น้ำบ้านคู


หน้าแล้งของทุกปี บ่อน้ำบ้านคู 2 บ่อนี้จะรองรับการอุปโภคบริโภคของผู้คนหลายหมู่บ้านเลยละ นอกจากบ้านนาแพงที่ผมอยู่แล้ว ก็มีบ้านหัวช้าง โนนม่วง บ้านดู่ นาเหล็ก นาแค ดอนกลาง โนนค้อ สงแดง เป็นต้น

     อ่านข่าว "ภัยแล้ง" ในไทยรัฐ บอกว่า ล่าสุดข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประกาศว่า มี 15 จังหวัดครับ ที่ประสบภัยแล้งแล้วประกอบด้วย อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ สิงห์บุรี ชัยนาท ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ปราจีนบุรี และตรัง ปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้งคืออากาศที่หนาวมาก หนาวนาน ส่งผลให้อากาศแห้ง ความชื้นน้อย การระเหยสูง ภัยแล้งจะกินระยะเวลาต่อจากนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ก็คงต้องบริหารจัดการน้ำกันให้ดีละครับ ตอนนี้บริษัทที่ผมทำงานอยู่ก็กำลังเตรียมหาแหล่งน้ำเพื่อมาสำรองใช้ในโรงงานหมือนกัน หลังจากบ่อน้ำที่ขุดไว้ใช้งานแห้งลงจนจับปลากันได้ ฝนฟ้าก็ตกลงมาวันเดียว แป๊ปเดียว อากาศก็ร้อนตับจะแตก 

     บ้านเกิดผมอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ครับ หนึ่งในจังหวัดที่ถูกประกาศว่าประสบภัยแล้ง เรื่องน้ำทำให้ผมนึกถึงตอนเรียนประถม มีข้อสอบที่ทางโรงเรียนออกมาข้อหนึ่ง ถามนักเรียนว่า

    น้ำที่สะอาดที่สุดคือน้ำอะไร

       ก. น้ำฝน

       ข. น้ำต้ม

       ค. น้ำกลั่น

       ง. น้ำบ้านคู

       จ. ถูกทุกข้อ

    นักเรียนทั้งห้อง ตอบข้อ ง. ครับ "น้ำบ้านคู" ทั้งที่ข้อที่ถูกที่สุดในตอนนั้นคุณครูบอกว่าคือข้อ ก. น้ำฝน แต่ก็ไม่ได้ผิดจากที่คาดไว้เพราะคุณครูคาดว่ายังไงเด็กๆก็ต้องตอบน้ำบ้นคู เพราะอะไรเหรอครับ ผมขออนุญาตเล่าให้ฟังเลยละกัน

    บ้านคู เป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ครับ ห่างจากบ้านนาแพงที่ผมอยู่ประมาณ 3 กม. ถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านในขณะนั้น เป็นถนนที่ส้รางขึ้นมาจากงบประมาณเงินผัน คือจ้างชาวบ้านขุดดินข้างทางขึ้นมาถมเป็นถนน ไม่มีหินลูกรัง ไม่มีรถบดอัด มีแต่ดินเหนียวดินทรายที่ได้มาจากที่นาข้างทางนั่นแหละครับ บ้านคูมีบ่อน้ำซึมที่ให้ดื่มกินอยู่ 2 บ่อ ถูกขุดไว้ในทุ่งนา ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนขุด ดูจากสภาพบ่อน่าจะมีอายุนานมากแล้วครับ เพราะใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันไม่ใช่บ่อปูนเหมือนสมัยนี้

    หน้าแล้งของทุกปี บ่อน้ำบ้านคู 2 บ่อนี้จะรองรับการอุปโภคบริโภคของผู้คนหลายหมู่บ้านเลยละ นอกจากบ้านนาแพงที่ผมอยู่แล้ว ก็มีบ้านหัวช้าง โนนม่วง บ้านดู่ นาเหล็ก นาแค ดอนกลาง โนนค้อ สงแดง เป็นต้น รสชาติดีมากออกหวานชื่นใจสีสันออกสีครามนิดๆมีความต่างจากน้ำฝนอย่างมากครับ ถ้าอยู่ในตุ่มน้ำฝนจะใสจนมองเห็นก้นตุ่ม แต่น้ำบ้านคูมีสีครามมองไม่เห็นก้น ตอนเข็นมาใหม่ๆ ถ้าดื่มจะมีกลิ่นโคลนจึงไม่เหมาะที่จะดื่ม เลยต้องทิ้งไว้เป็นวันให้ตกตะกอนก่อนจึงจะได้รสชาติที่ชื่นใจ กรณีน้ำฝนถ้าตกมาใหม่ๆ จะไม่นิยมรองน้ำไว้นะครับ เพราะน้ำจะซะล้างเอาสิ่งตกค้างและสนิมจากสังกะสีลงมาด้วยจึงไม่เหมาะที่จะดื่มกิน ต้องรอให้ผ่านไปจนมั่นใจว่าสะอาดพอแล้วจึงจะรองเก็บไว้ ถึงกระนั้นก็ยังสู้น้ำบ้านคูไม่ได้อยู่ดีครับ น้ำฝนจึงถูกแบ่งไว้ใช้ในส่วนของการทำอาหารเช่น ต้มยำทำแกง หรือล้างทำความสะอาด ซักเสื้อผ้าไป ขณะที่น้ำบ้านคู เอาไว้ดื่มกินเป็นหลัก หรือการยกออกมาต้อนรับแขกต่างบ้านก็จะบริการความชื่นใจด้วยน้ำบ้านคูครับ

    การที่จะได้น้ำบ้านคูมาบริโภค มีอยู่ 2 ทางครับ

  1. ซื้อรถเข็นและถังน้ำ แล้วไปขนเอาเอง
  2. จ้างคนที่เขารับจ้างขนมาให้ในราคาถึงละ 1 บาท (แพงนะครับ)

    ปริมาณที่ได้น้ำต่อวัน ถ้าขยันก็จะได้วันละ 2 เที่ยวครับ 1 เที่ยวก็เท่ากับ 1 โอ่งมังกร แต่ต้องออกเช้ามืดตีสี่ตีห้านะครับถึงจะทำได้ 2 เที่ยวในวันนั้น ที่สำคัญต้องห่อข้าวไปกินด้วยไม่งั้นหิวตาลาย คิวยาวเหยียดเชียวนะครับ เรื่องของถนนหนทางนี่ก็เป็นปัญหาหลุมบ่อเยอะแยะถ้าคนเข็นน้ำไม่แข็งแรงพอ สามารถที่จะทำให้รถพังหรือคว่ำจนถังแตกกลางทางได้ ข้อมูลที่ว่ามานี้น่าจะพอเป็นปัจจัยหนึ่งนะครับที่ทำให้คำตอบของข้อนี้ เป็นข้อ ง. 

    มีเวลา ว่าจะเขียนเล่าเรื่องการรอน้ำบ้านคูครับ เพราะที่แหล่งนี้สร้างคู่รักรอน้ำไว้เยอะมาก

คำสำคัญ (Tags): #น้ำบ้านคู
หมายเลขบันทึก: 564961เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2014 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2014 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยไปที่โนนจาน มหาสารคาม

น้ำบ่อใสมากๆ

ขอบคุณมากๆครับสำหรับเรื่องน้ำในชุมชน

ด้วยความยินดียิ่งครับอาจารย์ขจิต ฝอยทอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท