สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


     คนต่างด้าว หมายถึง ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ โดยการจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทยนั้นอาจใช้หลักเกณฑ์ในการแบ่งได้หลายประการ อาทิการแบ่งโดยเกณฑ์ในการเข้าประเทศโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือแบ่งโดยเกณฑ์สิทธิอาศัยอยู่

     การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครองด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐซึ่งโดยหลักแล้ว รัฐจะต้องอ้าง “เหตุ” เพื่อการเนรเทศคนต่างด้าวเสมอ โดยอาจมีหลายเหตุดังที่กล่าวไปข้างต้นผลในทางกฎหมายของคนต่างด้าวที่ต้องคำสั่งให้เนรเทศมีอยู่สองประการคือ บุคคลผู้นั้นจะต้องออกนอกราชอาณาจักรไทย และบุคคลผู้นั้นจะเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป

     ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน บัญญัติว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน

     ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บัญญัติว่า

1.บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซง

2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ประสงค์

     มาตรา ๕ พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 เมื่อปรากฏว่ามีความจําเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกําหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่งเมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคําสั่งเนรเทศเสียก็ได้

     เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 45 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

    จากกรณีศึกษาของนายสาธิต เซกัล สาเหตุที่ทำให้นายสาธิต เซกัลป์ โดนเนรเทศ ก็คือการที่นายสาธิต เซกัลป์ ขึ้นเวทีปราศรัย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาล จึงเกิดประเด็นที่น่าสงสัยคือ แม้นายสาธิต เซกัลป์ จะเป็นคนต่างด้าว แต่นายสาธิต เซกัลป์ไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ตลอดจนใช้สิทธิทางการเมืองเชียวหรือไม่อย่างไร

    แม้ว่านายสาธิต เซกัลจะไม่ใช่คนสัญชาติไทย แต่ก็ได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น นอกจากจะรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังได้รับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกด้วย 

    ดังนั้นนายสาธิต เซกัลป์ที่แม้จะเป็นคนต่างด้าว แต่ก็มีเสรีภาพที่จะแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือเรื่องอื่นใดๆก็ตาม หากรัฐไทยต้องการที่จะเนรเทศนายสาธิต เซกัลป์ออกนอกประเทศ ก็ควรพิจารณาถึงเหตุที่ให้เป็นข้ออ้างในการเนรเทศให้สอดคล้องหรือเหมาะสมกับหลักกฎหมายในเรื่องการเนรเทศไม่ให้ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้บัญยัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

    

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=30040

พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499  http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=...

กรณีตัวอย่างนายสาธิต เซกัล http://news.mthai.com/headline-news/316978.html

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=...

หมายเลขบันทึก: 568118เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท