"ภาษาไทย ป่วย"


อาจารย์ จิรพร รักษาพล หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต - See more at: http://www.jr-rsu.net/article/770#sthash.JDm2dTKz.d

                                

              วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ (ไทย) อันเนื่องมาจากปัญหาภาษาไทย ที่ในหลวงตรัสไว้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ต่อมาอีก ๓๒ ปี รัฐบาล (T้hai = ตาย) เพิ่งสำนึกในภาษาของตนเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวรกรรม!!

              ในหลวงตรัสถึงภาษาไทยว่า "ภาษาไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ...คือ เป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็น ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ไว้ให้ดี ประเทศไทยเรานั้น มีภาาษาเป็นของตัวเอง ซึ่งต้องหวงแหน...เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาไว้"

                   ความงามของภาษาไทยที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ตามครูพิมพ์ ประพันธ์ ได้เขียนเป็นบทกลอนที่สวยงามดังนี้

                                 ภาษาไทย งดงาม ด้วยน้ำเสียง
                         ถ้อยเรียบเรียง หวานหู ไม่รู้หาย
                         สื่อความคิด สื่อความรู้ สื่อแทนกาย
                         สื่อความหมาย ด้วยภาษา น่าชื่นชม

                                 เกิดเป็นไทย ภาษาไทย เขียนให้คล่อง
                           กฎเกณฑ์ ต้องรู้ใช้ ให้เหมาะสม
                           จะพูดจา น่าฟัง ทั้งนิยม
                           เจ้าคารม เขาจะหมิ่น จนสิ้นอาย

                                  ภาษาพูด สนทนา พูดจาทัก
                            เป็นสื่อรัก สื่อสัมพันธ์ ความมั่นหมาย
                            แม้นพูดดี มีคนรัก มักสบาย
                            แต่พูดร้าย ส่อเสียด คนเกลียดกัน

                                    วัฒนธรรม ล้ำค่า ภาษาสวย
                            ทุกคนช่วย ออกเสียง“ร” ขอสร้างสรรค์
                            แม้นออกเสียง เป็น“ล” เขาล้อกัน
                            คนจะหยัน ชาติเรา ไม่เข้าที

                                    สระ “เอือ เป็น “เอีย” ฟังเพลียนัก
                            บอกที่รัก ช่วยซื้อ “เกีย”..ที่ร้านนี่
                            ขอ “ซมเซย” จะเชยแท้ แม้พาที
                            วอนน้องพี่ ต้องช่วยกัน จรรโลงไทย

                                   ผมได้เลิก แต่งงาน ในวันนี้
                           เป็นเลิกดี เลิกงาม ยามสดใส
                           ออกเสียงฤกษ์ เป็นเลิก ครั้งคราใด
                           คงทำให้ สื่อสารผิด คิดเสียดาย

                                   ภาษาไทยงดงามด้วยความคิด
                           แม้นอ่านผิด ก็เขียนผิด คงเสียหาย
                           เขียนอ่านไทย ให้ถูกด้วย ช่วยผ่อนคลาย
                           สื่อทั้งหลาย ต้องช่วยกัน นั้นอีกแรง

                                     โดย : ครูพิม  ประพันธ์

              อ.จำนง ทองประเสริฐ บอกว่า "ภาษาไทยที่เราใช้นี้เจริญมาแล้วหลายร้อยปี เป็นภาษาที่มีความงามอยู่ในตัวเอง กระนั้น ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังสื่ิอความหมายในภาษาไทยได้ไม่ดีพอ คือคนไทยพูดไทยได้ แต่พูดไทยไม่ค่อยเป็น"

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทยตอนหนึ่งว่า "ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นต่างๆ เช่น เราสามารถอ่านจารึกที่มีอายุพันปีได้เข้าใจ และจากที่ได้ฟังข้อปัญหาการเรียนการสอนและข้อเสนอแนะด้านภาษาไทย จะเห็นว่าสังคมเรานิยมศึกษาความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย ทั้งข้อเสนอของผู้ต้องการให้นำตำราที่ใช้ในสมัยเก่ามาสอนอีกครั้ง ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องการให้สอนตำราสมัยใหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นความเห็นที่ถูกทั้งสองฝ่าย หากสิ่งใดที่ดีก็น่าจะเก็บไว้ใช้" 

       
        สมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวต่อว่า "ภาษาต่างๆ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ มีหลักด้านภาษาศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน มีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ในยุคหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสอนภาษาไทย โดยสอนเป็นคำๆ ตอนแรกก็ไม่เห็นด้วย แต่ตอนหลังก็เห็นว่า การจำเป็นคำๆ ก็อาจเหมาะกับคนบางกลุ่ม เห็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ผ่านการเรียนด้านสะกดคำมาบ้างแล้ว ก็ให้ จำเป็นคำๆได้ จึงเห็นว่าวิธีการสอนควรหลากหลายให้ เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งในอดีต นักเรียนต่อห้องมีจำนวนไม่มาก ครูก็สอนได้เป็นรายคน  แต่ปัจจุบันมีคนต้องการเรียนมาก จะไม่รับก็ไม่ได้ ซึ่งก็น่าเห็นใจครูผู้สอน ก็ต้องสอนแบบกลางๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งก็เกิดอุปสรรคต่างๆนานา ก็อย่าได้ท้อใจ"

              สำหรับเรื่องคำไม่สุภาพนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวว่า"...เรื่องภาษาไทยนั้น สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวคือ คำพูดที่สมัยโบราณเป็นคำสุภาพ แต่มาสมัยนี้กลับเป็นคำไม่สุภาพ หรือสมัยก่อนเป็นคำไม่สุภาพ แต่ปัจจุบันกลับเป็นอีกอย่าง ก็จะทำให้คนไม่กล้าที่จะใช้ ทั้งนี้ ปัญหาภาษาไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่ควรตกใจเกินเหตุ ควรค่อยคิดค่อยทำ ไม่ควรกล่าวหากัน และขอให้ช่วยกันคิด" (http://hilight.kapook.com/view/26335)

              ผู้เขียนจึงได้เฝ้าสังเกตการใช้ภาษาไทยของคนไทยมานานจนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้นำไปเขียนงานวิทยานิพนธ์เมื่อปี ๔๙ สิ่งที่ได้พบ และได้ที่เห็นปัญหาภาษาไทยมีมากมาย โดยเฉพาะปัญหาการใช้ภาษาของเด็กวัยรุ่น ดารา นักสื่อสารมวลชน นักร้อง ที่มาแรงในยุคนี้คือ ภาษาในอินเตอร์เน็ต เรียกว่า "เน็ตแลง" มาจาก "อินเตอร์เน็ตกับแลงเกดจ์" ที่มีพฤติกรรมอยากขึ้นทางด่วนหรือใช้ทางด่วนเวลาเล่นแชท หมายถึง ใช้ภาษาย่อ คำสั้น เพื่อให้กระชับ รวดเร็ว เร่งด่วน ในการตอบโต้กัน

              ผู้เขียนเคยเข้าไปแชทกับชาวต่างชาติน่าปวดหัวมาก เนื่องจากว่า มีแต่คำย่อ คำด่วน คำห้วน คำรวบเต็มไปหมด ทำให้งงมาก เช่นคำว่า "LOL" - หัวเราะ, "Hi/Ola" สวัสดี, "Np" -ไม่มีปัญหา, "Nvm" -ไม่เป็นไร, "Omg" -โอ้ พระเจ้า, "Thx" -ขอบคุณ,  "Jk" -แค่ล้อเล่น, "IDK"- ผมไม่รู้, "IC" -ผมรู้,  "IDC" -ผมไม่สนหรอก "RIP"-ขอให้หลับสบาย ฯ มีมากมาย ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้จึงจะรู้คำแชท

              ในขณะวัยรุ่นจีนกลับนำเอาตัวเลขมาเป็นสื่อในการให้ความหมายเฉพาะแบบหนึ่ง โดยนำเอาตัวเลข ๑ ถึงเลข ๑๐ (ออกเสียง) มาเล่น เช่น "55" หมายถึง การร้องไห้ฮืออือ "748" หมายถึง ไปตายซะ "520" หมายถึง รักนะ "881" หมายถึง บายบ๊าย 

              ส่วนนักแชทเมืองไทยก็ใช่ย่อย มีคำเฉพาะมากมายเช่นกันเช่น ชิมิ จุบุ คิๆ จุงเบย สุโค่ย กาก เกรียน โอปะ จบปะ ขำๆ นอย หุหุ 555 อิๆ ฯลฯ นี่คือตัวอย่างนิดหน่อยเท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่เด็กยุคใหม่ใช้ภาษาแปลกๆ ใหม่ๆ จนเพี้ยนจากรากเหง้าของภาษาตน พฤติกรรมมีผลต่อการพูด การเขียน การสื่อสารในชีวิตได้ สังเกตพฤติกรรมเด็กๆ ได้ครับ โดยเฉพาะท่านที่เป็นครูประถมและมัธยม

              ดังนั้น ผู้เขียนอยากจะเรียกอาการหรือลักษณะของปัญหาภาษาไทยนี้ว่า "กำลังป่วย"  ซึ่งต้องการหมอด้านภาษาไทยมารักษาหรือหาทางป้องกันหรืออาจต้องเปิดคลีนิคเพื่อให้คำปรึกษาอาการของโรคก็ได้ หรือถ้าเราคนไทยเห็นภาษาไทยเป็นโรคตามฤดูกาล พอหมดฤดูกาล โรคนี้ก็คงหายไปเอง แล้วเราจะให้โรคเป็นเช่นนี้ต่อไปจนภูมิคุ้มกันตนเองขาดไปหรือไม่ ประเด็นเช่นนี้ ส่วนมากครูด้านภาษาไทยจะเป็นผู้กังวลมากกว่าสาขาอื่น และเมื่อเด็กเหล่านี้ต้องการเขียนให้ถูกต้อง คงต้องอาศัยครูแนะแนว แต่ก็ยังสื่อตามนิสัยเคยชินอยู่

              ครั้นเมื่อออกจากสถาบันการศึกษา แล้วเข้าสู่สถานทำงาน กลับมีปัญหาในการสื่อสารแบบทางการอีกเช่น สื่อมวลชน นักเขียน นักพูด (รุ่นใหม่)  นี่คือ หน้าตาของประเทศเลยทีเดียว เมื่อต่างชาติถามเรื่องภาษาไทย ในขณะเดียวต่างชาติกลับพูดภาษาไทยได้ดีกว่าคนไทยอีก น่าละอายไหมละ!

             ปัญหาเริ่มต้นที่ระดับประถมที่เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่พูดได้ในภาษาสมัยใหม่ ครั้นเวลาสื่อสารกันกลับใช้ภาษาพูดแบบใหม่ มันสะท้อนถึงโรงเรียน ครู หลักสูตร วิธีการสอน วิญญาณครู นโยบายของรัฐหรือพ่อแม่กันแน่ เราคงได้ทราบเกรดและคะแนนของเด็กแต่ละภาคในคราวสอบโอเน็ต ในวิชาความรู้ทั่วไป นี่สะท้อนสถาบันการศึกษาจริงๆ จนตกอันดับรั้งท้ายของเออีซีแล้ว

              พอถึงมัธยมก็ยิ่งห่างไกลความถูกต้องของภาษา เพราะเด็กเบื่อที่จะสื่อตามแบบหรือตามหลักของภาษา เพราะรู้สึกน่าเบื่อและไม่ทันสมัย จนภาษาพูดกับภาษาเขียนกลายเป็นภาษาเดียวกัน ระดับนี้ยังได้รับอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตอีก ประกอบกับมีภาษาต่างชาติเข้ามาแทรกอีก จนเด็กระดับนี้ ใช้ภาษาผสมผสานระหว่าง ไทย + คำฮิต + คำเทศ จนทำให้ภาษาไทยเราซวนเซ ในขณะครูก็ต้องอาศัยภาษาวัยรุ่นเหล่านี้ เป็นสื่อในการสอนไปด้วย เพื่อให้เข้ากับกลุ่มผู้เรียน จนไม่รู้ว่า ใครจะสอนใครแล้ว

              ส่วนระดับอุดมศึกษา ก็พอมีปัญหาบ้าง แต่ค่อยๆ ลดดีกรีการใช้ระดับล่างลง เนื่องจากตามวุฒิภาวะ ประกอบกับเข้าใจการใช้ภาษาที่ถูกหลักมากขึ้น อีกอย่าง ก็น่าจะมาจากคณาจารย์ที่เคร่งครัดเรื่อง ความถูกต้องของการใช้ภาษาที่เข้มงวดขึ้นด้วย

             อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของภาษาที่พูดกันเองในฐานะเพื่อนๆ หรือการสื่อสารกันปกติ จนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต จึงทำให้ภาษาในอดีต (วัยรุ่น) ยังติดปากอยู่ ในยามปกติเราจึงเห็นภาษาวัยรุ่นเหล่านี้ใช้กันอยู่เป็นประจำ ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาษารุนแรงในแง่มารยาท เช่น มีคำด่า คำหยาบ คำสบถ คำเกี่ยวกับเพศ มีมากมายจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กชาย วัยรุ่นชาย จะพบคำหยาบอยู่เสมอ

             มีสมาชิกgo2know ที่ใช้ชื่อว่า "ศน.อ้วน" ได้โพสต์ปัญหาภาษาไทยจากเด็กนักเรียนโดยสะท้อนผ่านคูณครูดังนี้ "พูดไม่ชัด พูดตัดคำ น้้ำเสียงเพี้ยน เลียนเสียงดารา ภาษาไม่สุภาพ ใช้คำหยาบ ใช้คำคะนองผิดที่ ใช้คำผิดความหมาย เขียนขยายไม่เป็น เว้นไม่ถูกหลัก ไม่รู้จักภาษาดี มีคำเทศผสมและใช้ภาษาฟุ่มเฟือย"

             กรณีเช่นนี้สอดคล้องกับ อ.จิรพร รักษาผล หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ม.รังสิต กล่าวว่า "การ ใช้คำหยาบในเวทีสาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีคนฟังจำนวนมาก และมีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อาจทำให้คนฟัง นำไปเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกได้ แต่ถ้ามองในฐานะคนธรรมดา จะมองว่าการใช้คำหยาบอาจจะใช้ได้กับบางสถานการณ์ เพราะเวลาที่คนเราแสดงความคิดเห็นของตัวเอง จะมีความเป็นตัวเองสูง และมักจะมีอารมณ์กำกับ เพื่อให้คนฟังได้รู้ว่าคนพูดรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นั้น

             เพราะฉะนั้นอาจจะมีการพูดคำหยาบออกมาได้บ้าง ก็ไม่ได้ถือว่าผิด แต่ถ้าใช้คำหยาบมากหรือใช้ตลอดระยะเวลาของการพูด ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี คือส่อให้เห็นถึงการไม่มีรสนิยมในการใช้ภาษา หรืออาจจะเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาของคนที่พูด ซึ่งดูไม่ดีนัก เพราะฉะนั้น คนพูดควรคิดว่าสิ่งที่พูดออกมาทั้งหมดไม่ว่าจะด้วยเนื้อหาหรือภาษา ย่อมส่งผลกับคนฟังได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง"

              ในขณะดร.ดวงทิพย์ เจริญรุกข์ เผื่อนโชติ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและนิเทศสัมพันธ์ ฯ ม.รังสิตกล่าวเสริมว่า "การพูด คำหยาบควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด โดยเฉพาะการพูดในที่สาธารณะ เพราะสุดท้ายมันจะสะท้อนมาถึงภาพลักษณ์ หรือความน่าเชื่อถือของผู้พูด" (http://www.jr-rsu.net/article/770)

               มีการสำรวจการใช้คำหยาบจากนักศึกษาว่าใช้คำเหล่านี้อย่างไร เช่น นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า "โดยส่วนตัวแล้วชอบการนำเสนอของเพจ ‘คำหยาบ’ เพราะเป็นการเสียดสีสังคม ตนไม่ใส่ใจกับคำหยาบคายเท่าใด พื้นที่ในโลกออนไลน์ใครจะสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ พื้นที่สาธารณะในโลกออนไลน์ มีเพจเป็นร้อยเป็นพัน “แต่คุณสามารถเลือกกดหรือไม่กดก็ได้ มันเป็นสิทธิที่อยู่ในมือคุณ แต่ที่เลือกกดเพราะชอบในการนำเสนอ สะท้อนมุมมองอะไรบางอย่างและสำหรับคนที่เข้ามาพูดด่าว่าใช้คำหยาบคาย ไม่เหมาะสม

               โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะในสังคมโลกออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะพื้นที่หนึ่ง แล้วใครจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ ทำได้หมด การด่า การวิพากษ์วิจารณ์ มันเป็นเรื่องที่ปกติมาก คนที่ทำเพจ ต้องยอมรับว่า ต้องมีทั้งคนชม คนด่า แล้วคนด่า เขาก็มีสิทธิที่จะด่า มันแสดงความคิดเห็นกันได้ แต่ถ้าด่ากันแล้วเอาปืนมายิงกัน แบบนี้ไม่เห็นด้วย

                แต่ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าเป็นด้านบวกหรือด้านลบ มันเป็นเรื่องปกติ มันเป็นสิทธิที่เขาจะพูด บางครั้งเขาก็วิพากษ์วิจารณ์คนในสังคมว่าเป็นพวกโลกสวย มีชีวิต ความคิด ความเชื่ออยู่ในมายาที่สร้างขึ้นด้วยอะไรบางอย่าง ซึ่งเขามองว่าในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น และมีอีกหลายเพจที่เสียดสี ใช้ถ้อยคำรุนแรง บางคนก็มองว่าเพจพวกนี้ทำให้เกิดปัญหาสังคม ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ แต่ก็เป็นทัศนคติของแต่ละคน ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดแบบนั้น”  (http://www.sunandhanews.com)

               สะท้อนให้เห็นว่า "คำหยาบ" เป็นคำพูดธรรมดา ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า หากผู้คนด่ากันในที่สาธารณะโดยไม่มีใครตระหนักว่า นี่คือ ผิดมารยาท แต่กลับมองว่า มันเป็นเรื่องปกติ ถามหน่อยว่า ผู้ใหญ่ถูกด่าว่า แก่งกๆ เงิ่นๆ อย่างยุ่ง แก่จะเข้าโลงอยู่แล้ว ทำปากดี! แล้วเด็กยุคนี้ จะเป็นแม่แบบ พ่อแบบให้กับลูกตัวเองหรือเยาวชน รุ่นใหม่ต่อไปในอนาคตได้อย่างไร

               ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้จับประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทยทั้งหมด ซึ่งพอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

               ๑) "ใช้คำพร่ำเพรื่อ" (Repetitiously) ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาฯว่า ว. เกินขอบเขต บ่อย ๆ ไม่เป็นกิจจะลักษณะ เช่น พูดพร่ำเพรื่อ เพรื่อก็ว่า หมายถึง คนไทยมักใช้พูดกันเกินเจตจำนงหรือมักจะขยายความหรือใช้คำไม่ตรงเหตุการณ์หรือสีหน้าหรือใช้คำมากเกินความจำเป็น กว่าจะเข้าใจก็เสียเวลาไปมากและเปลืองคำด้วย ไม่แปลกที่เราจะได้ยินว่า "จริงหรือ" "ล้อเล่นหรือเปล่า" เพื่อถามว่า ที่พูดนั้นจริงหรือไม่ เนื่องจากพูดไปมากจนอาจสับสนได้

                ๒) "คำใหม่วัยรุ่น" (Faddy words) หมายถึง คำที่วัยรุ่นนิยมพูดกันในช่วงหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นคำแปลกใหม่และทำให้รู้สึกว่า ทันสมัย ทันโลก และยังสามารถเป็นสื่อในการเข้ากลุ่มหรือแสดงความเป็นกันเองได้ด้วย บางทีวัยรุ่นก็ใช้ผิดที่ ผิดบุคคล จนอาจเกิดปัญหาได้ นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่ทำให้ภาษาของตนเกิดแปรเปลี่ยนไปตามกาลนิยม จนทำให้เกิดการสื่อสาร "พูด อ่าน เขียน" ผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะภาษาไทย

                ๓) "คำหยาบ คำหยิก" (Rude words) หมายถึง คำพูดที่ใช้ภาษาสบถ ผรุสวาจา ที่แสดงออกที่ตรงตามอารมณ์ เจตนาของตนอย่างหมดจดต่อบุคคล สัตว์ สิ่งของ โดยไม่คำนึงถึงกิริยามารยาทในเชิงสังคมว่า คำเหล่านี้ สังคมไม่นิยมพูดกัน เนื่องจากถูกสอนว่า เป็นภาษาที่ไม่เจริญ ไม่พัฒนาหรือเป็นเหมือนภาษาเถื่อน ตามความรู้สึกของคนเมือง แต่หากศึกษาในอดีต จะปรากฎอยู่ทุกที่ตั้งแต่ครอบครัวถึงพระราชา

                แต่ยุคใหม่นี้ กลับมีคำเหล่านี้ปรากฎขึ้นอีก ส่วนความหมายเปลี่ยนไปหรือน้ำหนักของคำหยาบเหล่านี้กลับมีนัยต่างออกไป เช่น เวลาทะเลาะ วิวาทกัน จะปรากฎคำที่รุนแรงขึ้น คำสบถมักกล่าวถึงเพศ พ่อแม่ สัตว์ หรือรูปร่างของอีกฝ่าย หากอยู่ในเวลาปกติโดยเฉพาะวัยรุ่นชาย มักจะกล่าวคำนี้ขึ้นก่อนหรือใช้เป็นคำอุทาน หรือใช้เวลาไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ จนติดปาก นี่คือ ปัญหาที่พบกันจนดาษดื่นตั้งแต่สื่อบันเทิง โทรทัศน์ สื่ออินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ในระดับการเมือง ฯ

                 ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวว่า "เรื่องภาษาไทยนั้น สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวคือ คำพูดที่สมัยโบราณเป็นคำสุภาพ แต่มาสมัยนี้กลับเป็นคำไม่สุภาพ หรือสมัยก่อนเป็นคำไม่สุภาพ แต่ปัจจุบันกลับเป็นอีกอย่าง ก็จะทำให้คนไม่กล้าที่จะใช้ ทั้งนี้ ปัญหาภาษาไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่ควรตกใจเกินเหตุ ควรค่อยคิดค่อยทำ ไม่ควรกล่าวหากัน และขอให้ช่วยกันคิด" (http://hilight.kapook.com/view/26335)

                 ๔) "คำเว่อร์ เลอะเละ" (Over words) หมายถึง การใช้คำพูดที่สื่อสิ่งใด เหตุการณ์ใด เจตนาใด สภาวะอย่างใด อย่างหนึ่ง ในลักษณะที่ใช้ภาษาเว่อร์ด้วยคำพูดที่เกินจริง ไม่สอดคล้องหรือสมความกับภาพ เป็นการใช้ภาษาที่สื่อมากเกินกว่าความจริงหรือสภาวะนั้นๆ ในชีวิตเรา มักจะพบกับคนที่บอกเรื่องราวหรือเล่าสิ่งที่ได้ประสบมาจนดูสีหน้าท่าทางเสริมแสร้งแสดงเกินจริง หรือในกรณีคำโฆษณาตามสื่อต่างๆ เรามักจะได้ยินคำบรรยายเกินจริงกว่าภาพหรือตรงกันข้าม จนเกินความจริงของสินค้านั้นๆ เช่น โฆษณาบะหมี่ รถยนต์ เครื่องดื่มชูกำลัง ปุ๋ย ประกันชีวิต ฯ หรืออาจมีคำเชื้อเชิญเพื่อให้รางวัลตอบแทน เช่น ชิงโชค แจกทอง เป็นต้น

                 คำโฆษณาเหล่านี้ อาจกลายเป็นภาพติดตา ติดสมองให้ผู้ชมทำตามหรือเชื่อตามนั้นได้ จนทำให้ความจริงเลอะเละได้ เพราะไม่ได้สื่อความจริงแก่ผู้ชม จึงมีปัญหามากมายที่ผู้บริโภคร้องเรียนต่อสคบ. เพื่อให้ตรวจสอบ ทั้งนี้ ก็อยู่ที่ความรู้ชุดพื้นฐานของผู้ชมว่า จะรู้เท่าทันคำพูดเว่อร์ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร

                 ๕) "คำเชื่อม เหลื่อมแย้ง" (Copular words) หมายถึง การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องในการเชื่อมคำ เชื่อมประโยคต่างๆ ที่เหมาะสม ในภาษาไทยมีประโยคหลัก ๓ ชนิดคือ ๑.ประโยคความเดี่ยว.ประโยคความรวม และ ๓.ประโยคความซ้อน โดยมีองค์ประกอบคือ ประธาน กิริยา กรรม คุณศัพท์ กริยาวิเศษณ์ สมาชิก go2know ใช้ชื่อว่า "ประเทือง สุขแสวง" โพสต์ไว้ได้ ๔ ปีแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นครู ได้พูดถึงรูปประโยคภาษาไทยไว้ ๕ รูปคือ ๑.ประโยคประธานเป็นผู้กระทำ ๒.ประโยคกรรม ๓.ประโยคกริยา ๔.ประโยคสภาวมาลา ๕. ประโยคประธานถูกให้กระทำ 

                ปัญหาคือ คนไทยใช้คำเชื่อม คำแย้งในประโยคใดๆ สับสนไปหมด เช่น วงการสื่อสารมวลชน พิธีกรข่าวเวลาอ่านข่าว ดาราเวลาให้สัมภาษณ์ และบุคคลทั่วไป ฯ จนไม่รู้ว่า เนื้อความหน้าหลังเชื่อมกัน หรือแย้งกันอย่างไร ครูประเทือง สุขแสวง กล่าวถึงประโยคเชื่อมหรือแย้งเอาไว้ในประโยคความรวมไว้ ๔ ชนิดดังนี้

                ๑.ชนิดที่คล้อยตามมี ๓ ลักษณะ คือ คล้อยตามเวลา มีคำว่า เมื่อ...ก็, ครั้น...ก็, พอ...ก็, แล้ว...จึง คล้อยตามเงื่อนไข มีคำว่า ถ้า...ก็ คล้อยตามการกระทำ มีคำว่า ทั้ง...และ

             ๒.ชนิดที่แย้งกัน มี ๓ ลักษณะคือ แย้งตามเวลา มีคำว่า กว่า...ก็ แย้งตามเงื่อนไข มีคำว่า ถึง...ก็ แย้งการกระทำมีคำว่า แต่ ทว่า ส่วน

             ๓.ชนิดเหตุ-ผล มีคำว่า จึง เพราะว่า เพราะฉะนั้น...จึง เพราะ ดังนั้น

             ๔.ชนิดให้เลือก มีคำว่า มิฉะนั้น ไม่เช่นนั้น

               ดังนั้น ในประเด็นนี้ ปัญหาที่พบกับบุคคลดังกล่าว อยู่ที่คำเชื่อมแย้งที่มักพบคำว่า "แต่ แต่ว่า" มากที่สุด จนเคยชินติดปากโดยเฉพาะในสื่อมวลชน คำเชื่อมตามมาคือ คำเชื่อมเนื้อความที่มีคำว่า "และ หรือ" ที่ไม่ค่อยใช้กันคือ คำเชื่อมเป็นเหตุ เป็นผล เช่นคำว่า "เพราะฉะนั้น ดังนั้น  เพราะ" พบน้อยมาก

               ๖) "คำเทศ คำไทย" (Mixed words) หมายถึง การใช้คำผสมระหว่างภาษาไทยและภาษาต่างชาติ เพื่อให้เกิดสมฐานหรือเพื่อให้ตัวเองมีภูมิฐาน อีกอย่างผู้ศึกษาในระดับสูงหรือมีค่านิยมต่างชาติมักจะยกฐานะตนด้วยการใช้ภาษาต่างชาติ นัยว่ามีความรู้ ในไทยเจ้านายฝ่ายในตั้งแต่ร.๔ จนกระทั่งร.๕ มีชาวต่างชาติเข้ามาสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมด้านภาษา เพื่อให้รู้เท่าทันฝรั่ง เป็นการสร้างทางป้องกันภัยอย่างหนึ่ง สมัยนั้น ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เรียนเช่นนั้น

                ดังนั้น เจ้านายฝ่ายใน จึงมีการศึกษาภาษาต่างชาติ พอกลับมาเมืองไทยก็แสดงออกด้วยภาษาต่างชาติ เพื่อบอกฐานะว่า เรียนรู้วัฒนธรรมฝรั่งมา จนต้องเปลี่ยนวิธีทานข้าวจากใช้มือ มาเป็นใช้ช้อน ใช้มีด เปลี่ยนการแต่งตัวแบบเก่า มาใส่สูท ที่โดดเด่นในฝ่ายในคือ การใช้ภาษาต่างชาติผสมไทยกับฝรั่ง จนกลายเป็นแบบอย่างของชนชั้นกลาง จนถึงปัจจุบัน ที่นิยมส่งลูกไปเรียนต่างชาติ พอกลับมาก็ไม่ทิ้งภาพฝรั่งหรือกลิ่นขี้เต่าฝรั่ง โดยเฉพาะงานวิชาการ ที่บริษัททำงาน สื่อสารมวลชน ฯ

                 เรื่องนี้ รศ.ทองสุก เกตโรจน์ พูดถึงภาษาต่างชาติในภาษาไทยว่า "อิธิพลของภาษาอังกฤษ ทำให้รูปลักษณะประโยคภาษาไทยต่างไปจากเดิมในเรื่องต่อไปนี้คือ เป็นประโยคซ้อนมากขึ้น ใช้บุรพบทมากขึ้น ใช้คำว่า "การ ความ" มากขึ้น ใช้สรรพนาม "มัน" มากขึ้น นอกจากนี้ ท่านบอกว่า ไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังมีภาษาต่างๆ อีกมากมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เขมร บาลี สันสกฤต ฯ

                  ปัญหาคือ คนไทยคลั่งไคล้ภาษาต่างชาติแบบผสมผสานกัน จนเบียดภาษาไทยตกเวที ทำให้คนไม่ค่อยรู้หลักภาษาไทย เช่น อ่าน พูด เขียน วิเคราะห์ ไม่แข็งแรงและไม่ตระหนักในภาษาของตน ปลายปีหน้าไทยก็จะเข้ากลุ่มเออีซี คนไทยกลับเห่อภาษาต่างชาติเป็นดั่งเจ็กตื่นไฟซะงั้น

                  ๗) "คำร้อง จ้องเพศ" (sexual Slang) หมายถึง การใช้คำที่หมิ่นเหม่หรือสองแง่ สองง่าม ไปในทางเพศ ทางหยาบโลน เพื่อกระตุ้นคนฟัง หรือเพื่อสร้างคำ ความหมาย เพื่อให้ผู้ฟังคิดเอาเอง ตีความเอาเองไปอย่างนั้น คำพูด คำสื่อในลักษณะทางเพศนี้ ปรากฏมากมายในสื่อบันเทิง การรำ การร้อง ของท้องถิ่น เช่น หมอลำกลอน ลำตัด ภาพยนต์ ละคร ฯ เพื่อทำให้คนฟังเกิดร้อยยิ้มสนุกเฮฮา

                   พอมาถึงยุคใหม่คำเหล่านี้ได้เพิ่มดีกรีความเข้มข้นของคำที่ตรงและแรงขึ้น โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง สตริง หมอลำ ละคร ภาพยนต์ ตลก หรือเพลงใต้ดิน เพลงดิ้นทั้งหลาย ฯ ล้วนสื่อออกมาทางเพศที่รู้กันได้ทันที เช่น คำว่า สั้นเสมอหู ขายหม้อ ตีหม้อ หอยต่างๆ เห็นหมี อย่าเอาหูหนี ผีจับหัว อยากทำอย่างนั้นกับเธอ นั่งท่าตัวเอ็ม เพลงนุ่งสั้น ฯ

                   นอกจากในเนื้อหาเพลงแล้ว ยังมีในสื่อบันเทิง ภาพยนต์  การถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา แฟชั่น ปกหนังสือ ฯ ล้วนแต่อิงเพศหญิง (ส่วนมาก) เป็นสัญลักษณ์เป็นสื่อล่อสายตา เชิญชวญให้น่ามองจ้องดู ที่สื่อออกมาในเรื่องเพศ แม้ว่าผู้สื่อจะมองว่าเป็นศิลปะหรือโต้ว่าคุณคิดมากไปเองก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ ที่จะใช้สื่อด้านภาษา ไปสู่การใช้ภาพสื่อสารในทางแอบแฝงในที่สุด เพื่อกำไรตน แต่ภาษาไทย คำไทยเหล่านี้กลายเป็นคำหยาบ เป็นคำที่ผู้ฟังจับไปสื่อ ไปพูดกัน ตั้งแต่เด็ก จนถึงคนแก่ (ที่เตะปีบดังอิๆๆ)

                 ๘) "คำย้ำ คำซ้อน" (Epanalepsis) หมายถึง การใช้คำที่ซ้ำซาก หรือการใช้ภาษาที่จำเจบ่อยๆ หรือใช้จนติดปาก โดยผู้พูดเองก็ไม่รู้ตัว เนื่องจาก ปฏิบัติจนเคยชิน เช่นคำ เออ อ้า อืม เอ้อ อ๋อ โอ๊ะ อุ๊บ เหมือนคำอุทาน ส่วนคำที่คนไทยพูดกันบ่อยจนเลียนแบบกันทั่วไปคือคำว่า จริงๆแล้ว ก็ แบบว่า แต่ว่า ใช่ปะ อะไรงี้ เฮ้ย คือว่า ถ้า สมมติว่า โอเค ค่อนข้าง คือแบบว่า ถูกมะ เข้าใจปะ คำเหล่านี้จะปรากฎขึ้นมาก่อนประโยคที่จะกล่าวหรือแทรกในระหว่าง จนน่ารำคาญ เหมือนผู้พูดไม่รู้ตัวว่า พูดคำนี้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่มักพูดว่า "จริงๆแล้ว" คือ อะไรจริง คำที่จะกล่าวต่อไปนี้ จริงหรือ ซึ่งก็ไม่เห็นความสำคัญในการใช้ภาษาเลย

                  นอกจากนี้คำที่น่ารำคาญหรือคำซ้ำซากเหล่านี้แล้ว ยังมีคำที่ปรากฎกับวัยรุ่นที่พูดในลักษณะทางลบหรืออย่างน้อยคนฟังก็ไม่ชอบฟัง นั่นคือ คำสบถของวัยรุ่นชาย เช่นคำว่า ไอ้เชี้ย สัตว์ แม่ง โครต กู มึง เ..็ดแม่ ฯ คำเหล่านี้ คนไทยคุ้นหูดี เพราะจะได้ยินอยู่ทั้งสื่อบันเทิง ชุมชน สลัม ที่มั่วสุม ฯ ทำให้ภาษาไทยเราเพิ่มคำเหล่านี้มาอยู่ในวิถีชีวิตของเรา เช่น ในครอบครัวที่มีชายวัยรุ่นอาจจะได้ยินคำเหล่านี้บ่อยๆ

                 ๙) "คำพูดผิดเพศ" (Antinoic words) หมายถึง การใช้คำที่สื่อสะท้อนคนพูดว่า อยู่ฐานะเพศใด พูดตรงตามเพศภาวะหรือไม่ เช่น ผู้หญิงก็ควรจะพูดคำที่เหมาะสมกับเพศหญิง เพศชายก็เช่นกัน คำที่บ่งบอกเพศภาวะคือ "ครับ ครับผม ขอรับ" สำหรับผู้ชาย คำว่า "ค่ะ คะ เจ้าคะ" สำหรับผู้หญิง ส่วนคำที่เป็นกลางๆ ไม่บ่งเพศเช่น "เออ นะฮะ จ้า จ๊ะ" ซึ่งเป็นมนุษย์ก็ควรจะพูดตามที่เรียนรู้มาตั้งแต่ปฐมภูมิแล้ว

                  แต่ในยุคใหม่นี้ เกิดปรากฏการณ์เพศภาวะที่สามขึ้น ทำให้กลุ่มนี้ต้องหันไปใช้คำที่อยู่ตรงข้ามเพศของตน หมายความว่า เพศภาวะที่ทางร่างกายเป็นชาย แต่พฤิตกรรม จิตใจ นิสัย กระเดียดออกไปทางผู้หญิง ดังนั้น การที่จะถูกเชื่อ ถูกมองว่าเป็นหญิงก็ต้องพูดคำของผู้หญิง ซึ่งเสียง กริยา อาจไม่เนียน ไม่สมจริง เราจึงพบเพศที่สาม ๒ กลุ่มคือ ชายแต่งหญิงและใช้ภาษาผู้หญิง และหญิงแต่งชายและใช้ภาษาผู้ชาย ซึ่งในประเทศไทยก็มีลักษณะเช่นนี้มากมาย  กลุ่มที่ปัญหาคือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กะเทย" ใช้สรรพนามตนว่า หนู ดิฉัน มันชั่งขัดหู ขัดรูปลักษณ์ซะจริง พ่อคุณทูนหัว

                  ๑๐) "คำย่อ คำยาว" (Abbreviation) หมายถึง การใช้คำย่อ คำสั้น เพื่อสะดวกในพูด ประหยัดเวลาในการสื่อสารให้ได้ปริมาณ คำย่อเหล่านี้ มีมากมายที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เข้าโรงเรียนคือ ด.ญ. ด.ช. เมื่อ่านหนังสือ เดินทางไปต่างที่ หรือตามป้ายต่างๆ มักจะมีคำเหล่านี้เต็มไปหมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการสื่อสารได้มาก ประหยัดพื้นที่และยังเหมือนระหัสลับอีกด้วย ดังนั้น เราจึงไม่อาจปฏิเสธคำเหล่านี้ได้

                  ส่วนปัญหาคำย่อเหล่านี้ ปรากฏในภาษาไทย และสร้างปัญหาในการแปลความหรือความหมาย เวลาเราฟังข่าวมักจะได้ยินคำเหล่านี้เสมอเช่น คปท. ปปกส. ป.ป.ช. กลต. ปปป. ปปช. ศอ.รส. ศอ.ฉ. กสทช. จขกท. สพฐ. กทม. ครม. นปช. อพส. ดร. รศ. ผศ. ผอ. หรือกกน. (ตำรวจ) กบฎ สุดท้ายเราก็ งง ฯ บางทีเราก็อาจงงจริงๆว่า แปลว่า อะไร มีจุดตรงไหนบ้าง

                 ทั้งหมดนี้ คือ ปัญหาในภาษาไทย ทั้งที่ไม่น่าเป็นและที่น่าเป็นมากกว่าปัญหา ที่สะสมมานาน จนกระทบต่อรากฐานของภาษาไทย ซึ่งผู้ที่จะแก้ไขได้ดีคือ คนไทยที่ใช้ภาษาไทย ในการสื่อเจตจำนงหรือสื่อความรู้สึกของตนออกมา โดยต้องเรียนรู้โครงสร้างประโยคและคำ ตลอดถึงความหมายของแต่ละคำ ให้เข้าใจ เพื่อให้รู้ขอบเขตบริบทของคำนั้นๆ และเพื่อจะได้สื่อออกมาได้ตรงเจตนาที่สุด อย่าให้ภาษาขาดผู้ดูแลรักษาครามันเจ็บป่วยนะครับ

                 อย่างไรก็ตาม อ.นิตยา กาญจนะวรรณ ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวสรุปไว้ว่า "ปัญหา ของภาษาไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องของการใช้ภาษาผิดกาลเทศะ ในกรณีวัยรุ่นใช้ภาษาแช็ตนั้นไม่ผิด เว้นแต่ไปอยู่ผิดที่เช่น การนำไปใช้อย่างเป็นทางการ เขียนงานวิจัย หรือหนังสือราชการ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว หาใช่ข้อสรุปของราชบัณฑิตยสถานแต่อย่างใด สังคมต้องเข้าใจธรรมชาติของภาษาคือความเปลี่ยนแปลงด้วย"

                            จึงขอฝากบทกลอนภาษาไทยทิ้งท้ายเอาไว้ดังนี้


                                 เป็นคนไทย ต้องรัก ภาษาไทย
                          รักษาไว้ใ ห้อยู่ได้ เนานานหนอ
                          อย่าทำร้าย ลายลักษณ์ ที่ถักทอ
                          ที่แม่พ่อ อนุรักษ์ ตระหนักคุณ

                                ภาษาไทย นั้นเป็น ภาษาชาติ
                           อย่าประมาท ใช้ผิด ให้เคืองขุ่น
                           ครูท่านสอน สั่งไว้ เลยนะคุณ
                           ความว้าวุ่น แห่งภาษา จะมากมี

                                   ถ้าเมื่อใด ไร้ภาษา ที่มีอยู่
                           คงอดสู อายเขา ไปทุกที่
                           และอาจสิ้น ชาติไทย ไปด้วยซี
                           เพราะวิถี ชีวีที่ เปลี่ยนไป

                                    ภาษาไทย เป็นภาษา ที่มีค่า
                            มากยิ่งกว่า นพรัตน์เป็น ไหนไหน
                            มวลหมู่แก้ว ถึงมีค่า กว่าสิ่งใด
                            คงมีได้แค่ เพียงค่า ราคาเงิน

                                    แต่คุณค่า ของภาษา มีสูงส่ง
                           ช่วยดำรง ความเป็นชาติ ไม่ขัดเขิน
                           เพราะภาษา แสดงลักษณ์ จำหลักเกิน
                           กว่าค่าเงินตรา แต่สง่า อยู่ที่ใจ

                                    เป็นคนไทย ต้องรัก ภาษาไทย
                           รักษาให้อยู่ นานนาน จะได้ไหม
                           อย่าทำลาย ภาพลักษณ์ ความเป็นไทย
                           โดยที่ไม่ รู้ค่า ภาษาเอย ฯ

                                                             แต่งโดย :  อรุโณทัย  ประพันธ์ 

---------------------------<๒๙-๓-๕๗>-----------------------------

คำสำคัญ (Tags): #ภาษา#ไทย#ป่วย
หมายเลขบันทึก: 564920เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2014 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2014 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อยู่เมืองไทยห้าเดือน..ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง..จ้ะเขาพูดตัวย่อที่ว่า..แปลไม่ถูก....ฟังข่าวก็ต้องให้เพื่อนแปล..เรื่องเดียวกันพูดกันคนละอย่าง...เด็ก..สตรี..ดูเหมือนจะไม่มีสิทธิ...ส่วนบุคคล...สามารถถูกใช้ถ้อยคำภาษา..ทำอนาจารได้โดยไม่ผิด...(แปลกๆเพี้ยนๆ..เหมือนภาษาไทยที่ว่า..ป่วยหนัก..)เข้าขั้น...โคม่า..ซ้ะด้วย..มั้ง...

ป่วยแบบเรื้อรังด้วยจ้ะ ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน แต่คนที่กำลังจะจนปัญญาสอน ก็คือ ครูภาษาไทยนี่แหละจ้ะ

ภาษามันก็เลยวิบัติเพราะคนคิดลึกนำไปเปรียบใช้กันเป็นประโยคสัปดนกันอย่างเป็นสังคมย่อย..ที่นี้ถ้าจะนำมาใช้ผิดไปจากสังคมดังกล่าวก็เลยเกิดความแตกแยกไปในทางร้าย เช่น ฤดู หอย หม้อ ....

ได้ความรู้หลากหลาย เห็นด้วยอย่างยิ่งที่เขียนมา...

ตามความคิดเห็นส่วนตัวปัจจุบันสื่อทีวีมีอิทธิพลต่อประชาชนมาก เข้าถึงในมุ้ง การที่จะให้ข่าวอะไรหรือความรู้อะไรแก่ประชาชนน่าจะคิดถึงเป็นอันดับแรกนะครับ...สื่ออื่น ๆ คงไม่เท่าไหร่หรอกโดยเฉพาะแถวชนบท...ว่าไปแล้วก็ไม่พ้นเรื่องศีลธรรมอยู่ดีนะครับ...ให้กำลังใจ ๆ ทุกท่านที่เกี่ยวข้องครับ ผมเองยังใช้ผิดอยู่เลยครับ

บทความของท่านช่างบริบูรณ์โดยแท้ ชอบมากค่ะ เพราะมองเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจนขึ้นมาก เป็นห่วงภาษาไทยของลูกหลานและเด็กไทยจริง ๆ ขออนุญาตนำไปอบรมสั่งสอนลูกหลานด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท