บทความวิจัย "ภูมิปัญญาดนตรีจีนชุมชนบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม"


ภูมิปัญญาดนตรีจีนชุมชนบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

Chinese Music Wisdom in Bang-Luang Community Bang-Luang District,

Nakhon Pathom Province.

โดย ปิยนาถอิ่มดี[1]*

PiyanartImdee1*

[1] อ., โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภักนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000

* Corresponding author: e-mail: [email protected]Tel.086-3112587

บทคัดย่อ

ผลการศึกษาพบว่า เครื่องดนตรีจีนของคณะรวมมิตรบางหลวงมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1) ประเภทบุ๋น เป็นเครื่องดนตรีชนิดสาย 2) ประเภทบู้ เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างความหึกเหิม สำหรับเคาะจังหวะ และรวบรวม องค์ความรู้ที่ได้ มาพัฒนาเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง ซึ่ง มี 8 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1) หลักการและ เหตุผล 2) แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม 3) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 4) โครงสร้างของหลักสูตรฝึกอบรม 5) คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 6) การจัดกิจกรรมการฝึกอบรม 7) สื่อการฝึกอบรม 8) การวัดและประเมินผล และผลการทดลองใช้หลักสูตรฯ ผู้เข้ารับการอบรมมีผลการประเมินความรู้ความตระหนักและทักษะในการปฏิบัติงานมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดนตรีจีน คิดเป็นร้อยละในภาพรวมได้ 73.6 แสดงให้เห็นว่ามีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 70

คำสำคัญ : ภูมิปัญญาดนตรีจีน วัฒนธรรมดนตรีจีน มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ชุมชนบางหลวง

The results showedthatThe Chinese instruments ofRuamMittr Bang Luang band are divided into 2 groups 1) The soft typewhich is stringed instrument and 2) The hard group type which is the instruments to build martial feeling. After collecting and analyzing data about Chinese Music Culture at Bang Luang, we can conclude that there are 8 important components to develop training program for local Chinese music tour guides at Bang Luang 1) Principle and reason, 2) Fundamental concept to develop training program, 3) Objectives of curriculum, 4) Structure oftraining programs, 5) Qualification of training program participants, 6) Training program activity set up, 7) Training program media and 8) Measurement, evaluation and result of curriculum usage. The trainees have overallknowledge, realization and skill evaluation to be local Chinese Music tour guides for the percentage of 73.6. This shows that the trainees past the training according to the criteria which is 70 percent

Keywords:Chinese MusicalWisdom,Chinese MusicalCulture,Local Tourist Guide, Bang-Luang Community

บทนำ

ชุมชนบางหลวงเป็นชุมชนชาวไทย-จีน ซึ่งเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ ร.ศ. 122 เป็นชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นที่ผสมกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีน และสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี โดยคนในชุมชนยังคงรักษาเอกลักษณ์ด้านต่าง ๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ดนตรีจีนเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชุมชนบางหลวงที่มีคุณค่า เป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ ยังคงอนุรักษ์ไว้ และเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของบางหลวงที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ แต่ในขณะเดียวกันกระแสดนตรีสากลดนตรีร็อก เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนมากขึ้น ส่งผลให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ของชุมชนละเลยองค์ความรู้และภูมิปัญญาของดนตรีจีน ทำให้คนในชุมชนเกรงว่าองค์ความรู้และวัฒนธรรมนี้จะเลือนหายไปกับกระแสทุนนิยมโลกปัจจุบัน

ประมาณปี พ.ศ. 2526 ดนตรีจีนชุมชนบางหลวงได้รับความนิยมน้อยลง ผู้ที่สามารถเล่นดนตรีจีนได้มีจำนวนลดลงน้อย จึงทำให้วงดนตรีจีนของชุมชนเริ่มสูญหายไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 มีคนไปพบเครื่องดนตรีจีนในโรงเจบ้วนฮกตึ๊ง และมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูดนตรีจีนของชุมชนขึ้นมา เพื่อให้ดนตรีจีนของชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้งและมีการบริหารจัดการงบประมาณและการทำงานในการฟื้นฟูดนตรีจีนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ก่อตั้งวงดนตรีจีนของชุมชนตลาดบางหลวงที่มีชื่อว่า “วงรวมมิตรบางหลวง” ขึ้นมา โดยวงรวมมิตรบางหลวงได้จัดกิจกรรม ของท้องถิ่นขึ้นหลายกิจกรรม อาทิเช่น สอนดนตรีจีนให้เด็กและเยาวชนในชุมชน ร่วมแสดงดนตรีจีนในงานวันเกิดเจ้าแม่ทับทิมงานแห่ธงตรุษจีน งานแสดงงิ้ว และงานเทศกาลกินเจ นอกจากนั้นยังเป็นงานอื่นๆ ทั้งงานแต่งงาน งานแสดงความเคารพศพ ส่งศพถึงสุสาน เป็นต้น โดยไม่เรียกร้องค่าจ้างหรือค่าตอบแทนเลย ด้วยการแสดงดนตรีจีนในงานต่างๆ นั้นทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน วงดนตรีจีน “รวมมิตรบางหลวง” ได้สร้างชื่อเสียงด้วยการแสดงดนตรีจีนให้กับชุมชนจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของตำบลบางหลวง

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องราวและวัฒนธรรมของเจ้าบ้านและผู้มาเยือน นอกจากนี้เจ้าบ้านยังต้องมีความสามารถและทักษะการสื่อสารเรื่องราวความคิดของผู้มาเยือนไปพร้อมๆ กับความสามารถที่จะสื่อสารความคิดและเรื่องราวและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองไปยังผู้มาเยือน มัคคุเทศก์ท้องถิ่นซึ่งเปรียบเสมือนเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงทุนทางวัฒนธรรม ประเพณีภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเป็นผู้สะท้อนเอกลักษณ์ของดนตรีจีนที่น่าจดจำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส และเรียนรู้วัฒนธรรมดนตรีจีนของชุมชนบางหลวงอีกด้วย

ดังนั้น ผู้วิจัยและผู้นำชุมชนบางหลวงจึงร่วมกันเก็บรวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภูมิปัญญาดนตรีจีนของชุมชนบางหลวง และนำองค์ความที่ได้นั้นมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น สำหรับเด็กและเยาวชนของชุมชนบางหลวง เพื่อให้ที่มีความสามารถและมีทักษะในการสื่อสารทางวัฒนธรรมดนตรีจีนบางหลวงกับคนในชุมชนด้วยกันเอง ตลอดจนสื่อสารให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้อีกด้วย

วิธีการวิจัย

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภูมิปัญญาดนตรีจีนของชุมชนบางหลวง และ 2) สร้างหลักสูตรการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ที่มีความสามารถและมีทักษะในการสื่อสารวัฒนธรรมดนตรีจีนบางหลวงกับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวทำการศึกษาในพื้นที่ชุมชนบางหลวง อ. บางเลน จ. นครปฐม ระหว่างเดือน มิถุนายน 2553-พฤษภาคม 2554 มีการดำเนินทางวิธีวิจัย ดังนี้

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

1.1 ประชากร ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1.1.1กลุ่มผู้ส่งสาร หมายถึง เจ้าบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสื่อสารภูมิปัญญาดนตรีจีนบางหลวงประกอบด้วย ผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ ทั้งที่เป็นผู้นำตามธรรมชาติและผู้นำที่เป็นทางการที่มีบทบาทในการพัฒนาดนตรีจีนของชุมชนบางหลวง ปราชญ์ชาวบ้านด้านดนตรีจีนบางหลวง กลุ่มนักดนตรีจีนวงรวมมิตรบางหลวง และประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางหลวง

1.2.1กลุ่มผู้รับสาร หมายถึง นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากงานวิจัยหรือได้รับประโยชน์จากงานวิจัย

1.2กลุ่มตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.2.1กลุ่มผู้ส่งสาร โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ซึ่งกำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

1)เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านดนตรีจีน ได้แก่ เหล่าซือเฉ่าบู้แซ่ลิ้ม ครูดนตรีจีน

2)เป็นผู้นำชุมชนที่มีบทบาทหลักในการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมภูมิปัญญาดนตรีจีนของชุมชนบางหลวง ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการตลาด จำนวน 3 คน นายกเทศมนตรีฯ ผู้อำนวยการกองการศึกษา และนักวิชาการประชาสัมพันธ์ประจำเทศบาลตำบลบางหลวง จำนวน 3 คน

3)นักดนตรีจีน วงรวมมิตรบางหลวง ได้แก่ นายวิรุฬเหลี่ยววงศ์ภูธร หัวหน้าวงดนตรี สมาชิกดนตรีจีนรุ่นที่ 2 จำนวน 1 คน สมาชิกดนตรีจีนรุ่นที่ 3 จำนวน 5 คน และสมาชิกดนตรีจีนรุ่นที่ 5 จำนวน 5 คน

4)กลุ่มเยาวชนที่เข้ารับการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 30 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 20 คน ได้จากการเปิดรับสมัคร

1.2.2กลุ่มผู้รับสาร โดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญจากนักท่องเที่ยวจำนวน 90 คน

2. การเก็บรวบรวมข้อมูล

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ดังนี้

2.1ศึกษาชุมชนในประเด็นประวัติความเป็นมาของชุมชน และภูมิปัญญาดนตรีจีนบางหลวง โดยใช้แนวคำถามประกอบการสัมภาษณ์รายกลุ่มและรายบุคคล

2.2ร่างหลักสูตรการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง โดยจัดประชุม จำนวน 2 ครั้งและทำการสนทนากลุ่ม (focus group) เมื่อร่างเนื้อหาเรียบร้อยแล้วผู้วิจัยใช้แบบประเมินความเหมาะสมขององค์ประกอบของหลักสูตรฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง

2.3 ทดลองใช้หลักสูตร โดยจัดการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง และประเมินผลความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯโดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจ และประเมินความรู้ ทักษะของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยใช้แบบประเมินทักษะการปฏิบัติงาน ตามรูปแบบการประเมินของ Rubrics และ แบบทดสอบความรู้ก่อน หลังการฝึกอบรม

3.การวิเคราะห์ข้อมูล

3.1 วิเคราะห์ความเหมาะสมของหลักสูตร โดยการหาค่าเฉลี่ย (Arithmetic mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)

3.2วิเคราะห์ผลการทดลองใช้หลักสูตรของผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยการหาค่าร้อยละ

3.3 วิเคราะห์ผลความพึงพอใจที่มีต่อหลักสูตรฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น โดยการหาค่าเฉลี่ย (Arithmetic mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)

ผลการวิจัยและอภิปรายผลการวิจัย

การศึกษาครั้งนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีจีนของชุมชนบางหลวงสำหรับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น หลังจากรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีจีนบางหลวงแล้วได้สรุปข้อมูลด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง ที่สามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง เพื่อสร้างมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่มีความสามารถและทักษะในการสื่อสารวัฒนธรรมดนตรีจีนบางหลวงกับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บริบทชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง

1.ประวัติความเป็นมาของบางหลวง

ชุมชนบางหลวงนั้นสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่เมืองอู่ทองยังคงเป็นราชธานี ดังมีบันทึกสถานที่แห่งนี้ไว้ในนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่และเรียกชุมชนย่านนี้ในนามว่า “บางหลวง” อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเกี่ยวกับชุมชนบางหลวงชุมชนคือ ชุมชนตลาดบางหลวงเริ่มก่อตั้งตลาดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2446 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนด้านฝั่งตะวันตกในยุคแรก ได้มีชาวจีนโล้สำเภามาจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินมามุ่งสู่เมืองไทย ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่ามีชาวจีนหลายกลุ่ม ทั้ง ตึ่งนั้ง จีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง จีนฮกเกี้ยนและจีนแคะ โดยชาวจีนเหล่านี้ได้ทำการประกอบอาชีพด้านกสิกรรม ทำให้กลายเป็นกลุ่มชน ในการผลิตพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ จากนั้นจึงพัฒนามาเลี้ยงสัตว์ และทำการประมงเพิ่มเติม จากนั้นจึงรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อทำการค้าขาย และขยับขยายจนกลายเป็นย่านการค้า คนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แถบนครชัยศรีส่วนใหญ่มีอาชีพขายแรงงานรับจ้างทำงานสารพัดอย่าง ทั้งขุดคลอง เป็นกุลีโรงสีข้าวและโรงงานน้ำตาล ด้วยมีหลักฐานปรากฏว่าแรงงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิตน้ำตาลนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อมีเงินก็จะประกอบอาชีพที่ตนเองถนัด เช่น ชาวจีนแต้จิ๋วจะถนัดเรื่องการค้าขาย ชาวจีนแคะจะถนัดเรื่องงานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างตีเหล็ก ช่างทอง ช่างบัดกรี เป็นต้น

ชุมชนบางหลวงมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ ทำให้มีแซ่ต่าง ๆ ประมาณ 50 แซ่ แต่ที่มีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ แซ่ลิ้ม แซ่ลี้ แซ่ตั้ง แซ่เตียว แซ่ปึง เป็นต้น โดยชาวจีนหรือเจ๊ก ที่บางหลวงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พวก คือ

1)เจ๊กตลาด จะมีอาชีพค้าขาย และมีช่างอาศัยรวมอยู่ด้วย ได้แก่ ช่างตีเหล็ก ช่างทอง ช่างฟันโบราณ ช่างบัดกรี เป็นต้น

2)เจ๊กไร่ มีอาชีพทำสวน ซึ่งเจ๊กไร่จำนำผลผลิตมาขายที่ตลาด และส่งลงเรือไปยังกรุงเทพฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าท้องถิ่นที่นำเข้าไปบางกอก

3) เจ๊กโรงหมู มีอาชีพเลี้ยงหมูและฆ่าหมูขาย

2.ประวัติความเป็นมาของดนตรีจีนบางหลวง

จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของดนตรีจีนบางหลวง พบว่า ดนตรีจีนบางหลวงมีประวัติการเล่นที่ยาวนาน ประมาณไม่ต่ำกว่า 80 ปี เกิดขึ้นโดยชาวจีนในชุมชนทั้ง 3 กลุ่มที่มีความสามารถทางดนตรีมารวมตัวกันเล่นดนตรีในช่วงเย็น วัตถุประสงค์เพื่อให้คลายความคิดถึงบ้านของคนจีนที่อพยพมา ต่อมากลุ่มของอาจารย์กิมตี้แซ่ไหล ได้ก่อตั้งวงดนตรีจีนของชุมชนตลาดบางหลวงขึ้น โดยใช้เครื่องดนตรีจีนส่วนตัวที่นำติดตัวมาจากเมืองจีนบางคนก็สั่งซื้อเครื่องดนตรีจีน ด้วยการฝากเพื่อนที่เดินทางกลับประเทศจีนซื้อกลับมาให้ ประมาณปี พ.ศ. 2526 ดนตรีจีนได้รับความนิยมน้อยลง ผู้ที่สามารถเล่นดนตรีจีนได้มีจำนวนลดลงน้อย จึงทำให้วงดนตรีจีนของชุมชนเริ่มสูญหายไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 มีคนไปพบเครื่องดนตรีจีนในโรงเจบ้วนฮกตึ๊ง และได้มาบอกกับกลุ่มรักดนตรีจีน ได้แก่ อาจารย์พิบูลย์ เลิศมโนรัตน์คุณวิรุฬเหลี่ยววงศ์ภูธร อาจารย์ชาลีศรีพุทธาธรรม ฯลฯ จึงได้ปรึกษาหารือกันถึงวิธีการฟื้นฟูดนตรีจีนของชุมชนบางหลวงเพื่อให้ดนตรีจีนของชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จึงได้ขอเงินสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนเจี้ยนหัว จำนวน 40,000 บาท จัดซื้อเครื่องดนตรีจีน (ฝ่ายบุ๋น) ให้กับชุมชน และมีการบริหารจัดการงบประมาณและการทำงานในการฟื้นฟูดนตรีจีนขึ้นและได้ก่อเกิดวงดนตรีจีนของชุมชนตลาดบางหลวงที่มีชื่อว่า“วงรวมมิตรบางหลวง”เป็นต้นมานอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชนหลายๆ ท่านเช่นผู้ใหญ่สมศักดิ์ อยู่มากที่ให้ความสนใจและมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมดนตรีจีนให้สืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป จึงได้จัดหาสถานที่ให้เด็กได้ใช้เวลาว่างมาฝึกเล่นดนตรีจีนที่บ้านดนตรีจีนสมาชิกวงดนตรีรวมมิตรบางหลวงนั้นมีจำนวนมากกว่า 100 คน แต่เนื่องจากสมาชิกเป็นนักเรียน เมื่อจบการศึกษาจะไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอื่นทำให้สมาชิกต้องออกไปเนื่องจากไม่มีเวลาเรียนส่งผลให้วงดนตรีมีปัญหาในเรื่องสมาชิกไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องครูที่จะสอนดนตรีจีน เนื่องจากครูรุ่นเก่าได้เสียชีวิตไปแล้ว

วงรวมมิตรบางหลวงได้จัดกิจกรรมร่วมกับท้องถิ่นขึ้นหลายกิจกรรม อาทิเช่น สอนดนตรีจีนให้เด็กและเยาวชนในชุมชน ร่วมแสดงดนตรีจีนในงานวันเกิดเจ้าแม่ทับทิมงานแห่ธงตรุษจีน งานแสดงงิ้ว และงานเทศกาลกินเจ นอกจากนั้นยังเป็นงานอื่นๆ ทั้งงานแต่งงาน งานแสดงความเคารพศพ ส่งศพถึงสุสาน เป็นต้น โดยไม่เรียกร้องค่าจ้างหรือค่าตอบแทนเลย ด้วยการแสดงดนตรีจีนในงานต่างๆ นั้นทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน วงดนตรีจีน “รวมมิตรบางหลวง” ได้สร้างชื่อเสียงด้วยการแสดงดนตรีจีนให้กับชุมชนจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของตำบลบางหลวง

3.ภูมิปัญญาท้องถิ่นดนตรีจีนบางหลวง

เอกลักษณ์สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ดนตรีจีนของชุมชนบางหลวง “รวมมิตรบางหลวง”คือการใช้โน้ตดนตรีจีนโบราณ ที่มีอายุมากกว่า 4,000 ปี เป็นตัวอักษรจีน (ภาพที่ 1) ที่ไม่บอกความสั้นยาวของเสียง ลักษณะจังหวะ สูง-ต่ำจะไม่ปรากฏอยู่ในเพลง

                                             

 

หมายเลขบันทึก: 569916เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2014 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2014 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้บริบทของชุมชนทั้งหมดเลยครับ

ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องดนตรี

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท