ความชอบธรรม : ทฤษฎีทั่วไป และความชอบธรรมในรัฐไทย ตอนที่ 7


2. ความชอบธรรมทางการเมือง หมายถึงอะไร (ต่อ)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในบทความเรื่องการเมือง ความชอบธรรม สิทธิอำนาจ กล่าวถึงอำนาจที่ชอบธรรมว่ามีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน ได้แก่

1. อำนาจนั้นใช้ตรงกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่กล่าวคือให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ซึ่งคำว่ากฎเกณฑ์นี้อาจจะเป็นกฎเกณฑ์ที่เขียนขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรหรืออาจจะเป็นกฎเกณฑ์ประเพณีที่คนรู้กันโดยทั่วไป โดยเราจะพบว่าในบางสังคมนั้นมีความพยายามทำให้กฎเกณฑ์บางอย่างมันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งหรือในกรณีที่เราบอกว่าการกระทำบางอย่างมันไม่ชอบธรรมก็เพราะว่ามันไปขัดต่อกฎเกณฑ์บางอย่างเข้าแต่ทั้งนี้เรื่องมันก็อาจจะซับซ้อนขึ้นถ้าในสังคมนั้นมีกฎเกณฑ์ที่อาจจะขัดกันเองนั่นแหละครับเช่นที่เขียนไว้ก็อย่างหนึ่ง แต่ที่ไม่เขียนไว้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

2. กฎเกณฑ์ที่มันจะอธิบายและเป็นฐานในการอ้างอิงถึงความชอบธรรมนั้นมันจะต้องถูกอธิบายและให้เหตุผล(justified)โดยการอ้างอิงถึงความเชื่อที่มีร่วมกับสำหรับผู้ที่ใช้อำนาจและถูกปกครองซึ่งในแง่นี้มีหลายเงื่อนไขที่ทำให้เราต้องพิจารณา และหลักรัฐศาสตร์ก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

พูดอีกอย่างก็คือ สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้วการอ้างว่าอะไรถูกกฎเกณฑ์หรือผิดกฎเกณฑ์ รวมทั้งอะไรถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายนั้น มันไม่เพียงพอที่จะอธิบายว่าสิ่งนั้นมันชอบธรรมตราบจนกว่าเราจะอธิบายหรือให้เหตุผลกับมันได้ไม่ใช่บอกว่าเพราะมันเป็นกฎหรือกฎหมาย หรือเพราะว่า"กฎหรือกฎหมายมันว่าไว้อย่างนั้น" พูดต่อในเรื่องนี้ก็คือเวลาที่จะบอกว่าเราต้องเชื่อฟังและเคารพกฎอะไรสักอย่าง มันก็ต้องอธิบายว่าทำไมเราจึงต้องเคารพกฎนั้นไม่ใช่บอกว่าเพราะว่ามันเป็นกฎเจ้าจงเชื่อฟังและส่วนนี้ก็คือจิตวิญญาณทางการเมืองในแง่ของการถกเถียงกันด้วยว่าทำไมกฎหรือกฎหมายเหล่านั้นจึงจะสร้างประโยชน์ให้กับเราและทำให้เรายอมตามและเชื่อมั่นและเชื่อฟังในกฎเกณฑ์นั้น

สรุปตรงนี้ก่อนว่า อำนาจที่มีความชอบธรรมนั้นจะต้องเป็นอำนาจที่ถูกอธิบายว่ามีที่มาอย่างไร (อาทิหากจะอธิบายด้วยการเมืองสมัยใหม่แล้ว จะต้องอธิบายว่ากฎเกณฑ์หรือกฎหมายทั้งหลายมาและเชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้อย่างไรในขณะที่สมัยก่อนอาจจะอธิบายว่ามันชอบธรรมเพราะมันมาจากตัวผู้ปกครองที่สูงส่งกว่าเราเป็นต้น)หรืออำนาจนั้นถูกใช้จากคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการใช้อำนาจนั้นซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายที่ปกครองและถูกปกครองรวมทั้งอำนาจนั้นจะถูกใช้อย่างชอบธรรมก็ต่อเมื่อเรามองเห็นว่าโครงสร้างของอำนาจและการใช้อำนาจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยทั่วไปของทุกคนมากกว่าของคนกลุ่มเดียว(ตรงนี้พึงต้องระวังว่าถ้าการใช้อำนาจนั้นจะอ้างว่าใช้เพื่อเสียงข้างมากอย่างเดียวก็คงไม่พอยิ่งในสังคมที่เสียงข้างมากอาจมีอำนาจน้อย ก็ยิ่งไม่พอไปกันใหญ่นั่นก็คืออาจไม่ชอบธรรมในสายตาของผู้มีอำนาจมากที่มีจำนวนน้อย ไม่ใช่ในมุมของผู้มีอำนาจน้อยแต่มีจำนวนมาก)เช่นในยุคนี้สังคมก็มักมีการวิพากษ์และวิจารณ์คำพิพากษาว่าแต่ละข้อกฎหมายที่นำมาใช้ตัดสินว่าเหมาะสมหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ สอดคล้องกับความผิดหรือไม่และทำไมต้องเชื่อถือข้อกฎหมายนั่น มากกว่าที่จะรับรู้ว่าผิดมาตราไหน พูดอย่างให้ง่ายก็คือสังคมมีการวิพากษ์และวิจารณ์องค์กรอิสระต่างๆว่า ใช้อำนาจนั้นชอบธรรมแค่ไหน กล่าวอีกอย่างก็คืออำนาจนั้นจะชอบธรรมหรือไม่ก็ต่อเมื่อเราสามารถอธิบายมันได้ว่าเรามีความเชื่อร่วมกัน(sharedbelief) ในเรื่องนั้นได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องความเชื่อร่วมกันนี้ก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปได้อาทิ ในสังคมที่เคยเชื่อร่วมกันในความไม่เท่าเทียมเราก็อาจจะมีการให้เหตุผลกับการใช้อำนาจในแบบหนึ่งแต่ถ้าสังคมเกิดเชื่อร่วมกันแล้วว่าคนมันเท่ากันการอธิบายและให้เหตุผลในการใช้อำนาจนั้นก็ย่อมเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง

3. อำนาจที่ชอบธรรมในแบบที่สามก็คือ จะต้องมีการยินยอม (consent) ต่อการใช้อำนาจของผู้ที่ถูกปกครองหรือใช้อำนาจนั้นอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระทำสัตย์สาบาน การลงนามในเอกสารหรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งเองก็ถูกมองว่าเป็นหลักฐานของการยินยอมต่อการใช้อำนาจหรือการยืนยันถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจ

จากการให้คำนิยาม “ความชอบธรรมหรือความชอบธรรมทางการเมือง”ทั้งหมดข้างต้น สามารถประมวลสรุป ได้ว่า ความชอบธรรม หมายถึง มุมมองของคนในสังคมที่มีต่อ1.รัฐชาติ (ประเทศ) 2. ระบอบการปกครอง และ 3. ผู้ปกครอง ใน 3 แง่มุมกล่าวคือ 1. เป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรือ กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 2.กฎเกณฑ์หรือกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวสามารถชี้แจงได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ 3. ประชาชนทั่วไปยอมรับกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย และรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นกรณีให้การยอมรับว่ามีความชอบธรรมจะส่งผลให้เพิ่มระดับความมีเสถียรภาพของรัฐ ระบอบปกครอง และผู้ปกครอง ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นกรณีไม่ให้การยอมรับว่ามีความชอบธรรมความมีเสถียรภาพของรัฐ ระบอบปกครอง และผู้ปกครองคงลดลงจนอาจถึงขั้นล่มสลายได้

เดี๋ยวมาต่อตัวชี้วัดทางการเมืองนะครับ

หมายเลขบันทึก: 569175เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 05:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 05:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท