ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


          ศักดิ์ศรี คือ การยอมรับของบุคคลในสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ที่ได้รับการยอมรับของสังคมมนุษย์และเรื่องดังกล่าวต้องเป็นเรื่องดีงามเท่านั้นเรื่องไม่ดี ไม่ให้รวมเรื่องศักดิ์ศรี แม้ว่าพฤติกรรมที่บุคคลกระทำนั้น หรือต้องการกระทำนั้นๆ อาจจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ได้ถือว่าเป็นเรื่องดีงาม สมควรยกย่องและต้องถือปฏิบัติเพื่อเป็นมติขององค์การ การยอมรับขององค์กรต่างๆ นั้นด้วยก็ได้ สิทธิเสรีภาพหรืออำนาจและหน้าที่ก็ถือเป็นศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน[1]

           จากกรณีศึกษาเด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำ (น้องนิค) น้องนิคไม่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนแต่มีหมายเลขประจำตัวนักเรียนของโรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์เกิดในประเทศเมียนมาร์โดยไม่มีหนังสือรับรองการเกิดและทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ปัจจุบันอายุ 19 ปี อาศัยอยู่ที่ศูนย์ทางเลือกการเรียนรู้สู่การพัฒนาและป้องกันชีวิตเด็ก”บ้านนานา” มูลนิธิพันธกิจเด็กและชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

           บิดาและมารดาของน้องนิคเป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ แต่ปัจจุบันมารดาถือสัญชาติเมียนมาร์โดยมีเอกสารประจำตัวที่รัฐเมียนมาร์ออกให้ บิดามารดาของน้องนิคเข้าประเทศไทยเพราะหลบหนีการต่อสู้รบระหว่างพันธุ์ไทยใหญ่กับทหารพม่าในปี พ.ศ.2532 แต่ก็ออกไปอยู่ประเทศเมียนมาร์จนให้กำเนิดน้องนิค ในปี พ.ศ. 2542 น้องนิคอายุ 3-4 ปี บิดามารดาพาน้องนิคเข้ามาประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารแสดงตนและน้องนิคก็ไม่มีเอกสารแสดงตนเช่นกัน มารดานำน้องนิคมาฝากไว้กับป้าที่จังหวัดตรัง และไม่ได้ดำเนินการเพื่อรับการสำรวจและมีบัตรประจำตัวใดๆ

          ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2555 น้องนิคเคยกรอกข้อมูลในแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรซึ่งสำรวจโดยโรงเรียน แต่ในที่สุดน้องนิคก็ถูกปฏิเสธจากอำเภอสิเกา น้องนิคจึงยังอยู่ในสถานะคนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร

           ปี พ.ศ.2556 น้องนิคได้พบมารดาที่พลัดพราก และข้ามไปฝั่งเมียนมาร์เพื่อจะอยู่กับมารดา แต่น้องนิคอยากศึกษาไทยประเทศไทยให้จบทำให้ตัดสินใจกลับมาเรียนต่อในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับการขจัดปัญหาความไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร อีกทั้งน้องนิดยังคงเข้าไม่ถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพ

         จึงมีประเด็นศึกษาเรื่องความไร้สถานะทางทะเบียน สิทธิในการศึกษา และสิทธิในหลักประกันสุขภาพ

          ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ[2]

          ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย

          ข้อ 15 (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง

          น้องนิคเกิดในประเทศเมียนมาร์แต่ไม่มีหนังสือรับรองการเกิดใดๆจึงไม่มีเอกสารแสดงตนกลายเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง คือทั้งไม่มีรัฐเจ้าของดินแดนและไร้สัญชาติ ไม่มีรัฐเจ้าของตัวบุคคล เมื่อน้องนิคเข้ามาประเทศไทย ตามปฏิญญาหากว่าประเทศไทยพบคนไร้รัฐจะต้องรับรองสถานะบุคคลให้แก่บุคคลนั้น น้องนิคจึงควรได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ทางอำเภอสิเกาไม่รับรองให้ ทำให้น้องตกเป็นคนไร้รัฐอยู่ อำเภอจึงมีการกระทำที่ขัดกับข้อ 6 แห่งปฏิญญาฯนี้

          ในเรื่องสัญชาติหรือรัฐเจ้าของตัวบุคคล เกิดในประเทศเมียนมาร์และบิดามารดาเป็นคนเมียนมาร์ น้องนิคมิได้มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ประเทศไทยจึงไม่ต้องให้สัญชาติไทยแก่น้องนิคแต่ต้องผลักดันให้น้องนิคมีสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักสายโลหิตและหลักดินแดน ตามข้อ15 ปฏิญญาฯนี้

          จากข้อเท็จจริง น้องนิคเข้าประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารแสดงตน น้องนิคจึงป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีข้อพิจารณาว่าขณะที่น้องนิคเข้าเมืองมานั้น บิดามารดาเป็นคนพาเข้ามา น้องนิคยังเป็นเด็กอายุ 3-4 ปีจึงไม่มีเจตนา จะจับน้องนิคไม่ได้

          ข้อ 26 (1)ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐานการศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับการศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูง ขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับ ทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม

          แม้น้องนิคจะเป็นบุคคลไร้รัฐหรือบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนและมิได้มีสัญชาติไทย อีกทั้งยังเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย น้องนิคก็อยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งย่อมมีสิทธิในการศึกษาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าวนี้ จากข้อเท็จจริงโรงเรียนก็ให้น้องนิคศึกษาในโรงเรียนได้ โรงเรียนจึงปฏิบัติตามข้อ 26 ของปฏิญญานี้ นอกจากนี้น้องนิคยังได้เป็นประธานนักเรียนของโรงเรียนเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง และหากน้องนิคประสงค์จะศึกษาในประเทศไทยต่อไปก็ต้องให้น้องนิคศึกษาต่อ

         ข้อ 25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน

          แม้น้องนิคจะเป็นคนไร้รัฐและไร้สัญชาติแต่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งย่อมมีสิทธิในการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนดังที่รับรองไว้ในปฏิญญาฯนี้ แต่เมื่อน้องนิคไม่ได้รับการบันทึกเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามที่ประเทศไทยสำรวจ น้องนิคจึงเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพที่ประเทศไทยให้แก่ผู้ที่ถูกบันทึกเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

          สรุปได้ว่าแม้คนคนหนึ่งจะไม่มีรัฐไม่มีสัญชาติหรือเป็นคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย บุคคลนั้นก็ยังมีความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนเท่าเทียมกัน ห้ามปฏิบัติเหมือนว่าบุคคลนั้นมิใช่มนุษย์ ได้รับสิทธิเสรีภาพ รัฐทุกรัฐต้องรับรองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับบุคคลนั้นแม้บุคคลนั้นจะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช่นสิทธิในการศึกษา ดังตัวอย่างกรณีของน้องนิค


[1] องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน.ความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์.[ออนไลน์]. http://www.ongkarn-leio.org/knonwlege.php. วันที่18 พฤษภาคม 2557

[2] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568478เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท