คณะเกษตรฯ มข. อบรมหลักสูตร Q อาสาให้เกษตรกรเพื่อเป็นเกษตรกรเปรื่องปราด


เกษตรกรผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ และขั้นตอนการจัดการระบบการผลิตที่ดีในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และสามารถถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นได้

         คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร Q อาสา มุ่งสู่การพัฒนาเกษตรกรเปรื่องปราด( Smart Farmer)ให้แก่กลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงสำหรับส่งออกของจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 50 คน ณ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักปลอดภัย อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น จำนวน 50 คน ณ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน พ.ศ.2557
         การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร Q อาสา มุ่งสู่การพัฒนาเกษตรกรเปรื่องปราด(Smart Farmer) ให้แก่กลุ่มเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้เกษตรกรและผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ และขั้นตอนการจัดการระบบการผลิตที่ดีในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ให้มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นการสร้างเครือข่าย Q อาสา และสามารถถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชอาหารปลอดภัยแก่ผู้อื่นได้
         โดยทีมวิทยากรจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน ดร.เกษสุดา เดชภิมลรศ.ดร.เพชรรัตน์ ธรรมเบญจพล ผศ.ดร.กิริยา สังข์ทองวิเศษผศ.ดร.อุบล ตังควานิช ดร.ชุตินันท์ ชูสาย คุณดวงสมร ตุลาพิทักษ์ คุณฐิติพร พิทยาวุธวินิจ คุณรัติกาล ยุทธศิลป์ คุณศรีนวล คณานิตย์ คุณพรพิศ ชูสอน และคุณพัทรภรณ์ ตอพล และวิทยากรจาก มกอช.ได้แก่ คุณจิรนันท์ วาสุเทพรังสรรค์ และคุณญาณินสิริ ถิ่นนคร ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ในการจัดฝึกอบรมเป็นอย่างดี 
         การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice: GAP) คือ แนวทางการปฏิบัติในไร่นา เพื่อผลิตสินค้าปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และคุณภาพถูกใจผู้บริโภค เน้นวิธีควบคุมและป้องกันการเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตตามระบบ GAP มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลผลิตมีคุณภาพปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรค เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
         เกษตรกรที่ต้องการสมัครรับการรับรอง GAP พืช จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด 8 ประการ เพื่อให้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรอง ดังนี้
          1.ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสะอาด ไม่มีการปนเปื้อนจากสารพิษหรือสิ่งที่เป็นอันตราย
          2.ปลูกในพื้นที่ดี ไม่มีเชื้อโรค ไม่มีสารพิษในดิน พื้นที่ปลูกไม่เคยเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม โรงเก็บสารเคมี คอกสัตว์ หรือเป็นที่ทิ้งขยะมาก่อน
         3.ใช้และเก็บ ปุ๋ย สารเคมีถูกต้อง แยกออกจากที่พักอาศัย และจัดเป็นหมวดหมู่ไม่ปะปนกัน มีป้ายกำกับชัดเจน รวมถึงการใช้สารเคมีด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด
         4.ปฏิบัติและดูแลรักษาพืชในแปลง ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนควบคุมคุณภาพ
         5.สำรวจศัตรูพืชและป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง
         6.เก็บเกี่ยวผลผลิตถูกเวลา ถูกวิธี
         7.ขนย้ายและเก็บรักษาผลผลิตสะอาด ปลอดภัย
         8.จดบันทึกทุกขั้นตอน

ขอบคุณที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/259954

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : ข้อมูลข่าว/ภาพ
กิตติศักดิ์ สิงหา : วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่


หมายเลขบันทึก: 572137เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2014 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2014 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท