เรียนรู้จากห้องแล็บ(LAB)


การตรวจเลือดแบบปัจจุบันใช้เวลา30-60 นาทีกว่าจะทราบผล แต่การเจาะจากปลายนิ้วใช้เวลา 2 นาที

วันนี้(20ตุลา48)เป็นวันพฤหัสซึ่งเป็นวันคลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลบ้านตาก(สัปดาห์หนึ่งมี 2 วันคือพุธกับพฤหัส) เวลาประมาณ 9 โมงครึ่ง ผมเดินไปที่โอพีดีก็พบว่ามีคนไข้เบาหวานรออยู่ประมาณ 50 คน พยาบาลโอพีดีอยู่ครบ หมออยู่ครบทุกห้องตรวจ(3ห้อง) เจ้าหน้าที่แล็บอยู่ครบทุกคน(3คน) ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างขะมักเขม้น  คนไข้ก็นั่งคอยอย่างขะมักเขม้นเช่นกัน เรื่องของเบาหวานนี่มีการปรับระบบบริการกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย การตรวจเลือดที่โรงพยาบาลบ้านตากใช้การตรวจจากCentral vein ทุกราย เนื่องจากทีมPCTต้องการค่าที่ถูกต้องแม่นยำ ห้องแล็บจึงปรับจากการเจาะปลายนิ้ว(Peripheral vein)มาเป็นเจาะจากเส้นเลือดดำโดยตรง เพื่อต้องการค่าที่แม่นยำมากขึ้น ผลที่ตามมาคือการตรวจที่ยุ่งยากมากขึ้นของห้องแล็บและใช้เวลานานขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรอนานขึ้น เราก็ปรับเวลาทำงานกันเร็วขึ้น(มาทำงาน 7 โมง)เพื่อให้เสร็จเช้าขึ้น ผู้ป่วยไม่ต้องทนหิวนานเกินไป  ผมก็ได้เดินเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่แล็บซึ่งเขาก็บอกว่างานหนักมากขึ้น ยิ่งถ้ามีคนลา ไปอบรมเหลือ1-2 คน ก็จะส่งผลให้รอผลเลือดนานมากขึ้นอีก และแน่นอนว่าความพึงพอใจของผู้ป่วยจะต้องลดลง แม้ในช่วงรอจะมีอาหารสาธิต มีกิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้อยู่ด้วยก็ตาม(แต่ผมจะยังไม่พูดถึงประเด็นเหล่านี้)  การตรวจเลือดแบบปัจจุบันใช้เวลา30-60 นาทีกว่าจะทราบผล แต่การเจาะจากปลายนิ้วใช้เวลา 2 นาที โดยห้องแล็บก็ได้มีการจัดทำการเปรียบเทียบค่าผลน้ำตาลจากCentral veinที่ทำกับจากเจาะปลายนิ้วพบว่าค่าความแตกต่างร้อยละ 7 เท่านั้น นั่นคือถ้าคนไข้คนหนึ่งเจาะเลือดเส้นเลือดดำได้ 100 ถ้าเจาะจากปลายนิ้วอาจได้ 73 หรือ 107 ผมก็คิดในใจ ถ้าผลแบบนี้จะเปลี่ยนแปลงการรักษาของแพทย์หรือทำให้การรักษาที่แตกต่างกันหรือไม่(ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะแตกต่าง) หากเป็นการตรวจติดตามผลการรักษา(Monitor)ไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยครั้งแรกเพื่อเริ่มการรักษา ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์ เป็นผู้ให้บริการ เป็นผู้บริหาร เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นเพื่อนร่วมงาน ในหลายบทบาท ผมย่อมต้องคิดแล้วว่าอะไรคือความเหมาะสมที่สุดสำหรับโรงพยาบาลบ้านตาก  ถ้าลดความถูกต้องลง 7% เพิ่มความเร็วของผู้ป่วยในการรับบริการได้ 1 ชั่วโมง ลดภาระยุ่งยากของเจ้าหน้าที่ห้องแล็บลง แต่ยังคงคุณภาพบริการไว้ จะทำอย่างไร  หากตรวจติดตามแบบCental veinปีละ 2 ครั้งพร้อมกับการตรวจค่าการทำงานของไตในผู้ป่วยรายเก่า ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่จะวินิจฉัยทุกรายต้องวินิจฉัยจากCentral vein จะลดอะไรๆไปได้หลายยอย่าง แต่เวลารอคอยบริการที่สั้นลงสำหรับคนอดอาหารเช้ามาน่าจะสร้างความพึงพอใจได้มากกว่าและสุขมากกว่า(หรือไม่) แต่ผมคงไปสั่งไม่ได้เพราะต้องเป็นการพิจารณาของทีมPCTที่เขารับผิดชอบโดยตรง ต้องมาคุยกัน ส่วนระบบอื่นๆของเบาหวานยังมีอีกหลายประเด็น แต่ยกประเด็นนี้ก่อน ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ

หมายเลขบันทึก: 5644เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2005 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เมื่อ 10 ปีก่อนผมเคยเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอหนึ่งในโคราช ได้รับการมอบหมายให้ดูแลคลินิก Dm,HT ผมและทีมงานได้เคยพัฒนาระบบการให้บริการเบาหวานในโรงพยาบาล ได้มีโอกาสเป็นต้นแบบในการนำเสนอรูปแบบ DM clinic อันพึงประสงค์ในโรงพยาบาลชุมชนในหลายๆโอกาส รวมทั้งการจัดทำ DM meeting สำหรับประเด็นเรื่องการตรวจเลือดทางปลายนิ้ว ทีมเราได้ผ่านการคิด วิเคราะห์ และดำเนินการมาหลายรูปแบบ ขอเสนอความเห็นว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจาะตรวจปลายนิ้วในการ follow up ทั่วไป ด้วยเหตุผลมากมาย ซึ่งคุณหมอก็ได้กล่าวถึงมาคล้ายๆกัน แต่คำตอบนี้อาจชัดเจนมากขึ้น ถ้าเราได้ลองเอาตัวเราไปนั่งเป็นคนไข้ DM clinic ดูซักวัน

หมายเหตุ ผมอาจไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาดูใน web นี้ ถ้าอยากและเปลี่ยนประสบการณ์กัน ติดต่อผมทาง E-mail :[email protected] จะสะดวกกว่าครับ

ขอแสดงความนับถือ

นพ.ศักดิ์ชัย  วงศกิตติรักษ์

ขอบคุณอาจารย์ศักดิ์ชัยครับ ผมได้พูดคุยกับน้องๆแพทย์เองก็เห็นด้วย ก็กำลังนัดทีมPCTทั้งระบบคุยกัน หากได้แนวทางอย่างไรจะนำเสนอให้วิพากษ์หรือเสนอแนะต่อไปครับ

เรียน คุณหมอพิเชษฐ์

   คิดว่า  ความเห็นนี้คงไม่ช้าเกินไป  ทางบ้านตากอาจมี solutionแล้ว  ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการ follow up คนไข้โดยใช้เครื่องตรวจจากปลายนิ้ว   ในฐานะเป็น คนในวิชาชีพ lab ปัจจุบันทางวิชาการและเทคโนโลยีที่มีีอยู่ ยอมให้การใช้เครื่องอ่านนำ้้ตาล ซึ่งเป็นPoint of care tesing ใช้ในการ monitoring โดยมีงานตีพิมพ์มากมาย  ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเลือกซื้อบริษัทที่มีคุณภาพ

สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงและเป็นกังวลของ PCT ในเรื่องความถูกต้องนั้น  สำหรับค่ายอมรับความผิดพลาดในการตรวจนำ้ตาลในห้อง lab ให้ที่7% ค่ะ   ดังนั้น error ที่แตกต่างของค่าจากปลายนิ้วและ vein ที่บ้านตากถือว่า acceptable ส่วนที่จะต้อง control ให้ได้คือความนิ่งของค่าที่ได้จากปลายนิ้ว  ปัจจัยตรงนี้อยู่ที่ training  การเจาะ ต้อง free fold การใช้เครื่องที่ต้องมีระบบ QC จะเพิ่มความมั่นใจให้ทีม PCT ที่จะใช้ผล lab ค่ะ

  หวังว่า comment นี้คงทำให้ Lab ทีม PCT และผอ. สบายขึ้น

พัชรี

ขอบคุณอาจารย์พัชรีมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท