ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย:สิทธิในการศึกษา

      ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่อยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย กล่าวคือ อยู่โดยไม่มีสิทธิอาศัย ซึ่งอาจรวมถึงคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติด้วย ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความต้องการทางเศรษฐกิจ การหนีภัยความตายจากการสู้รบ หรือกรณีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ เป็นต้น การเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายย่อมได้รับสิทธิหรือการคุ้มครองบางอย่างน้อยกว่าคนในชาติและผู้ที่เข้าเมืองมาโดยถูกกฎหมาย และแน่นอนว่าในจำนวนผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้นมีเด็กอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสิทธิในการศึกษาของเด็กที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากสิทธิการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับอย่างเสมอภาค กล่าวคือ เด็กจะต้องได้รับการศึกษาหรือเข้าถึงสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นเด็กต่างด้าวหรือเด็กไทย

      กรณีศึกษากรณีของน้องนิก นิวัฒน์ จันทร์คำ ซึ่งเกิดที่ประเทศเมียนม่าร์ มารดาเป็นคนไร้รัฐและไร้สัญชาติ น้องนิกเรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสิทธิที่น้องนิกจะได้รับจากรัฐไทย โดยเฉพาะสิทธิในการศึกษา เนื่องจากน้องนิกต้องการที่จะศึกษาต่อในประเทศไทย

      จากกรณีศึกษาข้างต้น ถึงแม้น้องนิกจะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าน้องควรที่จะได้รับการศึกษาและสามารถเข้าถึงการศึกษาที่รัฐไทยจัดให้ได้ เพราะการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งสิทธิในการศึกษายังได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR)ข้อ 26 (1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน และในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(CRC) ข้อ ข้อ 28 1.รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา และเพื่อที่จะให้สิทธินี้บังเกิดผลตามลำดับและบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน รัฐภาคีจะก) จัดการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายข) สนับสนุนการพัฒนาของการศึกษาระดับมัธยมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ จัดการศึกษาให้แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคนและดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เช่น การนำมาใช้ซึ่งการศึกษาแบบให้เปล่าและการเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่จำเป็นค) ทำให้การศึกษาในระดับสูงเปิดกว้างแก่ทุกคนบนพื้นฐานของความสามารถ โดยทุกวิธีการที่เหมาะสมง) ทำให้ข้อมูลข่าวสาร และการแนะแนวทางการศึกษาและอาชีพเป็นที่แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคนจ) ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน

      นอกจากกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังมีกฎหมายภายในรับรองสิทธิการศึกษาของบุคคลไว้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและนอกจากนี้ยังมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ให้ความเห็นชอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 คือการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำฐานข้อมูลเลขประจำตัว 13 หลักของบุคคลที่ไม่มีหลักฐานหรือไม่มีสัญชาติไทย และให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะแก่เด็กและเยาวชนที่หนีภัยจากการสู้รบ นอกจากสิทธิในการศึกษาแล้วสิทธิที่น้องนิกควรได้รับการรับรองในขั้นต้นคือสิทธิที่จะจดทะเบียนคนเกิดและสิทธิในสัญชาติ

อ้างอิงข้อมูล

ชุติมา สุขวาสนะ.ไร้สัญชาติ แต่ไม่ไร้สิทธิทางการศึกษา...จากนโยบายสู่การปฏิบัติของภาครัฐ (สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์).เข้าถึงได้จาก:http://www.education.kapook.com/view14188.html[ออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลวันที่ 13 พฤษภาคม 2557

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติห่วงเด็กข้ามชาติไร้โอกาสทางการศึกษา ชี้มีแค่ 20% เข้าถึงการศึกษาตามระบบ.เข้าถึงได้จาก:http://www.news.thaipbs.or.th/content/เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติห่วงเด็กข้ามชาติไร้โอกาสทางการศึกษา-ชี้มีแค่-20-เข้าถึงการ [ออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลวันที่ 13 พฤษภาคม 2557

เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชื่อและสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง การจดทะเบียนเกิดช่วยให้เด็กได้รับสิทธิทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การบริการทางกฎหมาย หรือบริการทางสังคมอื่นๆ. เข้าถึงได้จาก:  http://www.factsforlifethai.cf.mahidol.ac.th/protection/support05.php[ออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลวันที่ 13 พฤษภาคม 2557

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

[บันทึกวันที่ 13 พฤษภาคม 2557]

หมายเลขบันทึก: 567875เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท