เคยไหมครับ ไปอบรมสัมมนาหรือเรียนอะไรก็ตาม กลับมาแล้วนำความรู้มาใช้ไม่ได้เลย นี่คือทักษะการประยุกต์ใช้ครับ


สวัสดีครับ

    บ่อยครั้งที่เวลาองค์กรส่งบุคลากรไปอบรมหรือสัมมนา หรือจัดแบบไปต่างจังหวัด กลับมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม ทั้งที่องค์กรต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ต้องการให้นำข้อมูลความรู้ที่ได้จากวิทยากรมาใช้ในการปฏิบัติงานจริง แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หลายครั้งเหมือนเดิม บางครั้งแย่กว่าเดิม นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า บุคลากรที่ไปอบรมนั้นไม่สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเองได้ เนื้อหาอาจจะกว้างเกินไป อาจจะยากเกินไป ไกลจากภารกิจการทำงานของตนเองมากไป นั่นไม่ใช่ปัญหาหากรู้จักการประยุกต์ใช้ครับ

การประยุกต์ หมายถึง การนำบางสิ่งมาใช้ประโยชน์ โดยปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาวะที่เฉพาะเจาะจง "บางสิ่ง" ที่นำมาใช้ ประโยชน์นั้น อาจเป็นทฤษฎี หลักการ แนวคิด ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และนำมาใช้ประโยชน์ในภาคปฏิบัติ โดยปรับให้เข้า กับบริบทแวดล้อม ที่เป็นอยู่อย่าง เหมาะสม นอกจากนี้ "บางสิ่ง" นั้นอาจเป็นวัตถุสิ่งของที่นำมานอกเหนือ บทบาทหน้าที่เดิม ให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ การประยุกต์เป็นการนำทฤษฎี หลักการ กฎเกณฑ์แนวคิดเกี่ยวกับ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไปปรับใช้ให้เกิด ประโยชน์ในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ มักมีการประยุกต์ภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ใน การนำไปใช้จริง ในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพราะมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า การประยุกต์เป็นการนำสิ่งหนึ่ง หรือแนวคิดหนึ่ง มาปรับใช้ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง การประยุกต์จึงแตกต่างจากการลอกเลียนแบบ การลอกเลียนเป็น การนำสิ่งที่อยู่ในบริบทหนึ่งมาใช้ในอีกบริบทหนึ่งทั้ง หลักการ วิธีการ และรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ในบริบทที่แตกต่าง กัน คนที่คิดเชิงประยุกต์ได้ดีจะสามารถนำ สิ่งหนึ่งมาใช้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างลงตัว โดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น

สมองจะคิดประยุกต์เมื่อ

1. ในปัญหาที่มีจำกัด สมองจะพยายามนำสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาโดยวิธีการทดแทนคุณสมบัติ สมองจะทำการ เทียบเคียง มโนทัศน์เชิงนามธรรมเพื่อหาตัวร่วมหรือ คุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำมา ทดแทน สมองอาจจะใช้วิธีการต่างๆในการแก้ปัญหาโดยการหาสิ่งทดแทน อาทิการใช้วิธี "ลองผิดลองถูก" เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถ้าวิธีการที่ใช้ไม่ ประสบความสำเร็จจะมีการเปลี่ยนไปใช้วิธีการอื่นแทน

2. สมองนำความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เรารู้ว่า กฎ หลักการ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นสิ่งของนั้นคืออะไร รู้ว่า เมื่อใดจึงต้องใช้กฎนี้ รู้ว่าจะต้องนำมาใช้ได้อย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะช่วยให้เราตัดสินใจในเรื่องที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าไม่มีความรู้ และจะดียิ่งขึ้น ถ้าไม่เพียงแต่มีความรู้ แต่สามารถประยุกต์ความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม สิ่งใหม่ๆ มากมายเกิดจากการประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็น สิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ การประยุกต์ช่วยให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมายใหม่ วัตถุประสงค์ใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนเราจะมีความสามารถในการคิดประยุกต์เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว แต่ยังมี ความแตกต่างกันเป็น อย่างมาก ระหว่างคนที่มีทักษะความสามารถในการคิดประยุกต์กับคนที่ปราศจากทักษะใน การคิดประยุกต์ อาทิ คนที่มีทักษะ การคิดเชิงประยุกต์ จะปฏิเสธการลอกเลียนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่เหมาะสมที่อาจเกิดตามมา แต่จะสามารถปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับบริบทใหม่ รู้ว่าควรนำ ความรู้มาใช้อย่างไร รู้ว่าจะนำส่วนใดมาใช้ รู้ว่าจะใช้เมื่อใด เพื่อตองสนองวัตถุประสงค์ ที่ต้องการได้มากที่สุด คนที่คิดเชิงประยุกต์ จะเป็นนักพัฒนา และนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้มากกว่า คนที่ปราศจาก ความสามารถใน การคิดด้านนี้

การคิดเชิงประยุกต์

การคิดเชิงประยุกต์ หมายถึง ความสามารถในการนำบางสิ่งมาปรับใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับ บริบทสภาพแวดล้อม และเวลาในขณะนั้น เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ การประยุกต์อาจทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยทิศทางใหม่ ทั้งนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการพยายามคิด เพื่อหาทางใช้ประโยชน์ของสิ่งที่มีอยู่มากกว่าเดิม เพื่อใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

การคิดเชิงประยุกต์อาจเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการคิดสร้างสรรค์ โดยในขั้นแรกของการคิดสร้างสรรค์มักจะเริ่มต้นด้วย การระดมความคิด ใหม่ๆ ที่หลากหลาย เน้นปริมาณความคิดมากกว่าคุณภาพ ความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาได้นั้นอาจจะมีความคิด ในเรื่องของการนำของ สิ่งหนึ่ง มารวมกับอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นสิ่งใหม่ที่ตอบสนองวัตถุประสงค์นั้นได้เช่น ผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่น่า จะจำหน่ายได้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย วิธีการที่แปลกใหม่ เป็นต้น

การคิดเชิงประยุกต์ทำหน้าที่เป็นเหมือนขั้นที่สองของการคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ใน การนำมาใช้ความเหมาะสม เมื่อนำมาใช้ในบริบทนั้นๆ และพิจารณาว่าควรนำส่วนใดมาใช้ ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ว่า เมื่อนำมาใช้แล้ว จะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร คนที่ช่างคิดสร้างสรรค์มักจะเป็นนักคิดเชิงประยุกต์ที่ประสบความสำเร็จด้วย ผลงานสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อย ในโลกเป็นผลผลิตของการคิดเชิงประยุกต์ การคิดชิงประยุกต์จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความยืดหยุ่นทางความคิด พยายามฝึกให้ไม่ยึดติดกับบทบาทหน้าที่เดิมๆ แต่สามารถขยายขอบเขตเพื่อใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

การไม่คิดเชิงประยุกต์อย่างรอบคอบอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น สิ่งที่มีลักษณะเป็นแนวคิดเชิงนามธรรมอันได้แก่ แนวคิดเพื่อ แก้ปัญหาใด ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น กรอบแนวคิดทางคุณธรรมหรือแนวคิดใดๆก็ตามที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คนปฏิบัติตาม จำเป็นต้องมีการประยุกต์ เป็นแนวทางปฏิบัติ เช่น ออกเป็นกฎหมายระเบียบปฏิบัติข้อบังคับ มีรูปแบบปฏิบัติ วิธีการ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแนวคิดนั้น แต่แนวคิดเชิงนามธรรมจำนวนมาก ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ใน ภาคปฏิบัติได้ด้วย สาเหตุประการสำคัญ อันได้แก่ ขัดแย้งกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความต้องการของผู้ปฏิบัติ หรือไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นต้น

ดังนั้น การนำแนวคิดใดๆ สู่ภาคปฏิบัติจำเป็นต้องมีการประยุกต์สิ่งนั้นเพื่อให้คนยอมรับในหลักการ เห็นพ้องกันในแนวคิดก่อน จนกระทั่ง ยินดี ที่จะปฏิบัติร่วมกัน การประยุกต์แนวคิดที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสู่ความเป็นรูปธรรมนี้ จำเป็นต้องใช้การคิดเชิง ประยุกต์อย่าง เหมาะสม เพื่อทำให้แนวทางปฏิบัติสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจ และสามารถกระทำตามได้ เช่น หากต้องการให้ คนสวมหมวกกันน็อค ต้องเริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้คนเห็น ความสำคัญของ การสวมหมวกกันน็อค โดยการทำ ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง การจัดการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ การชี้ให้คนเห็นความสำคัญของชีวิต การเห็นคุณค่าความปลอดภัย อาจจะใช้วิธีการอ้างสถิติผู้เสียชีวิต เนื่องจากอุบัติเหตุลักษณะนี้ และผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ครอบครัว หลังจากนั้นอาจจะต้อง สนับสนุนการผลิตหมวกกันน็อค ที่ได้มาตรฐาน ในราคาต่ำเพื่อที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของได้ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เกิด การยอมรับได้ ง่ายกว่าการออกกฎหมายบังคับใช้ทันที การพัฒนาวิธีคิดเชิงประยุกต์จะเน้นการพัฒนาความสามารถ ในการนำมาใช้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากบริบทขณะนั้นเป็นสำคัญ

หมายเลขบันทึก: 564659เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2014 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2014 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจาารย์ บางท่านไป สัมมนา ไม่เกิด ปิ็งแวป อะไรเลย เพราะ เล่นเนท ถ่ายรูปตนเอง รอไป shopping

ถูกต้องและเห็นด้วย 1000% ครับ เพราะเราไปสร้างวัฒนธรรมการไปเรียนรู้ที่ต่างจังหวัดให้เป็นเช่นนั้นเอง ว่า การไปอบรมสัมมนาต่างจังหวัด = การไปเที่ยวพักผ่อน แล้วการจัดหัวข้อก็จัดไปงั้น ๆ เพื่อของบประมาณ ซึ่งในทางกลับกัน การเรียนรู้ที่จะมีการนำไปใช้งานจริง ถ้าจะหวังพึ่งวิทยากรบางท่าน (ย้ำบางท่าน) ให้อธิบายในกรอบแคบ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ อาจจะเป็นไปได้ยาก จึงต้องใช้หลัก "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ในเมื่อมีวิทยากรมาจุดประกายแล้ว จะกว้างหรือแคบอีกเรื่องนึ่ง เราจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงได้อย่างไร?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท