ศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง


“ ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร” หัวใจของทุกศาสนาคือ “ จิตวิวัฒน์”

ศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง 

ประเวศ วะสี

คำถามพื้นฐานของสังคมกำหนดความเป็นไปของสังคม

คนบางกลุ่มบางยุคบางสมัยตั้งคำถามว่า “ ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร”

ความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ทำให้เกิดศาสนาต่างๆ ขึ้น ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำถามว่า
“ ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร” หัวใจของทุกศาสนาคือ “ จิตวิวัฒน์”

ในสังคมปัจจุบัน คำถามพื้นฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือถามว่า “ทำอย่างไรจะรวย” เมื่อถามว่าทำอย่างไรจะรวย ก็ทำอะไรทุกอย่างก็ได้ที่จะทำให้รวย เช่น เอาเปรียบคนอื่น ค้ากำไรเกินควร ทำลายสิ่งแวดล้อม ขายผู้หญิง ขายเด็ก ส่งเสริมการพนัน และอบายมุขอื่นๆ สร้างภาพ หลอกลวง ทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อฉลด้วยประการต่างๆ ตั้งแต่กินหัวคิวไปจนถึงปั่นหุ้น ไปจนถึงคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย โดยวิธีนี้จะแก้ความยากจนไม่ได้ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคมไม่ได้ เพราะคนที่แข็งแรงก็จะเอาเปรียบคนออ่นแอ และเอาเปรียบส่วนรวม ช่องว่างทางสังคมจะถ่างมากขึ้น ทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง

จะเห็นได้ว่าถ้าถามว่า “ ทำอย่าไรจะรวย” บ้านเมืองจะเข้าไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายไร้ศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเกิด “ วิวัฒน์” แต่จะ “ วิบัติ” มากขึ้นๆ ผู้คนจะจิตใจตกต่ำ จิตของสังคมทั้งหมดก็จะตกลงด้วย ต่อให้เก่งอย่างใดก็สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขไม่ได้ ตราบใดที่ยังตั้งคำถามว่า “ ทำอย่างไรจะรวย”

ในทางตรงกันข้าม ถ้าตั้งคำถามว่า “ ความดีคืออะไร” แล้วพยายามตอบ เช่น ความดีคือความซื่อสัตย์ สุจริต ความดีคือความขยันหมั่นเพียร ความดีคือการพึ่งตนเอง ความดีคือการประหยัด ความดีคือความพอเพียง ความดีคือการมีความเมตตา กรุณา ความดีคือการไม่เบียดเบียน ความดีคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความดีคือการอนุรักษ์วัฒนธรรม ความดีคือการมีจิตใจเพื่อส่วนรวม ความดีคือการพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น ดังนี้เป็นต้น


ถ้าถามว่า “ ความดีคืออะไร” จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยอัตโนมัติ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกับระบบเศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานที่ต่างกัน เศรษฐกิจทุนนิยมอยู่บนคำถามที่ว่า “ ทำอย่างไรจะรวย” จึงนำไปสู่พฤติกรรมทางลบต่างๆ นานาตามที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งนำไปสู่ความวิตถารของคุณค่า แต่โบราณมาเราถือว่าความประหยัดเป็นของดี แต่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมถือว่า ต้องกระตุ้นการบริโภค จึงจะทำให้เศรษฐกิจดี ก่อให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตสินค้า การซื้อ การขาย การโฆษณา การเพิ่มการบริโภค เป็นการเพิ่มการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเมื่อน้ำมันขึ้นราคาก็เลี้ยวมากระทบระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เดือดร้อนวุ่นวายวิกฤต เป็นวงจรแห่งความวิกฤตโดยแท้

แต่เศรษฐกิจพอเพียงนั้นอยู่บนฐานของความเพียร สัมมาชีพ การพึ่งตนเอง การประหยัด การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การรู้ความพอดี การมีไมตรีจิตต่อกัน การพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้น นั่นคืออยู่บนฐานของความดีนั่นเอง

โปรดสังเกตว่า ถ้าตั้งคำถามว่า “ ทำอย่างไรจะรวย” จะแก้ความยากจนไม่ได้

เพราะคนแข็งแรงจะเอาเปรียบคนอ่อนแอ และขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าขาดความเป็นธรรมทางสังคมจะแก้ความยากจนไม่ได้ ประเทศไทยไม่ได้ยากจน แต่ขาดความเป็นธรรมทางสังคม คนจนจนเพราะขาดความเป็นธรรมทางสังคม ถ้าเร่งความร่ำรวยจะยิ่งทำให้ขาดความเป็นธรรมทางสังคม จึงแก้ความยากจนไม่ได้

ถ้าถามว่า “ความดีคืออะไร” จะแก้ความยากจนได้ เพราะความดีทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนพออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน จึงมีคำถามว่า

สาธุชนทั้งหลาย

ความไม่ดี จะทำให้บ้านเมืองเจริญ ไม่ใช่ฐานะจะมีได้

ถ้าสังคมมีการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง จะเป็นฐานของจิตวิวัฒน์อันยิ่งใหญ่

ถ้าสังคมปั่นป่วนไร้ศีลธรรม จะเป็นฐานขอความวิบัติและหายนะ

ท่ามกลางกระแสแห่ง “ทำอย่างไรจะรวย” อันสร้างความวิบัติให้สังคมอย่างรุนแรง“ เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้พ้นวิบัติ สาธุชนผู้หวังจิตวิวัฒน์พึงทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของเรื่องศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง

 

ประเวศ วะสี

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

NewConsciousness @thainhf.org

ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๘


หมายเลขบันทึก: 56549เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
รักอภิชาตินะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท