ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๔๙. วัฒนธรรมชุมชน


          หนังสือ ๓ ทศวรรษแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ที่จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อฉลอง ๖๐ ปี คุณบำรุง บุญปัญญา เมื่อปี ๒๕๔๙ คือเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว ช่วยให้ผมเรียนรู้เรื่องการต่อสู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนอย่างมากมาย โดยใช้ “ตัวละคร” เป็นเครื่อง “สืบย่าน สาวโยด” เรื่องราว ที่หนีไม่พ้น “การปลดแอกประชาชน” หรือการต่อสู้เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

          ผมสืบย่านสาวโยดผ่าน “อาจารย์กู๋” ด้วยคำค้นว่า “บำรุง บุญปัญญา” ไปพบบทความ ซีรีส์ลากใส้องค์กรซ่อนเงื่อน (ตอนที่ ๑) เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า รักในหลวงห่วงลูกหลาน แม้จะใช้สำนวนสวิงสวาย และไม่ค่อยสุภาพ แต่ก็ให้ภาพเชิง ระบบดีมาก แม้ผู้จัดทำเว็บไซต์ Thaienews จะนำมาลงด้วยความหมายที่เขาบอก แต่ผมคิดว่าผมได้ความรู้มากกว่านั้น ความหมายของเรื่องที่เขียนอ่านได้หลายแง่หลายมุม และอยากให้คนไทยได้อ่านกันแพร่หลาย โดยอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

          จากบทความแรก นำสู่บทความที่สอง ยอยศการเมืองภาคประชาชน และ ลากใส้สื่อ... ตอนที่ 1 – 11 ที่ใช้คำยิ่งไม่สุภาพ และยิ่งต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาณ แต่ก็อดอ่านไม่ได้ เพราะเรื่องแบบนี้หาอ่านจากสื่อกระแสหลักยาก

          จากวัฒนธรรมชุมชน เข้าซอยลากใส้ไปนาน ขอกลับมาที่วัฒนธรรมชุมชน เป้าหมายคือความเข้มแข็งของชุมชน ที่รวมตัวและเป็นเครือข่ายกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่บ้านเมืองหรือประเทศ ซึ่งก็คือประชาธิปไตยนั่นเอง ประชาธิปไตย ที่แท้จริงต้องมาจากฐาน คือชุมชน ไม่ใช่มาจากยอดคืออำนาจรวมศูนย์ เรื่องราวในคอลัมน์ลากใส้ข้างบนนั้น เป็นเรื่องราวของอำนาจรวมศูนย์ทั้งสิ้น

          ผมลองค้นด้วยคำหลักว่า “วัฒนธรรมชุมชน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ได้บทความชุด คนแคระบนบ่ายักษ์เขียนโดย แพทย์-พิจิตร ลงในมติชนสุดสัปดาห์ ช่วงปี ๒๕๔๘ - ๒๕๔๙ ที่น่าอ่านมาก ในช่วงนั้นผมติดตามอ่านทุกตอน

          ถ้าค้นด้วยคำหลักว่า วัฒนธรรมชุมชน จะได้อ่านเรื่องราวที่มากมายหลากหลาย แต่เป็นเรื่องชุมชนสมัยก่อน ก่อนที่จะมี อินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องชุมชนชาวบ้านในชนบท

          ผมอยากเห็นงานวิชาการ ที่ศึกษาชุมชนสมัยใหม่ ทั้งที่เป็นชุมชนเชิงพื้นที่ ในชนบท และในเมือง ผมอยากเห็นตัวอย่าง หมู่บ้านจัดสรรที่ในที่สุดแล้ว มีความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างเป็นตัวหนุน และอยากเห็น ผลงานวิชาการที่ศึกษา “ชุมชนเสมือน” ในพื้นที่ไซเบอร์ ซึ่งที่จริง Gotoknow ของเรา เป็นหนึ่งในชุมชนเสมือนที่เข้มแข็ง

          ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน สร้างการยอมรับทางกฎหมายให้แก่ชุมชนระดับตำบล โดยให้มีสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล ที่มีการประชุมระดับจังหวัด และระดับประเทศได้ คือรวมตัวกันเป็นเครือข่ายได้ เวลาผ่านมา ๖ ปี เห็นได้ชัดว่า นักการเมืองไม่ชอบกลไกนี้ เขาไม่ชอบความเข้มแข็งของชุมชน หรือประชาธิปไตยระดับชาวบ้าน หรือประชาธิปไตนแบบกระจายอำนาจ เขาชอบประชาธิปไตยรวมศูนย์

          วัฒนธรรมชุมชนในศตวรรษที่ ๒๑ ในสายตาของผม คนเราต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็กๆ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มีการจัดการชุมชนและเครือข่าย แบบอาสาสมัคร แต่ระบบจัดการต้องเข้มแข็ง เวลานี้มีเครื่องมือสื่อสารโซเชี่ยลมีเดียให้ใช้ โดยง่าย เป้าหมายที่สำคัญของการรวมตัวกันคือการเรียนรู้ ให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และรู้เท่าทันมายาความหลอกลวง ที่มากับผลประโยชน์ส่วนตน ของคนเพียงบางคน และที่ร้ายคือมีผลร้ายต่อส่วนรวมอย่างซับซ้อน

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567145เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท