การผลิตครูสาขาที่ถูกมองข้าม


เราจะพัฒนาเด็กไทยให้รักการอ่านได้อย่างไร หากห้องสมุดในโรงเรียนจำนวนมากขาดการพัฒนา ขาดบรรณารักษ์มืออาชีพที่ต้องสร้างสรรค์กิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ เข้ามาใช้

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความเรื่องการผลิตครูสาขาที่ถูกมองข้าม ของ ศาสตราจารย์ ดร.ฉวีลักษณ์ บุณยะกาญจน  เลยหยิบยกบทความมาฝากทุกๆท่านครับ
          ต้นตอของปัญหาการศึกษา ที่ถูกมองข้าม ไม่ว่าในหน้าหนังสือพิมพ์หรือการประชุมของผู้บริหารที่มีบทบาททางการศึกษามักจะพูดถึงสาขาที่ควรลดการผลิต สาขาที่ผลิตเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้มองถึงต้นตอแห่งปัญหาเลย นั่นคือแหล่งการศึกษาค้นคว้าไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง และทั้งยังขาดบุคลากรในการที่จะมาดำเนินการให้ห้องสมุดในแต่ละหน่วยงานการศึกษาขาดการศึกษาค้นคว้า จะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศ เขาจะส่งเสริมการอ่านเด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เล็กจนโตรู้จักรักการอ่าน รู้จักการค้นคว้า ฐานะเศรษฐกิจในบ้านบางครอบครัวไม่มีหนังสือและไม่มีโอกาสแนะนำการอ่านของเด็ก แต่ทำไมเราไม่ช่วยโดยการพัฒนาการอ่านของเด็กตั้งแต่เริ่มอนุบาล รัฐช่วยให้เด็กได้รู้จักการรักการอ่าน รู้จักการค้นหนังสืออ่าน นั่นคือ มีห้องสมุดที่ดี มีบรรณารักษ์ที่ดี มีทรัพยากรในการอ่านที่ดี เรื่องห้องสมุดรัฐประกาศมาทุกยุคทุกสมัย แต่วูบวาบมาแล้วก็ไม่เคยจริงจัง แม้แต่บรรณารักษ์ บรรณารักษ์ควรทำหน้าที่เป็นทั้งครูและเป็นบรรณารักษ์ไปด้วย ซึ่งเขาทั้งเป็นครูบรรณารักษ์ ไม่ใช่พูดว่าเป็นบรรณารักษ์ และหนักเข้าก็ให้เจ้าหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ทำให้แหล่งค้นคว้าด้อยคุณภาพสำหรับเด็กไปมาก ถ้าเราสอนให้เขาเป็นครูบรรณารักษ์ แล้วให้ครูบรรณารักษ์สอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าเหล่านี้ เช่น วิชาการใช้ห้องสมุด รักการอ่าน วิชาค้นคว้า การทำรายงานการอ้างในการค้นคว้า ซึ่งวิชาเหล่านี้จะเป็นสิ่งติดตัวไปถึงการเรียนรู้ในระดับสูงและใช้ได้ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะผลิตครูในสาขาอะไรก็ต้องใช้การศึกษาค้นคว้าเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
           การอ่านเป็นหน้าที่หลักของครูบรรณารักษ์ที่ต้องทำหน้าที่ คงต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า วันนี้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับครูบรรณารักษ์น้อยมาก ทั้งที่ความสำคัญยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่มิใช่น้อย ด้วยเหตุผลหนึ่งในหลายเหตุผลที่ว่าการจะพัฒนาเด็กไทยให้รักการอ่านได้ ห้องสมุดที่มีบรรณารักษ์มืออาชีพช่วยได้ สภาพทุกวันนี้มีทั้งการรณรงค์ มีการทำโครงการรักการอ่าน จัดประกวดให้รางวัลกันนั้นเป็นเพียงความฉาบฉวยเอาใจบรรดาท่านผู้นำที่มีอำนาจเท่านั้นเอง ปัญหาขาดความต่อเนื่องในการดูแลห้องสมุดในโรงเรียนหลายแห่งส่งเสริมกิจกรรมห้องสมุดทุ่มงบประมาณให้ห้องสมุดในช่วงที่มีการประกวดห้องสมุดเพื่อชิงรางวัลต่างๆ เมื่อได้รางวัลแล้วแทนที่จะคิดพัฒนาสานต่อให้เป็นหนึ่งของการเรียนการสอนและเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ กลับถอยหลังไปยิ่งกว่าที่เคยเป็น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผู้บริหารจำนวนไม่น้อย นอกจากไม่ให้ความสำคัญกับครูบรรณารักษ์แล้วยังปล่อยให้ห้องสมุดอยู่กันตามยถากรรมอีกด้วย ปล่อยให้ห้องสมุดเป็นเพียงห้องเก็บหนังสือ ขาดชีวิต ไร้การรังสรรค์กิจกรรมและช่วยกระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่าน ทั้งๆ ที่เวลานี้มีการพัฒนาก้าวไกลด้วยโลกเทคโนโลยีเข้ามาเสริมสร้างให้ทันสมัย น่าตื่นเต้น น่าเข้าไปใช้ แบบมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากยุคสมัยเดิมอีกด้วย ดังนั้น จึงมีคำถามว่าเราจะพัฒนาเด็กไทยให้รักการอ่านได้อย่างไร หากห้องสมุดในโรงเรียนจำนวนมากขาดการพัฒนา ขาดบรรณารักษ์มืออาชีพที่ต้องสร้างสรรค์กิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ เข้ามาใช้ 

        นโยบายแห่งชาติมักจะพูดว่าปีนี้เป็นปีส่งเสริมการอ่าน เด็กต้องอ่านหนังสือ แต่ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มาก็ได้แค่เฝ้ามองว่าเรามีนโยบายอะไรที่เด่นชัด ทำอย่างไรการอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการที่จะปฏิรูปการศึกษา แต่ก็เป็นงานที่เรียบที่สุด คนไม่ตื่นเต้นเหมือนไอที แท็บเล็ต และการเตรียมภาษาอังกฤษสู่ประชาคมอาเซียน พื้นฐานการศึกษาของเราจะทำอะไรก็ทำเถิด โปรดอย่าลืมเรื่องการสนับสนุนการอ่านเลย และขออย่าทำอะไรเหมือนไฟไหม้ฟาง การสนับสนุนขอให้จริงจังและขอเป็นปีแห่งการอ่านจริงๆ ต้องการครูบรรณารักษ์ มาทำงานแต่ไม่ผลิต กระทรวงศึกษาธิการมองว่าบรรณารักษ์ไม่ใช่ครู จริงๆ ไม่ใช่ ถ้าเราผลิตครูบรรณารักษ์มาทำหน้าที่สอนในด้านที่เกี่ยวข้องที่กล่าวไปแล้ว ดูแลแหล่งค้นคว้า จัดหาทรัพยากรด้วยโดยให้ชั่วโมงสอนเขาน้อยลง จะทำให้เราเริ่มพัฒนาการอ่านเด็กอย่างจริงจัง กระทรวงศึกษาธิการต้องเริ่มแล้ว เมื่อ 3-4 ปีมานี้ กระทรวงศึกษาฯเคยพูดโดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามจัดสรรอัตราบรรณารักษ์ให้ครบทุกโรงเรียน รวมทั้ง กศน.ด้วย ซึ่ง กศน.ยังเป็นหน่วยงานที่ควรมีเพราะถึงประชาชนโดยตรงให้ได้ครบทุกโรงเรียนประมาณ 30,000 กว่าแห่งเป็นแบบครูบรรณารักษ์ ซึ่งค่อยบรรจุไปจะใช้เวลาบ้างก็ยิ่งดีกว่าไม่เริ่มต้น แต่ละยุคแต่ละสมัยก็เปลี่ยนความคิดไป ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ ความเลวร้ายเรื่องเด็กไม่อ่านหนังสือ อ่านหนังสือน้อย อ่านไม่เป็น ปลูกฝังมาแต่เด็กซึมซับ หลายประเทศเขาสอนเด็กให้อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และเก็บใจความแล้ว โปรดเถอะสนใจเรื่องใหญ่บ้าง ถ้าครูบรรณารักษ์มีสถานภาพเป็นครูสอน เชื่อเถอะเขาก็จะเต็มใจและทำงานให้กับเด็กเต็มที่ ถ้าเราทำได้ไม่ช้าเราจะต้องพบกับสิ่งที่น่ามหัศจรรย์เกิดขึ้น คือ ระดับการอ่านของเด็กไทยจะก้าวไกลกว่าที่คิด ต้องการครูบรรณารักษ์ แต่ไม่ดูแล เป้าหมายการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปีงบประมาณ 2554-2561 

        เป้าหมายปี 2561 คุณภาพผู้บริหาร ผู้บริหารสามารถบริหารแผนงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และพัฒนาห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ผู้บริหารเป็นผู้นำในการส่งเสริมรักการอ่านและส่งเสริมการใช้ห้องสมุด เป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่านและการใช้ห้องสมุด คุณภาพครู เป้าหมายปีงบประมาณ 2561 ครูบรรณารักษ์สามารถบริหารงานห้องสมุดและจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ครูบรรณารักษ์มีสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่มีคุณภาพและหลากหลาย ครูบรรณารักษ์บูรณาการการอ่านกับการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูบรรณารักษ์ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุด คุณภาพนักเรียน เป้าหมายปีงบประมาณ 2561 นักเรียนทุกคนเห็นคุณค่าของการใช้ห้องสมุด นักเรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืนและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ นักเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและจริยธรรม นักเรียนมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง คุณภาพโรงเรียน โรงเรียนทุกแห่งมีห้องสมุด 3 ดี (ครูบรรณารักษ์ดี ห้องสมุดดี สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ดี) ที่ทันสมัยและมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานห้องสมุดและตัวบ่งชี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และยังทำให้ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและให้บริการแก่ผู้ปกครองและชุมชน ประกอบกับเกณฑ์ประเมินความพร้อมการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษา ระบุชัดว่าต้องมีห้องสมุด บรรณารักษ์ ทรัพยากรสารสนเทศ ตลอดจนสื่อต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งแน่ใจว่าตัวบรรณารักษ์ก็ควรเป็นครูบรรณารักษ์ซึ่งสอนนักศึกษาในการค้นคว้า การอ่าน การเขียนรายงาน ฯลฯ ได้เช่นกัน 

       เราจะผลิตครูบรรณารักษ์อย่างไร กระทรวงศึกษาธิการต้องผลิตครูบรรณารักษ์ให้เกิดทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูบรรณารักษ์ที่ควรเรียนก็คือให้เรียน 5 ปี มีวิชาครูให้เพียงพอต่อมาตรฐานวิชาชีพครู ในปีสุดท้ายคือปีที่ 5 ให้ฝึกปฏิบัติงานและสอน มีวิธีการสอนการใช้ห้องสมุด การส่งเสริมการอ่าน วิชาครูที่เรียน การออกแบบและจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับครู ภาษาไทยสำหรับครู เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา การศึกษากับการพัฒนาสังคม การบริหารจัดการและภาวะผู้นำทางการศึกษา การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลทางการศึกษา สถิติและสารสนเทศทางการศึกษา จิตวิทยาพื้นฐานการศึกษาจิตวิทยาการอ่าน จิตวิทยาสำหรับครูและการศึกษาพิเศษ วิธีวิทยาการสอนวิชาห้องสมุด (ช่วยให้เด็กทำรายงานเป็น ผู้จักอ้างอิงข้อมูล เขียนรายงานที่เด็กนักเรียนในระดับต่างๆ ที่ทำในรายวิชาต่างๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในความซื่อสัตย์ทางวิชาการและเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กรักการทำวิจัยและอยู่กับข้อเท็จจริงจนเป็นนิสัย) ในด้านห้องสมุดควรมีบริการสารสนเทศ ห้องสมุดโรงเรียนหรือศูนย์สารสนเทศโรงเรียนการจัดระบบทรัพยากรสารสนเทศ บริการสารสนเทศและบริการอ้างอิง การวิเคราะห์สารสนเทศและการจัดหมวดหมู่ การจัดการห้องสมุด การจัดการสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาในห้องสมุด สารสนเทศในห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศในโรงเรียน เทคโนโลยีในการจัดการสารสนเทศ กลุ่มความรู้ในการเป็นครูบรรณารักษ์ เน้นหนักภาษาอังกฤษสำหรับครูบรรณารักษ์ การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน วรรณกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น สุนทรียภาพการอ่าน จิตวิทยาการอ่าน สารสนเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน กิจกรรมส่งเสริมการอ่านกลุ่มวิชาเลือก วิจัยในสารสนเทศศึกษา วิจัยในเรื่องพัฒนาการอ่าน การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ในงานสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเพื่อการศึกษา สื่อมวลชนและการประชาสัมพันธ์เพื่อการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด การเรียนรู้ด้วยการอ่าน เทคนิคการเล่าเรื่องและนิทาน อาเซียนศึกษา หลักสูตรดังกล่าวเป็นแค่เพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น ถ้าเรานำจำนวนหน่วยกิตและหลักการศึกษาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์จะทำให้ได้ครูบรรณารักษ์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้และการอ่านของเด็ก หลักสูตรนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นหลักสูตรที่ลงตัวมากในเรื่องศักยภาพของครูบรรณารักษ์ในอนาคต และเขาทำงานเป็นครูอย่างมีศักดิ์ศรี 

       ที่น่าดีใจก็คือ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามเริ่มแนวคิดที่จะผลิตบรรณารักษ์ศึกษา ขึ้นมาเป็นแห่งแรก อีก 5 ปี จะมีบัณฑิตรุ่นนี้ออกไปทำหน้าที่ครูบรรณารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการก็วางหลักเกณฑ์บรรจุครูบรรณารักษ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเข้าหลักเกณฑ์ สพฐ. ในปี 2561 ที่กล่าวแล้วข้างต้นพอดี เราขอปรบมือให้คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามที่มองการณ์ไกลในการที่จะเตรียมเด็กไทย พัฒนาการอ่านและเยาวชนสู่ประชาคมอาเซียนจากการรู้จักค้นหาความรู้และการอ่านอย่างแท้จริง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน 

หมายเลขบันทึก: 568812เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากให้มหาวิทยาลัยและ สพฐ ทำงานร่วมกัน ผลิตสาขาที่ขาดแคลนอันดับต้นๆเช่น

คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย

บางมหาวิทยาลัยผลิตคอมพิวเตอร์มากเกินไป

สพป  สพม รับแค่ 5 คน คนไปสมัครเป็นพัน

บรรณารักษ์ ถ้าผลิตนิสิตออกมา ฝากดูที่ทำงานของนิสิตในอนาคตด้วยครับ ไม่อย่างนั้นจะเป็นสาขาที่ตกงาน

ขอบคุณมากๆครับ

...ที่นี่บรรณารักษ์ เป็นอาชีพที่เงินเดือนสูงมาก...แต่ไม่ใช่ครูบรรณารักษ์นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท