ปัญหาการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ป.ม. ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ


ปัญหาการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ป.ม.

ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ

 

             สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร ๐๕๐๘/ท ๑๓๓๐ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๗ ถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งสิทธิ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสายสะพาย  ป.ม.ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ให้ขอได้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ได้รับเงินเดือนเต็มขั้น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ และขอพระราชทานได้ในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้นทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิชาชีพชั้นสูงที่รัฐออกกฎหมายยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และมีจำนวนข้าราชการมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้าราชการประเภทอื่นต้องช็อกไปตาม ๆ กัน

             หนังสือดังกล่าวได้ยกข้อมูลข้อเท็จจริง เหตุผลมาอธิบายหลายประการ ได้แก่

            ๑. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ กำหนดสิทธิ์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามบัญชี ๗ ท้ายระเบียบ โดยเทียบอันดับเงินเดือน (คศ.) กับระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘

             ประเด็นนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับ ๘ เดิม หรือวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เมื่อเทียบกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ ๘ จะขอ ป.ม.ได้ เมื่อมีคุณสมบัติครบทั้ง ๔ ประการดังต่อไปนี้คือ

             (๑) ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของระดับ ๘

             (๒) ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา

             (๓) ได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์และ

             (๔) ขอได้ในปีก่อนปีที่เกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น

             อุปสรรคสำคัญอยู่ที่คุณสมบัติข้อ (๒) การดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา เมื่อก่อนถือว่าผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการที่ปรากฏชื่อส่วนราชการอยู่ในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรม หากเป็นระดับ ๘ เต็มขั้นก็ขอ ป.ม.ได้ โดยขอในปีก่อนปีที่เกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการ แต่หากไม่ปรากฏชื่อส่วนราชการอยู่ในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมก็ไม่ถือเป็นผู้บังคับบัญชา จึงขอไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ศึกษาธิการจังหวัดและผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด ระดับ ๘ ขอได้เพราะมีชื่อส่วนราชการสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอยู่ในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ส่วนผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดและผู้อำนวยการโรงเรียน ระดับ ๘ขอไม่ได้เพราะไม่ปรากฏชื่อสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดและโรงเรียนอยู่ในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมที่เกี่ยวข้อง จึงขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บังคับบัญชา

            ๒. เมื่อมีการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนใหม่ โดยยกเลิกซี แล้วแบ่งเป็นประเภท ตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละ จึงแก้ไขระเบียบฯ เพิ่มเติมบัญชี ๔๑ ให้ข้าราชการพลเรือนโดยเฉพาะ ได้ขอพระราชทานตามระดับของตำแหน่ง โดยระดับชำนาญการพิเศษที่เงินเดือนเต็มขั้น ได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี ขอ ป.ม.ได้

            ขออธิบายเพิ่มว่าตามบัญชี ๔๑ ท้ายระเบียบฯ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ได้สิทธิ์เริ่มขอพระราชทานชั้น ท.ช.เมื่อได้รับเงินเดือนขั้นสูงของระดับชำนาญการพิเศษ (ปัจจุบันคือขั้น ๕๓,๐๘๐ บาท) และได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า๕ ปีบริบูรณ์ ขอ ป.ม. ได้โดยไม่ต้องเป็นตำแหน่งบังคับบัญชาและไม่ต้องรอขอในปีก่อนเกษียณหรือปีเกษียณ

            ๓. เมื่อปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ได้มีการอนุมัติให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ที่เงินเดือนเต็มขั้น ขอ ป.ม.ได้ในปีที่เกษียณอายุราชการ เป็นกรณีพิเศษ โดยอนุโลมเทียบเคียงกับข้าราชการพลเรือนระดับ ๘ ตามหลักเกณฑ์บัญชี ๗ เดิม

            ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพังงาได้รายงานขอพระราชทาน ป.ม.ให้แก่นายประเสริฐ ขอบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพังงา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ที่เงินเดือนเต็มขั้น คศ.๓ และจะเกษียณอายุราชการในปีที่ขอ สพฐ.แจ้งกลับมาว่าผู้อำนวยการสถานศึกษาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บังคับบัญชาจึงไม่อาจขอได้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพังงาจึงได้วิเคราะห์พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๓๙ ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๒๗ ที่กำหนดว่าให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนั้น กฎหมายยังกำหนดให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษายังเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย เมื่อมีกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชาแล้วจะถือว่าไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาได้อย่างไร หากยังมีปัญหาข้อกฎหมายควรให้ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ (ซึ่งก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย หลังจากส่งเรื่องไปแล้วรออยู่ปีเศษ จึงได้รับแจ้งจาก สพฐ.ว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขอให้แก่ผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ แต่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา (ถึงแม้จะยอมรับว่ากฎหมายกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชา) แต่ประเพณียังไม่เคยให้ขอจึงยังให้ขอไม่ได้ ดังนั้นนายประเสริฐ ขอบุตรจึงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญการพิเศษคนแรกที่ได้ ป.ม. ในปีที่เกษียณอายุราชการ ผลพวงนี้ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญการพิเศษเต็มขั้นได้รับพระราชทาน ป.ม.ในปีก่อนเกษียณหรือปีเกษียณมาจนถึงปัจจุบัน

            ๔. ในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ (หลวมตัว) ขอพระราชทาน ป.ม.ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษเป็นกรณีพิเศษไปแล้ว ทั้งที่เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาและตำแหน่งอื่น แต่ในปี ๒๕๕๖ นี้เห็นว่า “วิทยฐานะของข้าราชการครูมีเจตนารมณ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง รวมทั้งการกำหนดกรอบอัตราแตกต่างจากระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงสมควรทบทวนหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ป.ม.เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ข้าราชการครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ได้รับเงินเดือนเต็มขั้น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ และขอพระราชทานในปีที่เกษียณอายุราชการเช่นเดียวกับปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ และให้ใช้เป็นหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ในปีต่อ ๆ ไปด้วย”

            สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งว่าคำสั่งที่ออกมาเป็นมติของคณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๖ (ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ปกติจะมีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ) เมื่อมีมติและเหตุผลมาแล้วก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นซึ่ง สพฐ.ก็ยอมรับโดยสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามมติของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวโดยเคร่งครัด

            มีข้อเท็จจริงบางประการที่ควรรู้เกี่ยวกับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามระเบียบดังกล่าว คือสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖  ใช้มานาน ใครจะพยายามขอแก้ไขก็ทำได้ยากเพราะเป็นภาระแก่รัฐบาลในการจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยเฉพาะชั้นสายสะพายซึ่งราคาสูงเอาการ ตัวอย่างตามบัญชีท้ายระเบียบสำหรับนายทหารยศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ขอได้เพียงชั้น ท.ม. จนกว่าจะได้กินอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ จึงขอชั้น ท.ช. และจะขอชั้น ป.ม.ได้โดยต้องได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก อัตราพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา ได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ และให้ขอได้ในปีก่อนปีที่เกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการปฏิวัติเมื่อปี ๒๕๔๙ ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๓ออกมาแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖  แก้ไขให้พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษนาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ เงินเดือนไม่ต้องเต็มขั้นก็ขอ ป.ม.ได้ ถ้าดำรงตำแหน่งบังคับบัญชาได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า๕ ปีบริบูรณ์ และให้ขอได้ในปีก่อนปีที่เกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น แต่หากพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษนาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษเงินเดือนขั้นต้นของพลตรีพลเรือตรี พลอากาศตรีแม้ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา หากได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปีบริบูรณ์ ให้ขอ ป.ม.ได้เมื่อรับเงินเดือนขั้นต้นของพลตรีพลเรือตรี พลอากาศตรี มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีแต่หากดำรงตำแหน่งรอง เสนาธิการรองเสนาธิการ ของหน่วยงานที่มีผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นยศ พลตรีพลเรือตรี พลอากาศตรี ขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมผู้บังคับการจังหวัดทหารบกผู้บังคับหมวดเรือผู้บังคับกองบินราชองครักษ์ประจำผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศตุลาการพระธรรมนูญประจำสำนักตุลาการทหารตุลาการพระธรรมนูญฝ่ายศาลทหารสูงสุด ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าคณะฝ่ายศาลทหารกลาง ตุลาการพระธรรมนูญรองหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพอัยการศาลทหารกรุงเทพอัยการฝ่ายอุทธรณ์และฎีกา หรือดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองนายทหารฝ่ายเสนาธิการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งดังกล่าว หากได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า๓ ปี บริบูรณ์ ขอ ป.ม.ได้เลยโดยไม่ต้องรับเงินเดือนขั้นต้นของพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี ประกาศดังกล่าวทำให้ทหารได้เฮกันทุกตำแหน่ง เพราะสายสะพายถือเป็นเครื่องยศที่มีคุณค่าทางจิตใจสูงมากสำหรับข้าราชการที่ต้องแต่งเครื่องแบบทุกวัน จะสังเกตได้ว่าการแก้ไขระเบียบดังกล่าวต้องกระทำโดยประกาศคณะปฏิวัติซึ่งมีอำนาจสูงสุดถึงขั้นยกเลิกรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ ส.ส. ส.ว.พ้นจากตำแหน่งได้ หากไม่กระทำดังกล่าวคงยากที่จะฝ่าด่านของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปได้

            สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้มีบัญชี ๔๑ ของข้าราชการพลเรือนโดยเฉพาะให้รับกับระบบตำแหน่งใหม่นั้น ชวนให้คิดไปได้ว่าคงเป็นเพราะต้องการปลอบใจข้าราชการพลเรือนที่ไม่สามารถให้ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ ๕,๖๐๐ บาทได้ทุกคน เพราะจะเป็นภาระงบประมาณมหาศาล แถมยังต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษเท่ากับเงินประจำตำแหน่งให้อีกคนละ ๕,๖๐๐ บาท เท่ากับจ่ายให้เดือนละ ๑๑,๒๐๐ บาท สู้ให้ได้สายสะพาย ป.ม.เมื่อเงินเดือนเต็มขั้นจะทำให้รู้สึกเป็นเกียรติแก่ข้าราชการโดยรัฐลงทุนน้อยกว่ามาก อีกทั้งทหารตำรวจในชั้นยศที่อาจเทียบกันได้ก็ได้ไปแล้วด้วยประกาศคณะปฏิวัติ ประกอบกับมีความกดดันจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ยังไม่ได้สายสะพายทั้งที่มีความรับผิดชอบและปริมาณงานมากมายเมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่นที่ได้กัน จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบให้ได้สิทธิกัน

            คำสั่งของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่กำหนดว่าวิทยฐานะของข้าราชการครูมีเจตนารมณ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง รวมทั้งการกำหนดกรอบอัตราแตกต่างจากระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงสมควรทบทวนหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ป.ม.เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ข้าราชการครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ได้รับเงินเดือนเต็มขั้น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ และขอพระราชทานในปีที่เกษียณอายุราชการเช่นเดียวกับปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ และให้ใช้เป็นหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ในปีต่อ ๆ ไปด้วยมีข้อโต้แย้งว่ากำหนดไม่ถูกต้องตามกฎหมายระเบียบดังต่อไปนี้

            (๑) การกำหนดให้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ป.ม.เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ข้าราชการครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ได้รับเงินเดือนเต็มขั้น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ และขอพระราชทานในปีที่เกษียณอายุราชการเช่นเดียวกับปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ นั้น  หาได้เป็นการขอพระราชทานเป็นกรณีพิเศษไม่ แต่ต้องเป็นการขอกรณีปกติตามสิทธิ เพราะหากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอตามบัญชี ๗ โดยเทียบกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนแล้ว ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ เทียบได้กับข้าราชการพลเรือน ระดับ ๘ เดิม หรือระบบใหม่เทียบได้กับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น (ทั้งนี้ ก.พ.ได้เทียบตำแหน่งไว้แล้วตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๑๐๐๘/ว ๓๐ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓) แต่ไม่ว่าจะเทียบตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เท่ากับประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ หรือตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น ก็มีสิทธิขอ ป.ม.ได้เหมือนกัน และเมื่อให้ขอได้ตามบัญชี ๗ ซึ่งยังอยู่ในเงื่อนไข ๔ ข้อ คือ (๑) ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของระดับ ๘ (๒) ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา (๓) ได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ และ (๔) ให้ขอได้ในปีก่อนปีที่เกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น จะมากำหนดให้ขอได้เฉพาะแต่ในปีที่เกษียณส่วนปีก่อนเกษียณไม่ให้ขอ ย่อมไม่ถูกต้องตามระเบียบ

            (๒) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๕ บรรดาคำว่า “ข้าราชการพลเรือน” ที่มีอยู่ในกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับอื่นใด ให้หมายความรวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นใดที่บัญญัติไว้สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้โดยเฉพาะ จึงจะเป็นต้องนำเอาบัญชี ๔๑ แห่งระเบียบดังกล่าวที่แก้ไขเพิ่มเติมไว้สำหรับข้าราชการพลเรือนมาใช้สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย โดยเทียบตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๑๐๐๘/ว ๓๐ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ เมื่อเป็นดังนั้น สิทธิการขอพระราชทาน ป.ม.ของข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษจึงมีดังนี้

            (๑) หากเทียบกับข้าราชการพลเรือนประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ เริ่มขอพระราชทาน ท.ช.เมื่อได้รับเงินเดือนขั้นสูงและได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า๕ ปีบริบูรณ์ ขอ ป.ม.

            (๒) หากเทียบกับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น เริ่มขอพระราชทาน ท.ช.เมื่อได้รับเงินเดือนขั้นสูง และได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า๓ ปีบริบูรณ์ ขอ ป.ม.

            สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะไม่ยอมรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็คงไม่ได้ เพราะกฎหมายได้กำหนดบังคับไว้อย่างนี้แล้ว

            เหตุผลที่ยกมาประกอบว่า “วิทยฐานะของข้าราชการครูมีเจตนารมณ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง รวมทั้งการกำหนดกรอบอัตราแตกต่างจากระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ” หาได้ล้มล้างบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ไม่

            การโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับเรื่องนี้คงถูกหยิบยกเข้าสู่การพิจารณาของผู้รักษาการตามกฎหมาย ระเบียบ คณะกรรมการกฤษฎีกา และอาจถึงศาลในที่สุดก็ได้ อย่างไรก็ดี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ชื่อว่าเป็นมืออาชีพด้านกฎหมายของรัฐบาล ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสำนักงานอัยการสูงสุด หรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คงเข้าใจและแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้สิทธิโดยเร็ว

            ในแนวทางที่เป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นที่สุด ในฐานะที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นประเภทข้าราชการที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คนเศษ (ข้อมูลปี ๒๕๕๒ ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ๔๕๖,๙๗๙ คน ถัดมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ๓๖๒,๗๖๗ คน ตำรวจ ๒๐๗,๙๑๘ คน) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นข้าราชการตำแหน่งที่รัฐควบคุมการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ และได้ยกเลิกการจำแนกตำแหน่งตามระบบซีแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ จึงสมควรมีบัญชีเฉพาะสำหรับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้สอดคล้องกับระบบการจำแนกตำแหน่งตามวิทยฐานะ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ให้มีบัญชี ๔๕ การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แนบท้ายระเบียบที่แก้ไขเพิ่มเติม

            กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีก็ไม่เห็นว่าจะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากอะไรเลย เพราะเป็นเพียงกฎหมายของฝ่ายบริหารเท่านั้น เว้นเสียแต่จะไม่ดำเนินการให้ด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่กล้าเปิดเผย (เช่นจะมีคนได้รับพระราชทานมากเกินไป) หรือไม่ก็ไม่เห็นความสำคัญของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ทั้งชีวิตมีแต่พระคุณไม่มีพระเดชอะไรกับใครเขาเลย

 

วิพล นาคพันธ์

๒๑ มีนาคม ๒๕๕๗

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564409เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2014 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2014 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อยกเว้นที่ สนง.เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งออกมาล่าสุด ทำให้พวกผมที่เป็นบุคลากรทางการศึกษา 38 ค (2) ในเขตพื้นที่ต้องถูกยกเว้นไปโดยปริยาย ไม่ให้ได้ ปม. เมื่อมีคุณสมบัติครบหรือเปล่าครับ (มีรุ่นพี่หลาย ๆ คน เคยได้ในช่วงปี 2554 2555)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท