กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

                       ที่มา:http://www.chaibadancrime.com

ในปัจจุบันปัญหาการก่อการร้าย อาชญากรรม ปัญหาการค้ายาเสพติด ในสังคมมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมเพิ่มมากขึ้นคืออะไร เหตุใดผู้กระทำความผิดจึงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เราควรจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

โทษประหารชีวิตเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงถึงความจำเป็นว่าต้องมีอยู่หรือไม่จำเป็นมาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว 140 ประเทศ ขณะเดียวกันยังมี 58 ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งในประเทศเหล่านี้เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้จริง ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลางและหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย

ในอดีตการประหารนักโทษมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน โดยนับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 - 2552 กระทั่งวันที่ 18 ก.ย.2546 การประหารชีวิตด้วยปืนถูกยกเลิก แต่ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 ก.ย. 2546

เกิดกระแสในสังคมอย่างต่อเนื่องว่าผู้กระทำผิดร้ายแรงเหล่านี้สมควรแล้วหรือที่จะต้องถูกประหารชีวิตโดยเฉพาะในประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตตามกระแสโลก เนื่องจากการลงโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือ เป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตเป็นการสร้างความทรมานต่อร่างกายและจิตใจ และโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลง นอกจากนั้นแล้วโทษประหารชีวิตขัดต่อหลักปฏิญญาสากลข้อที่ 3 ที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสระและปลอดภัย และข้อที่ 5 ที่ว่า ไม่มีใครมีสิทธิข่มเหงทารุณเรา


ประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารยังคงมีการถกเถียงเรื่องโทษประหารอยู่ตลอดเวลาในสังคม โดยรัฐอ้างว่าเหตุที่ยังให้มีโทษประหารชีวิตจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ ก็คือ เพื่อเป็นการแก้แค้นตามหลักตาต่อตาฟันต่อฟันเป็นการชดเชยความรู้สึกของผู้เสียหายและคนที่ถูกทำร้ายที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ เป็นการทดแทนความผิดของผู้กระทำความผิดเป็นการป้องกันและปราบปรามไม่ให้ผู้อื่นกระทำความผิดในแบบเดิมซ้ำอีกเพื่อให้คนส่วนใหญ่หวาดกลัวเนื่องจากเป็นโทษที่รุนแรงที่สุด และเพื่อเป็นการตัดโอกาสไม่ให้ผู้นั้นกลับมากระทำความผิดได้อีก

โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม แต่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมองว่าโทษประหารชีวิตมีลักษณะที่โหดร้าย ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา อีกทั้งยังมีการวิจัยในเชิงวิชาการมาแล้วหลายครั้งว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถลดปัญหาการเกิดอาชญากรรมได้


ปัจจัยที่จะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้นคือพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพในเรื่องของความรวดเร็วในการจับกุมและความชัดเจน ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ต้องเข้มงวดกวดขัน และตรงไปตรงมายิ่งขึ้น ไม่ให้ผู้เสียหายรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความกังขาในกระบวนการยุติธรรมอย่างในหลายๆคดีที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ และคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ที่จริงแล้วผู้ที่มีโอกาสถูกลงโทษประหารชีวิตหากรับสารภาพ ศาลก็อาจลงโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทนอยู่แล้ว อีกทั้งโทษประหารชีวิตยังสามารถขออภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตได้ ซึ่งนับเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาของโทษที่สามารถทำได้อยู่แล้ว

หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชนก่อน อีกทั้งกระบวนการยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงจะต้องเตรียมความพร้อมมากพอสมควรเพราะหากสังคมยังเสื่อมโทรม คุณธรรมยังเสื่อมถอย การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง การยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจยังเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ เพราะจะยิ่งสร้างความช้ำใจให้กับเหยื่อมากขึ้นไปอีก

โดยในเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ICCPR) เคยวินิจฉัยว่า รัฐภาคีไม่จำเป็นต้องยกเลิกโทษนี้โดยสิ้นเชิง แต่ต้องบังคับใช้อย่างจำกัดเฉพาะหมวดคดีบางประเภท ซึ่งแปลว่าหากประเทศไทยสามารถหาโทษชนิดอื่นมาทดแทนโทษประหารชีวิตได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถรณรงค์ให้พักการใช้โทษประหารชีวิตได้ แต่หากยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วปรับเปลี่ยนเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทนอย่างที่หลายฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกัน ประเทศไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนการให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยเป็นการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการลดโทษและอภัยโทษ เพราะทุกวันนี้โทษจำคุกตลอดชีวิตของประเทศไทยเมื่อถึงเวลารับโทษจริงอาจถูกผ่อนผันและลดโทษจนเหลือเพียงจำคุกไม่เกิน 20 ปีก็พ้นโทษสู่โลกภายนอกได้แล้ว ซึ่งนักวิชาการมองว่านักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลาหลายปีจะสำนึกผิดและกลับตัวเป็นคนดีได้เมื่อออกมาสู่โลกภายนอก แต่ต้องยอมรับว่าในบางกรณีก็ไม่เป็นไปตามหลักวิชาจึงทำให้คนออกมากระทำผิดซ้ำ การจะยกเลิกโทษประหารหรือปรับเปลี่ยนเป็นโทษอะไรแทนนั้นจึงยังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกันรอบด้านสำหรับการหาทางออก เพื่อนำมาซึ่งบทสรุปที่ทุกคนมีความเห็นสมควรตรงกัน และเกิดความยุติธรรมมากที่สุด

อ้างอิง

1.)วิชัย เดชุติพงศ์,ข้อดีข้อเสียของโทษประหารชีวิตกับสังคมไทย,elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2555_10_25.pdf

2.)โทษประหารชีวิตความจำเป็นที่ต้องคงอยู่หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิก, http://www.dailynews.co.th/Content/Article/127538/โทษประหารชีวิต+ความจำเป็นที่ต้องคงอยู่+หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิก!%3F

3.)ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน,www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568444เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดูภาพการประหารชีวิตภาพเก่าๆ

โหดร้ายมากเลยนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท