NUKM : รายงานประจำปี


แต่ที่ทำกันไปได้เกินแผนเกินความคาดหมายของเราเองก็เนื่องจากโชคดีที่มี สคส. และพันธมิตร UKM ช่วยกันเสริมพลังซึ่งกันและกัน

NUKM : รายงานประจำปี

ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ
มหาวิทยาลัยนเรศวร

         สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้ให้โอกาสผมเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Knowledge Management, NUKM) ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3

         ครั้งแรก ผมใช้ชื่อเรื่องว่า “NUKM : การจัดการความรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร” เนื้อหาหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของ NUKM หรือความโชคดีของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีโอกาสได้ไปอยู่ใกล้กับกิจกรรมของ สคส. ที่กำลังทำให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ผมเขียนส่งให้ สคส. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “การจัดการความรู้ (Knowledge Management, KM)” ณ ศูนย์ฝึกอบรมบ้านผู้หว่าน จังหวัดนครปฐม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ “สึนามิ” เราจึงเรียกผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ว่า “รุ่นสึนามิ” เพื่อให้ง่ายกับการอ้างถึง ซึ่งโดยส่วนตัว ผมถือว่าการสัมมนาครั้งนี้เป็น Key step ของ NUKM ในรอบปี

         การสัมมนาเรื่อง KM ดังกล่าวจัดโดย สคส. จัดเป็นพิเศษให้กับสมาชิกเครือข่ายความร่วมมือด้าน KM ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management, UKM) สมาชิกในช่วงเริ่มต้นนี้ประกอบด้วย 5 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยนเรศวร) กับอีกหนึ่งสถาบันคือ สคส. ซึ่งท่านอธิการบดีทั้ง 5 มหาวิทยาลัย และท่านผู้อำนวยการ สคส. ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือในช่วงเช้าของวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ที่สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และตามด้วยการสัมมนาในช่วงบ่าย ณ ศูนย์ฝึกอบรมบ้านผู้หว่านซึ่งอยู่ไม่ไกลกันกับสถานที่ลงนามความร่วมมือ

         ครั้งที่สองเป็นบทคัดย่อ “NUKM : การจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร” ผมส่งให้ สคส. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้อ่านล่วงหน้าก่อนที่จะเดินทางมาเยี่ยมและให้คำแนะนำที่มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ในโครงการ “KM สัญจร” ของ สคส. เนื้อหาหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการด้าน KM ใน มน. ว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว ผลเป็นอย่างไร และกำลังจะทำอะไรต่อไป

         ทั้งสองเรื่อง ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้จาก blog (http://gotoknow.org/nurqakm) ซึ่งผมบันทึกไว้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548

         ในครั้งที่สามนี้ สคส. ให้โอกาสผมเขียนเรื่อง KM เพื่อนำลงในรายงานประจำปีของ สคส. ผมจึงขอเขียนเล่าทำนองว่าเป็นรายงานประจำปีด้าน KM ของ มน. โดยจะใช้ข้อมูลจากการประเมินตนเองด้าน KM ที่ มน. ได้จัดทำและส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาเล่าเป็นเนื้อหาหลัก ดังนี้  

         ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ให้คำรับรองการปฏิบัติราชการด้าน KM ไว้รวม 9 โครงการ/กิจกรรม ท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ในแผนยุทธศาสตร์ด้าน KM ของ มน. (http://www.nu.ac.th/office/quality) และเราได้ประเมินตนเองไว้ในระดับ 5 (คะแนนเต็ม 5) เนื่องจากเราได้ดำเนินโครงการ/ กิจกรรมครบตามแผนและแต่ละโครงการ/กิจกรรมประสบความสำเร็จด้วยดี

         ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราได้ทำเกินกว่าที่ได้ให้คำรับรองปฏิบัติราชการไว้มากและได้ผลเกินกว่าที่เราตั้งเป้าหมายไว้ การที่เราประเมินตนเองในระดับ 5 ไม่ใช่ว่าเรา เก่ง ดี หรือว่าเป็นเลิศด้าน KM แต่เป็นเพราะเราตั้งเป้าหมายและให้คำรับรองไว้ค่อนข้างต่ำ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ต่ำก็เนื่องจากเพิ่งเป็นปีแรกของการพัฒนาและวางระบบ แต่ที่ทำกันไปได้เกินแผนเกินความคาดหมายของเราเองก็เนื่องจากโชคดีที่มี สคส. และพันธมิตร UKM ช่วยกันเสริมพลังซึ่งกันและกัน

         โครงการ/กิจกรรมทั้ง 9 ที่ผมกล่าวถึงมีดังนี้ ครับ

         1. สรุปผลการประเมินคุณภาพภายในของทุกคณะวิชา (Teaching unit)และทุกหน่วยงาน (Non – teaching unit) ย้อนหลัง 5 ปี เป็น River Diagram และ Stair Diagram

         2. สนับสนุนให้ผู้บริหารเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการด้านการจัดการความรู้ 

         3. โครงการลงนามความร่วมมือ ”เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (UKM)”

         4. โครงการสัมมนาเพื่อสร้าง Chief Knowledge Officer (CKO) และ Knowledge Facilitator (KF) ระดับมหาวิทยาลัย

         5. สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร  สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง Community of Practice (CoP)

         6. โครงการประชุมทางวิชาการ เรื่อง "แนวคิด หลักการ และประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้"

         7. โครงการเสวนาสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  (UKM) ทุก 3 เดือน

         8. นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

         9. สรุปผลสัมฤทธิ์  ผลกระทบ  และแนวทางการดำเนินงานต่อไป

         ส่วนที่ผมจัดว่าเป็นส่วนที่เราช่วยกันทำจนเกินแผนเกินความคาดหมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ผม

         (1) ได้มีโอกาสดียิ่งที่ได้ไปนำเสนอเรื่อง NUKM ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย สคส. ครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 และได้รับ “เสื้อสามารถ” ของ สคส. มาเป็นตัวแรก และที่ดีกว่านั้นก็คือได้รับข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิมาปรับปรุงแนวคิดแนวปฏิบัติเป็นจำนวนมาก

         (2) ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องความก้าวหน้าของ NUKM ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการ “KM สัญจร” ของ สมศ. ที่มาเยี่ยม มน. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ได้รับข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะจำนวนมากเช่นกัน

         (3) มน. และสมาชิก UKM อื่น ๆ ได้มีโอกาสไปนำเสนอผลการดำเนินงานด้าน KM ในการประชุมทางวิชาการด้าน KM ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่โรงแรมมิราเคล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2548

         (4) ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่อง “NUKM : การประยุกต์ใช้ในสถาบันอุดมศึกษา” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ในงาน  University Fair 2005 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2548  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวอุดมศึกษาจำนวนมาก และหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายสัปดาห์ ได้นำไปสรุปเป็นบทความตีพิมพ์ลงในฉบับที่ 985 วันที่ 17-23 ตุลาคม 2548 หน้า D6 ในหัวข้อ “ติดจรวด KM แวดวงการศึกษารับมือสารพัดเกณฑ์วัดคุณภาพ”

         (5) ได้รับ “เสื้อสามารถ” จาก สคส. เพิ่มอีก 2 ตัว (รวม 3 ตัว ในรอบหนึ่งปี) จากรางวัล “สุดคะนึง”  ประจำเดือนสิงหาคม และกันยายน 2548 (สองเดือนติดต่อกัน) เป็นรางวัลที่ได้จากการเขียน blog (http://gotoknow.org/nurqakm)

         การประเมินตนเองที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงการประเมินในเชิงปริมาณเป็นหลัก ถ้าจะดูผลลัพธ์ดูความคุ้มค่าหรือผลกระทบจริง ๆ คงต้องให้บุคคลภายนอกช่วยกันประเมินด้วย

         ในปีงบประมาณต่อไปนอกจากจะยังคงทำกิจกรรมร่วมกับพันธมิตร UKM ต่อไปแล้ว เราตั้งใจที่จะเพิ่มกิจกรรมภายใน มน. ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างคนด้าน KM ให้ครอบคลุมพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานทั้ง Teaching unit และ Non – teaching unit

         เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผมขอสรุปว่า มน. กำลังอยู่ในช่วงปีแรกของความพยายามที่จะใช้หลักการและวิธีการของ KM มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ โดยเร่งดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายได้เห็นความสำคัญของความรู้ การเรียนรู้ และการนำเอาความรู้มาใช้ในการทำงาน และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติงานจริง เน้นดำเนินกิจกรรมในเชิงบวก โดยเริ่มต้นจากความสำเร็จต่างๆ  ซึ่งต่อมาจะมีผลทำให้เกิดการขยายและต่อยอดผลสำเร็จนั้นๆ ให้แพร่หลายทั่วไปทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันให้เกิดผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย และบรรลุเป้าหมายตามความมุ่งหวังในทุกๆ ด้าน ด้านที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษในช่วงเริ่มต้นนี้คือด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (QA) และด้านการวิจัย

         ก่อนจบ ผมต้องขอชี้แจงว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ KM ใน มน. เท่านั้น เท่าที่ผมสามารถเล่าได้ นอกจากตัวผมเองแล้ว ยังมีท่านอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากใน มน. ที่ได้นำเอาแนวคิดและหลักการของ KM ไปใช้ในการทำงาน หลายท่านอาจจะมีประสบการณ์และเล่าได้ดีกว่าผม ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามผลงานของท่านต่างๆ เหล่านั้นได้ใน NUKM blog (http://gotoknow.org/nuqakm)

         ขอบคุณครับ

 

หมายเลขบันทึก: 5683เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2005 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท