beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ใครขโมยสตางค์ของฉันไป<๒>รู้เก็บ.."เก็บออมก่อนใช้จ่าย"


เป้าหมายของการออมแบบลึกๆ คือ สักวันหนึ่งเราจะมีอิสระภาพทางการเงิน คือ ไม่ต้องทำงานเพื่อหาสตางค์แต่ยังคงมีสตางค์ให้ใช้

    ผมเริ่มชีวิตการเก็บ ตั้งแต่อยู่ชั้นเตรียมประถม ตอนนั้น แม่ให้เงินไปซื้อข้าวทานกลางวันที่โรงเรียน ให้เป็นธนบัตรค่อนข้างใหม่ใบละ ๑ บาท ๒ ใบ รูปร่างอย่างในภาพ..

     
   
   ลายเซ็น ดร.สุนทร หงส์ลดารมภ์ และ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์  

    ด้วยความที่เป็นธนบัตรใหม่ เลยเสียดายไม่ใช้และนำกลับมาที่บ้าน แม่เห็นเข้า และในวันต่อมา ก็เอาข้าวใส่กล่องให้ไปทานที่โรงเรียน พร้อมทั้งให้เงินไปโรงเรียนอีก ๒ บาทเหมือนเดิม..จึงเริ่มเก็บสตางค์ต่อมา..

   มีพี่ๆ ไปซื้อ "หมูออมสิน" มาให้ ๑ ตัว เริ่มเก็บเงินไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเอาหมูมาวางไว้กลางบ้าน พี่ชายคนที่สองเดินมาเตะแตก..นับเงินมาได้ ๓๐๐ กว่าบาท พี่ชายก็ยืมไป (คงเอาไปจ่ายค่าเทอมของบีแมน ที่พี่ชายเป็นคนอุปการะ)

   พีชายซื้อกระปุกมาให้ใหม่ และก็เริ่มหยอดกระปุกอีก..เก็บสตางค์ได้อีกพอสมควร..ประมาณ ๓๐๐ กว่าบาทเหมือนเดิม..คราวนี้เป็นพี่ชายคนที่สาม มายืมไปอีก (ยืมแบบไม่คืน..อิอิ)

   ต่อมาตอนเรียนอยู่ ป.๔ ป.๕ พี่ชายคนที่ห้า พาไป "ฝากออมสิน" ที่ธนาคารออมสินสาขาดินแดง ช่วง "สัปดาห์แห่งการออมทรัพย์" ๑-๗ เมษายน ของทุกปี พอไปฝากเราก็จะได้กระปุกออมสิน แต่ละปีก็ได้แตกต่างกันไป เช่น เป็นกระปุกออมสินรูปสตางค์แดง , กระปุกออมสินรูปหอยสังข์ เป็นต้น 

   สรุปว่า..ในชีวิต เริ่มรู้จักเก็บออมตั้งแต่ยังเป็นเด็กก่อนประถมเลยทีเดียว 

   มาเริ่มเรื่องต่อจากบทที่แล้ว พอเริ่มทำงานแล้ว พอรับเงินเดือนๆ แรก ซึ่งสมมุติเอาไว้ในตอนที่แล้วว่าประมาณ ๑๗,๐๐๐ บาท (มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นล่วงหน้าจำนวนหนึ่ง เป็นค่าอาหารและค่าเดินทาง ประจำวัน เป็นเงินไม่มาก ซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงเงินส่วนนี้อีก)

   ต่อไปผมนำภาพจาก powerpoint มาฝาก..(เรื่องใน ซีรี่ส์นี้ ส่วนใหญ่ได้แนวคิดมาจากหนังสือ คู่มือ : เงินทองต้องวางแผน ตอน ก้าวสู่ชีวิตการทำงาน เป็นหนังสือของศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย..ขอขอบคุณ)

     
   
     

      หากเราเป็นคนรุ่นใหม่ เราจะต้องเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเก็บออมอย่างเป็นระบบ โดยใช้สูตร "รายได้ลบด้วยเงินออมเท่ากับรายจ่าย" 

     สูตรนี้สำคัญมาก (ให้ท่องเป็นคาถาไว้เลยและต้องทำให้ได้ ตั้งแต่ต้นมือ) เพราะถ้าเรามีรายได้ แล้วหักด้วยรายจ่าย ที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม แบบนี้ เราจะไม่เหลือเก็บแน่นอน..

    แถมจะเป็นหนี้ของเงินผ่อนให้อีกด้วย..เพราะช่วงนี้เราอยู่ในยุควัตถุนิยม ซึ่งเต็มไปด้วยการผลิตสินค้าและบริการออกมามากมาย มายั่ว "กิเลสบวกตัณหา" ของเรามากมาย..ต้องใช้คาถา..ที่ว่า "อย่า อยู่ อย่าง อยาก" เข้ามาช่วย 

    ในการวางแผนทางการเงิน ต้องทราบว่า

  1. จะออมไปทำไม
  2. จะออมเท่าไรจึงจะดี 

ออมไปทำไม (จุดประสงค์/วัตถุประสงค์)

   วัตถุประสงค์ของการออม (เปรียบเหมือนเรามีกระปุกไว้หยอดสตางค์ อย่างน้อย ๔ ใบ)

  1. ออมไว้เผื่อฉุกเฉิน เพราะชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอน (มีความเสี่ยง..ต้องบริหารความเสี่ยง-risk management) มีข้อคิดอยู่ว่า "ในวันที่เราจำเป็นจะต้องใช้เงิน แต่เมื่อล้วงเข้าไปในกระเป๋าสตางค์ แล้วพบว่ามันว่างเปล่า เราจะทำอย่างไร?"
  2. ออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้น เช่น เงินดาวน์บ้าน, เงินดาวน์รถ (คนรุ่นใหม่จะคิดถึงรถ..ก่อนบ้าน)
  3. ออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น ออมเพื่อวัยเกษียณ
  4. ออมเพื่อการลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้น, ทองคำ, เก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน,คอนโดฯ,ที่ดิน)

 ออมเท่าไรจึงจะดี

  ตอนแรก เริ่มต้นที่ ๑๐ เปอร์เซนต์ ของรายได้ (อาจเพิ่มเป็น ๒๐-๓๐ เปอร์เซนต์ในอนาคต สูงสุดไม่เกิน ๕๐ เปอร์เซนต์) ต่อมาเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เราก็เพิ่มการออมตามจำนวนเงินที่เพิ่ม แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๑๐ เปอร์เซนต์

กระปุกใบที่ ๑

   เงินออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน ตามหลักแล้วควรออมเพื่อการนี้ประมาณ ๓-๖ เท่าของเงินเดือน..เช่น ที่เราสมมุติให้มีรายได้เดือนละ ๑๗,๐๐๐ บาท..เราต้องมีเงินเก็บก้อนนี้ประมาณ ๑ แสนบาท..ทางที่ดีเงินเก็บก้อนนี้เราควรซื้อ "ประกันชีวิต" ตัวแรก แบบส่งเบี้ยประกัน ๑๐ ปีขึ้นไป (เพื่อประโยชน์ทางภาษี) และเน้นการคุ้มครองชีวิต..ค่าเบี้ยประกัน น่าจะตกปีละไม่เกิน ๘,๐๐๐ บาท..

   ผมมีตัวอย่างชีวิตมาเล่าให้ฟัง ครอบครัวหนึ่งสามีภรรยา มีบุตร ๒ คน เป็นชาย ๑ และหญิง ๑ ทั้งสองกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย...วันหนึ่งสามีและภรรยาคู่นั้น ได้เดินทางไปทำธุระต่างจังหวัดโดยรถยนต์ และเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้ง ๒ คน...โดยที่พ่อแม่ไม่ได้เผื่อกระเป๋าใบแรกไว้ให้ลูกๆ เลย...

   ลูกทราบข่าวนี้ถึงกับช็อค และต้องไปลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายพอ..ซึ่งถ้าหากพ่อแม่คู่นี้มีการซื้อประกันชีวิตเอาไว้เพียงคนและ ๑ แสน..ลูกๆ ก็จะสามารถ ดำรงชีวิตต่อไปได้อีก ๖ เดือน แล้วค่อยคิดหาทางออกต่อไป.

   หลักการของประกันชีวิต คือ ทันทีที่คุณซื้อประกัน..ก็จะมีความคุ้มครองให้ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้เรียกว่า "ทุนประกัน" เช่นตกลงกันไว้ที่ ๑ แสนบาท...และทางบริษัทประกันชีวิต จะออกสัญญาให้เราฉบับหนึ่งเรียกว่า "กรมธรรม์" โดยจะมีผู้ที่ชำระ "เบี้ยประกัน" (ควรชำระเป็นรายปี) 

  เปรียบเหมือน บริษัทประกันฯ มอบบัญชีให้เราเล่มหนึ่ง มีเงินอยู่ในนั้น ๑ แสนบาท..ถ้าเราส่งไปงวดหนึ่ง (หรือหลายงวด) แล้วเสียชีวิต บริษัทก็รับประกันที่จะจ่ายเงินให้ "ผู้รับผลประโยชน์" ๑ แสนบาททันที..หากเราไม่เสียชีวิตก็ค่อยๆ ผ่อนไป ครบเมื่อไรตามสัญญา ก็ไปขอรับเงินคืน..

เบี้ยประกันที่จ่าย ถือเป็นเงินออม

กระปุกใบที่ ๒

    เพื่อเป้าหมายระยะสั้น เช่น ดาวน์รถยนต์ แนะนำให้ฝากออมทรัพย์แบบ สินทวี, สินทรัพย์ทวี, ปลอดภาษี แล้วแต่จะเรียก เป็นเงินฝากทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน เช่น ถ้าต้องการเงินดาวน์รถ ๑ แสน บาท เก็บ ๕ ปี จะต้องฝากเดือนละเท่าไร (อัตราดอกเบี้ย ๓.๕ เปอร์เซนต์)

   ใช้โปรแกรม excel คำนวณออกมาได้ ว่าต้องฝากเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๕ ปี หรือ ๖๐ งวด..

   บีแมนมีกระปุกแบบนี้ ๔ ใบ หรือ ๔ บัญชี

  1. บัญชีที่ ๑ เพื่อส่งลูกไปญี่ปุ่น เก็บเงิน ๑ แสน ภายใน ๑ ปี.
  2. บัญชีที่ ๒ ซื้อรถมอเตอร์ไซด์แบบสตาร์ทมือ เก็บเงิน ๕ หมื่น ภายใน ๒ ปี
  3. บัญชีที่ ๓ เพื่อถมดินเตรียมสร้างบ้าน เก็บ ๑ แสน ภายใน ๒ ปี
  4. บัญชีที่ ๔ เพื่อซื้อรถกระบะ (แบบราคา ๓-๔ แสน) ขนของย้ายบ้าน ภายใน ๔-๕ ปี

กระปุกใบที่ ๓

    เพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น การออมเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งมีอยู่หลายกองทุน..ถ้าทำงานเอกชน ก็มีภาคบังคับคือ กองทุนประกันสังคม อันนี้เป็นสวัสดิขั้นการพื้นฐานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ส่งเงินไม่เยอะเท่าไร

    แต่มีอีกตัวหนึ่ง เรียกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ..อันนี้เก็บเงินไปเรื่อยๆ โดยเขาจะหักเงินเดือนระหว่าง ๒-๑๕ เปอร์เซนต์ ถ้าเราเก็บเท่าไร นายจ้างจะสมทบให้เท่ากัน เช่น เมื่อวานไปคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารอิสลาม เขาบอกว่า เขาออมส่วนนี้สูงสุด ๑๐ เปอร์เซนต์ (หัก ๑,๕๐๐ บาท ต่อเดือน จากเงินเดือน ๑๕,๐๐๐ บาท ที่เราสมมุติตั้งแต่แรก) และนายจ้างก็สมทบให้เขาอีก ๑๐ เปอร์เซนต์ (เท่ากับเจ้านายขึ้นเงินเดือนให้ ๑๐ เปอร์เซนต์ทุกเดือน)

   ตรงนี้ดีที่ เขาหักเงินเราไปก่อน "เงินที่หักถือเป็นเงินออม

กระปุกใบที่ ๔

   เงินออมเพื่อการลงทุน อันนี้ควรเก็บเงินในรูปแบบต่างๆ ดังที่กล่าวมา เก็บไว้สัก ๕ ปี อาจจะมีเงินสัก ๒ แสนบาท ส่วนนี้ทั้งหมด แบ่งไปลงทุนเช่นเล่นหุ้น..(ค่อยๆ ศึกษาภายหลัง)

   มีหลายหน่วยงาน ให้แบ่งเงินส่วนหนึ่ง จากทุกๆ เดือน เดือนละเท่าๆ กัน ฝากเข้าบัญชีลงทุนในทองคำ (เหมือนการเล่นหุ้น) เป็นการหักเงินทุกเดือน ไปซื้อหุ้นทองคำ โดยที่ซื้อทุกเดือน ไม่ดูการขึ้นลงของราคาทอง

   ของบีแมนลงทุนในหุ้นสหกรณ์ฯ โดยให้หักเงินทุกเดือน ประมาณเกือบ ๒๐ เปอร์เซนต์ พอเงินมากเข้า ก็กู้เงิน มาซื้อหุ้นเพิ่ม..ถึงปีก็ได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี เป้าหมายคือ รับเงินปันผลปีละไม่ต่ำกว่า ๑๒๐,๐๐๐ บาท (เพื่อเฉลี่ยเป็นเงินเดือนใช้ยามเกษียณเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีวิตยามเกษียณ-โดยไม่ต้องทำงานหาสตางค์..อิอิ)

   โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 566405เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2014 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท