กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


ที่มา : http://news.springnewstv.tv/12780/%E0%B8%9B%E0%B8%...

เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจึงเกิดเป็นสังคมขึ้น ซึ่งการอยู่ร่วมกันนั้นสามารถนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและอาชญากรรมเกิดขึ้น เมื่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นรัฐจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อเป็นแบบแผนคอยควบคุมคนในสังคม และการที่จะทำให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้จริงจึงต้องมีการกำหนดการลงโทษต่อผู้กระทำผิด ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายไทยกำหนดโทษไว้สำหรับผู้กระทำความผิดทางอาญา 5 ประการ คือ การประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 [1] ซึ่งโทษประหารชีวิตของประเทศไทยนั้นเป็นโทษขั้นสูงสุดบัญญัติในกฎหมายอาญา ซึ่งได้มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อปีพ.ศ.2546 จากวิธีการ 'ยิงเป้าให้ตาย' เป็น 'ฉีดยาให้ตาย' และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ความผิดในกฎหมายไทยที่มีโทษถึงประหารชีวิต เช่น ค้ายาเสพติด ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายโดยเจตนา เป็นต้น และล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2552 มีการรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตมาใช้กับนักโทษคดียาเสพติดสองราย หลังจากประเทศไทยเว้นจากการประหารชีวิตมาเป็นเวลา 6 ปี

ที่มา : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI...

     จากที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้นจึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า “โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?” ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังคงมีการถกเถียงกันอย่างมากในสังคมโลก โดยแต่ละฝ่ายมีการให้เหตุผลที่เเตกต่างกันออกไปโดย ฝ่ายหนึ่งมองว่าการประหารชีวิตถือเป็นการลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดร้ายแรงซึ่งส่งผลเสียต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องเเละสังคมอย่างกว้างขว้าง ในบางกรณีบุคคลที่ต้องโทษประหารชีวิตกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดพรากชีวิตของผู้อื่น ดังนั้นจึงเป็นการสมควรเเล้วที่จะต้องได้รับโทษเป็นการพรากชีวิตเช่นเดียวกัน ทำนองเป็นการแก้แค้นโดยชีวิตต้องเเลกด้วยชีวิต อีกทั้งยังเป็นการลงโทษเพื่อกำหราบคนในสังคมไม่ให้เอาเยี่ยงอย่างหรือกระทำความผิดเช่นนี้อีก อีกทั้งยังมีการให้ความเห็นว่าหากโทษประหารชีวิตขัดต่อสิทธิมนุษยชนเเล้ว โทษอื่นๆแม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าเเต่ก็เป็นการขัดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เช่น การลงโทษจำคุก ก็เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้มีอิสรภาพ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

     จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นก็มีอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยรวมถึงตัวข้าพเจ้าเองด้วย โดยข้าพเจ้ามองว่าการให้เหตุผลดังกล่าวเป็นเพียงเหตุผลเบื้องหลังของการกำหนดโทษประหารชีวิตว่ากำหนดขึ้นมาเพื่อวัตุประสงค์ใด แต่ไม่ได้เป็นการตอบคำถามที่ว่าโทษดังกล่าวขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งการจะตอบคำถามที่ว่าโทษประหารชีวิตขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้น ต้องทำความเข้าใจเเละเเยกประเด็นพิจารณาให้ดีคือ

     ประการแรก คือ โทษประหารชีวิตขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

     และประการที่ 2 คือ โทษประหารชีวิตจำเป็นต้องมีหรือไม่?

     ประเด็นแรก เมื่อพิจารณาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีการรับรองให้บุคคลทุกคนมี “สิทธิในการมีชีวิต” ดังนั้นการลงโทษประหารไม่ว่าโดยวิธีใดอาจจะโดยวิธีการอันโหดร้ายทารุณไร้มนุษยธรรม หรือจะโดยวิธีการที่ไม่โหดร้ายก็ตาม ถือเป็นการคร่าชีวิต เป็นการพรากไปเสียหรือละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันหลายๆประเทศได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

     และข้าพเจ้ายังมองว่าการลงโทษนั้นเป็นมาตรการที่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลผู้กระทำความผิดอยู่เเล้วในตัวของมันเอง เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละประเทศที่กำหนดโทษนั้นขึ้นมา ดังนั้นหากโทษประหารชีวิตหรือโทษอื่นๆจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร

     ประเด็นที่สอง แม้การลงโทษประหารชีวิตจะเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนก็ตามแต่หากพิจารณาถึงความจำเป็นจะต้องมีหรือไม่นั้น ในความเห็นของข้าพเจ้าคิดว่าประเทศไทยควรจะมีโทษประหารชีวิตต่อไป แม้ในทางการปฏิบัติจริงของประเทศไทยเเล้วจะไม่ได้มีการนำมาใช้ก็ตาม ด้วยเหตุผลที่ว่าการมีโทษประหารชีวิตในกฎหมายนั้นจะเป็นหลักประกัน เป็นบทลงโทษเพื่อประโยชน์ในการบังคับควบคุมให้ผู้ที่จะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อโทษที่มีกำหนดไว้อย่างชัดเจน และเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามเหตุผลเบื้องหลังของโทษประหารดังที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้น

     อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยพบว่า การคงไว้ซึ่งอัตราโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยยับยั้งอัตราการฆาตกรรมมากไปกว่าอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้นในความเป็นจริงการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตไม่สามารถยับยั้งหรือลดจำนวนการเกิดอาชญากรรมได้ นอกจากนี้ อัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด อันที่จริง อัตราการฆาตกรรมกลับลดลงอย่างมาก เช่น ประเทศแคนาดาที่สถิติการฆาตกรรมในปัจจุบันลดลงถึงร้อยละ 40 เทียบกับสถิติตั้งแต่ปี 2518 หนึ่งปีก่อนการยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดฐานฆาตกรรม [2]

     แม้จะมีงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าประเทศไทยยังควรจะมีโทษประหารชีวิตอยู่ดี เพราะ ความจำเป็นของเเต่ละประเทศที่จะต้องมีโทษอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับสภาพสังคม ความเป็นมา พื้นฐานของประชากรในแต่ละประเทศด้วยว่ามีความเหมาะสมในการใช้โทษอย่างไร การจะยึดงานวิจัยเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่น่าจะเพียงพอ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆรอบด้านอีกด้วย เพราะทุกประเทศทุกชนชาติล้วนมีความแตกต่างกันเเทบจะทุกด้านดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าโทษประหารชีวิตขัดต่อสิทธิมนุษยชน แต่ยังควรมีอยู่ในกฎหมายของประเทศไทย


นางสาวชนากานต์ เฉยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 20 เมษายน 2557


อ้างอิง

[1] ประมวลกฎหมายอาญา. แหล่งที่มา : http://www.sepo.go.th/mbc/Uploads/Files/1282292034.pdf 20 เมษายน 2557.

[2] โทษประหารชีวิตและสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา : https://www.amnesty.or.th/th/our-work/end-the-death-penalty 20 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 566387เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2014 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท