว่า “หนูเป็นเด็กที่ขี้เกียจจัง” หรือ “ทำไมหนูขี้เกียจแบบนี้นะ” มันเหมือนไปตีตราว่าเขาเป็นเช่นนี้ ฟังแล้วเด็กอาจรู้สึกว่าก็เราเป็นคนแบบนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากเปลี่ยนเป็นใช้ความเข้าใจ ว่า ลูกเป็นเด็กที่มีแรงจูงใจต่ำ แบบนี้ฟังแล้วเหมือนมีหวังในชีวิตเนาะ คือหากถ้ามีแรงจูงมากพอเขาก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทำสิ่งดี ๆ ได้

-ยิ่งเรายุ่งกับลูกมาก ลูกก็จะยิ่งมีปัญหามาก

-เลี้ยงลูกให้เหมือนคนโง่เลี้ยงลูก พ่อแม่มักแสดงความฉลาดตอบแทนลูกไปแทบทุกเรื่อง หรือมักป้อนคำตอบให้ลูกง่าย ๆ โดยที่ลูกยังไม่ทันได้ศึกษาค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง เป็นการปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ของลูก

-เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือทำ มกกว่าการอ่าน หรือฟังเรื่องราว

-ความผิดพลาดเป็นธรรมดาของการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นครั้งแรก

-ปัญหาที่มีอยู่ไปแก้ให้หายไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือสร้างนิสัยดี ๆ ขึ้นมาใหม่แทน

-เด็กสมาธิสั้น การกินยาไม่ได้รักษาให้หาย เพียงแต่ช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น

-พ่อแม่มีหน้าที่ทำให้ลูกมีความสุข

-ลูกนิสัยไม่ดีให้เดินหนี นิสัยดีให้เข้าหา

-คนมักได้ยินคำว่า “ไอ้ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” อันที่จริงเดี๋ยวนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น “ไอ้ลูกพ่อแม่สั่งสอนเยอะ” ขำ ๆ ค่ะ ชอบเลยเก็บมาฝากให้ฉุกคิด

เหล่านี้ เป็นการเลือกมาเฉพาะบางประเด็นที่แม่ดาวเห็นว่าอยากจะส่งต่อนะคะ จริง ๆ รายละเอียดเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฮอร์โมน การทำงานของสมอง หน้าต่างแห่งโอกาสการเรียนรู้ ฯลฯ ซึ่งคิดว่าหลาย ๆ ท่านก็คงเคยอ่านๆ หรือ รู้กันมาบ้างแล้ว ในเนื้อหาที่สรุปนี้ จริง ๆ ก็คิดว่าหลายท่านก็รู้กันแล้วด้วยซ้ำแต่เป็นการตอกย้ำให้สติมากกว่าเนาะ

โดยสรุปรวมแล้วอาจารย์รณสิงห์ เน้นให้เราตามใจลูกแบบมีวิธีการที่เหมาะสม อันนี้ตามความเข้าใจของตัวเองนะคะ ข้อมูลที่ได้อ่านก็เป็นการฟังและถ่ายทอดตามประสาแม่ดาวอีกนั่นแหละ อาจไม่ใช่ข้อมูลดิบ100% เช่นตัวอย่างบางอันก็ยกเองตามความเข้าใจ

อ่านแล้วได้ประโยชน์อย่างไร ก็เก็บไว้ใช้กันเนาะ อ่านแล้วคิด นำไปปรับใช้กันเอาเองจ้า  

หมายเลขบันทึก: 573020เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท