ปฏิรูปการศึกษาไทยแบบ 'ไม่ลอกการบ้าน' และไม่ฝันค้าง


การศึกษาไทยถูกมองเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด ผลการประเมินระดับนานาชาติยิ่งทำให้หลายคนกังวลว่าการศึกษาไทยไม่ได้มาตรฐานมากกว่าที่เข้าใจกันแต่เดิมหรือไม่

เช่น คะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) เป็นโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าเด็กไทยมีความสามารถด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อยู่ในอันดับ 50 จาก 65 ประเทศทั่วโลก

เราเห็นด้วยว่าการศึกษาไทยเป็นอะไรที่ต้องปรับปรุง หรือ “ปฏิรูป” และเถียงกันว่าเด็กไทยควรจะเรียนอะไรและอย่างไร เพื่อให้สู้เขาได้หรือไม่ขายหน้าในระดับนานาชาติ หรือเพื่อให้เด็กไทยกลายเป็นแรงงานคุณภาพดีเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว

ดูเหมือนเราจะกังวลว่านักเรียนในระบบการศึกษาไทยขาดอะไรมากมายหลายอย่างตามมาตรฐานการวัดแบบนานาชาติ หรืออยากให้เด็กไทยเป็นเหมือนนักเรียนในสังคมอื่นที่ทำคะแนนดีกว่าเด็กไทย

น่าคิดว่าถ้าไม่เปรียบเทียบหรือใช้มาตรฐานของคนอื่น เราอยากเห็นการศึกษาไทยทำให้นักเรียนไทยเป็นอย่างไร

อะไรที่เรามีอยู่ทำให้แนวทางการศึกษาและการจัดการอย่างที่เราอยากเห็นเป็นไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะวิธีการที่ดูตัวอย่างหรือลอกมาจากสังคมอื่น

ข้อค้นพบที่ช็อคโลก - การเรียนหนังสือในโรงเรียนไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้ของนักเรียน และการจัดการการศึกษาเป็นอะไรที่ลอกกันไม่ได้ อันที่จริงการแก้ปัญหาด้วยวิธีการ 'ลอกการบ้าน' คือดูว่าคนอื่นทำยังไงก็ประหลาดโดยตัวเองอยู่แล้วหรือไม่?

การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอาจต้องดูว่าเรามีอะไร สิ่งที่เรามีเอื้อต่อสิ่งที่อยากเห็นหรือไม่ และจะเคลื่อนไปอย่างไรภายใต้ข้อจำกัด

การเรียนที่เน้นระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์ การเรียนเลขและวิทยาศาสตร์แบบไทย ทำให้เด็กมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แบบเดียวกับเด็กที่อื่นไหม เด็กมีความใฝ่รู้และอยากหาคำตอบให้กับข้อสงสัยของตัวเองหรือไม่

คนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยบ่นว่า นักศึกษาฟังไม่เป็น จับประเด็นไม่ได้ จึงชอบลอกหัวข้อจาก Powerpoints แล้วก็ตอบข้อสอบแบบที่ตัวเองลอกมา ไม่ชอบอ่านหนังสือ พูดไม่รู้เรื่อง และเขียนหนังสือไม่เป็น คือลำดับและนำเสนอความคิดของตัวเองออกมาในรูปการเขียนไม่ได้ ไม่สงสัยและไม่อยากรู้อะไรเพิ่ม เหมือนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วหมดแรงเรียนหลังจากต้องเรียนกวดวิชาแบบเอาเป็นเอาตายในช่วงม.ปลาย

เราอยากให้คนเรียนรู้อะไร ระบบการศึกษาที่มีสามารถจะทำให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ การวิจัยเพื่อจะดูรายละเอียดของผลการสอบระดับนานาชาติพบว่า ระบบราชการ ความสามารถของครู และลักษณะเฉพาะของสังคมมีผลต่อการจัดการการศึกษาและวิธีการเรียนรู้ของเด็ก

การจัดการและกำกับการศึกษาโดยระบบราชการ ที่การประเมินครูไม่ได้เน้นผลการสอนของครู แต่เน้นการทำเอกสารมากกว่าการเพิ่มพูนความรู้ และการถ่ายทอดความรู้ มีผลต่อลักษณะของระบบการศึกษาไทย

การลอกวิธีและรูปแบบการเรียนจากที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่งจึงอาจจะได้ผลต่างกันมากมายมหาศาล เช่นการจัดห้องเรียนให้จำนวนเด็กน้อยลง แต่ถ้าความสามารถของครูยังจำกัด เพราะไม่รู้ว่าจะสอนอะไรและสอนอย่างไร ขนาดชั้นเรียนที่เล็กลงก็คงไม่ช่วยอะไรมาก

หรือระบบการวัดมาตรฐาน/คุณภาพการศึกษาโดยเน้นการสอบผ่านของเด็กและการทำเอกสารรายงานของครู ทำให้ครูเน้นการสอนไปในทิศทางหนึ่งหรือไม่มีเวลาเตรียมสอนเพราะมัวแต่ทำเอกสารผลาญทรัพยากรโลก

สังคมไทยไม่ค่อยสนใจว่าคนรู้อะไรหรือทำอะไรได้ สนใจแต่กระดาษรับรองคุณสมบัติหรือตัวเลขเกรดสวย ๆ ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ได้นำไปสู่ความรู้ แต่เน้นการสอบผ่านให้ได้ปริญญาและเกรดดีๆมากกว่าจะเรียนเพื่อรู้

การแกะรื้อระบบการศึกษาต้องดูลักษณะเฉพาะของสังคมไทยด้วย

ฝันอยากเห็นระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่ดูปัจจัยหรือกำลังที่เรามี ทำให้ฝันเป็นจริงได้ยาก ทำอย่่างไรเราจะเคลื่อนไปภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเรื่องน่าคิดร่วมกัน

 

บทความนี้คัดลอกมาจาก ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ประชาไท http://prachatai.com/journal/2013/10/49362

หมายเลขบันทึก: 564526เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2014 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2014 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท