กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


     เมื่อกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนแล้ว ขั้นพื้นฐานเลยก็คงจะเป็นสิทธิในการมีชีวิต เช่นนี้แล้วเมื่อพิจารณาถึงโทษประหาร อันเป็นการคร่าชีวิตไปเนื่องจากเป็นโทษตามกฎหมายนั้น จึงเป็นประเด็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งหากฟันธงไปเสียว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ตรรกะเช่นนี้ก็คงนำไปสู่ประเด็นโทษจำคุกที่เป็นการหน่วงเหนี่ยว กักขัง ก็ขัดกับสิทธิมนุษย์รวมไปถึงโทษอื่นๆไปเสียทั้งหมด ก็จะไม่เป็นเช่นนี้ไปเสียได้อย่างไรเล่า ในเมื่อมันคือ “โทษ” จึงต้องเป็นการจำกัดสิทธิบางอย่างของผู้กระทำผิดอยู่แล้วในความหมายของตัวมันเอง

     แต่หากพิจารณาถึงระดับความรุนแรงของโทษแล้ว ก็คงมีไม่น้อยที่เห็นว่ามันหนักเกินไปหรือเปล่ากับการเอาชีวิตของผู้อื่นเพื่อจุดประสงค์ของการลงโทษ ซึ่งก็คงมองได้หลายแง่มุม เช่นบางส่วนอาจมองว่า ควรลงโทษอาชญากรให้สาสมกับความเสียหายที่ก่อให้เกิดกับเหยื่อนั้น ซึ่งหากกล่าวง่ายๆ ก็คือความสะใจนั่นเอง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการโอกาสในการกลับตัว หรือมีปัจจัยมากมายอันเป็นสาเหตุในการกระทำผิดนั้น รวมไปถึงการเป็น “แพะ”ด้วย

     กล่าวถึงประเด็นการจับแพะนั้น หากเป็นโทษปรับหรือจำคุกอื่นๆที่ไม่ใช่โทษประหาร “เหยื่อ”ซึ่งในที่นี้คือ “ผู้ต้องหา” ยังมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้ แม้โอกาสจะมากน้อยเพียงใด โอกาสก็ยังคงมี สามารถไขว่คว้าอิสรภาพกลับคืนมาได้ แต่กรณีโทษประหาร หากโอกาสนั้นมาช้าเกินไป ก็คงไม่ทันการเสียแล้ว ที่สามารถแก้ไขได้คงเป็นเพียงชื่อที่ด่างพร้อยของเหยื่อซึ่งก็เป็นกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้เท่านั้น ซึ่งผมพนันได้ว่ามีมานับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ ในคดีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในไทยนั้นก็มีหลายคนที่ตื่นตัวในการหาข้อมูล แต่ผมขออนุญาตไม่กล่าวในส่วนนี้ด้วยเหตุผลบางประการ จะขอพูดถึงตัวอย่างในต่างประเทศแทน ซึ่งในไต้หวัน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1997 มีการประหารชีวิต Chiang Kuo-ching พลทหารสังกัดกองทัพอากาศไต้หวันในความผิดฐานข่มขืนและฆาตกรรมเด็กหญิง ชายคนดังกล่าวรับสารภาพ แต่คำสารภาพในครั้งนั้นที่เกิดจากการซ้อมทรมานยาวนานถึง 37 ชั่วโมงโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง แม้ต่อมาภายหลังมีการพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และในเดือนมกราคม 2554 ประธานาธิบดีไต้หวันได้กล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวของเขาอย่างเป็นทางการ แต่คำขอโทษนั้นก็ไม่สามารถเรียกชีวิตของเขากลับคืนมาได้

     นอกจากนี้ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์มากมายที่มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับโทษประหารนี้ ที่ได้รับชมล่าสุดคือเรื่อง Green mile ซึ่งผมเคยได้ชมเมื่อครั้งยังเด็ก ต้องยอมรับว่าดูไม่รู้เรื่องทั้งๆที่เนื้อหาก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เวลาผ่านไปผมก็ลืมหนังเรื่องนี้ไป จนเมื่ออาจารย์ได้แนะนำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาจึงได้มีโอกาสรับชมอีกครั้งด้วยความสนใจที่มากขึ้น ในความคิดของผมคาดว่าคงเป็นภาพยนตร์ที่สื่อเรื่องราวอย่างมืดมนสมจริงเป็นแน่ ปรากฏว่ามีพลังเหนือธรรมชาติซะอย่างนั้น แต่ก็สามารถสื่อประเด็นของบทความนี้ได้ดีที่สุด จึงทำให้หนังเรื่องนี้มีความโดดเด่นน่าประทับใจกว่าเรื่องอื่นในแนวเดียวกันนี้

     ซึ่งประเด็นที่จะพูดถึงในภาพยนตร์นอกจากการประหารแพะ จอห์น คอฟฟี่ แล้ว แม้จะเป็นการประหารที่ถูกคนอย่างเดลก็ตาม ยังสามารถเกิดความผิดพลาดซึ่งทำให้โทษประหารที่ควรจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกลับกลายเป็นเครื่องมือในการคร่าชีวิตเพื่อสนองความต้องการของตนด้วยวิธีการโหดร้ายไปเสียได้ จากภาพยนตร์คือการที่ผู้คุมการประหารไม่นำฟองน้ำไปชุบน้ำให้ชุ่มเพื่อให้กระแสไฟจากเก้าอี้ไฟฟ้าสามารถทำหน้าที่คร่าชีวิตของมันได้สะดวก ซึ่งส่งผลให้เดลต้องตายอย่างโหดร้ายทรมาณ ในส่วนของประเด็นนี้นั้น ภาพยนตร์เรื่อง Law abiding citizen ก็สื่อความหมายได้ชัดเจนเช่นกัน ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่าไม่ว่าโทษประหารจะเปลี่ยนไปมีวิธีการเช่นไร “คนร้าย”ก็สามารถใช้ช่องทางนั้นในการควบคุมให้ผิดพลาดไปได้ ซึ่งในการประหารโดยการฉีดยานั้นเริ่มแรกจะปล่อยยา Sodium Pentothal เข้าไปให้หลับก่อน จากนั้นจึงปล่อย Pancuronium bromide และ Potassium chloride ให้หัวใจหยุดสูบฉีดโลหิต ภายในไม่ถึงนาที แต่ตัวเอกของเรื่องซึ่งต้องการให้คนร้ายตายอย่างทรมาณนั้นได้เปลี่ยนลำดับสารให้คนร้ายยังมีสติครบถ้วน ซึ่งส่งผลให้ต้องตายอย่างอนาถเช่นกัน

     จากที่กล่าวไปว่าโทษประหารชีวิตถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิของมนุษย์อย่างร้ายแรง แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าคิดคือ หากไม่มีโทษประหารชีวิตอันเป็นการลงโทษขั้นรุนแรงสูงสุดในฐานที่เป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว  จะมีมาตรการหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมและมีความเด็ดขาดเพียงพอในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้หรือไม่  และหากพิจารณาไปถึงความผิดของผู้จะต้องได้รับโทษประหารชีวิตแล้ว  เขาหรือเธอไม่สมควรได้รับโทษขั้นรุนแรงถึงขั้น “ให้อภัยไม่ได้” หรือไม่  หากว่าความผิดที่ได้กระทำเป็นสิ่งที่มีความร้ายแรงและมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม  เป็นต้นว่าเขาหรือเธอไปทำลายชีวิตของบุคคลอื่น  เมื่อมองในแง่นี้ สมควรหรือไม่ที่เขาหรือเธอผู้นั้นจะต้องได้รับการตอบแทนในรูปแบบเดียวกัน จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นความยุติธรรม จะส่งผลดีต่อสังคมได้อย่างไร

     งานวิจัยที่จัดทำขึ้นสำหรับสหประชาชาติในปี 2531 และ 2545 เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการฆาตกรรม พบว่า การคงไว้ซึ่งอัตราโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยยับยั้งอัตราการฆาตกรรมมากไปกว่าอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น ในความเป็นจริงการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตไม่สามารถยับยั้งหรือลดจำนวนการเกิดอาชญากรรมได้ นอกจากนี้ อัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด อันที่จริง อัตราการฆาตกรรมกลับลดลงอย่างมาก เช่น ประเทศแคนาดาที่สถิติการฆาตกรรมในปัจจุบันลดลงถึงร้อยละ 40 เทียบกับสถิติตั้งแต่ปี 2518 หนึ่งปีก่อนการยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดฐานฆาตกรรม

     สำหรับโทษประหารในไทยนั้น ปรากฏในกฎหมายอาญาที่มีความร้ายแรงเช่น ในลักษณะ1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และลักษณะ10 ชีวิตและร่างกาย เป็นต้น ซึ่งสำหรับผมแล้วนั้น สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต เนื่องจากไม่มีสิ่งรับประกันว่ากระบวนการยุติธรรมจะโปร่งใสเที่ยงธรรมไปได้ตลอด ซึ่งส่งผลให้เกิดการจับแพะได้บ่อยครั้ง ด้วยไม่สามารถย้อนผลของการประหารได้ดังที่กล่าวไว้เป็นส่วนใหญ่ในบทความ

     อย่างไรก็ตามที่ผมมองว่ามีปัญหานั้นเป็นเพียงในส่วนนี้เท่านั้นจริงๆ ไม่มีเหตุผลทางศีลธรรมอะไรเทือกนั้นเช่นคนอื่นๆ หากในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส และผู้กระทำผิดสมควรรับโทษจริง ประกอบกับการดำเนินการประหารเป็นไปอย่างราบรื่น ผมกลับมองว่าโทษประหารนั้นสมควรแล้วที่จะมีอยู่ต่อไป

     สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าหากเวลาผ่านไป ประสบการณ์และวุฒิภาวะที่เปลี่ยนไปนั้นจะทำให้ผมเปลี่ยนแปลงความคิดหรือไม่ ซึ่งผมคงให้คำตอบที่แน่นอนถูกต้อง100%ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล แต่สำหรับความคิดของผมในตอนนี้นั้นคาดว่า ไม่ว่าผมจะต้องผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายมืดมนมากมายเท่าไร จะมีความคิดว่าไอ้คนนั้นคนนี้สมควรตายอย่างเอน็จอนาถมากแค่ไหน จะมองว่าการคร่าชีวิตคนเป็นเรื่องธรรมดาเพียงใด ในส่วนของการแยกแยะถูกผิดนั้นก็ไม่อาจมองสิ่งที่กล่าวมาตลอดทั้งบทความว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องสมควรไปได้อย่างแน่นอน 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-http://www.amnesty.or.th/th/our-work/end-the-death-penalty

-http://www.l3nr.org/posts/259306

หมายเลขบันทึก: 566385เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2014 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2014 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


..... ขอบคุณ ความรู้ดีดี นี้ค่ะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท