ปัญหาสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการยุติธรรมไทย



“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความต้องการในการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยกันและกัน ทำให้มนุษย์แต่ละคนมีหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกันออกไป โดยสังคมตามความหมายนี้ หมายรวมถึงตั้งแต่สังคมขนาดเล็ก คือ ครอบครัว ไปจนถึงสังคมขนาดใหญ่ ดังเช่นประเทศ หรือโลก

 เมื่อเกิดการรวมตัวกันหรืออยู่ร่วมกัน แบ่งหน้าที่บทบาทกันทำ เป็นธรรมดาที่จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างกัน เหตุเพราะมนุษย์แต่ละคน เติบโตมาในสภาพสังคมที่แตกต่างกัน  ได้รับการศึกษา การอบรมสั่งสอนที่ไม่เหมือนกัน จึงมีความนึกคิดที่แตกต่างกัน สังคมจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้กลุ่มคนในสังคมยึดถือปฏิบัติในแนวเดียวกัน ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดในสังคมไม่ประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมนั้นๆ บุคคลนั้นย่อมจะถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ของสังคม ดังนี้ กฎเกณฑ์ของสังคมจึงเป็นกฎหมายที่สังคมตั้งขึ้นเพื่อใช้บังคับกับบุคคลในสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย

       ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับไปตามกฎเกณฑ์ของสังคมมีความยุติธรรม เพื่อไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียแก่คู่ความในคดี “กระบวนการยุติธรรม” จึงได้เกิดขึ้นและได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยข้าพเจ้าเชื่อว่า การเกิดขึ้นของกระบวนการยุติธรรมนั้น ย่อมมีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินคดีเมื่อมีข้อพิพาทเป็นไปอย่างยุติธรรม  การปฏิบัติต่อประชาชนเป็นไปโดยยึดหลัก การมี “มนุษยธรรมเป็นสำคัญ ไม่เกิดการเอนเอียงเลือกข้าง ทำให้ประชาชนทุกคน เกิดความมั่นใจว่าสังคมมีความเที่ยงธรรมให้แก่พวกเขา ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นใคร เพศใด สัญชาติใด นับถือศาสนาใด ประกอบอาชีพใด หรือยากดีมีจนเพียงใด กล่าวคือ แม้ในสังคมภายนอก พวกเขาบางคนอาจถูกดูถูกเหยียดหยามหรือเลือกปฏิบัติจากผู้ที่มีฐานะสูงกว่าทางสังคม ผู้ที่นับถือศาสนาต่างจากพวกเขา ต่างเพศ หรือต่างสัญชาติ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “ทุกคน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่าง เท่าเทียมกัน”  ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน

      อย่างไรก็ตาม การแยกเรื่อง จุดประสงค์ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟังดูเป็นนามธรรม ออกจาก ผล” ในทางปฏิบัติจริง ออกจากกันนับเป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสำคัญ กล่าวคือ ผลที่ปฏิบัติออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกับจุดประสงค์ของการเกิดขึ้นของกระบวนการยุติธรรมนั้น จะทำให้เราเห็นว่ากระบวนการยุติธรรม สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ตามจุดประสงค์นั้นๆได้จริงหรือไม่ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในทางปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรม สามารถมอบความเป็นธรรม รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนศรัทธาว่าความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันนั้นมีอยู่จริง ได้หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้ มีหลายประเด็นที่ข้าพเจ้าเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนจนบรรลุจุดประสงค์เช่นนั้นได้อยู่หลายประการ และบางเรื่อง นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน

      ก่อนที่คดีหรือข้อพิพาจที่เกิดขึ้นจะผ่านไปยังพนักงานอัยการและเข้าสู่การพิจารณาของศาล ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะเป็นหน่วยงานแรกที่รับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรมก่อนที่คดีหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจะผ่านไปยังพนักงานอัยการและเข้าสู่การพิจารณาของศาลจะทำการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนแล้วส่งเรื่องหรือสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป

ในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือตำรวจนี้ บ่อยครั้งที่สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของผู้ต้องหาถูกละเมิด ถูกทำลาย อย่างร้ายแรง โดยการกระทำทรมานจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การทำให้ขาดอากาศหายใจโดยการใช้ถุงดำครอบที่ศีรษะ บีบคอ กดทับด้วยหมอน กดหัวลงในน้ำ เชือกรัดคอ เตะ ต่อย ทุบ ตีที่ท้อง ตีด้วยไม้ที่ห่อด้วยผ้า จับศีรษะโขกกับกำแพง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ อาจทิ้งร่องรอยบาดแผลให้เห็นอย่างชัดเจนตามร่างกาย หรือในบางกรณี เจ้าหน้าที่อาจจะใช้วิธีการที่ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย เช่น อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูง หรือที่สว่างหรือมืดตลอดเวลา การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้ที่ถูกควบคุมตัวและบุคคลในครอบครัว การให้ดื่มและฉีดสารบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ไม่รู้สึกตัวหรือสูญเสียการควบคุมตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ การกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการทรมานได้หากส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อในระยะยาว ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวอาจทำเพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดบ้าง หรือเป็นการกระทำเพื่อเรียกรับสินบนบ้าง สร้างความบอบช้ำให้เหยื่อ ญาติพี่น้อง บุคคลที่เกี่ยวข้อง คอยบั่นทอนกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ตลอดเวลา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ส่วนหนึ่งของเหยื่อจากการทรมาน ศาลตัดสินว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งปัจจุบัน เรื่องร้องเรียนการทรมานส่วนใหญ่จะมาจากพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (กฎอัยการศึก) และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อซักถาม โดยไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว

      ประเทศไทยจึงได้ลงนามและให้สัตยาบันใน อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(CAT) ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่หลายประการเพื่อป้องกันปัญหาการซ้อมทรมาน แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการออกกฎหมายใดมาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่นนี้ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า หลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศมีผลเป็นเพียงหลักสากลที่รัฐต้องเคารพแต่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เพราะ รัฐไทยเองยังมีกฎหมายภายในที่มีเนื้อหาหลักการเช่นเดียวกันนั้นรองรับอยู่ด้วย

จริงอยู่ที่กฎหมายไทยมีช่องทางตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้บุคคลมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการควบคุมตัว ถ้าผู้ควบคุมตัวพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจสั่งให้ปล่อยตัวได้ทันที ที่ผ่านมาศาลเคยมีคำสั่งให้ปล่อยโดยเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวที่เกินความจำเป็น เนื่องจากไม่มีการซักถามผู้ถูกควบคุมระหว่างคุมขัง แต่ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมก่อนที่มีการไต่สวน และศาลเองมักไม่ได้ติดใจที่จะไต่สวนว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบจริงหรือไม่ โดยการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 ซึ่งมาตรา 296 หากเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทรมาน นั้นจะได้รับโทษหนักขึ้น โดยมาตรา 296 ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิด นั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามที่รัฐธรรมนูญ ได้รับรองไว้ ตามมาตรา 4 ที่บัญญัติไว้ว่า มาตรา  4    “  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ  และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ”

ขัดต่อมาตรา 26 ที่บัญญัติว่า    “  การใช้อำนาจ  โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี  ความเป็นมนุษย์ สิทธิและ 
เสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 

มาตรา  28   “  บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และ 
เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน  “

มาตรา 32      บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย หรือไร้ มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษ ด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้

     การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

     การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

     ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใด เพื่อ ประโยชน์ของผู้เสียหายมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั่น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือ การเยียวยา ความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้

มาตรา 40

     บุคคลย่อมมีสิทธิพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้

  1. สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

  2. สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง

3.            บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรม

4.            ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฎิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็วเป็นธรรมและการไม่ให้ถ้อยคำเป็นฏิปักต่อตนเอง

5.         ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ ส่วนค่าตอบแทน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

6.        เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฎิบัติที่เมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ

7.         ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

8.            ในคดีแพ่ง บุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ

ขัดต่อ ปริญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ขัดต่อกฎหมายอาญา ภาคความผิด หมวด 2 ในเรื่องความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา

มาตรา๒๐๐ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

     ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

 มาตรา ๒๐๑ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต


บ่อยครั้งในละครหรือข่าว ที่เรามักจะเห็นภาพนักโทษถูกล่ามโซ่ตรวนที่ข้อเท้า ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการปฏิบัติต่อนักโทษที่มีโทษสูง เช่นโทษประหารชีวิต โดยการให้เหตุผลของกรมราชทัณฑ์ว่า นักโทษที่มีโทษสูง มักคิดจะหลบหนี

 ประเด็นนี้ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักสิทธิมนุษยชนในไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ มีการเรียกร้องให้ยกเลิกการล่ามโซ่ตรวนผู้ต้องขัง ในเรือนจำ โดยได้มีการดำเนินการมาอย่างยาวนานจากนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะเป็นการทรมานซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

โดยมีการเห็นว่า “การใช้เครื่องพันธนาการประเภทตรวนแก่ผู้ต้องขัง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ การจำตรวนไว้ตลอด24 ชั่วโมงทั้งๆ ที่ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถือเป็นทรมาน และเป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

“คืนนั้นผมนอนลง แต่ไม่สามารถข่มตาให้หลับลงได้ มองไปที่ขาทั้งสองข้างเห็นโซ่ตรวนแล้วรู้สึกหดหู่ใจ จิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้สิ้นหวังเหมือนกับว่าผมไม่ใช่คน แต่เป็นเสือหรือลิงที่ถูกขังไว้ในกรงของสวนสัตว์ก็ไม่ผิด 

 เวลาใส่หรือถอดกางเกงก็ลำบากมาก โซ่ซึ่งเป็นเหล็กขึ้นสนิมง่ายต้องหมั่นล้างขัดถูทำความสะอาดทุกๆ วัน มิเช่นนั้นอาจเป็นบาดทะยัก ทำให้เกิดแผลอักเสบได้ ตอนกลางคืนอากาศเย็นทำให้ตรวนที่ขาเย็นมากๆ เย็นทะลุเข้ากระดูก ต้องใส่ถุงเท้ายาวจนถึงหัวเข่า ไม่เช่นนั้นเวลานอนหลับแล้วเผลอไปนอนทับตรวนจะรู้สึกเย็นและสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนดึกๆ เป็นประจำ” นี่คือคำบอกเล่าของนักโทษคนหนึ่ง

นอกจากกรณีของผู้ต้องขังโทษสูงในเรือนจำแล้ว ตรวนยังถูกนำมาใช้กับผู้ต้องขังทุกคนเมื่อต้องเดินทางออกไปนอกเรือนจำ เช่น ไปศาล หรือย้ายเรือนจำ โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานอะไร ไม่แบ่งแยกตามนิสัย พฤติการณ์ว่าจะหลบหนีหรือไม่ 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ต้องเดินทางมาศาลหลายครั้ง รวมทั้งถูกส่งตัวไปฟังการสืบพยานถึง 4 จังหวัด เขียนบทความเรื่อง “ตีตรวนล่ามโซ่ผู้ถูกกล่าวหากับความป่าเถื่อนศาลไทย” เล่าเรื่องความทุกข์ของการใส่โซ่ตรวนเมื่อถูกนำตัวไปศาลว่า

“ผมเองต้องตกอยู่ในสภาพการถูกล่ามโซ่ เมื่อถูกส่งตัวไปศาล และย้ายที่คุมขังจากเรือนจำหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งจะต้องตีตรวนด้วยโซ่ไว้ที่ขาทั้งสองข้าง มีผู้คุม 4 คน พร้อมอาวุธปืน นำใส่รถกรงขังที่มีความแน่นหนาเพื่อป้องกันการหลบหนีระหว่างเดินทาง ผมถูกตีตรวนล่ามโซ่ไว้ก่อนเดินทางหนึ่งวัน เมื่อไปถึงที่หมายยังต้องอยู่กับมันอีกหนึ่งวัน โซ่มีน้ำหนักมากประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม ขนาดของโซ่ 10 – 18 มิลลิเมตร เวลาเดินเจ็บข้อเท้า ต้องดึงโซ่ไว้ตลอดเวลา ไม่ให้ลากกับพื้น โซ่เป็นสนิมมักจะเสียดสีกับผิวหนังจนเกิดเป็นแผลถลอก มักจะติดเชื้อลุกลามเป็นแผลเน่าใช้เวลารักษาอยู่หลายเดือน และมักจะเป็นรอยแผลดำจารึกไว้บนข้อเท้าตลอดไป” 

สมยศเรียกร้องให้ยกเลิกการใส่ตรวจผู้ต้องขังที่เดินทางไปศาล เพราะสำหรับจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุดต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การใส่ตรวนทำให้รู้สึกตัวเองว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งๆ ที่บางคนอาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิด การตีตรวนล่ามโซ่ส่งตัวไปไต่สวนที่ศาลจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง เป็นการละเมิดต่อมาตรา 39 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุไว้ว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้”

ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิแม้ว่าจะถูกจองจำในระหว่างการไต่สวนก็ตาม อย่างไรก็ดีการปรากฎกายของผู้ต้องขังในสภาพถูกตีตรวนอาจทำให้สาธารณะชนตัดสินความผิดของผู้ต้องขังเหล่านั้นไปก่อนจะมีคำตัดสินของศาลซึ่งเท่ากับว่าหลักการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิได้ถูกทำลายไปพร้อมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังเหล่านั้นการคุมขังและการล่ามโซ่ตีตรวนผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาล เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดจึงเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ในความเป็นจริงศาลต้องให้สิทธิการประกันตัว เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด แต่ในหลายกรณีด้วยกัน ศาลใช้ดุลพินิจอันกว้างขวางไร้ขอบเขตในการให้ หรือไม่ให้สิทธิประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า “คดีมีโทษร้ายแรง ไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนี” เป็นเพียงการคาดคะเนของศาล กลายเป็นข้ออ้างไม่ให้ประกันตัว ซึ่งทำให้เกิดการวิ่งเต้นของผู้ถูกกล่าวหาในการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ศาลอนุญาตให้สิทธิประกันตัว เป็นการคอรัปชั่น สร้างความร่ำรวยให้ผู้พิพากษาโดยไม่มีการตรวจสอบมาเป็นเวลานานแล้วการส่งตัวไปที่ศาลระหว่างการไต่สวน นัดสืบพยาน ฟังคำพิพากษา ด้วยการล่ามโซ่ตีตรวนขาทั้งสองข้างไม่ให้ใส่กางเกงใน ไม่ให้ใส่รองเท้า เหตุผลไม่ใช่กลัวว่านักโทษจะหลบหนี แต่เป็นการสร้างบรรยากาศ และความสัมพันธ์ทางอำนาจกล่าวคือ ศาลอยู่บนบัลลังก์ ทุกคนต้องทำความเคารพ ทนายความต้องมีความนอบน้อม ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยตกอยู่ในสภาพถูกจองจำ ถูกตัดสินความผิดกันล่วงหน้า ผู้ที่ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนมีสภาพเหมือนสัตว์ มีความรู้สึกต่ำต้อย ท้อถอย รู้สึกตัวเองว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่อาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิด

จากการสำรวจ ทำให้ทราบว่า มีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกคุมขังและถูกล่ามโซ่ส่งตัวไปศาล ถูกกระทำเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว มีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80,000 คนทั่วประเทศ จากจำนวนนักโทษทั้งหมด 260,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจน จำนวนมากที่ต้องรับสารภาพ เนื่องจากถูกบีบบังคับ และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตามกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกกล่าวหาในคดีการเมืองตามมาตรา 112

การวินิจฉัยของศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 747/2550 หรือคดีหมายเลขแดงที่ 1438/2552 ผู้ฟ้องคดีคือนาย มาล์คอม เดนิส ลิม เซียว พิง ชาวมาเลเซียผู้ต้องโทษประหารชีวิตฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฟ้อง กรมราชทัณฑ์ ขอให้ปลดตรวนที่ตนถูกบังคับให้ใส่

ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ตนถูกพันธนาการด้วยตรวนน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัมมาตั้งแต่ปี 2549 โดยที่กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจใส่ตรวนตน เพราะพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใส่ตรวนนักโทษเพราะเหตุว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษสูง การใส่ตรวนจึงขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ขณะที่กรมราชทัณฑ์ต่อสู้ว่า การพิจารณาว่าบุคคลใดน่าจะพยายามหลบหนีการควบคุมหรือไม่ ต้องพิจารณา ระบบเสริมความมั่นคงของเรือนจำประกอบด้วย และผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตย่อมมีแรงจูงใจโดยสัญชาตญาณที่ต้องการรักษาชีวิตให้รอด ซึ่งทางหนึ่งก็คือการหลบหนี การปล่อยให้ผู้ต้องขังเคลื่อนไหวร่างการได้โดยอิสระแล้วอาจรวมตัวกันก่อเหตุร้ายด้วยการแหก(หัก)เรือนจำเพื่อหลบหนีได้ การใส่ตรวนจึงเป็นเหตุจำเป็นตามมาตรา 14(3)

คดีนี้ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 วางบรรทัดฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใส่ตรวนนักโทษไว้หลายประการ เช่น

1. ศาลเห็นว่าการใส่ตรวนนักโทษเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีลักษณะเป็นการทรมาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา32 และเป็นการทำให้เสียหายต่อร่างกายขัดต่อมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

2. ศาลเห็นว่า การใส่ตรวนขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ข้อ 1, 5 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิผลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7, 10(1) ซึ่งมีผลใช้บังคับในประเทศไทย และขัดต่อกฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ ข้อ33 ซึ่งแม้ไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่ก็เป็นเอกสารที่สังคมสหประชาชาติเห็นชอบ กรมราชทัณฑ์จึงควรใช้เป็นแนวทางด้วย และศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้เครื่องพันธนาการได้

 3. ศาลเห็นว่า การอ้างเรื่องระบบความมั่นคงของเรือนจำนั้น เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องขัง การอ้างข้อขัดข้องด้านอาคารสถานที่ที่ไม่รัดกุมเพียงพอเพื่อใส่ตรวนผู้ต้องขัง เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตกกับผู้ต้องขัง

4. ศาลเห็นว่า การจำตรวนผู้ต้องขังที่มีโทษประหารชีวิตไว้ตลอดเวลาโดยเห็นว่าเป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนี ตามมาตรา 14(3) โดยไม่ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องขังแต่ละรายว่าจะหลบหนีหรือไม่ แต่นำเหตุเรื่องโทษประหารชีวิตมาเป็นข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องขังจะหลบหนี ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นการคาดการณ์ของกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต

5. ศาลเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ตามคำพิพากษาของศาล แต่เป็นเพียงการสั่งให้ควบคุมหรือจำคุกซึ่งหมายถึงการจำกัดอิสรภาพเท่านั้น กรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิที่จะกระทำการใดๆ แก่เนื้อตัวร่างกายของผู้ฟ้องคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ดังนั้นศาลปกครองจึงพิพากษาให้กรมราชทัณฑ์ระงับการจำตรวนแก่นายมาล์คอม เดนิส ลิม เซียว พิง ผู้ฟ้องคดี 

แต่อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครอง ต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ทำให้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน นายมาล์คอม ยังต้องใส่ตรวนอยู่และยังไม่ได้รับการปลดเลย แม้ว่าจะมีคำพิพากษาศาลปกครองรองรับอยู่แล้วก็ตาม

จึงเห็นว่าควรมีการ ยกเลิกการตีตรวน ล่ามโซ่ผู้ต้องขังทุกคนที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรืออยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล เพราะถึงอย่างไรเสียแม้ว่าคดีถึงที่สุดแกล้วกลายเป็นผู้กระทำความผิด แต่พวกเขาก็ยังมีความเป็นมนุษย์ “ไม่ใช่”สัตว์เดรัจฉาน 

 

 

 

อ้างอิง

(http://www.pm.ac.th/files/1109291313314356_1209210884443.pdf)

(http://www.rlpd.moj.go.th/rlpdnew/images/rlpd_1/HRC/nhr.pdf) ชุดความรู้ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทยภาคี 

(http://www.l3nr.org/posts/519241) ปริญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) : ความเป็นมาและสาระสำคัญ

(http://ilaw.or.th/node/2823) การทรมาน : ชดเชยแต่ไม่ป้องกัน (โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน)

http://ilaw.or.th/node/1655  โซ๋ตรวนนักโทษ : มิติทางกฎหมาย (โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน)

(http://blogazine.in.th/blogs/somyot-redpower/post/4187) ตรีตรวนล่ามโซ่ผู้ต้องหากับความป่าเถื่อนของศาลไทย

  

หมายเลขบันทึก: 567234เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท