“ปรัชญา ศาสนา การเมือง” ควรชวนคุยกันไหม


มีผู้คนทั่วไป เชื่อต่อๆกันมาว่า ถ้าคิดจะคบกันต่อไป ไม่ควรพุดคุยกันในเรื่อง “ปรัชญา ศาสนา การเมือง” เพราะคุยๆไป เดี๋ยวได้ลุกขึ้นมาทะเลาะวิวาทกัน จนถึงเลิกคบกันไปในที่สุด แม้แต่เป็นเพื่อนที่สนิทกันมานานก็ตาม

คนที่คิดว่าเรื่อง 3 เรื่องเป็นสิ่งไม่ควรพูดถึง เพราะเป็นเหตุทำให้คนทะเลาะกัน ถ้าเราแอบฟังเขาคุยกัน (ห้ามร่วมวงคุยครับ) เราจะได้ยินอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้คุยกันตามหลักคิด หรือกรอบประเด็นต่างๆ แต่เขาคุยกันด้วย "ความรู้สึก" ที่ชอบไม่ชอบ อย่างนี้ดีกว่าอย่างนั้น อย่างนั้นไม่ดี เชื่อ(กู)เหอะ เป็นอย่างนี้ทุกวงที่คุยกัน

ถ้าคุยกันแบบนี้ รับรองได้เลยว่าต้องทะเลาะกันอย่างแน่นอน แต่จะถึงขั้นลุกขึ้นมาต่อยกัน ตบตีกัน ฆ่ากัน ก็อยู่กับการ “อยากเอาชนะ” กันขนาดไหน ถ้าอยากเอาชนะมากรับรองได้ว่าเลือดตกยางออกแน่นอนครับ

ทั้งนี้ ก็เพราะบุคคลในวงสนทนาพูดคุย เขาจะให้ทุกสิ่งสอดคล้องกันไปหมด และทั้ง 3 สิ่งต้องให้คำตอบที่แน่นอนเป็นบรรทัดฐานได้กับเขา

ที่จริง ทั้ง “ปรัชญา ศาสนา การเมือง” ล้วนมีที่มามาจากพื้นฐาน “การคิด” เหมือนกัน เป็นการคิดที่อยากแก้ปัญหาตามที่ตนเองข้องใจหรือสงสัย ที่แตกต่างกัน เพราะมุมมองต่อ “ปัญหา” เกิดจากอะไรต่างกัน เช่น คนๆหนึ่ง คิดว่า ปัญหาของตนเองเกิดจาก “สังคม หรือสิ่งแวดล้อมไม่ดี” เขาก็จะกลายเป็นนักสังคมไป ถ้าบางคนเชื่อว่า ปัญหาเกิดจาก “การปกครองไม่ดี” ไม่ช้าเขาก็จะกลายเป็นนักรัฐศาสตร์ไป แต่ถ้าบางคนเชื่อว่า ปัญหาชีวิตเกิดจาก “ใจที่ไม่ดี” เขาก็จะกลายเป็นนักการศาสนาไปในที่สุด

ทั้งปรัชญา ศาสนา การเมือง มีหลายอย่างที่สอดคล้องกัน บางอย่างก็สอดคล้องกันในแง่หลักการ บางอย่างก็ในแง่เป้าหมาย บางอย่างก็ในแง่กระบวนการ บางอย่างก็ในแง่วิธีการ ไม่ได้สอดคล้องกันทุกเรื่อง หรือทุกประเด็น

ถ้าเข้าใจว่า จะคุยเรื่องปรัชญา ศาสนา การเมืองในแง่ไหน แง่อะไร โอกาสที่จะทะเลาะกันมีน้อยมาก ดังนั้น ถ้าทุกคนมี "หลัก" ในการคิด การพูด ชีวิตหรือสังคมก็ไม่ค่อยวุ่นวาย หรือต้องมาทะเลาะกัน แบ่งแยกชนชั้น แบ่งแยกสีเสื้อ แบบทุกวันนี้มากหรอกครับ

แต่ที่วุ่นวายกัน มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะคนส่วนมากสับสนทั้งความคิด ความต้องการ ง่ายๆ ก็คือ ชีวิตหรือสังคมต้องมีหลัก หรือมีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมีหลักหรือเป้าหมายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ทุกอย่างมีขอบเขตข้อจำกัด ได้อย่างหนึ่ง ก็ต้องเสียอย่างหนึ่ง แต่...เพราะจะเอาผลทั้งหมด ไม่ยอมรับความผิดพลาด หรือข้อจำกัด

ตัวอย่างเช่น การเมือง ถ้าเราตกลงกันให้ได้ว่า ประเทศไทยจะเอาการเมืองแบบ “ผู้แทน” หรือ แบบ “ผู้นำ” ก็จบได้ แต่ที่ไม่จบก็เพราะ ในสังคมไทยคนส่วนหนึ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลทางด้านความคิด หรือวิถีชีวิต เขาจะเอาแบบ “ผู้นำ” เขาไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย แต่...เขาไม่สามารถต้านทานความเจริญของโลกได้ เขาจึงจำยอมให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งอย่างนี้ก็วุ่นวายแน่ เพราะมันผิดฝาผิดตัว ผิดทั้งหลักการ เป้าหมาย กระบวนการ วิธีการแล้วละครับ

เพราะถ้าเราเลือก “ผู้นำ” เราก็ต้องเลือกคนดี มีคุณธรรม (ทำนองมีทศพิธราชธรรม หรือ จักรพรรดิราชาวัตรนั่นแหละครับ ประเภทต้องเป็นคนที่ฝึกฝนอบรมมาอย่างดี) มานำเรา ซึ่งสังคมแบบนี้ ต้องใช้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเท่านั้น เพราะคนที่เขาต้องการเป็น “ผู้นำ” เขาจะรับผิดชอบวิถีชีวิตของเราทุกอย่าง ก็เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูกนั่นแหละครับ พ่อแม่ต้องเป็น “พรหม หรือ เทวดา” ให้ได้ เพื่อนำชีวิตลูกให้ประสบแต่สิ่งที่ดี

แต่ระบอบประชาธิปไตย เขามุ่งให้เราเลือก “ผู้แทน” ไปทำงานให้เรา เขาไม่ได้มุ่งหมายให้เราเลือก “คนดี” มานำวิถีชีวิตเราครับ

สังคมที่น่าจะนำความสุขมาให้กับคนในสังคม คือ สังคมที่มีหลัก หรือเป้าหมาย และมีวิธีการกระบวนการที่ชัดเจน ทำหรือพัฒนาตามลำดับความสำคัญมากน้อยต่อสภาพเหตุการณ์จริง ต่อเป้าหมาย และความจำเป็นของสังคม และคนในสังคม

ส่วนสังคมที่ไม่ดี นำปัญหา หรือทุกข์ให้กับคนในสังคม คือ สังคมที่อยู่กันด้วยความรู้สึก อารมณ์ ความคิดเห็น ไม่ได้อยู่ด้วยข้อเท็จจริง หรือสภาพความจริง ขาดเป้าหมายหลักการที่ชัดเจน ทำทุกอย่างที่ใครว่าดี บางครั้งก็เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาทำก็สับสนเดี๋ยวทำอันนั้นเดี๋ยวทำอันนี้ ไม่เสร็จไปทีละเรื่องทีละด้านตามลำดับความสำคัญมากน้อยต่อเป้าหมายของสังคม

หมายเลขบันทึก: 569643เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท