การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ตอนที่ 1


1.ความหลากหลายของวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ และวินัยในเชิงวิชาการ

เมื่อตอนผมเรียนการพัฒนาชนบทศึกษาตอนนั้นผมได้เรียนการวิจัยเชิงคุณภาพ พร้อมกับการทำงานภาคสนามภาคสนามที่ผมได้ไปทำนั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆในภาคอีสาน ขณะทำภาคสนามนั้นผมพบว่ามีวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพอยู่หลายวิธี แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำถามของผมมีอยู่ว่า1. ทำไมจึงมีความหลากหลายในการวิจัยเชิงคุณภาพ

การวิจัยเชิงคุณภาพคือการศึกษาชีวิตทางสังคม(social life) หรือวัฒนธรรม (culture)[1] ในวิถีชีวิตปกติของคน คำว่าการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมหรือวัฒนธรรมเป็นไปตามแนวคิดหรือทฤษฎีต่างๆในการวิจัยเชิงคุณภาพย่อมมีหลายแนวคิดหลากทฤษฎีจึงส่งผลให้มีการตีความและมีมุมมองที่หลากหลายในเรื่องชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมนอกจากนี้คำถามที่ปรากฏในงานวิจัยย่อมส่งผลต่อการใช้แนวคิดทฤษฏีในการวิจัยด้วย

การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันบางครั้งก็เชื่อมโยงซึ่งกันบางครั้งก็ทับซ้อนกัน บางครั้งต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและบางครั้งก็ขัดแย้งซึ่งกันและกันด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดีการวิจัยเชิงคุณภาพจะต้องไม่มีการเสนอกรอบโครง (framework) อันเดียวเสนอแก่ผู้อ่าน แต่จะเสนอกรอบความคิดหลากหลายกรอบซึ่งเป็นไปตามแนวคิดทฤษฎีอันหลากหลายนั่นเอง

ตอนนี้ขอสรุปไว้ก่อนว่าการวิจัยเชิงคุณภาพในปัจจุบันนี้ย่อมใช้เทคนิควิธีวิเคราะห์ที่แตกต่างกันและนำไปสู่การมีมุมมองที่แตกต่างกันไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็เพราะว่าทฤษฎีหนึ่งย่อมให้แต่ความคิดเห็นอย่างเดียวอย่างไรก็ตามในชีวิตจริงย่อมไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอนเช่นคนคนหนึ่งยักคิ้วหลิ่วตาให้กับคนอีกคนหนึ่ง การยักคิ้วหลิ่วตามีหลายความหมายเช่น พวกเขาอาจตกลงกันว่าจะทำอะไรบางอย่างร่วมกัน หรือพวกเขาอาจทักทายกันเฉยๆก็ได้

เมื่อเราพิจารณาวรรณกรรมในการวิเคราะห์การวิจัยเชิงคุณภาพเราจะพบว่ามีคำบางคำที่เราถือว่ามีความสำคัญ เช่น การแปลง (transforming), การตีความ (interpreting),การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงคุณภาพ (making sense of qualitative data) แต่วิธีการที่จะแปล หรือตีความมีได้หลายวิธีซึ่งก็หมายถึงการมีวิธีการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีวิธีการวิเคราะห์ที่หลากหลายแต่ผู้วิเคราะห์ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาวินัยในเชิงวิชาการไว้ด้วย (scholarlydiscipline) ในหนังสือเรื่อง MakingSense of Qualitative Data ซึ่งเขียนโดย Coffey และ Atkinson พวกเขาได้เขียนว่า “สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงวิธีวิจัย (approaches)ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ นั่นแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า การแปลงการตีความข้อมูลเชิงคุณภาพ (ที่มีวินัยทางวิชาการ) เพื่อให้เรารับรู้ความสลับซับซ้อนของโลกทางสังคม(social world) หรือวัฒนธรรม จึงมีความสำคัญยิ่ง

วิธีการวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับวินัยทางวิทยาศาสตร์มีโจทย์ที่สำคัญ ดังนี้ 1.สิ่งที่ยุ่งยากและเคร่งเครียดที่สุดในการวิจัยเชิงคุณภาพก็คือวิธีการวิเคราะห์นั้นไม่มีความชัดเจน ผิดกับการวิจัยเชิงปริมาณที่มีคำแนะนำให้ผู้วิจัยเป็นขั้นเป็นตอน2. เมื่อนักวิจัยมาเจอข้อมูลเชิงคุณภาพแล้วมีวิธีการอะไรที่จะเป็นตัวป้องกันการหลอกตนเอง (self-delusion) ยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องการนำเสนอข้อสรุป (conclusion) ที่อาจผิดหรือไม่น่าเชื่อถือ คำถามที่ถามทั้งหมดก็คือ ทำอย่างไรที่ข้อค้นพบที่นำเสนอต่อสาธารณะชนจึงเป็นข้อสรุปที่โต้แย้งไม่ได้ และมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์[2]โดยทั่วไปแล้ว วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องมีลักษณะ 1. มีวินัยในเชิงวิชาการ 2.เป็นระบบ 3. มีการบรรยายทุกขั้นตอน 4. ปฏิบัติตามได้แต่คำถามหลักๆในการประเมินการวิจัยก็คือ ทำอย่างไรนักวิจัยจึงจะได้ข้อสรุป (conclusion) จากข้อมูลนั้น หากไม่มีคำตอบต่อข้อคำถามดังกล่าวหรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือหากเราไม่สามารถบรรยายวิธีวิเคราะห์ที่มีลักษณะพินิจพิเคราะห์ต่อข้อมูลแล้วหละก็ก็ยากที่จะหาความมั่นใจในข้อสรุปของเราด้วยเช่นเดียวกัน

การวิจัยเชิงประจักษ์ทั้งหมด(empirical research) จะต้องปัญหานี้จุดแข็งข้อหนึ่งของงานวิจัยเชิงปริมาณก็คือวิธีการวิเคราะห์เป็นที่รับรู้กันทั้งผู้วิจัยและคนอื่นๆและวิธีวิเคราะห์นั้นคนเกือบทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้สิ่งนี้จะก่อให้เกิดการผลิตซ้ำ (reproducibility) นั่นแปลว่าหากผู้วิเคราะห์คนที่ 2ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณกับข้อมูลชุดเดียวกับข้อมูลชุดที่ผู้วิเคราะห์คนที่ 1 ใช้(ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน) ใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงสถิติชุดเดียวกัน ผลการวิเคราะห์ต้องออกมาเหมือนกันกับคนที่1 ใช้ อย่างไรก็ตามเกณฑ์ในเรื่องการผลิตซ้ำกลายมาเป็นสิ่งที่โต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในวรรณกรรมแต่การพัฒนาในเรื่องวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นมีการพัฒนาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแต่พัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพมิได้สิ้นสุดแค่ความเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นดังนี้ก็เพราะ มีนักวิจัยบางคนใช้ปรัชญาแบบหลังสมัยใหม่ (postmodern) ที่ยึดถือญาณวิทยาแบบสัมพัทธ์นิยม (relativist epistemology)[3] หรือบางคนใช้วิธีการวิจัยแบบวาทกรรมวิเคราะห์(discourse analysis) หรือสัญญวิทยา (semiotics) เป็นต้น

หนังสืออ้างอิง

Keith F. Punch (1998). Introduction to SocialResearch: Quantitative and Qualitative Approaches. London: Sage Publication

[1]วัฒนธรรม คือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ การจัดความสัมพันธ์นั้นย่อมเกี่ยวข้องกับอำนาจเสมอ

[2]ลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์มีลักษณะ ดังนี้ 1. มีความคงที่ (consistency) 2. มีความน่าเชื่อถือ (reliability) 3. เป็นปรนัย (objectivity)

[3]สัมพัทธนิยมถือว่า ความดีความชั่วไม่ได้อยู่ที่การกระทำของบุคคล แต่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม

หมายเลขบันทึก: 570373เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท